กฤตภาคเรื่องจดหมายเหตุ..ครูที่ถูกลืม


ไม่เพียงแต่เป็นการมารวมกลุ่มของคนที่สนใจในสิ่งเดียวกันเท่านั้น แต่ยังหมายถึงการมารวมกันเพื่อช่วยป้องกันโรคหลงลืมอดีต เพราะอดีตคือไฟฉายที่ช่วยส่องทางให้การเดินไปในอนาคตปลอดภัยมากขึ้นหรืออย่างน้อยก็ไม่ต้องล้มลุกคลุกคลานในท่วงท่าและเส้นทางเดิมๆ
จดหมายเหตุ..ครูที่ถูกลืม

 

สำหรับบางคน คำว่า "เอกสารจดหมายเหตุ" อาจให้ความรู้สึกไกลตัวจนยากจะจินตนาการได้ว่าเกี่ยวข้องกับเราว่าอย่างไร ทั้งที่ความจริงเอกสารเหล่านี้คือครูที่จะพาเราก้าวข้ามความจำเจในชีวิตประจำวันไปสู่ข้อมูลที่น่าค้นหาอีกมากมาย

เอกสารจดหมายเหตุมีรากศัพท์มาจากภาษากรีกว่า Archeon และภาษาละตินว่า Archevum หมายถึงที่ทำการของรัฐและเอกสารที่เก็บรักษาไว้ในอาคารหรือหน่วยงานนั้น เอกสารจดหมายเหตุจึงหมายถึง เอกสารส่วนบุคคล กลุ่ม สถาบัน และ เอกสารของทางราชการที่สิ้นกระแสการใช้งานแล้วแต่ยังคงเป็นสารสนเทศที่มีคุณค่าและประโยชน์

"อาจารย์ชาญวิทย์ เกษตรศิริ" ในฐานะนายกสมาคมจดหมายเหตุไทย ได้ขยายความคำว่าคุณค่าและประโยชน์เอกสารจดหมายเหตุให้ฟังว่า แม้งานจดหมายเหตุ งานพิพิธภัณฑ์ กระทั่งงานห้องสมุดจะจัดอยู่ในวิชาชีพเฉพาะทาง แต่ความเฉพาะทางที่ว่าก็เป็นเพียงเรื่องเทคนิคและวิธีการเท่านั้น เพราะถ้าพูดถึงเนื้อหาแล้วงานด้านนี้มีประโยชน์กับคนในทุกสาขาอาชีพเนื่องจากเป็นการสร้างฐานความรู้ให้กับสังคมผนวกอดีตปัจจุบันและอนาคตเข้าด้วยกัน

"ตอนนี้เราพูดกันเรื่องเขตการค้าเสรีซึ่งเป็นเรื่องปัจจุบันที่กำลังเจรจากับหลายๆ ประเทศ หลายฝ่ายพยายามบอกทั้งข้อดีข้อเสีย ผมคิดว่างานจดหมายเหตุอาจจะบอกว่านี่ไงเมื่อ 150-160 ปีก่อน ก็มีการลงนามในสนธิสัญเบาริงในเรื่องของการค้าเสรีในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่เซอร์จอห์น เบาริง เข้ามา ตรงนี้คืองานจดหมายเหตุที่ผมว่ามันเข้ามาเป็นฐานความรู้ทำให้เรามองประเด็นได้กว้างขึ้น เพราะมีฐานข้อมูลเก่ารองรับ ฉะนั้น งานหลักฐานด้านจดหมายเหตุจะช่วยเราเยอะเลย"

ด้วยเหตุนี้สมาคมจดหมายเหตุแห่งประเทศไทยจึงเกิดขึ้น ไม่เพียงแต่เป็นการมารวมกลุ่มของคนที่สนใจในสิ่งเดียวกันเท่านั้น แต่ยังหมายถึงการมารวมกันเพื่อช่วยป้องกันโรคหลงลืมอดีต เพราะอดีตคือไฟฉายที่ช่วยส่องทางให้การเดินไปในอนาคตปลอดภัยมากขึ้นหรืออย่างน้อยก็ไม่ต้องล้มลุกคลุกคลานในท่วงท่าและเส้นทางเดิมๆ

แต่ละปีสมาคมจดหมายเหตุฯจะจัดประชุมใหญ่สามัญประจำปี นอกจากจะเป็นการจัดประชุมเพื่อรายงานกิจกรรมในรอบปีแล้ว ยังเปิดโอกาสให้สมาชิกได้พบปะแลกเปลี่ยนประสบการณ์ เทคนิควิธีการในการจัดการเอกสารจดหมายเหตุประชุมวิชาการ บรรยาย ปาฐกถา และแสดงนิทรรศการเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับงานจดหมายเหตุให้เกิดความเข้าใจต่อสาธารณะมากขึ้น

"อาจารย์สมหมาย ปิ่นพุทธศิลป์" แห่งมหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต หนึ่งในผู้เข้าร่วมสัมมนากับสมาคมจดหมายเหตุแห่งประเทศไทย เล่าว่า ชอบเก็บสะสมเอกสารเก่าๆ เพราะรู้สึกว่ามีข้อมูลดีๆ ที่เราไม่รู้ จะทิ้งก็เสียดายแต่จะเก็บไว้ก็ลำบากเพราะค่อนข้างดูแลยาก เลยเข้าร่วมประชุมเพื่อต้องการคำแนะนำในการจัดเก็บเอกสารและหนังสือโบราณ

แม้ส่วนใหญ่ของงานจดหมายเหตุจะเกี่ยวกับเรื่องราวในอดีตแต่เทคโนโลยีทันสมัยถือเป็นหัวใจสำคัญที่ทำให้เอกสารเหล่านี้มีอายุยืนยาว

"ธวัชชัย ตั้งศิริวานิช" หนึ่งในผู้ร่วมเสวนา "หลักฐานเก่าบอกเล่าปัจจุบัน:การดูแลรักษาและนำมาใช้" บอกว่า การนำคอมพิวเตอร์เข้ามาใช้ในงานจดหมายเหตุทำให้ค้นหาและใช้ข้อมูลสะดวกรวดเร็วขึ้นมาก และเป็นโอกาสดีที่จะขยายงานจดหมายเหตุออกสู่สาธารณะได้ง่ายขึ้น

จึงไม่น่าแปลกใจที่การประชุมจดหมายเหตุครั้งล่าสุดที่ ม.พายัพ เราจึงเห็นเจ้าหน้าที่จดหมายเหตุจากสถาบันการศึกษาทั่วประเทศเข้าร่วมประชุมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้วยความตั้งอกตั้งใจ

"ถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องทำให้เอกสารจดหมายเหตุได้รับความสนใจในฐานะครูที่ทำให้ผู้คนได้เรียนรู้ก้าวต่อไปในอนาคต..." เสียงของใครคนหนึ่งดังขึ้นหลังจากการสัมมนาสิ้นสุดลง




 

แหล่งที่มา มติชนรายวัน   ฉบับที่ 9750 [หน้าที่ 31 ] ประจำวันที่ 19 พฤศจิกายน 2547

หมายเลขบันทึก: 108241เขียนเมื่อ 3 กรกฎาคม 2007 10:27 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 มิถุนายน 2012 17:53 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท