ประชุมองค์กรแพทย์


การประชุมแบบไม่เป็นทางการ แบบนี้ ผมว่าได้ประโยชน์ดีมากกว่าการนั่งประชุมกันในห้องประชุม โดยเฉพาะกลุ่มวิชาชีพ

          มีหลายๆโรงพยาบาล ที่มาดูงานมักจะถามว่า ประชุมองค์กรแพทย์บ่อยไหม ประชุมตอนไหน มีเวลาประชุมร่วมกันหรือ มีใครมาประชุมบ้าง คุยอะไรกันบ้าง ต้องบันทึกการประชุมไหม มีวาระอย่างไรบ้าง

          หากเป็นโรงพยาบาลใหญ่ๆ มีแพทย์จำนวนมาก องค์กรแพทย์อาจจะต้องมีการตั้งกรรมการองค์กรแพทย์ เพื่อดำเนิการเกี่ยวกับกิจกรรมขององค์กรแพทย์ ซึ่งบทบาทสำคัญคือการควบคุมดูแลแพทย์ให้ปฏิบัติไปตามวิชาชีพและจรรยาบรรณอันดี รวมทั้งกำหนดแนวทางในการดูแลผู้ป่วยร่วมกัน ไม่ใช่ตั้งองค์กรแพทย์ขึ้นเพื่อไปกดดันผู้อำนวยการหรือยุ่งเกี่ยวกับงานบริหารจัดการซึ่งเป็นโครงสร้างอำนาจที่มีมาตามระเบียบของทางราชการ

           โรงพยาบาลบ้านตาก ตั้งองค์กรแพทย์มาหลายปีตั้งแต่มีแพทย์ 3-5 คนในปัจจุบัน มีประธานองค์กรแพทย์มาจากแพทย์ประจำที่อาวุโสสูงสุด แต่ในบางปีมีแต่แพทย์ใช้ทุนหมุนเวียนมาทุก2-3 เดือน ผมเองก็ต้องกลายเป็นประธานองค์กรแพทย์ไปด้วย แต่เท่าที่สัมผัสจะรู้สึกว่าสู้ประธานองค์กรแพทย์ที่มาจากแพทย์ประจำที่ไม่ได้ เพราะคนส่วนใหญ่ก็จะมองเห็นว่าเป็นผู้อำนวยการไม่ใช่ประธานองค์กรแพทย์

            วันนี้ ก็เป็นอีกวันหนึ่งที่เรามีการประชุมองค์กรแพทย์กัน โดยไม่ต้องมีวาระ โดยไม่ต้องนั่งประชุมในห้องประชุมหรือห้องพักแพทย์ แต่เราไปทานอาหารกลางวันด้วยกันที่ร้านก๊วยเตี๋ยวในอำเภอ ซึ่งหากไม่ติดภารกิจจริงๆแล้ว แพทย์ทุกคน(รวมน้องแพทย์ฝึกหัดด้วย) จะไปทานอาหารกลางวันด้วยกันสัปดาห์ละครั้ง ก็เปลี่ยนร้านไปเรื่อยๆ โดยผู้อำนวยการเป็นเจ้ามือ(จริงๆ ไม่ได้จ่ายจากเงินโรงพยาบาล) พอทานไปมีอะไรแพทย์ก็จะคุยกันไป ทั้งเรื่องทั่วๆไปและเรื่องผู้ป่วยที่อยู่ในความดูแลหรือผู้ป่วยที่มีปัญหาก็จะได้พูดคุยปรึกษากัน ติดตามผู้ป่วยร่วมกัน อย่างวันนี้หมอเรา 6 คนก็ไปทานก๊วยเตี๋ยวไข่ลวกด้วยกัน

           มีการคุยกันเรื่องผู้ป่วยหลังผ่าตัดคลอดจากโรงพยาบาลแห่งหนึ่ง อนามัยส่งมาหาเราด้วยเรื่องแผลแยกและเป็นหนอง เราก็ดูแลเบื้องต้นให้แล้วก็ส่งต่อไปรักษาต่อเนื่องที่โรงพยาบาลเดิมที่ผ่าตัดให้ โดยที่เรานย้ำกันว่า แค่แผลติดเชื้อเป็นหนองก็เป็นปัญหาแล้ว เราจะไม่สรางปัญหาเพิ่มอีก โดยการไม่ตำหนิโรงพยาบาลที่ผ่าตัดกับผู้ป่วยเพราะ เราเองไม่รู้สาเหตุที่แท้จริงว่าเกิดจากอะไร การตำหนิแพทย์หรือโรงพยาบาลอื่นต่อหน้าผู้ป่วยไม่ใช่การแก้ปัญหาแต่เป็นการเพิ่มปัญหามากกว่า และเราก็คิดว่าหากเกิดที่โรงพยาบาลเราเอง เราจะทำอย่างไร

           ผมก็พูดถึงคนไข้ที่รถล้มลงในน้ำมีแผลติดเชื้อที่เท้า ทำแผล อยู่นานจนแผลแดงดี ไม่มีเชื้อดรคแล้ว ผมก็เอามาเย็บปิด แล้วไม่ได้ดูต่อ เพราะส่งให้น้องอีกคนดู เขาก็บอกว่าได้เย็บซ้ำเพราะขอบแผลแข็งและไม่ติดอยู่ 1-2 รอยเข็ม ก็เป็นการพูดคุยแลกเปลี่ยนกันเกี่ยวกับผู้ป่วย เป็นต้น ประมาณบ่ายดมงก็กลับโรงพยาบาล มาตรวจคนไข้โอพีดีกันต่อ ส่วนการพูดคุยกันนี้จะบันทึกการประชุมหรือไม่ ผมว่าไม่สำคัญเพราะสิ่งที่เราคุยกันก็เป็นประโยชน์ต่อผู้ป่วยอยุ่แล้ว แต่ส่วนใหญ่ปรธะนองค์กรแพทย์จะมาบันทึกเองสั้นๆ

          การประชุมแบบไม่เป็นทางการ แบบนี้ ผมว่าได้ประโยชน์ดีมากกว่าการนั่งประชุมกันในห้องประชุม โดยเฉพาะกลุ่มวิชาชีพ เพราะการเปิดใจพูดกันจะทำได้ง่ายกว่า 

คำสำคัญ (Tags): #kmกับงานประจำ
หมายเลขบันทึก: 10776เขียนเมื่อ 27 ธันวาคม 2005 15:44 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 พฤษภาคม 2012 07:48 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท