อบต. ต้นธง จ.ลำพูน กับการพัฒนาด้วยงานวิจัย


     "จะเป็น อบต. พันธ์ใหม่ ที่สามารถเข้าถึงคนในชุมชน รับรู้รับฟังความต้องการของชุมชนเป็นที่ตั้ง และใช้งานวิจัยเชื่อมร้อยคนในชุมชน"

คุณบัญญัติ  ตะนาวศรี นายกองค์การบริหารส่วนตำบลต้นธง จังหวัดลำพูน พ.ศ. 2540

 

     "คนทั่วไปมักมองว่า อบต. ส่วนใหญ่จะเน้นงานด้านสาธารณูปโภค การก่อสร้างถนนหนทาง แต่ผมกลับมองว่าสิ่งสำคัญมากไปกว่าความเจริญทางด้านวัตถุก็คือ การเสริมสร้างความเข้มแข็งของคนในชุมชน ทำอย่างไรให้คนในชุมชนรวมใจกันได้ ตรงนี้เป็นโจทย์ที่ขบคิดมาตลอด เพราะคนคือทรัพยากรสำคัญ ถ้าคนรวมกันได้ การทำงานพัฒนาทุกอย่างก็ทำได้ง่ายขึ้น ดังนั้น เราต้องเชื่อมคนให้ได้ เงินเป็นปัจจัยเสริม มีเงินแต่ไม่มีส่วนร่วม ก็ไม่มีประโยชน์อะไร"

     เมื่อได้เข้าร่วมการอบรม "วิทยากรท้องถิ่น" จัดโดย สถาบันหริภุญชัย ในช่วงปี 2545  จึงเกิดแรงบันดาลใจให้คิดถึง "โครงการในฝันที่ อบต. อยากทำ"  เมื่อหวนกลับไปคิดถึงทุนเดิมที่มีอยู่ในชุมชน จึงก่อเกิดเป็น"โครงการพหุภาคีกับการมีส่วนร่วมของท้องถิ่นในการศึกษาศิลปะวัฒนธรรม : กรณีลุ่มน้ำกวงตอนปลายเขตตำบลต้นธงและตำบลเวียงยอง อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน"  ที่มีผู้ร่วมวิจัยหลายภาคส่วน เช่น สภาวัฒนธรรม โรงเรียน กลุ่มผู้สูงอายุ เป็นต้น

     ผลจากงานวิจัยชิ้นนี้ ทำให้ท้องถิ่นได้รู้จักตัวเองมากขึ้น และยังทำให้ภาพลักษณ์ของ อบต. เริ่มดีขึ้นในสายตาของชาวบ้าน  การทำงานวิจัยชิ้นต่อมาเรื่อง "ผักพื้นบ้านอาหารพื้นเมืองสู่กระบวนการเรียนรู้" จึงไม่ยากเย็นนัก มีอาสาสมัครหมู่บ้านละ 5 คน (11 หมู่บ้าน) และได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) สำนักงานภาค

     พื้นที่เป้าหมายในการวิจัยประกอบด้วย 11 หมู่บ้าน โรงเรียนระดับประถมศึกษา 5 โรงเรียน นอกจากนี้ยังมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาร่วมการวิจัยครั้งนี้ด้วย ได้แก่ อบต.ต้นธง สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาเขต 1 จังหวัดลำพูน สภาวัฒนธรรม สถาบันหริภุญชัย    กระบวนการวิจัยจะใช้เวทีเสวนาในลักษณะหมุนเวียนไปตามหมู่บ้านต่างๆ เป็นการขับเคลื่อนไปพร้อมๆ กับความสัมพันธ์ในชุมชนที่แน่นแฟ้นมากขึ้นเรื่อยๆ

     "สิ่งที่ผมทำคือ การอำนวยความสะดวก การประชาสัมพันธ์ผ่านเสียงตามสาย ผ่านรายการวิทยุ และเปิดพื้นที่ให้พูดคุยกัน"

นายก อบต. บัญญัติ

 

     ซึ่งการหมุนเวียนไปพบปะเยี่ยมเยียนแต่ละหมู่บ้าน ใช่ว่าจะได้รับรู้เฉพาะเรื่องผักพื้นบ้านเท่านั้น แต่ยังได้แลกเปลี่ยนสารทุกข์สุขดิบ ปัญหาต่างๆ แล้วช่วยกันหาทางแก้   อบต. เองก็ได้รับทราบปัญหานั้น นำไปสู่การวางแผนให้สอดคล้องกับความต้องการของชุมชนได้เป็นอย่างดี

     ผลการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับเยาวชนในชุมชน นอกจากทำให้เด็กๆ ชอบกินผักแล้ว  ยังได้ฝึกการจดบันทึกอย่างเป็นระบบ รู้จักแยกประเภทผักแต่ละชนิด ความสัมพันธ์ระหว่างเด็กและผู้ใหญ่ดีขึ้น ความรู้เกี่ยวกับผักถูกเผยแพร่เข้าสู่โรงเรียน เกิดการบูรณาการเรื่องผักพื้นบ้านกับวิชาต่างๆ เช่น สุขศึกษา ภาษาไทย มีการทำแปลงปลูกผักพื้นบ้าน ซึ่งนักเรียนเป็นผู้จัดทำแปลงและคัดเลือกพันธุ์ผักที่จะนำมาปลูกด้วยตนเอง และทุกครั้งที่ลงพื้นที่ ครูจะให้นักเรียนเขียนเรียงความ ซึ่งเด็กๆ สามารถเขียนได้อย่างสนุกสนานและน่าสนใจ

     ใครจะคาดคิดว่าประเด็นธรรมดาอย่าง "ผักพื้นบ้าน" จะมีพลังในการสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมในตำบลต้นธงได้มากมายเพียงนี้ ข้อมูลองค์ความรู้เริ่มถูกแบ่งปันสู่คนภายนอก มีการเข้ามาเรียนรู้และศึกษาดูงานในชุมชน เช่น พี่น้องจากน่านและพิจิตรมาเรียนรู้วิธีการทำนาผักแว่น ตลอดจนการเผยแพร่ผ่านโทรทัศน์ วิทยุ หนังสือพิมพ์ เป็นต้น

     นายก อบต. บัญญัติ บอกว่า บทบาทของ อบต. ต้นธง ก็เหมือนกับคุณอำนวยคือ จุดประกายในเบื้องต้น แต่ทั้งหมดชาวบ้านเป็นผู้ทำ เป็นผู้ได้รับประโยชน์  โดยเฉพาะในเรื่องของความรู้ที่สามารถตรวจสอบได้ด้วยภูมิปัญญาของชาวบ้านเอง ซึ่งบทบาทนี้ยังคงดำเนินต่อไป โดยสนับสนุนให้ชาวบ้านได้เรียนรู้มากขึ้น จากพื้นที่ใกล้เคียง เช่น เรียนรู้เรื่องการจัดการแหล่งท่องเที่ยว จากบ้านแม่กำปอง จังหวัดเชียงใหม่   หรือแม้แต่การสนับสนุนงบประมาณให้โรงเรียนในตำบลต้นธง จัดกิจกรรม

     "ความยั่งยืน" คือสิ่งหนึ่งที่นายก อบต. บัญญัติ ปรารถนาให้เกิดขึ้นในชุมชน "ถนนที่สร้างอาจผุพังไป ไม่วันใดก็วันหนึ่ง แต่กระบวนการวิจัยจะปลูกฝังให้คนต้นธงรู้จักคิดเป็น รู้จักเลือกสิ่งที่เหมาะสมกับชุมชน นั่นเป็นสิ่งที่ผมอยากเห็นและจะอยู่กับชุมชนตลอดไป แม้วาระการทำงานของผมจะสิ้นสุดลง แต่ผมก็เชื่อมั่นว่าชุมชนจะใช้การวิจัยเป็นเครื่องมือสำคัญในการพัฒนาท้องถิ่น ด้วยว่าผลของมันได้ประจักษ์ชัดแล้ว"

ที่มา : อบต. .แนวใหม่ ใช้วิจัยนำพัฒนา  จัดพิมพ์และจำหน่ายโดย สกว. ภาค 053 944648  892662

อ้อม สคส.

 

หมายเลขบันทึก: 108787เขียนเมื่อ 5 กรกฎาคม 2007 10:52 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 10:34 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท