นอกเรื่องเบาหวาน


การนำเสนอ tacit knowledge ที่ดีคงต้องมีการเรียนรู้เช่นกัน

วันนี้ขอออกนอกเรื่องเบาหวานสักวันนะคะ

สองสามวันมานี้ ดิฉันได้ตรวจสรุปคำบรรยายและอภิปรายของผู้ทรงคุณวุฒิทั้งหลายในการประชุมวิชาการวิจัยสถาบันระดับชาติ เรื่องยุทธศาสตร์การพัฒนาอุดมศึกษาสู่สังคมฐานความรู้ ที่จัดโดยสมาคมวิจัยสถาบันและพัฒนาอุดมศึกษา เมื่อวันที่ ๑๐-๑๑ กันยายน ๒๕๔๗

ดิฉันเป็นกรรมการคนหนึ่งของสมาคมและรับทำงานนี้มาเป็นปีที่ ๓ แล้ว เก็บ (ดอง) งานไว้เสียนานหลายเดือน คราวนี้จำเป็นต้องทำให้เสร็จจริงๆ เพราะสมาคมจะจัดประชุมวิชาการของปีนี้ในวันที่ ๒๘-๓๐ กรกฎาคม ๒๕๔๘ เนื้อหาการประชุมของปีที่แล้ว เราจะบันทึกลง CD แจกผู้เข้าร่วมประชุมครั้งนี้ด้วย

คำบรรยายและอภิปรายนี้ ได้จากการถอดเทปชนิดคำต่อคำ ใครเคยตรวจรายงานจากการถอดเทป คงจะรู้ดีว่าสาหัสแค่ไหน ถ้าคนที่ถอดเทปไม่มีความรู้ความเข้าใจในเรื่องนั้น อาจได้เนื้อหามาแปลกๆ คนละเรื่องก็มี เพราะเมื่อฟังแล้วก็ตีความเป็นเนื้อหาตามการรับรู้ของตนเอง บางคนพอเจอคำภาษาอังกฤษก็ข้ามไปเลย เนื้อหาก็จะหายไป ความหมายก็อาจจะเปลี่ยนไป แต่บางคนก็พยายามพิมพ์ภาษาไทยตามสำเนียงภาษาอังกฤษ ก็พอจะช่วยในการ edit ได้บ้าง

การ edit เนื้อหาเหล่านี้ จะอ่านแต่เนื้อหาส่วนที่เขาพิมพ์มาให้แล้วไม่ได้ ต้องฟังเทปควบคู่ไปกับการอ่าน เพราะถ้าตรวจไม่ดี อาจเกิดความเสียหายไปถึงผู้พูดผู้บรรยายได้ ดิฉันต้องเปิดเทปฟังตั้งแต่ต้นจนจบ ฟังจนบางครั้งก็เบลอ จะกดแป้มพิมพ์ของคอมพิวเตอร์ กลับไปกดที่เครื่องเทปก็มี

งานนี้ต้องใช้เวลามาก หูฟังเทป ตาก็มองที่จอคอมพิวเตอร์ มือก็ต้องพิมพ์แก้ไขส่วนที่ผิด เพิ่มเติมส่วนที่ขาด ตัดส่วนที่เกิน จึงต้องใช้สมาธิมากๆ

เวลาฟังเทปต้องนึก (จินตนาการ) ถึงผู้ทรงคุณวุฒิที่กำลังบรรยายหรืออภิปรายไปด้วย นึกถึงบุคลิกของท่าน สไตล์การพูด สีหน้าท่าทาง ต้องรู้สึกเหมือนกำลังฟังการบรรยายหรืออภิปรายนั้นอยู่ ฟังแบบให้เข้าถึงใจ จึงจะติดตามเนื้อหาได้อย่างรู้เรื่อง ตามเรื่องถูก บางครั้งได้ยินไม่ชัดหรือเนื้อหาสะดุดไปเพราะเปลี่ยนม้วนเทป ก็ต้องนึกออกว่าผู้บรรยายน่าจะพูดอะไร คือต้องรู้สไตล์ท่าน

คำไหนไม่ชัด ไม่รู้ความหมาย สะกดไม่ถูก บางครั้งก็ต้องค้นหาเพิ่มเติมจากอินเตอร์เน็ต 

ศาสตราจารย์นายแพทย์อดุลย์ วิริยเวชกุล รองศาสตราจารย์  ดร.คุณหญิงสุมณฑา พรหมบุญ ดร.สุเมธ แย้มนุ่น ร่วมกันอภิปรายในเรื่อง ยุทธศาสตร์การพัฒนาอุดมศึกษาสู่สังคมฐานความรู้ โดยมีรองศาสตราจารย์ ดร.ทองอินทร์ วงษ์โสธร อุปนายกสมาคม เป็นผู้ดำเนินการอภิปราย ศาสตราจารย์ ดร.วิจิตร ศรีสอ้าน นายกสมาคม บรรยายพิเศษเรื่อง เส้นทางสู่ความเป็นมหาวิทยาลัย

นั่งฟังเทปอยู่ ๒ ครึ่งคืนกับอีกเกือบ ๒ ครึ่งวัน มองจากมุมของการจัดการความรู้ ดิฉันพบว่าเนื้อหาที่ท่านผู้ทรงคุณวุฒิได้บรรยายหรืออภิปรายนั้น มี tacit knowledge อยู่มากมาย เพราะท่านเหล่านี้ทำงานวิชาการ ทำงานบริหารมายาวนาน เป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวาง ความรู้เหล่านี้หาไม่ได้จากตำราใดๆ นอกจากท่านจะสั่งสมความรู้และประสบการณ์ที่มีคุณค่าแล้ว ท่านยังมีวิธีการนำเสนอที่ชัดเจนและจูงใจชวนให้ติดตามอย่างยิ่ง

การนำเสนอ tacit knowledge ที่ดีคงต้องมีการเรียนรู้เช่นกัน ฟังผู้ทรงคุณวุฒิแล้วอยากพูดได้อย่างท่านบ้าง สมาชิกท่านใดใช้เทคนิควิธีการใดได้ผลดี โปรดนำมาแลกเปลี่ยนกันบ้างนะคะ

วัลลา ตันตโยทัย วันที่ ๑๒ กรกฎาคม ๒๕๔๘

 

หมายเลขบันทึก: 1091เขียนเมื่อ 12 กรกฎาคม 2005 18:32 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 13:53 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท