"อิ่มตัว"กับความสำเร็จ..เหตุพนักงานหัวกะทิตีจากกูเกิล


หลายคนรู้จักชื่อของกูเกิลในฐานะเสิร์ชเอนจินชื่อดังที่มีพนักงานหัวคิดสร้างสรรค์เดินสวนกันไปมาในองค์กรมากกว่า 12,000 คน และเป็นอีกหนึ่งองค์กรที่แต่ละปีมีผู้ส่งใบสมัครมานับล้านชุดเพื่อรับการคัดเลือกบรรจุเข้าทำงาน แต่กูเกิลในวันนี้ก็กำลังประสบปัญหาเหมือนที่หลายองค์กรใหญ่ในปัจจุบันต้องพบเจอ นั่นก็คือการขาดแรงจูงใจในการทำงานให้กับเหล่าวิศวกรซอฟต์แวร์หัวกะทิที่บริษัทคัดสรรเข้ามา และทำให้หลายคนเลือกที่จะแยกทางเดินกับกูเกิลเพื่อไปตามหาแรงบันดาลใจใหม่ ๆ จากบริษัทอื่น

"อิ่มตัว"กับความสำเร็จ..เหตุพนักงานหัวกะทิตีจากกูเกิล 


       
       กูเกิลยกย่องทีมวิศวกรซอฟต์แวร์ว่าเป็นขุนพลคนสำคัญขององค์กร ผู้สร้างกูเกิลจากบริษัทเล็ก ๆ ที่มีราคาหุ้นเพียงหุ้นละ 49 เซนต์ ให้กลายเป็นบริษัทขนาดยักษ์ที่มีมูลค่าหุ้นสูงถึงหุ้นละ 534 เหรียญสหรัฐในปัจจุบัน แต่สิ่งที่เริ่มเกิดขึ้นในองค์กรแห่งนี้กำลังจะซ้ำรอยเดิมกับที่เคยเกิดขึ้นกับไมโครซอฟท์ ยาฮู และอีเบย์ นั่นก็คือ ขุมทรัพย์คนสำคัญของกูเกิลกำลังจะตีจากเพื่อไปเติบโตในองค์กรอื่นที่พวกเขามองว่า เปิดโอกาสให้ทำในสิ่งที่ต้องการได้มากกว่า และทำให้รู้สึกท้าทายได้มากกว่า
       

       จัสติน โรเซนสไตน์ พนักงานกูเกิลวัย 24 ปี ผู้พัฒนาบริการสร้างเว็บไซต์ PageCreator เป็นอีกคนหนึ่งซึ่งได้ลาออกจากกูเกิลเพื่อไปเริ่มงานในตำแหน่งวิศวกรซอฟต์แวร์อาวุโสกับเว็บไซต์ FaceBook เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา และได้เปิดเผยว่า ความสำเร็จที่เขามีกับกูเกิลเป็นเรื่องของอดีตไปแล้ว คำตอบนี้มีความหมายเชิงลึก และทำให้มองเห็นภาพว่า เพราะเหตุใดการลาออกจากกูเกิลของทีมงานคนสำคัญจึงมีมากขึ้น
       
       "พนักงานบางส่วนเริ่มคิดถึงการทำงานที่องค์กรแห่งใหม่ที่เปิดโอกาสให้พวกเขาได้ทำสิ่งที่ยิ่งใหญ่มากกว่าที่กูเกิลเปิดทางให้ และสามารถทำได้รวดเร็วกว่าที่กูเกิล ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดาของมนุษย์ที่ต้องการความท้าทายในการทำงาน"
       
       อย่างไรก็ดี พนักงานทั้งสิ้นของกูเกิลในไตรมาสแรกของปี 2007 มีประมาณ 12,000 คน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2003 ที่มีประมาณ 2 พันกว่าคนถึง 6 เท่า
       
       เหตุผลอีกข้อหนึ่งที่ทำให้พนักงานในองค์กรทนต่อความเย้ายวนไม่ได้นั่นก็คือมูลค่าหุ้นที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนทำให้พนักงานบางส่วนทำกำไรได้เป็นกอบเป็นกำจากการเทขายหุ้นที่ซื้อมาในช่วงก่อตั้งกิจการ โดยในช่วงนั้น หุ้นของกูเกิลมีมูลค่าประมาณ 49 เซนต์ เทียบไม่ได้อย่างสิ้นเชิงกับราคาหุ้นในขณะนี้ที่พุ่งทะยานขึ้นไปถึง 534 เหรียญสหรัฐ
       
       เหตุผลข้อสุดท้ายที่อาจเป็นข้อสำคัญที่สุดก็คือ กูเกิลสามารถคว้าชัยชนะเหนือผู้อื่นในธุรกิจเสิร์ชเอนจิน ซึ่งเท่ากับว่าเดินทางมาถึงจุดสำเร็จสูงสุดแล้ว ทำให้บรรดานักพัฒนาซอฟต์แวร์ต่างรู้สึกอิ่มตัวกับความสำเร็จที่ได้รับ และต้องการแสวงหาความท้าทายใหม่ ๆ จากบริษัทอื่นแม้จะเป็นค่ายที่เล็กกว่าแทน
       
       ลาสซโล บ็อค (Laszlo Bock) รองประธานฝ่ายบริหารเจ้าหน้าที่ของกูเกิล ออกมาแก้ข้อกล่าวหาดังกล่าวนี้ โดยระบุว่า ในปีที่ผ่านมา กูเกิลมีพนักงานลาออกต่ำกว่า 5 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่มีการเปิดรับสมัครบุคคลเข้าทำงานมากกว่า ข้อกล่าวหาที่บอกว่า กูเกิลขาดแรงจูงใจในการทำงานให้กับพนักงานในองค์กรจึงเป็นไปไม่ได้ และบริษัทก็มีพนักงานลาออกน้อยกว่าพนักงานที่บรรจุเข้ามาใหม่
       
       อย่างไรก็ดี บ็อคกล่าวว่า ทีมผู้บริหารได้มีการประชุมถึงเรื่องดังกล่าว และพยายามหาทาง หรือวิธีการที่จะสร้างแรงบันดาลใจให้กับพนักงานหัวกะทิเหล่านั้นอีกครั้ง เพื่อรักษาระดับการเติบโตของบริษัทให้อยู่ในเกณฑ์นี้ต่อไป
       
       "เราค่อนข้างตรวจสอบภาวะความเสี่ยงที่เรามีโอกาสจะพบเจอ และเราจะไม่ยอมเป็นเหยื่อของความสำเร็จที่องค์กรเราได้สร้างขึ้นมาเด็ดขาด" บ็อคกล่าว
       
       แม้จะยังไม่มีมาตรการชัดเจนว่ากูเกิลจะสามารถรีดเค้นแรงบันดาลใจจากทีมนักพัฒนาซอฟต์แวร์มืออาชีพของบริษัทได้อย่างไร แต่สัญญาณจากข่าวดังกล่าวเชื่อว่าเสิร์ชเอนจินชื่อดังคงต้องรีบวางมาตรการป้องกันให้ชัดเจนเสียแล้ว
       
       เรียบเรียงจากวอลล์สตรีทเจอร์นัล
       
       Company Related Links :
       Google

http://www.manager.co.th/CyberBiz/ViewNews.aspx?NewsID=9500000078728

คำสำคัญ (Tags): #google
หมายเลขบันทึก: 110257เขียนเมื่อ 10 กรกฎาคม 2007 15:59 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 19:24 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท