เรื่องดีๆเกี่ยวกับข้อพึงระวังในการเขียน WEB


เรื่องดีๆเกี่ยวกับข้อพึงระวังในการเขียน WEB
เรื่องดีๆเกี่ยวกับข้อพึงระวังในการเขียน WEB

 


สำหรับผู้ที่กำลังจะสร้าง web ที่มีคุณภาพ MagicWiz ขอแนะนำให้อ่านบทความข้างล่างนี้ ซึ่งเป็นบทแปลที่ได้รับอนุญาตในการแปลและเผยแพร่บน MagicWiz ลองดูว่ามีปัจจัยหรือองค์ประกอบบางประการที่คุณกำลังมองข้ามไปหรือไม่

บทแปล "ข้อผิดพลาด 15 อันดับแรกเมื่อออกแบบ WEB ครั้งแรก" เขียนโดย MR. HOLLY M. BURNS มกราคม 2540 http://www.doghause.com หรือ Dog Hause Designs http://www.doghause.com/dhd/dhdmenu.html e-mail: [email protected]
ผมเป็นคนสร้างและออกแบบ web site 3 แห่ง ซึ่งรวมถึง Dog Hause (http://www.doghause.com/) ซึ่งเป็น web site ที่ได้รับความนิยม มีผู้เข้าถึง 400 ครั้งต่อวัน ตลอดเวลาที่ผ่านมา จากการสังเกตทั้งของผู้เข้ามาชมและของผมเองนั้น ผมได้พบและแก้ไขข้อบกพร่องต่างๆ ใน web site สมัยแรกของผม ใน site นี้ ผมมีการให้รางวัล Dog Gone Good Award ซึ่งเป็นรางวัลความยอดเยี่ยมด้านการออกแบบ web ที่เกี่ยวข้องกับสัตว์ แต่ละเดือนจะมีผู้สมัครมากกว่า 60 ราย และเพียง 3-4 site เท่านั้นที่ได้รับรางวัล ผมเข้าไปดูแต่ละ site เป็นการส่วนตัวและพิจารณาอย่างรอบคอบว่าอะไรคือสิ่งที่ดีที่สุดและแย่ที่สุดในการออกแบบ web ผมเป็นนักศึกษาเรียนวิชาศิลปะและภาษาอังกฤษด้วย และมีความเข้าใจลึกซึ้งในสิ่งที่ผู้เชี่ยวชาญกล่าวไว้ว่า ให้ออกแบบให้ดีและสามารถอ่านได้ บทความนี้แสดงถึงข้อผิดพลาด 15 อันดับแรกของผู้ออกแบบ web เป็นครั้งแรก

1. การใช้ frame
ผู้ออกแบบ web มักจะแบ่ง browser window ด้วย sub-window ที่แยกกันซึ่งเรียกว่า frame แม้จะเชื่อกันว่า frame จะช่วยให้ผู้อ่านหาทิศทางได้ง่าย แต่ก็สร้างความสับสนได้บ่อยครั้ง เมื่อเลือกหัวข้อที่ต้องการที่จะเข้าไป ผู้เข้าก็มักจะไม่แน่ใจว่าข้อมูลอะไรจะปรากฎที่ไหน หรืออยู่ใน sub-window อะไร sub-window ที่ใช้อ้างอิงถึงก็สามารถที่จะหายไปทันที และข้อมูลใหม่ของสิ่งที่ถามหาล่าสุดจะมาแทนที่ และที่เลวร้ายไปกว่านั้นคือ เมื่อกด back เพื่อที่จะกลับไปยัง sub-window เดิม ก็อาจหลุดออกไปจาก web site นั้นเลย หรืออาจกระโดดข้ามกลับไปหลายหน้าจนถึงหน้าแรกๆ ก่อนที่จะเข้าไปที่ web site ที่มี frame ดังกล่าว สิ่งนี้ทำให้ผู้ใช้หงุดหงิดเป็นพิเศษ อุปสรรคอีกประการหนึ่งคือ web site จำนวนมากที่ใช้ frame จะอาศัยขนาดของจอที่เฉพาะเจาะจง เมื่อผู้ใช้ที่มีขนาดจอที่ต่างไปเข้ามาดู pageที่มี frame ข้อมูลทั้งหมดใน site นั้นอาจจะไม่ปะติดปะต่อหรืออยู่ผิดที่ ผู้ออกแบบที่ยืนกรานที่จะใช้หรือผู้ที่ชอบใช้ frame ควรจะสร้าง version แบบไม่มี frame ใน site ของตน

2. การใช้ไฮเทค
ผู้ออกแบบบางคนเพลิดเพลินกับการใช้ trick เล็กๆ น้อยๆ เช่น ใช้ input box ในการเปิด browser window ใหม่ หรือเปิดดนตรีประกอบ ผู้เข้าชมอาจจะรู้สึกประทับใจเมื่อเข้ามาหนแรก แต่เมื่อเข้ามาบ่อยมากขึ้น ก็มักจะรำคาญ วิธีที่ดีที่สุดคือการหลีกเลี่ยงสิ่งประเภทเหล่านี้
3. ป้ายที่แสดงว่า site อยู่ระหว่างการดำเนินการ
Web page ที่ดีทั้งหมดจะอยู่ในระหว่างการดำเนินการเสมอ แต่นักออกแบบบางคนยังคงที่จะใส่ icon บน site เพื่อแสดงการดังกล่าว กราฟฟิกนี้มาจากความรู้สึกไม่มั่นใจของผู้ออกแบบ พวกเขารู้ว่า page ของเขาไม่สมบูรณ์หรือยังไม่สามารถทำหน้าที่ได้ จึงใส่ป้ายเล็กๆ เพื่อเป็นการแก้ตัวจากปัญหาใดๆ ที่มีอยู่ใน site ซึ่ง site ที่มีปัญหาสามารถรับรู้ได้ถึงแม้จะมีหรือไม่มีป้ายดังกล่าว ผู้ออกแบบ web ที่ดีจึงไม่ควรขึ้น site จนกว่าจะมั่นใจเพียงพอที่จะแสดงออกมาโดยไม่ต้องใช้คำบอกเหตุเช่นนั้น

4. การใช้กราฟฟิกผิด
ไม่ว่าการต่ออินเตอร์เน็ทจะเร็วสักเพียงใด กราฟฟิกบน web site จะต้องใช้เวลานานในการ load กราฟฟิกขนาดใหญ่อาจกินเวลา 2-3 นาทีในการ load เนื่องจากผู้ใช้คอมพิวเตอร์โดยเฉลี่ยจะมีอัตราการรับข้อมูลที่ 28,800 บิท/วินาที ผู้ออกแบบจะต้องละเว้นการใช้กราฟฟิกขนาดใหญ่หรือปริมาณมากเพื่อที่จะเลี่ยงปัญหาคนออกจาก site เพราะรู้สึกเบื่อ การเลือกภาพควรเลือกเฉพาะกราฟฟิกที่เพิ่มคุณค่าให้กับเนื้อเรื่อง และควรจะหดกราฟฟิกขนาดใหญ่โดยการใช้ซอฟแวร์ที่ใช้สำหรับจัดขนาดภาพโดยเฉพาะ (ลองดู Alchemy Mindworks' Graphic Workshop for Windows ที่ http://www.mindworkshop.com/alchemy/gww.html) ผู้ใช้บางคนไม่สามารถเห็นกราฟฟิก web site จึงไม่ควรที่จะผูกติดกับกราฟฟิกจนเกินไป สำหรับกราฟฟิกที่พาผู้ชมไปยังอีกที่หนึ่ง ผู้ออกแบบควรจะมีบทความของกราฟฟิกเท่าๆ กับแป้นหัวข้อต่างๆ และควรมี ALT attribute เมื่อใช้องค์ประกอบ IMG ซึ่ง ALT จะทำให้ผู้ที่กำลังใช้ web browser ที่มีบทความอยู่นั้น สามารถที่จะดูการบรรยายบทความสั้นๆ ที่ซึ่งปกติจะมีกราฟฟิกแสดง

5. การใช้ font ต่างๆ
ปัญหาเรื่อง font เคยเกิดขึ้นกับผู้เริ่มออกแบบ desktop และขณะนี้เกิดขึ้นกับผู้เริ่มออกแบบ web ผู้ออกแบบจะติดอยู่กับ font ทั้งหมดที่ใช้ได้ สี ขนาด และสไตล์ และจะใช้ทุกอย่าง นักออกแบบที่ดีจะต้องจำกัดตัวเองอยู่เพียงแค่ 1-2 font เท่านั้น เพราะบทความจำเป็นสำหรับการสื่อข้อมูล ไม่ใช่ทำข้อมูลให้สลับซับซ้อน เมื่อบทความเล็กหรือใหญ่เกินไปก็จะอ่านยากเช่นกัน ประเภทของบทความควรตั้งเป็นแบบธรรมดา ในขณะที่หัวข้อควรมีขนาดโตขึ้นเล็กน้อย (+1 ถึง +3) อักษรขนาดใหญ่จะทำให้ไขว้เขวและแสดงถึงความไม่มั่นใจของผู้ออกแบบ ความใหญ่ของข้อมูลไม่ได้บดบังความขาดแคลนเนื้อหาสาระใน page หากต้องการเน้นข้อความ อย่าขีดเส้นใต้ ให้ highlight โดยใช้ตัวหนา เอียง หรือสีที่ต่างออกไป การขีดเส้นใต้จะทำให้อ่านถ้อยคำได้ยากกว่าเดิม และจะทำให้ผู้อ่านสับสนด้วย เพราะบทความที่ใช้ link เปลี่ยนที่ก็มีการขีดเส้นใต้เช่นกัน

6. Background ที่ซับซ้อน
มีหลาย web site ที่มีกราฟฟิก background มากมายให้ผู้ออกแบบสามารถนำมาใช้ได้ฟรีบน web ของตน รูปแบบ background ที่สวยที่สุดหรือประดิดประดอยจะล่อใจให้เลือก แต่เป็นสิ่งที่ควรหลีกเลี่ยงโดยสิ้นเชิง background ที่สลับซับซ้อนอาจจะสร้างงานศิลปะที่สวยงาม แต่จะสร้างงานที่ยุ่งเหยิงเมื่ออยู่ข้างหลังบทความ เพราะทำให้ตาลาย ในขณะเดียวกัน นักออกแบบจะต้องจำไว้ว่าให้ใช้สีที่ตัดกันระหว่าง background กับบทความ หากบทความสีอ่อนใช้กับ background สีอ่อน จะอ่านยาก เช่นเดียวกันกับบทความสีเข้มบน background สีเข้ม ก็จะอ่านยากเช่นกัน สำหรับผู้ชม web ที่ไม่สามารถเห็นกราฟฟิก บทความก็ควรที่จะให้พวกเขาสามารถอ่านได้เช่นกัน ถึงแม้ว่าผู้ออกแบบจะมีภาพ background ก็ตาม จะต้องกำหนดสีของ background ที่ไม่กลืนกับบทความให้กับ site ของพวกเขาด้วย สำหรับผู้ที่สามารถเห็นกราฟฟิก การกำหนดดังกล่าวก็จะไม่ให้ผลแตกต่างอะไร เพราะพวกเขาสามารถเห็นกราฟฟิก background นั้นๆ ส่วนผู้ที่ไม่เห็น ก็จะเกิดความแตกต่างขึ้น จำไว้ว่า ต้องให้ประเภทเป็นแบบที่สามารถอ่านได้

7. การใช้ animation มากเกินไป
นักออกแบบจะต้องไม่ใส่องค์ประกอบเคลื่อนไหวตลอดเวลามากเกินกว่า 1-2 หน้า ภาพที่เคลื่อนไหวจะมีผลกระทบอย่างยิ่งต่อทัศนวิสัย และดึงความสนใจของผู้ชมไปจากองค์ประกอบอื่น องค์ประกอบที่ไม่ควรใช้เหล่านี้ได้แก่ กราฟฟิกเคลื่อนไหว ข้อความที่กระพริบ และสิ่งที่เคลื่อนหมุนเวียน

8. Page กำพร้า
Web page ทั้งหมดควรจะบ่งบอกชัดเจนว่าเป็นของ site ใด เพราะผู้ใช้บางรายอาจจะเข้าไปยัง หน้ารองๆ โดยที่ไม่ได้ผ่าน home page หลัก ด้วยเหตุนี้ ทุกหน้าของ web จึงควรที่จะมีการ link กลับไปยัง home page

9. การไม่แสดงการจัดเรื่อง
Page ต่างๆ ควรจะเป็นกันเองกับผู้ใช้ โดยใช้ index หรือ menu ช่วยในการหาข้อมูลที่ต้องการ ผู้ออกแบบควรใช้ layout เดียวกันจากหน้าหนึ่งไปยังอีกหน้าหนึ่งเพื่อที่จะง่ายต่อการค้นหาในหน้าต่างๆ บน web

10. เนื้อหาที่ไม่ต่างไปจากอันอื่น
กลุ่มผู้ใช้ในอินเตอร์เน็ตที่ใหญ่ที่สุดกลุ่มหนึ่งคือ ผู้ที่เพิ่งเริ่มใช้อินเตอร์เน็ต จึงเป็นการเริ่มต้นพัวพันอยู่กับข้อมูลที่ไม่มีสาระ หลาย page จะไม่บอกอะไรมากไปกว่า "นี่คือ home page ของฉัน" พร้อมกับมีกลุ่มให้ link เชื่อมต่อไปยังกลุ่ม site ที่เหมือนกันกับหน้าสุดท้ายที่ผู้เข้าชมเพิ่งจะเข้ามา กุญแจที่แท้จริงอยู่ที่เนื้อหา ผู้ออกแบบควรจะต้องกล่าวบางสิ่งบางอย่างก่อนที่จะสร้าง site ใดๆ web site นั้นๆ ไม่ควรจะไปกล่าวซ้ำว่า web site อื่นได้กล่าวไว้ว่าอย่างไร และก็ไม่ควรพยายามที่จะสร้างเครื่องมือค้นหาถึงที่สุด หน้าที่มีแต่ link จะเพิ่มความยุ่งเหยิงอลหม่านให้กับ web มี search engine ขนาดใหญ่เป็นจำนวนมากที่สามารถให้กลุ่ม link ต่างๆ ได้อย่างเพียงพออยู่แล้ว เช่น Yahoo (http://www.yahoo.com/) และ Alta Vista (http://www.altavista.digital.com/)

11. การแสดงความคิดเห็นมากเกินไป
บางคนมีสิ่งที่ต้องการจะกล่าวมากเกินไป พวกเขาจะตื่นเต้นกับโอกาสที่จะได้ทำ web page แต่ไม่รู้ว่าทำเพราะอะไร หรือต้องการได้อะไรจากการทำสิ่งนั้น หน้าธุรกิจเล็กๆ หลายแห่งจะรวมเอางานอดิเรกและข้อเท็จจริงเกี่ยวกับพนักงานในบริษัทไว้ด้วย ถึงแม้ว่าข้อมูลส่วนตัวอาจจะน่าสนใจ แต่ก็ไม่ควรมาอยู่บน web site ที่เป็นธุรกิจ นั่นไม่ใช่มืออาชีพ Web site ส่วนตัวก็สามารถพบอุปสรรคจากสิ่งกระตุ้นต่างๆ ที่รวมกันด้วยเช่นกัน ผู้ออกแบบบางรายจะเริ่มต้นจากการบอกชื่อ แล้วพูดเกี่ยวกับบริษัทที่ตนทำงานอยู่ แล้วพูดถึงสัตว์เลี้ยงของตน แล้วบอกว่าตนชอบดำน้ำมากแค่ไหน แล้วสามารถทำอะไรใหญ่โตได้บ้างกับสัตว์น้ำที่มีเปลือก ข้อมูลเหล่านี้จะไม่มีจุดรวม กระจัดกระจาย และไม่สามารถแสดงได้ดีบน web site ทางออกสำหรับผู้ออกแบบ web ก็คือ การรวมเป็นหัวข้อหนึ่ง หรือสร้างหน้า menu ที่รวม link ต่างๆ ที่จะนำผู้อ่านไปสู่หน้าที่แยกกันตามแต่ละหัวข้อ

12. การไม่แสดงแหล่งที่มา
สิ่งที่ทำให้ web หมดท่าก็คือ การที่ไม่มีการทดสอบหรือกฏเกณฑ์ที่ผู้ออกแบบจะต้องนำมาใช้ หรือทำตามก่อนที่จะสื่อข้อมูลใดๆ ออกไปและเรียกตนเองว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญ web page ควรมีการอ้างอิงถึงที่มา ผู้ออกแบบควรจะใส่ชื่อของตนและหลักฐานการให้สิทธิ์บน web ของตน และให้วัตถุดิบต้นฉบับและข้อมูลดิบเพื่อที่จะเป็นเหตุผลสนับสนุนบทสรุปใดๆ ที่ทำขึ้น

13. Link และข้อมูลที่ล้าหลัง
หาก page นั้นกล่าวอ้างถึงความเป็นปัจจุบัน ผู้ออกแบบควรจะระบุเวลา และพยายามที่จะรักษา ความเป็นปัจจุบันกาล ไม่มีใครต้องการที่จะอ่านข้อมูลที่ล้าหลังหรือเห็น link ที่ไม่มีความต่อเนื่อง

14. การประกาศความรู้สึกที่ติดลบ
ผู้ออกแบบ web บางคนจะรู้สึกติดลบและไม่มั่นใจในตัวเองและใน page ของตน เมื่อท้อแท้ใจตระหนักถึงความยากลำบากในการสร้าง web ที่ดี ความสิ้นหวังนี้ทำให้ผู้ออกแบบจำนวนมากวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับ page ของตน จึงไม่ใช่เรื่องแปลกเลยที่จะเห็น page ขึ้นต้นด้วย "นี่คือ page ที่โง่เขลาของฉัน" แม้ว่าคำกล่าวเหล่านี้จะทำให้ผู้ออกแบบรู้สึกขวยเขินใน page ตนน้อยลง แต่กลับทำให้ site แย่ลง จุดนี้จะทำให้ผู้ที่เข้ามาดูส่วนใหญ่กลับออกไป หากผู้ออกแบบคิดว่า page นั้นโง่เขลาแล้ว คนอื่นจะเข้าไปดูทำไม

15. ปัญหาการ link
การจัดทำเอกสารต่างๆ ควรให้การ link มีความหมายและสามารถอ่านได้ บทความใน link ควรจะมีเนื้อหาต่อเนื่องกันดีไปถึงบทความที่เหลือ และบทความก็ควรจะสามารถแยกเดี่ยวเป็นเอกสารที่สั่งพิมพ์ได้ ผู้ออกแบบมักจะใช้หลายบรรทัดเต็มๆ หรือใช้คำที่ให้ click ที่นี่ในการ link ควรแทนด้วยการ highlight ที่คำสำคัญซึ่งสามารถ link กันภายในบทความได้

อย่างไรก็ตาม เนื้อหาเป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุดของทุก page ถ้า page ไม่มีอะไรแล้ว ผู้เข้าชมก็จะจากไป เมื่อหลีกเลี่ยงข้อบกพร่อง 15 ประการเหล่านี้แล้ว ผู้ออกแบบสามารถที่จะใช้การออกแบบเป็นเครื่องมือในการส่งเสริมเนื้อหาของ web มากกว่าที่จะไปไขว้เขวกับการออกแบบ
(แปลโดย…..สุรัชนี จันทแสงสว่าง [email protected] ) 14 ตุลาคม 2541

หมายเลขบันทึก: 111029เขียนเมื่อ 12 กรกฎาคม 2007 22:04 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 19:26 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
สำหรับเว็บไทย อาจจะต้องแถมเรื่อง charset ด้วย  มาตรฐานก็สำคัญ หลายเว็บทำไปทำมาเปิดได้แต่ IE ลองใช้ W3C Validator check บ้างก็ยังดี
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท