Kittiphong_t
นาวาเอก กิตติพงศ์ ทิพย์เสถียร

สรุปการเสวนา KM โดย Mr. Chris Thatcher ตอนที่ 2


KM โดย Mr. Chris Thatcher

        คุณคริสบอกว่าประสบการณ์ของแต่ละคน นั้น มีทั้งส่วนที่เหมาะและไม่เหมาะกับการนำมาใช้ จึงต้องมีการนำมากลั่นกรอง เพื่อให้คัดแยกส่วนที่ไม่เกี่ยวข้องออก เหมือนกับการคั้นน้ำผลไม้ ซึ่งก่อนที่จะแยกความรู้ออกจากประสบการณ์ในตัวคนได้ นั้น จะต้องรู้จักระดับการเรียนรู้จนเกิดความเชี่ยวชาญของมนุษย์ทั้ง 4 ขั้นตอน เสียก่อน ดังนี้

ระดับที่ 1 ยังไม่รู้และยังทำไม่ได้ (Unconscious Incompetent)

ระดับที่ 2 มีความรู้แล้วแต่ยังทำไม่ได้ (Conscious Incompetent)

ระดับที่ 3 มีความรู้แล้วและทำได้ (Conscious Incompetent) ขั้นตอนนี้เป็นการที่คนเริ่มทำได้ แต่เป็นการทำโดยอิงตามรูปแบบ หรือวิธีการเป็นหลัก เช่น การเปิดตำราทำ หรือทำโดยที่จะต้องคอยคิดล่วงหน้าว่าต่อไปจะทำอะไร เช่นจะทำกับข้าวต้องเอาคู่มือมากาง ชั่ง ตวง วัด ส่วนประกอบต่าง ๆ ให้เรียบร้อย

ระดับที่ 4 มีความรู้สามารถทำได้โดยอัตโนมัติ (Unconscious Competent) เป็นระดับที่คนกลายเป็นผูเชี่ยวชาญ ในลักษณะที่ชอบพูดกันว่าหลับตา(ข้างเดียว)ก็ทำได้ ไม่ต้องคิดอะไรเป็นขั้นตอนล่วงหน้าตลอดเวลา เปรียบเทียบกับแรก ๆ เราขับรถ จะเกร็งมากคิดอะไรเป็นขั้นตอนตลอด บางคน(เช่นผม) ไม่เปิดวิทยุด้วยซ้ำ พอต่อมาสามารถขับรถ กินขนม ฟังเพลง คิดเรื่องาน เวลาเดียวกันได้(แต่ไม่ควรทำ) หรือคนที่ทำอาหารเก่ง ๆ จนแทบไม่ต้องเปิดตำราและคอยชั่ง ตวง วัด คุณคริสได้แนะนำศัพท์คำหนึ่งว่า Hard Wired ซึ่งหมายถึงเป็นอะไรที่ติดอยู่ในสมอง สามารถทำได้โดยอัตโนมัติ ไม่ต้องคิดเป็นขั้นตอน เช่น ระหว่างแปรงฟัน เราไม่ต้องคอยติดว่า แปรงขึ้นหรือยัง ลงหรือยัง เราสามารถคิดเรื่องอื่นได้เลย เช่น จะกินอะไรตอนเช้าดี

พอพูดถึงเรื่องแปรงฟัน คุณคริสก็โยงกลับไปที่เรื่องประสบการณ์ว่า ทุกคนแปรงฟัน ด้วยวัตถุประสงค์เพื่อให้ปากสะอาดเหมือนกัน แต่วิธีการแปรงแตกต่างกัน ตามที่พ่อ แม่ แต่ละคนสอนมา

การทำ KM ควรจะทำที่คนระดับ 4 ซึ่งมี Tacit Knowledge มากมาย โดยการสกัดความรู้ออกมานั้น จะต้องให้เขาจินตนาการว่าขณะนี้เขากำลังเป็นคนในระดับ 3 เมื่อจะทำอะไรเขาจะต้องบอกออกมาทุกขั้นตอน แล้วเราก็หาวิธีการบันทึกความรู้ให้ได้(จด หรืออัดวีดิทัศน์) เพื่อทำคู่มือไว้ใช้ในองค์กร หรือ ขั้นตอนมาตรฐานในการปฏิบัติงาน (Standard Operations Procedure : SOP)

นอกจากนี้ เมื่อถอด Tacit Knowledge มาบันทึกไว้ได้แล้ว ควรจะมีการพิจารณาต่อว่า จะเกิดอะไรขึ้นถ้าเราไม่ทำแบบนี้ หรือจะเกิดอะไรขึ้นในเรื่องที่เราเคยทำคนเดียวแต่เราจะหาคนมาช่วย จากนั้นคุณคริสก็ยิงคำถามที่ทำให้ทุกคนตะลึงว่า “

มีใครเชื่อเรื่องรักแรกพบ หรือไม่ แน่นอนที่สุดคำตอบที่ได้คือเสียงงึมงัมที่ระคนไปด้วยความเขินอาย ราวกับไม่มีใครในที่นั้นรู้จักกับความรัก จนในที่สุดคุณคริสก็เปลี่ยนคำถามว่า คิดว่าคำตอบที่ได้จะมีกี่แบบ เกือบทั้งหมดตอบว่า 2 แบบ คือใช่ และไม่ใช่ แต่คุณคริสบอกว่ามี 3 แบบ คือ “ใช่ไม่ใช่ และ “ไม่รู้ ซึ่ง “ใช่” “ไม่ใช่” จะเกิดขึ้นเมื่อคนนั้นมีความคิดเห็น(Opinion) ในเรื่องที่จะตอบ ส่วน ไม่รู้” จะเกิดขึ้นเมื่อไม่มีความคิดเห็นในเรื่องที่จะตอบ

หน้าที่ของนักจัดการความรู้ ไม่ต้องบอกว่าความคิดเห็นใดถูกหรือผิด แต่จะต้องเรียนรู้ให้ได้ว่าทำไมผู้ตอบจึงมีความคิดเห็นแตกต่างกัน แล้วศึกษาความแตกต่างนั้นว่าจะให้ประโยชน์อะไรแก่เราบ้าง ถึงตอนนี้คุณคริสก็ได้แนะนำคำกล่าวที่ว่า Beauty is in the eye of the beholder หรือความสวยงามขึ้นอยู่กับสายตาของผู้ที่มองเห็น ซึ่งคนอื่นอาจเห็นไม่เหมือนเราก็ได้

คุณคริสกล่าวในตอนท้ายว่า KM เป็นเรื่องของความคิดสร้างสรรค์ ทำอย่างไรจึงจะผลักดันให้ความคิดสร้างสรรค์ที่มีอยู่ในคน ออกมาเป็นนวัตกรรมให้ได้ ซึ่งปัจจุบัน มหาวิทยาลัยมีความต้องการนักคิดที่ดีอย่างมากสำหรับการสร้างทุนทางปัญญา

  • KM ไม่ใช่เป็นเพียงศาสตร์ แต่เป็นศิลปะ ที่ต้องการการสร้างสรรค์ ไม่ใช่การ Copy
  • เราทุกคนเป็นผู้ทำให้ KM เป็นจริง ไม่ใช่ผู้อื่น KM เป็นสิ่งที่อยู่ในตัวเราทุกคนอยู่แล้ว ที่เป็นสิ่งใหม่คือความพยายามที่จะถอด KM ให้เป็นศาสตร์ใหม่
  • KM จะช่วยให้สามารถตอบคำถามว่า คิดได้อย่าไร”
  • KM ไม่ใช่สิ่งที่เราต้องอ่าน แต่เป็นสิ่งที่เราต้องทำ

หมายเลขบันทึก: 110526เขียนเมื่อ 11 กรกฎาคม 2007 14:14 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 12:59 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

 สวัสดีค่ะ

  • ตามมาอ่านตอนจบ
  • ไม่เคยผิดหวังเลบ
  • เยี่ยมค่ะ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท