การจัดการโลจิสติกส์


การจัดการโลจิสติกส์จะเน้นไปที่การเชื่อมโยงระหว่างกิจกรรมตั้งแต่ขั้นตอนในการจัดหาวัตถุดิบ ( Raw Material) สินค้า (Goods) และบริการ (Services) การเคลื่อนย้ายจากต้นทาง (Source of Origin) ไปยังผู้บริโภคปลายทาง (Final Destination) ได้ทันเวลา (Just in Time) และมีประสิทธิภาพ โดยมีการสร้างระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์ การแปลกเปลี่ยนข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ และติดตั้งซอฟท์แวร์ที่ทันสมัย เพื่อช่วยในการบริหารจัดการ
นอกจากนี้ การเคลื่อนย้ายสินค้าในความหมายของโลจิสติกส์ยังครอบคลุมถึงการขนส่งสินค้า (Cargoes Carriage) การเก็บรักษาสินค้า (Warehousing) และการกระจายสินค้า (Cargoes Distribution) กระบวนการที่เกี่ยวข้องกับการจัดซื้อ (Procurement) และกระบวนการที่เกี่ยวข้องกับการคาดคะเนของตลาด (Market Predict) โดยมีเป้าหมายที่สำคัญคือ
♞ ความรวดเร็วในการส่งมอบสินค้า (Speed Delivery)
♞ การไหลลื่นของสินค้า (Physical Flow)
♞ การไหลลื่นของข้อมูลข่าวสาร (Information Flow)
♞ การสร้างมูลค่าเพิ่ม (Value Added)
♞ การลดต้นทุนการดำเนินการเกี่ยวกับสินค้า การดูแลและขนส่งสินค้า (Cargo Handling & Carriage Cost)
โลจิสติกส์กับห่วงโซ่อุปทาน หลักการของห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) คือ การให้ความสำคัญกับทุกส่วนของการผลิต ตั้งแต่ผู้ผลิต โรงงาน ผู้ค้าส่ง จนถึงผู้ค้าปลีก ให้มีส่วนร่วมรับผิดชอบในการสร้างความพึงพอใจให้กับลูกค้า โดยทุกส่วนต้องมีการประสานงานและแลกเปลี่ยนข้อมูลต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อการผลิต
คำว่า “โลจิสติกส์” (Logistics) กับ “ห่วงโซ่อุปทาน” (Supply Chain) ถูกนำมาใช้ในความหมายที่ใกล้เคียงกันบางครั้งมีการใช้ในความหมายที่สลับกัน เนื่องจากมีหน้าที่และความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกันโดยตรง อย่างไรก็ตาม ทั้ง 2 เรื่องนี้มีเป้าหมายเดียวกัน คือ คำนึงถึงความพอใจของลูกค้าเป็นหลัก
โครงข่ายของห่วงโซ่อุปทาน ห่วงโซ่อุปทาน เป็นการควบคุมการผลิตในภาพรวมทั้งหมด คือ เมื่อลูกค้าซื้อสินค้าจากร้านค้าปลีก ภาคการผลิตทั้งระบบจะรับทราบการขายสินค้าจากเครือข่ายคอมพิวเตอร์ที่เชื่อมโยงกัน และจะสนองตอบโดยการสั่งงานไปยังส่วนต่าง ๆ ของระบบ เช่น ผู้ค้าส่ง ผู้ผลิตสินค้า และผู้ผลิตวัตถุดิบ ในการผลิตสินค้าจัดส่งมายังผู้ค้าปลีก เพื่อนำมาทดแทนสินค้าที่ขายไป
ดังนั้นโลจิสติกส์ (Logistics) กับห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) จึงเป็นเสมือนส่วนหนึ่งที่เชื่อมโยงกระบวนการผลิตกิจกรรมต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจะเน้นถึงความสำคัญของระบบที่รวดเร็ว ด้วยต้นทุนการจัดการที่ต่ำกว่า ให้ลูกค้าเกิดความพอใจสูงสุด หากการบริหารจัดการกิจกรรมเหล่านี้มีประสิทธิภาพจะทำให้ค่าใช้จ่ายในการผลิตลดลง ซึ่งหมายถึงต้นทุนการผลิตลดลง และจะทำให้ต้นทุนโลจิสติกส์ลดลงในภาพรวม
โลจิสติกส์ทางน้ำ ประเทศที่มีพื้นที่บนบกขนาดใหญ่ เช่น สหรัฐอเมริกา ออสเตรลีย มักจะเชี่ยวชาญโลจิสติกส์ทางบกและทางอากาศ สำหรับประเทศที่เป็นเกาะ เช่น อังกฤษ สิงคโปร์ ญี่ปุ่น มักจะชำนาญเรื่องโลจิสติกส์ทางน้ำ แต่โลจิสติกส์ทางน้ำถือเป็นการขนส่งที่มีประสิทธิภาพสูงสุด สามารถขนสินค้าได้คราวละมาก ๆ (Mass Transportation) มีค่าระวางบรรทุกถูกกว่าการขนส่งรูปแบบอื่น การขนส่งระหว่างประเทสทั่วโลกนั้น เป็นโลจิสติกส์ทางน้ำหรือบางครั้งเรียกว่าการขนส่งทางทะเลร้อยละ 90 – 95 กล่าวได้ว่าการขนส่งทางทะเลเป็นภาคโลจิสติกส์ที่ใหญ่ที่สุดของการขนส่งทุกประเภท
สินค้าที่ขนส่งทางทะเลแบ่งออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ คือ
♘ สินค้าเทกอง หรือ รวมกอง (Bulk Cargo) คือ สินค้าทั่วไปที่ไม่สามารถจัดก็บเป็นหีบห่อได้ ซึ่งประกอบด้วย สินค้าแห้ง (Dry Bulk) และสินค้าเหลว (Liquid Bulk)
♘ สินค้าหีบห่อ (Break-Bulk Cargo) คือ สินค้าที่สามารถมัดรวมกันเป็นหีบห่อได้ “จากการศึกษาของสภาพัฒน์ฯ พบว่าต้นทุนของโลจิสติกส์อยู่ที่ ประมาณ 3.5 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ”ในระยะแรกเรือบรรทุกสินค้ามีลักษณะเรียกว่า Multipurpose Cargo Ship คือเป็นเรือเอนกประสงค์ที่สามารถบรรทุกได้ทั้งสินค้าเทกองและสินค้าหีบห่อ หรือมีชื่อเรียกอีกอย่างว่า General Cargo Ship สามารถบรรทุกสินค้าได้หลากหลายประเภท จัดเป็นเรือบรรทุกสินค้าแบบดั้งเดิม (Conventional Vessel) ต่อมาเมื่อมีสินค้าที่ต้องการขนส่งทางเรือมากขึ้น จึงมีความจำเป็นต้องใช้เรือเฉพาะอย่างในการขนส่งสินค้าแต่ละชนิด

ในปัจจุบันจึงจัดประเภทของเรือแบบต่าง ๆ ดังต่อไปนี้
♘♟ เรือบรรทุกสินค้าทั่วไป (Multipurpose หรือ General Cargo Ship)
♘♟ เรือบรรทุกสินค้าเทกองหรือเมล็ดพืช (Bulk Carrier หรือ Bulk Cargo Ship) และสินค้าแร่ต่าง ๆ (Ore Carrier)
♘♟ เรือบรรทุกสินค้าเหลว (Tanker)
♘♟ เรือบรรทุกสินค้าแช่เย็น/แช่แข้ง (Reefer Cargo Ship)
♘♟ เรือบรรทุกก๊าซ (Gas Carrier)
♘♟ เรือบรรทุกสินค้าตู้คอนเทนเนอร์ (Container Vessel)
เรือตู้คอนเทนเนอร์กับโลจิสติกส์ ปัจจุบันธุรกิจเดินเรือบรรทุกสินค้าตู้คอนเทนเนอร์เป็นธุรกิจที่ใหญ่ที่สุดในบรรดาธุรกิจเดินเรือขนส่งทั้งหมด คิดเป็นมากกว่าร้อยละ 55 ของธุรกิจขนส่งทางทะเล สามารถดึงส่วนแบ่งการตลาดจากการขนส่งรูปแบบเดิม คือ แบบเทกอง มาเพิ่มด้วยทั้งนี้เนื่องจากการขนส่งโดยนำสินค้าบรรจุลงตู้คอนเทนเนอร์ เป็นการขนส่งที่สะดวก สะอาด รวดเร็ว ปลอดภัย ประหยัด ค่าใช้จ่าย จัดเป็นการขนส่งเพียงระบบเดียวที่สนับสนุนระบบโลจิสติกส์ได้อย่างสมบูรณ์ การเดินเรือบรรทุกสินค้าตู้คอนเทนเนอร์เติบโตอย่างรวดเร็ว เนื่องจากการค้าระหว่างประเทศเพิ่มขึ้น การพัฒนาอย่างรวดเร็วของธุรกิจขนส่งทางเรือ รวมถึงการเปลี่ยนรูปแบบการขนสินค้าแบบดั้งเดิม (Conventional Vessel) มาใช้ระบบคอนเทนเนอร์ (Containerisational ) สินค้าที่ขนส่งโดยใช้ระบบคอนเทนเนอร์มีหลายชนิด เป็นทั้งสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรม ปัจจุบันมีสินค้าบางประเภทซึ่งเดิมไม่ได้ขนด้วยระบบคอนเทนเนอร์ แต่ได้เปลี่ยนมาใช้การขนส่งด้วยระบบคอนเทนเนอร์มากขึ้น เช่น ข้าวหอมมะลิบรรจุถุง ซึ่งปัจจุบัน 1 ใน 3 ของปริมาณข้าวที่ส่งออกของประเทศไทยขนส่งโดยระบบคอนเทนเนอร์ ธุรกิจเดินเรือขนส่งตู้สินค้าคอนเทนเนอร์สามารถแบ่งตามส้นทางขนส่งได้ 3 เส้นทาง ดังต่อไปนี้
♚ เส้นทางสายตะวันออก – ตะวันตก (East-West Routes)เป็นเส้นทางระหว่างประเทศกลุ่ม OECD และเป็นเส้นทางที่มีปริมาณการขนส่งมากที่สุด โดยเส้นทางเดินเรือขนส่งสินค้าจะประกอบด้วย การเดินเรือข้ามมหาสมุทรแอตแลนติก (Trans-Atlantic) การเดินเรือข้ามมหาสมุทรแปซิฟิก (Trans-Pacific) และการเดินเรือระหว่างทวีปยุโรปตะวันตกและทวีปเอเชีย
♚ เส้นทางสายเหนือ-ใต้ (North-South Routes)เป็นเส้นทางข้ามเส้นศูนย์สูตร ส่วนใหญ่การขนส่งสินค้าตามเส้นทางนี้จะเป็นการขนสินค้าระหว่างประเทศในกลุ่ม OECD และประเทศกำลังพัฒนา
♚ เส้นทางภายในภูมิภาค (Intra-Regional Routes)
ส่วนใหญ่เป็นเส้นทางภายในภูมิภาคเอเชีย (Intra-Asia Route) การขนส่งในเส้นทางนี้มีการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว ผู้ประกอบการขนส่งสินค้าตู้คอนเทนเนอร์รายใหญ่ 20 รายแรก มีส่วนแบ่งการตลาดรวมกันมากกว่าครึ่งหนึ่งของปริมาณการขนส่งทั้งหมด โดยปกติผู้ประกอบการเดินเรือซึ่งใช้เส้นทางตะวันออก-ตะวันตก (East-West Routes) จะเป็นสายการเดินเรือหลักของโลก (Main Line Operator , MLO) ขณะที่ผู้ประกอบการสายเหนือ-ใต้ (North-South Routes) นั้นเป็นบริษัทเดินเรือระดับภูมิภาคขนาดใหญ่
ความต้องการใช้เรือขนาดใหญ่เกิดขึ้นเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในธุรกิจเดินเรือ ด้วยต้นทุนต่อระวางบรรทุกที่ถูกกว่า ซึ่งทำให้สามารถเสนอราคาค่าขนส่งที่ถูกลงได้ผลที่ตามมาในด้านของผู้ขนส่ง คือ จะมีตู้คอนเทนเนอร์จำนวนมากถูกลำเลียงไปยังที่ต่าง ๆ ดังนั้นโลจิสติกส์จึงเข้ามามีบทบาทสำคัญในการบริหารจัดการตู้สินค้าเหล่านี้ เพื่อให้การขนส่งสินค้าจากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่งเป็นไปอย่างราบรื่น และมีประสิทธิภาพสูงสุด
การขนส่งสินค้าระหว่างประเทศส่วนใหญ่ใช้การขนส่งทางทะเลเป็นหลัก เป็นการขนส่งแบบ Port to Port อย่างไรก็ตามการขนส่งทางทะเลเป็นการขนส่งที่ไม่สมบูรณ์โดยลำพัง จึงได้มีพัฒนาการขนส่งเป็นแบบ Door to Door โดยมีการนำการจัดการที่ทันสมัยเข้ามาใช้ มีระบบคลังสินค้า และการกระจายสินค้าที่รวดเร็ว ซึ่งรวมเรียกว่า การจัดการแบบโลจิสติกส์ ที่นับวันการจัดการลักษณะนี้จะทวีความสำคัญยิ่งขึ้น ตราบเท่าที่มนุษย์ยังคงมีความต้องการเคลื่อนย้ายสินค้าจากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่ง
OECD ย่อมาจาก Organization for Economic Co-operation ประกอบด้วยประเทศ 30 ประเทศ ได้แก่ ออสเตรเลีย ออสเตรีย เบลเยี่ยม แคนาดา สาธารณรัฐเชค เดนมาร์ค ฟินแลนด์ ฝรั่งเศส เยอรมันนี กรีซ ฮังการี ไอส์แลนด์ ไอร์แลนด์ อิตาลี ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ลักเซมเบอร์ก แม็กซิโก เนเธอร์แลนด์ นิวซีแลนด์ นอร์เวย์ โปแลนด์ โปรตุเกส สาธารณรัฐสโลวัค สเปน สวีเดน สวสเซอร์แลนด์ ตุรกี สหราชอาณาจักร และ สหรัฐอเมริกา



ความเห็น (2)

บทความดีมากเลยค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท