ความยากจน


ยากจนซ้ำซาก

เมื่อสัปดาห์ก่อน ฟังข่าวทางการ เสนอว่า ทำการสำรวจ ความสุขประชาชน มีหมู่บ้านยากจนหลายสิบหมู่บ้าน แต่มีไม่นากเท่าไรที่เป็นหมู่บ้านยากขนซ้ำซาก มาแล้วสองปี อยู่ที่อำเภออมก๋อย จ.เชียงใหม่

ฟังแล้วให้คิดถึงเพื่อนที่เป็นชาวเขาเผ่ามูเซอแดง (แต่เขาเรียกตัวเขาเองว่า "ละหู่"เขาบอกว่าสมัยก่อนนี้ทางการไม่ค่อยรู้จักพวกเขา แต่ติดต่ออยู่กับพวกไทใหญ่ ไทใหญ่เรียกพวกเขาว่า มูเซอ แปลว่า"นักล่า" เช่นเดียวกับเราเรียกพวกม้งว่า แม้ว เรียกปะกากะยอว่า กระเหรียง) เพื่อนอยู่ต.แม่นะ อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ หมู่บ้านนี้มียี่สิบกว่าหลัง มีอาชีพปลูกชา เก็บยอดชาขาย ได้ ก.ก.ละไม่กี่บาท เคยปลูกท้อ บ๊วย ลิ้นจี่ ดูแลอย่างดี ไม่ใช้ปุ๋ยเคมี เขาบอกว่าถ้าใช้ปุ๋ยเคมีแล้วดินจะเสีย จะทำกินภายหลังลำบาก เมื่อเก็บผลผลิตจากสวนไปขายได้ ก.ก.ละ 4- 5 บาท ซึ่งคิดค่าขนส่งลงจากดอยไปแล้ว ได้ไม่คุ้มค่าขนส่ง จึงเลิกทำสวน ปลูกและเก็บแต่ยอดชาขายอย่างเดียว ค่าจ้างเก็บยอดชาสำหรับพวกที่ขายแรงงาน ได้ ก.ก.ละ 2 บาท วันๆจะเก็บได้ไม่เกิน 25 ก.ก. รายได้วันละ 50 บาทก็สุดยอดแล้ว บางรายรับจ้างถากหญ้าในสวน จะได้วันละ 20 - 30บาท พอเอาไปซื้อพริก เกลือ ข้าวสารได้ประทังไปวันๆ ชาวมูเซอนี่เขาอยู่ดอยสูงจึงปลูกข้าวไม่ได้ ข้าวสารและสิ่งจำเป็นอื่นๆ จึงต้องซื้อ ส่วนพืชสวนครัวก็พอทำได้บ้าง แค่พอกินไปวันๆ น้ำไม่ต้องซื้อ มีน้ำซับจากป่าเขาลงมาให้ใช้กิน ไฟฟ้าไม่มีต้องซื้อน้ำมันดิเซลมาใช้กับตะเกียง เขาก็มีความสุขแบบของเขา มีชีวิตอยู่ได้อย่างสบาย ถ้าไม่ฟุ้งเฟ้อ

แต่ก็นั่นแหละ มนุษย์เราไม่เคยหยุดนิ่ง ความเจริญไปถึงที่ไหน ความวิบัติก็จะตามไปเยือนที่นั่น โรงเรียนที่เคยมีการเรียนการสอน พอครูคนเก่าตายไป โรงเรียนก็ปิดไปโดยปริยาย ไม่มีครูคนใหม่ขึ้นมาสอนอีกเลย พ่อแม่ต้องระหกระเหินส่งลูกไปโรงเรียนที่ไกลออกไป 15ก.ม.(บนดอย ไปด้วHUV จะได้ระยะทาง 5 - 7ก.ม.ในหนึ่งชั่วโมง) ลำบากยากเข็น แต่ก็จำเป็นต้องไป จบ ป.6ก็สูงมากสำหรับบางครอบครัว แต่บังเอิญครอบครัวเพื่อนคนนี้ พอมีญาติๆที่อยู่ในเมือง ลูกๆจึงได้เรียน จบปริญญาตรี ปริญญาโท(บริหารการศึกษา) กำลังวางแผนว่าจะทำปริญญาเอกก็มาด่วนจากไปด้วยโรค มะเร็งเม็ดเลือดขาว

 ที่เล่ามานี้ เพราะว่าเพื่อนคนนี้เขาบอกว่าเขาไม่ชอบให้ความเจริญมาที่หมู่บ้านเขา เพราะความเจริญจะทำให้วัฒนธรรม ประเพณี ต่างๆ เสื่อมหายไปในเวลาอันรวดเร็ว จนในที่สุดหมู่บ้านก็จะล่มสลายไปด้วย เขาบอกว่าความรวย ความจน อยู่ที่ใจของตน จึงพอประเมินได้ว่า ความยากจนซ้ำซากที่ทางการอ้างถึงนั้นเป็นเพียงภาพที่คนนอกมองเขา และพยายามยัดเยียดความเจริญให้เขาซึ่งเขาไม่ได้ต้องการ  เพียงแต่เขาต้องการระบบการรับซื้อผลผลิตทางการเกษตรของเขา เพาะปลูกแล้วควรจะมีหน่วยงานมาดูแลส่งเสริมการผลิต และรับซื้อในราคาที่เหมาะสม การเอาเงินไปไล่แจกแบบรัฐบาลก่อนนี้เป็นการดูถูกชาวบ้านนอกของเขา สอนให้เขารอคอยการแจกการให้จากคนอื่น

คำสำคัญ (Tags): #ความยากจน
หมายเลขบันทึก: 107687เขียนเมื่อ 30 มิถุนายน 2007 21:25 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 19:16 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท