เจ้าหญิงป่วน ณ ปัตตานี
เด็กหญิง ประเสริฐ (أُخْتٌ صَغِيْرَةٌ ) รัศมีแห่งดวงตา เจ้าหญิงป่วน ณ ปัตตานี

อัลกุรอ่านและความประเสริฐ


อัลกุรอ่านและความประเสริฐ

 

อัลกุรอ่านเป็นคัมภีร์ที่อัลเลาะฮฺ (ซ.บ.) พระผู้เป็นเจ้าประทานให้แก่ท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม เพื่อประกาศบทบัญญัติของศาสนาอิสลาม การลงอัลกุรอ่านนี้ได้ทยอยมาเป็นคราวๆ ซึ่งรวมระยะเวลาทั้งหมดประมาณ 23 ปี และเมื่อท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้รับโองการอัลกุรอ่านแต่ละครั้ง ท่านก็จะอ่านโองการเหล่านั้นให้บรรดาสาวกผู้ใกล้ชิดฟัง เพื่อให้ท่องจำและบันทึกกันไว้

คัมภีร์อัลกุรอ่านแบ่งออกเป็นบทรวมทั้งหมดมี 114 บท แต่ละบทเรียกว่า “ซูเราะฮฺ” ซึ่งมีความยาวไม่เท่ากัน โดยมีจำนวนวรรคมากบ้างน้อยบ้างแตกต่างกันออกไป แต่ละวรรคเรียกว่า “อายะฮฺ”

นอกจากนี้ นักปราชญ์มุสลิมยังได้แบ่งอัลกุรอ่านทั้งเล่มออกเป็นออกเป็น 30 ส่วน แต่ละส่วนมีความยาวเท่ากันโดยประมาณ ส่วนหนึ่งๆเรียกว่า “ญุซอฺ” ดังนั้นอัลกุรอ่านจึงแบ่งออกเป็น 30 ญุซอฺ ซึ่งทำให้สะดวกแก่ผู้ที่นิยมอ่านอัลกุรอ่านในเดือนร่อมาฎอน โดยการอ่านวันละยุซ ซึ่งจะสามารถอ่านจบ 30 ยุซ ภายในเดือนนั้น

คัมภีร์อัลกุรอานเป็นภาษาอาหรับมีทั้งหมด 114 ซูเราะฮฺ (บท) แบ่งเป็นญุซอฺ ได้ 30 ญุซอฺ (ภาค) นับจำนวนอายะฮฺได้ 6,236 อายะฮฺ (โองการ) อันเป็นการนับตามชาวกูฟียฺ ซูเราะฮฺแรกของอัลกุรอานคือ ซูเราะฮฺอัลฟาติฮะฮฺ ซูเราะฮฺสุดท้ายคือ ซูเราะฮฺอันนาส

ในอัลกุรอ่านมีอยู่ 20 ซูเราะฮฺ ที่เริ่มต้นด้วยตัวอักษรอาหรับ บางบทก็เริ่มต้นด้วยตัวอักษรตัวเดียว บางบทก็เริ่มด้วยอักษรหลายตัว เช่น อลิฟ ลาม รอ อักษรเหล่านี้ เชื่อกันว่าแฝงความหมายเร้นลับไว้ แต่ไม่มีผู้ใดรู้นอกจากอัลเลาะฮฺ (ซ.บ.) องค์เดียวเท่านั้น

การลงอัลกุรอ่านแบ่งเป็น 2 ยุค ยุคที่หนึ่งเป็นยุคที่ท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม เผยแพร่ศาสนาอยู่ที่เมืองมักกะฮฺ ซึ่งมีระยะเวลาประมาณ 13 ปี ส่วนยุคที่สองเป็นยุคที่ท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม อพยพไปเผยแพร่อยู่ที่เมืองมะดีนะฮฺแล้ว เป็นเวลาอีก 10 ปี รวมการเผยแพร่ศาสนาทั้งหมดเป็นเวลา 23 ปี

ซูเราะฮฺใดถูกประทานที่มักกะฮฺก็เรียกว่า “มักกียะฮฺ” ส่วนซูเราะฮฺใดถูกประทานที่มะดีนะฮฺหรือถูกประทานที่มักกะฮฺ แต่เป็นเวลาภายหลังจากที่ท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้อพยพไปมะดีนะฮฺแล้ว ก็เรียกว่า “มะดะนียะฮฺ”

ความประเสริฐของการอ่านอัลกุรอาน

อัลลอฮฺ ซ.บ. ทรงตรัสถึง ลักษณะของผู้ที่อ่านอัลกุรอานไว้ในซูเราะฮฺอัลบะเกาะเราะฮฺ ว่า

”บรรดาผู้ที่เราได้ประทานคัมภีร์ (อัลกุรอาน) มายังพวกเขา พวกเขาก็อ่านคัมภีร์นั้นอย่างจริงจัง บุคคลเหล่านั้นคือผู้ที่ศรัทธาต่อคัมภีร์ดังกล่าว และผู้ที่ปฏิเสธคัมภีร์นั้น เขาเหล่านั้นคือ ผู้ที่ขาดทุน”

คำว่า “อ่านคัมภีร์อย่างจริงจัง” หมายถึง การอ่านอัลกุรอานอย่างถูกต้อง และพิเคราะห์ความหมายของอัลกุรอาน ท่านร่อซูลได้กล่าวชมเชยผู้ที่อ่าน ศึกษา และสั่งสอนอัลกุรอานไว้หลายบทด้วยกันอาทิเช่น

"ผู้ที่ดีที่สุดในพวกท่านคือ ผู้ที่ศึกษาอัลกุรอาน และสั่งสอนอัลกุรอาน” บันทึกโดย อัลบุคอรียฺ จากท่านอุสมาน

”ท่านทั้งหลายจงอ่านอัลกุรอาน แท้จริงอัลกุรอานจะมาในวันกิยามะฮฺ โดยเป็นผู้ขอบรรเทาการลงโทษให้แก่ผู้เป็นเจ้าของ (ผู้อ่าน) อัลกุรอาน” บันทึกโดยมุสลิมจาก อบูอุมามะฮฺ

”แท้จริง อัลลอฮฺจะทรงเทิดเกียรติกลุ่มชนหนึ่งด้วยอัลกุรอาน (เนื่องจากพวกเขาอ่านและพิเคราะห์อัลกุรอาน) และพระองค์จะทรงลดเกียรติกลุ่มชนหนึ่งด้วยอัลกุรอาน (เนื่องจากพวกเขาไม่อ่าน และไม่พิเคราะห์อัลกุรอาน)

การท่องจำอัลกุรอาน

นอกจากบรรดามุสลิมจะมีความสนใจในการอ่านอัลกุรอาน ก็ชอบให้เขาท่องจำอัลกุรอานด้วย แม้จะเป็นเพียงท่องจำซูเราะฮฺต่าง ๆ ของญุซอฺอัมมะ หรือบางอายะฮฺของอัลกุรอาน เพราะการท่องจำอัลกรุอานจะแสดงให้เห็นว่าเขามีความสนใจในบัญญัติศาสนา

ถ้าเราอ่านประวัติของบรรดาซ่อฮาบะฮฺของร่อซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม แล้วจะพบว่า พวกเขาต่างให้ความสนใจในการท่องจำอัลกุรอาน บรรดานักวิชาการทางอิสลามศึกษา ส่านมากจะท่องจำอัลกุรอานได้ทั้งเล่ม นอกเหนือไปจากมุสลิมโดยทั่วไป เพราะว่าพวกเขาต้องนำไปอ่านในการปฏิบัติละหมาด

หมายเลขบันทึก: 110931เขียนเมื่อ 12 กรกฎาคม 2007 16:41 น. ()แก้ไขเมื่อ 1 มิถุนายน 2012 14:43 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

ถ้าฟังออกฟังรู้เรื่องก็ดีนะคะ..อยากเข้าใจความหมายจัง

ฟังเสียงอันกรุอ่านหรือเปล่าค่ะ ..

ลองฟังไปเรือยๆๆ จะเข้าใจได้ค่ะ..

อยากได้เสียงอ่านอัลกรุอ่านจังคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท