BM.chaiwut
พระมหาชัยวุธ โภชนุกูล ฉายา ฐานุตฺตโม

อุตรภาพและอัพภันตรภาพ


อุตรภาพและอัพภันตรภาพ

สองคำนี้เป็นศัพท์บัญญัติที่ใช้แทนคำว่า transcendence (อุตรภาพ) และ immanence (อัพภันตรภาพ) ซึ่งพจนานุกรมศัพท์ปรัชญา อังกฤษ-ไทย ฉบับราชบัณฑิตย์ฯ ได้อธิบายไว้ว่า...

transcendence อุตรภาพ : ๑. ภาวะที่อยู่พ้นขอบข่ายของโลกหรือธรรมชาติ ๒. ภาวะที่พ้นจากโลกียวิสัย

immanence อัพภันตรภาพ : ภาวะที่สิ่งใดสิ่งหนึ่งปรากฎอยู่ในอีกสิ่งหนึ่ง เช่น สรรพเทวนิยม (pantheism) เชื่อว่า พระเป็นเจ้า (God) แพร่อยู่ในทุกๆ สิ่ง

....

เมื่อมาพิจารณาตามนัยภาษาบาลี ศัพท์ทั้งสองนี้ น่าจะมาจากการผสมของศัพท์ดังนี้

อุ + ตร + ภาพ = อุตรภาพ

อุ = เป็นอุปสัค แปลว่า ขึ้น

ตร = เป็นรากศัพท์ แปลว่า ข้าม

ดังนั้น อุ + ตร = อุตร จึงแปลว่า ข้ามขึ้น ... ซึ่งอาจแปลตามสำนวนไทยๆ ว่า เหนือ ...และในภาษาไทย ทิศอุดร หรือทิศเหนือ ก็มาจากศัพท์นี้โดยตรง..

ส่วน ภาพ ก็คือ ภาวะ (แปลง ว.แหวน เป็น พ.พาน) แปลว่า ความเป็น ... แต่โดยมากเรามักจะแปลทับศัพท์ว่า ภาวะ มากกว่าจะแปลออกศัพท์ว่า ความเป็น

....

อภิ (แปลงเป็น อัพภะ) + อันตรา + ภาพ = อัพภันตรภาพ

อภิ = เป็นอุปสัค แปลว่า เฉพาะ (ถ้ามีสระตามหลังให้แปลงเป็น อัพภะ ได้ในการทำสนธิ)

อันตรา = เป็นนิบาต แปลว่า ระหว่าง

ดังนั้น อภิ + อันตรา = อัพภันตรา จึงแปลว่า เฉพาะระหว่าง ... ซึ่งเมื่อแปลรวบความหมายก็จะได้ว่า ภายใน หมายถึงแผ่ซ่านอยู่ภายในสิ่งนั้นๆ ทั้งหมด มิใช่ว่าอยู่ภายในยังจุดใดจุดหนึ่ง... ( ในคำบาลีมีคำว่า อันโต ซึ่งแปลกว้างๆ ว่า ภายใน เช่นเดียวกัน แต่เป็นเพียงภายในยังจุดใดจุดหนึ่ง มิได้เจาะจงว่าแผ่ซ่านไปทั่วภายในสิ่งนั้นๆ ทั้งหมด)

....

ศัพท์ทั้งสองนี้มีใช้อยู่ในการอธิบายเรื่องความมีอยู่ของพระเป็นเจ้าในแนวคิดทางเทววิทยาของทุกศาสนา เช่น ในปรัชญาฮินดูอธิบายทำนองว่า...

พรหมัน มีลักษณะแฝงอยู่ (อัพภันตรภาพ) ในเราทุกๆ คน และมีลักษณะแผ่ไปทั่วจักวาล (อุตรภาพ) .... นั่นคือ เราก็คือพรหมัน ท่านก็คือพรหมัน ทุกคนก็คือพรหมัน สรรพสิ่งก็คือพรหมัน ....

มีนิทานเปรียบเทียบการแยกแยะเรื่องนี้ของสวามีรามกฤษณะ ตอนหนึ่งว่า... ที่ท้องถนนในยามจอแจวันหนึ่ง คราญช้างได้ไสช้างไปตามถนนพรางตะโกนบอกว่า ช้างตกมัน ควบคุมไม่ค่อยได้ ทุกคนโปรดหลีกทาง ... ก็มีนักบวชฮินดูหนุ่มรูปหนึ่งอยู่ในที่นั้น ครุ่นคิดว่า เราก็คือพรหมัน ช้างก็คือพรหมัน เพราะสรรพสิ่งคือพรหมัน ... ดังนี้ จึงมิได้หลีกไปตามคำประกาศของคราญช้าง จึงโดนช้างเหยียบซี่โครงหัก นอนร้องครวญครางอยู่....

ณ ที่นั้น ก็มีนักบวชผู้เฒ่าอีกรูปยืนอยู่ด้วย หลังจากคราญช้างขับช้างผ่านไปแล้วก็เข้ามาดูนักบวชหนุ่มแล้วก็พูดขึ้นมาว่า จริงอยู่ที่เจ้าว่าช้างคือพรหมัน เจ้าก็คือพรหมัน แต่เจ้าก็ควรฟังคราญช้าง ซึ่งนั่นก็คือพรหมันเช่นเดียวกัน ...

นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า แม้คำสอนจะลึกซึ้งเพียงใด แต่ถ้าไม่ตระหนักในการนำมาประยุกต์ใช้ก็อาจเป็นภัยแก่ตัวเองได้...

....

ตามคำสอนของพระพุทธศาสนามีเรื่องปรมัตถบัญญัติและสมมติปัญญัติ นั่นคือ โดยปรมัตถบัญญัติ ความจริงมีเพียงแต่รูปคือวัตถุ และจิตใจคือธรรมชาติที่คิดได้เท่านั้น... แต่โดยสมมติบัญญัติแล้ว ตัวเรา ตัวเขา สิ่งโน้น สิ่งนี้ ความดี ความชั่ว ความถูก ความผิด สีแดง สีขาว ความรวย ความจน ฯลฯ  ก็ล้วนเป็นสิ่งที่สมมติขึ้นว่าเป็นจริงเช่นเดียวกัน...ประมาณนี้

ผู้ไม่รู้จักในการแยกแยะสิ่งเหล่านี้ในการดำเนินชีวิต ก็อาจสำคัญผิด และกลับเป็นภัยแก่ตัวเองได้ ทำนองเดียวกับนักบวชฮินดูหนุ่มตามนิทานที่ยกมาเล่าเล่นๆ โดยประการฉะนี้

หมายเลขบันทึก: 109485เขียนเมื่อ 8 กรกฎาคม 2007 00:50 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 13:07 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

พระอาจารย์ครับ...ผมเคยอ้างถึงคำว่า Transcendence ในความหมายของการผุดบังเกิด...

 

ได้รู้ความหมายจริง ๆ จากภาษาบาลีก็แจ่มชัดขึ้น...

 

และเปรียบเทียบให้กระจ่างกับปุชฉาวิสัชชนาระหว่างผมกับชาวคริสต์ในกาลครั้งนั้นแล...

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท