ภูมิปัญญา "มีที่มา อย่าฉวยโอกาส"


ขอยกย่องผู้ที่มีน้ำใจ และผู้ที่เจริญแล้วด้วยปัญญา

 

ภูมิปัญญามีที่มา

อย่าฉวยโอกาส

 

เอาไปใช้ได้  แต่ต้องให้เกียรติเจ้าของ

        ฉวยโอกาส เป็นการรอคอยความสำเร็จจากสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่มีผู้เสียสละเวลา สถานที่ รายได้ เปลืองตัว จากจุดเริ่มต้นไปจนประสบความสำเร็จ แต่ดันมีคนอื่นที่ไม่ได้มีส่วนในการลงทุนเลยแม่แต่น้อยนิด มาเก็บเกี่ยวผลประโยชน์นำเอาไปหากิน หรือนำเอาไปใช้ในการสร้างชื่อเสียงให้ตนเอง โดยไม่ต้องลงทุน 

        ชุบมือเปิบ เป็นการรับประทานอาหารของชาวบ้าน ในชนบท ที่นั่งล้อมวงรอบสำรับกับข้าว แต่ไม่นิยมใช้ช้อนและซ่อม รับประทานอาหารด้วยมือที่ตนเองถนัด คนที่ถนัดขวาก็จะใช้มือขวาชุบน้ำในชามที่เตรียมเอาไว้เพื่อให้มือลื่นไม่ติดข้าวสุก แล้วก็หยิบกับข้าวมาใส่ในจานของตน ใช้นิ้วมือรวบข้าวและกับใส่ปากเคี้ยวอย่างเอร็ดอร่อย โดยที่หารู้ไม่ว่ากว่าที่ได้สิ่งนั้นมา มีคนอื่นที่เขาต้องทนลำบาก ในการเสาะแสวงหา ให้ได้มาซึ่งข้าวและน้ำ 

              ศิลปะท้องถิ่น เพลงพื้นบ้าน เพลงอีแซว หรือเอกลักษณ์ของท้องถิ่นต้องสูญพันธุ์ไปมากต่อมากก็เพราะคนที่มีลักษณะเช่นนี้ และมีคนอีกจำนวนไม่น้อยที่ประพฤติปฏิบัติตนเยี่ยงนี้อยู่ จะทำอย่างไรให้พวกเขามีความรู้สึกว่า เขาเหล่านั้นกำลังเอาเปรียบเจ้าของ หรือผู้ที่เป็นต้นกำเนิดอย่างมาก รวมถึงการเอาเปรียบผู้ที่บริโภคอย่างมากเช่นกัน  ถ้ามีใครคนหนึ่งร่วมงานอยู่กับเรา มีส่วนเกี่ยวข้องอยู่ในวงการเดียวกัน ตั้งแต่ต้น ร่วมกันทุ่มเทความคิดเป็นเวลาหลายปี จนงานประสบความสำเร็จ มีชื่อเสียง มีคนรู้จัก คนหนึ่งเป็นผู้ส่งเสริม ผลักดันให้อีกคนหนึ่งเด่นและโด่งดังขึ้นมา จนมีผู้คนอื่น ๆ รุมล้อมอยากได้ไปร่วมในกิจกรรมสำคัญของเขา  เขาคนนั้นมีสิทธิที่จะตัดสินใจตอบตกลงไปร่วมหรือไม่ไป เป็นหน้าที่ที่คนคนหนึ่งตัดสินใจเองได้ เพราะมันเกี่ยวข้องกับตนเอง แต่ถ้าการตัดสินใจมันไปเกี่ยวข้องกับคนอื่น ที่ตนเองไม่ได้สร้างพวกเขาเหล่านั้นขึ้นมา มีคำอีกคำหนึ่งที่จะนำมาใช้แทนคำว่า ฉวยโอกาส ได้ดีกว่า ในพฤติกรรมเช่นนี้ก็คือ........ 

           เมื่อหลายวันก่อน ได้พูดคุยกับนักเพลงรุ่นพี่ที่นับถือกันท่านหนึ่ง ท่านเล่าให้ผมฟังว่า ไปร่วมงานแสดงกับนักเพลงรุ่นลูกศิษย์ (อายุคราวหลาน) เมื่อการแสดงเสร็จ ท่านก็ขอรับค่าตัว นักเพลงรุ่นหลานคนนั้นก็จัดการให้ เพราะว่างานนี้ เขาเป็นโต้โผ (คนรับงาน) ปรากฏว่า ศิลปินระดับครูเพลง ได้รับค่าตัวในการแสดงน้อยเสียกว่านักแสดงหัดใหม่เสียอีกนะ ทั้งที่ตัวโต้โผยังมีเงินเหลืออยู่ที่ตนเองอีกจำนวนมาก = ฉวยโอกาส (ชุบมือเปิบ)      

           

            บทเพลงพื้นบ้านที่ผมเขียนเอาไว้ตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2535-2550 เป็นเวลานานกว่า 16 ปี มีอยู่เป็นจำนวนมาก 100-150 เรื่อง นับจำนวน 1,000 หน้า ได้ถูกถ่ายทอดผ่านผู้แสดงที่เป็นเด็กนักเรียนของผม และประชาชนกลุ่มต่าง ๆ ที่ผมไปเป็นวิทยากร สอนความรู้เรื่องและฝึกหัดเพลงพื้นบ้านให้ ต่อมาไม่นาน บทเพลงเหล่านั้นเปลี่ยนที่อยู่ จากคนของผมไปอยู่ที่ผู้คนอื่น ๆ อีกมากมาย และในที่สุดบทเพลงของผมที่เขียนมากับมือ โดยผ่านการจินตนาการด้วยมันสมองเป็นเวลาที่แสนนานก็ไปปรากฏอยู่บนเวทีต่าง ๆ ทั้งในระดับท้องถิ่นจนถึงในระดับประเทศ (ใช้ประกวด แข่งขัน) คนที่นำเอาไปก็แสนดี ก่อนการแสดงมีการประกาศให้ผู้ชมทราบด้วยว่าบทเพลงที่นำมาแสดงได้มาจากที่ไหน อย่างไร แต่ขอโทษเถิดครับ เขากลับบอกตำแหน่งที่มาของบทเพลงที่เขานำมาใช้แสดงตลอดจนชื่อผู้ประพันธ์ผิดคน ทำให้เจ้าของเนื้อร้องอย่างผม (คนเขียน) งงจนแทบกลับบ้านไม่ถูก ผมจำบ้านเลขที่ตนเองไม่ได้เสียแล้ว พ่อคุณเอ๋ย มันเกิดอะไรขึ้นนี่ = ฉวยโอกาส (ชุบมือเปิบ) อีกแล้วครับท่าน    

          คนที่เป็นนักดูเพลงพื้นบ้าน เป็นนักอ่านตำราส่วนหนึ่ง ขยับตนเอง (ยกระดับ) เลื่อนฐานะไปเป็นผู้เขียนหนังสื่อ ตำรา ทำการศึกษาวิจัย จนเรียกตนเองว่า ผู้เชี่ยวชาญด้าน...... มีความมั่นใจในตนเองว่า ฉันนี้..... มีคนยอมรับนับถือมากมายในอานาบริเวณนั้น ท่านเหล่านั้นได้กล่าวชื่นชม การเขียนบทร้องของนักแสดงวงหนึ่งว่า แต่งบทเพลงมาร้องนำเอามาแสดงได้ไพเราะเพราะมาก คำร้องที่เขียนมีคารมคมคาย ได้อารมณ์ เนื้อหาที่เขียนมีคติสอนใจดีมาก และท่านก็ให้ข้อเสนอแนะบทเพลงอีกวงหนึ่งว่า บทประพันธ์ที่นำเอามาร้องในวันนี้ ยังไม่เข้าขั้น ห่วยแตก  เ....ล....ว มาก (คำหลังนี้พูดนอกเวที นอกสถานที่ และลับตาคนแล้ว) หลวงพ่อวัดไหนก็ได้ ช่วยผมด้วย ก็บทเพลงทั้ง 2 วง มันเป็นเพลงที่แต่งโดยคนคนเดียวกัน แล้ววิจารณ์ออกมาได้อย่างไร (ฉลาด หรือ..... ) แถมวงหลังเป็นบทเพลงที่แต่งขึ้นมาใหม่ตรงประเด็นในการใช้งานตามหัวข้อที่พวกเขากำหนดด้วยนะ = ได้โปรดช่วยหาคำที่ไพเราะใส่ให้ที                 

        อยู่มาวันหนึ่ง มีลูกศิษย์คนหนึ่งโทรมาปรึกษาว่า  มีผู้ที่มีน้ำใจอยากจะเห็นเด็ก ๆ ไปแสดงความสามารถ (เป็นเรื่องที่ดี) อยากได้ผู้แสดงไปร่วมงานเพียง 4 คน (ไปโดยลำพัง) ผมว่าเขาคงมีงบประมาณน้อยหรืออาจจะมีข้อจำกัดในเรื่องของ น้ำใจ ในเรื่องของ การเสียสละ และในเรื่องอื่น ๆ อีก 2-3 อย่าง เขาเชื้อเชิญโดยการติดต่อกับเด็ก ๆ ให้ไปร่วมแสดงความ สามารถในงาน ๆ หนึ่ง แต่พอถึงวันงานจริง ๆ กลับไม่ได้ไปเพียง 4 คน (ไปเกินกว่าที่แจ้งเอาไว้) เมื่อการแสดงจบลง ไม่มีอะไรเกิดขึ้นเลยแม้แต่น้อย (เงียบกริบ) เขาอาจจะไม่รู้เลยว่าสิ่งที่ติดตัวเด็ก ๆ ไป ได้มีการลงทุนอย่างมากมายกว่าที่จะมาถึงจุดนั้น มีใครรู้บ้างว่า คนพวกนั้น ที่เขากล้าเดินทางไปแสดงในงานที่มีหน้ามีตา มีผู้คนมาร่วมงานเป็นจำนวนมากมานั่งดู เด็ก ๆ เหล่านั้น เขามีครูฝึก มีคน ๆ หนึ่งเฝ้าสอนเขาให้เก่ง มีคนที่เสียสละอยู่เบื้องหลัง มีผู้ที่สู้อุตส่าห์อดทนมาเป็นเวลานาน กว่าที่เจ้าของผลงาน ผู้สร้าง (ตัวครูเอง) จะได้มองเห็นความสำเร็จ เขาต้องใช้เวลานานเกือบ 20 ปี แต่อยู่ ๆ ก็มีผู้หวังดีใช้เวลาติดต่อเพียง 3-5 นาทีเท่านั้นก็ได้ในสิ่งที่เขาต้องการไปแล้ว มันง่ายนะ ง่ายมากสำหรับคนที่ไม่มี... ง่ายมากสำหรับคน... ง่ายมากสำหรับคนทื่ "ลืมตัว"                 

        สอนกันยากครับ สำหรับคำที่ผมทิ้งท้ายเอาไว้ ลืมตัว จริง ๆ แล้วคำนี้มิได้หมาย ความว่า เขาจำตัวเขาเองไม่ได้หรอกนะ เพียงแต่เขาจำคนที่สร้างเขาให้เป็นตัวตนขึ้นมาไม่ได้ เช่น ลืมพระคุณของพ่อ แม่ ลืมพระคุณของผู้ที่ได้ให้การช่วยเหลือ เลี้ยงดูมา ลืมพระคุณของคนที่ปั้นแต่งให้เขาได้อยู่ในตำแหน่งที่สูงส่ง อยู่บนแท่นรับรางวัล อยู่บนถนนแห่งความบันเทิง  อยู่บนโลกแห่งความฝันที่เป็นความจริงได้อย่างไม่คาดคิด               

        แต่ในความวุ่นวายสับสนที่ผมได้นำเอามาเล่า เพียงแต่จะเทียบเคียงให้เห็นว่า ยังมีคนดี ๆ ยังมีลูกศิษย์ดี ๆ อีกเป็นจำนวนมากที่ไม่ลืมพระคุณของครูผู้สร้าง ผู้ที่ทำให้เขาได้ขึ้นมายืนอยู่บนเวทีที่สวยงามดุจสรวงสวรรค์อันโดดเด่น วิจิตรตระการตา จนมีผู้คนรู้จักเขาอย่างมากมายได้ เพราะภูมิปัญญาซึ่งมีที่มา มีแหล่งกำเนิด และมีเจ้าของ

          สาธุ ขอยกย่องน้ำใจของศิษย์ผู้นั้น และสาธุชนทุกผู้ที่เจริญแล้วด้วยกาย วาจา ใจ บริสุทธิ์แล้วด้วยสติปัญญา จงมีแต่ความก้าวหน้า ยังมีความสำเร็จรอคอยท่านอยู่  โปรดจงได้เดินทางไปให้ถึง ณ จุดนั้น ด้วยความปลอดภัยด้วยเถิด  สำหรับผู้ที่ไม่ฉวยโอกาสจากผู้อื่น ผู้ที่กตัญญูรู้คุณคน 

(จะขอเป็นผู้สร้างต่อไปจนกว่า 2 ตาจะปิดลง)

 

หมายเลขบันทึก: 110111เขียนเมื่อ 10 กรกฎาคม 2007 01:19 น. ()แก้ไขเมื่อ 28 เมษายน 2012 20:31 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท