สาระน่ารู้ กินผักผลไม้สด ลดอาหารไขมัน ป้องกันมะเร็ง


สารเม็ดสีในพืช เช่น สารคลอโรฟีลล์ พบในพืชใบเขียวทั่วไป เช่น คะน้า กะหล่ำ ผักใบเขียว และสาหร่ายหลายชนิด สารคาโรทีนอยด์ พบในพืชที่มีสีส้ม – เหลือง และ สีแดง – ส้ม เช่น แครอท ฟักทอง มะเขือเทศ มะนาว ส้ม และผักใบเขียว สารแอนโทไซยานิดิน พบในพืชที่มีสีน้ำเงิน ม่วง แดง เช่น หัวบีท เชอร์รี่ องุ่นม่วง – แดง และ กะหล่ำม่วง
 สารเหล่านี้มีคุณสมบัติป้องกันมะเร็ง ดังนี้ ต้านอนุมูลอิสระ ดูดซับสารพิษที่อาจก่อให้เกิดมะเร็ง ต้านการอักเสบ และเพิ่มระบบภูมิคุ้มกัน ปกป้องเซลล์จากรังสียูวี ช่วยการไหลเวียนของเลือด ลดคลอเรสเตอรอล
 ผู้ที่รับประทานพืชที่มีสารเม็ดสีเป็นประจำจะช่วยลดความเสี่ยงจากการเป็นมะเร็งปอด มะเร็งลำไส้ใหญ่ และทวารหนัก มะเร็งต่อมลูกหมาก มะเร็งเต้านม และ มะเร็งมดลูก
 พืชตระกูลกะหล่ำ มีหลายชนิด เช่น บรอคโคลี กะหล่ำปลี ดอกกะหล่ำ คะน้า กวางตุ้ง ผักกาดขาว และหัวผักกาด พืชในกลุ่มนี้มีสารสำคัญที่ช่วยในการป้องกันมะเร็งหลายชนิด เช่น sulforaphane, indole, isothiocyanate สารเหล่านี้มีคุณสมบัติป้องกันมะเร็ง ดังนี้ ยับยั้งการเจริญเติบโตของเนื้องอก ยับยั้งเอนไซม์ที่กระตุ้นสารก่อมะเร็ง จับสารก่อมะเร็งและอนุมูลอิสระ ส่งเสริมเอนไซม์ที่ขับพิษของสารก่อมะเร็ง รักษาสมดุลของระดับฮอร์โมนเอสโตรเจน ส่งเสริมระบบภูมิคุ้มกัน
 ผู้ที่รับประทานพืชตระกูลกะหล่ำเป็นประจำจะช่วยลดความเสี่ยงจากการเป็นมะเร็งปอด มะเร็งเต้านม มะเร็งหลอดอาหาร มะเร็งกระเพาะอาหาร มะเร็งตับ และ มะเร็งลำไส้ใหญ่
 พืชตระกูลหอม – กระเทียม มีหลายชนิด เช่น หอมใหญ่ หอมแดง กระเทียม ผักกุยช่าย ดอกหอม เป็นต้น พบสารประกอบซัลเฟอร์ ซึ่งเป็นสารป้องกันมะเร็งหลายชนิด เช่น สาร diallyl disulfide และ diallyl trisulfide ในน้ำมันกระเทียม และสาร S-allyl cystein ในกระเทียมทุบ สารเหล่านี้มีคุณสมบัติป้องกันมะเร็ง คือ กระตุ้นเอนไซม์ในการทำลายพิษ ยับยั้งการทำงานของเซลล์มะเร็ง ยับยั้งการเจริญของเซลล์มะเร็ง ส่งเสริมภูมิคุ้มกัน
 ผู้ที่รับประทานพืชตระกูลหอม - กระเทียมเป็นประจำจะช่วยลดความเสี่ยงจากการเป็นมะเร็งกระเพาะอาหาร มะเร็งลำไส้ใหญ่ และ มะเร็งหลอดอาหาร
 ผัก – ผลไม้ที่มีสารไลโคปีน ซึ่ง สารไลโคปีน (Lycopene) พบในผักและผลไม้ที่มีสีแดง เช่น มะเขือเทศ องุ่น แตงโม สตรอเบอรี่ ฯลฯ อาหารที่มีสารไลโคปีนมากเมื่อผ่านความร้อนแล้ว สารไลโคปีนจะถูกดูดซึมได้ดีขึ้น เช่น น้ำมะเขือเทศ ซอส และแยมมะเขือเทศ
 สารไลโคปีนมีคุณสมบัติในการต้านอนุมูลอิสระสูงกว่าวิตามินอีถึง 10 เท่า และสูงกว่าเบต้าแคโรทีนถึง 2 เท่า ผู้ที่รับประทานผัก – ผลไม้ หรือผลิตภัณฑ์ที่มีสารไลโคปีน เช่น มะเขือเทศเป็นประจำ จะช่วยลดความเสี่ยงจากการเกิดมะเร็งต่อมลูกหมาก มะเร็งปอด และ มะเร็งกระเพาะอาหาร
 ผัก – ผลไม้ตระกูลส้ม ได้แก่ ส้มชนิดต่างๆ มะกรูด มะนาว ฯลฯ นอกจากจะมีวิตามินซีแล้ว ยังประกอบไปด้วยสารสำคัญที่มีคุณสมบัติในการป้องกันมะเร็ง เช่น limonene, limonoid, และ carotenoid เป็นต้น สารเหล่านี้มีคุณสมบัติป้องกันมะเร็ง คือ ต้านการอักเสบ ยังยั้งการแข็งตัวของเลือด ยับยั้งอนุมูลอิสระ ยับยั้งการเจริญของเซลล์มะเร็ง กระตุ้นเอนไซม์ทำลายพิษสารก่อมะเร็ง
 ผู้ที่รับประทานผัก – ผลไม้ตระกูลส้ม - มะนาวเป็นประจำจะช่วยลดความเสี่ยงจากการเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งกระเพาะอาหาร มะเร็งเต้านม และ มะเร็งปอด นอกจากนี้ ผัก - ผลไม้ตระกูลส้ม – มะนาวยังมีคุณสมบัติในการป้องกันโรคอื่นๆ เช่น ป้องกันโรคลักปิดลักเปิด และลดการสร้างคลอเรสเตอรอล
 ถั่วเหลืองนอกจากจะเป็นแหล่งของเส้นใยอาหารแล้ว ยังประกอบไปด้วยสารต้านมะเร็งหลายชนิด เช่น genistein, daidzein, saponins, และ protease inhibitors ฯลฯ สารเหล่านี้มีคุณสมบัติป้องกันมะเร็ง คือ ต้านอนุมูลอิสระ ยับยั้งการเจริญของเนื้องอกและเซลล์มะเร็ง ต้านมะเร็งที่เกี่ยวข้องกับฮอร์โมนเอสโตรเจน เช่น มะเร็งเต้านม และมะเร็งรังไข่
 นอกจากนี้ ยังมีคุณสมบัติช่วยลดอาการร้อนวูบวาบ อาการเหงื่อออกเวลากลางคืนของหญิงวัยหมดประจำเดือน และอาจลดอาการกระดูกผุได้ ผู้ที่รับประทานถั่วเหลืองและผลิตภัณฑ์จากถั่วเหลือง เช่น เต้าหู้ โปรตีนจากถั่วเหลืองเป็นประจำ จะช่วยลดความเสี่ยงจากการเป็นมะเร็งเต้านม มะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งรังไข่ มะเร็งต่อมลูกหมาก มะเร็งกระเพาะอาหาร และ มะเร็งปอด


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท