การรู้จักควบคุมตนเอง


การพัฒนาเด็กและเยาวชน "การควบคุมตนเอง"

การพัฒนาเด็กเยาวชนให้เป็นผู้ที่รู้จักการควบคุมตนเอง
**โครงการวิจัยเชิงปฏิบัติการเพื่อการพัฒนาองค์ความรู้ฯ กรณีปัญหายาเสพติด
ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่

   ปัญหาในกลุ่มเด็กเยาวชนที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ส่วนหนึ่งมีสาเหตุมาจากการที่เด็กเยาวชนขาดความยั้งคิด ไม่รู้จักการควบคุมตนเอง จึงทำให้เด็กเยาวชนตัดสินใจหาทางออกด้วยวิธีการที่ไม่เหมาะสม เกิดปัญหาตามมามากมาย หากมีการพัฒนาเด็กเยาวชนให้เป็นผู้ที่รู้จักการควบคุมตนเองได้ ก็อาจกล่าวได้ว่า เป็นวิธีการลดการเกิดปัญหาในกลุ่มเด็กเยาวชนได้ด้วย


ความหมาย
   การควบคุมตนเอง หมายถึง กระบวนการที่บุคคลใช้วิธีการหนึ่งวิธีการใด หรือหลายวิธี เพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของบุคคลจากพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ ไปสู่พฤติกรรมที่พึงประสงค์ โดยที่บุคคลนั้นเป็นผู้กำหนดพฤติกรรมเป้าหมายกระบวนการที่จะนำไปสู่เป้าหมาย และควบคุมตัวแปรทั้งภายในและภายนอกของบุคคล อันจะมีผลต่อพฤติกรรมที่พึงประสงค์นั้นด้วย
ตนเอง (Cormier and Cormier, 1979, p.476 อ้างใน ปภาวดี แจ้งศิริ, 2527, หน้า 4)อาจกล่าวได้ว่า การควบคุมตนเองเป็นกระบวนการควบคุมและปรับเปลี่ยน
พฤติกรรมของตนเอง ให้เป็นพฤติกรรมที่พึงประสงค์ ตามที่กำหนดเป้าหมายไว้

กระบวนการควบคุมตนเอง
    
กระบวนการที่ใช้ในการควบคุมตนเองนั้น ธอเรเซนและมาโฮนี (Thoresen and Mahoneg อ้างใน นิตยาภรณ์ ค้างเรือง, 2540, หน้า 24) ได้กล่าวว่ามีกระบวนการที่สำคัญในการควบคุมตนเองอยู่ 2 ประการ ได้แก่
 
1. การควบคุมสิ่งเร้า (Stimulus Control) หมายถึง กระบวนการที่บุคคลเรียนรู้ที่จะแสดงพฤติกรรมได้อย่างสอดคล้องกับสภาพการณ์หรือสิ่งเร้าของตน โดยประเมินเงื่อนไขและสภาพการณ์ที่ควบคุมพฤติกรรมอยู่ ด้วยวิธีการแยกแยะสิ่งเร้า จากนั้นจึงเปลี่ยนแปลงหรือจัดระบบสภาพการณ์สิ่งเร้าใหม่ เพื่อเอื้ออำนวยให้เกิดพฤติกรรมที่ต้องการ

2. การควบคุมผลกรรมด้วยตนเอง (Self-Presented) หมายถึง การให้ผลกรรม
ตนเองหลังจากที่ได้กระทำพฤติกรรมเป้าหมายแล้ว ซึ่งผลกรรมนี้อาจเป็นได้ทั้งการเสริมแรงหรือการลงโทษ ซึ่งในการควบคุมพฤติกรรมควรใช้การเสริมแรงมากกว่าการลงโทษ
     สำหรับทฤษฎีที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมตนเองนั้น มีหลายทฤษฎีด้วยกัน เช่น การควบคุมตนเองตามทฤษฎีจิตวิทยาวิเคราะห์ของซิกมันด์ ฟรอยด์ (Sigmund Freud อ้างใน ศรีเรือน แก้วกังวาน, 2539.) ซึ่งเชื่อว่าบุคคลทั่วไปจะมีแรงขับอยู่ภายในตนเอง มีลักษณะเป็นจิตไร้สำนึก พร้อมจะแสดงออกตามความต้องการเสมอหากขาดการควบคุมยับยั้ง ดังนั้น มนุษย์จึงจำเป็นต้องได้รับการอบรมบ่มนิสัย เพื่อให้สามารถควบคุมตนเองได้ในระดับทั่วไป และสามารถอยู่ในสังคมได้อย่างปกติสุข

     สำหรับการควบคุมตนเองตามทฤษฎีของ วอลเตอร์ ซี เร็คเลสซ์ (Walter C. Reckless) เชื่อว่า คนเรามีพลังที่ผลักดันจากภายในให้มีพฤติกรรมเบี่ยงเบน ซึ่งอาจจะเกิดจากปัจจัยต่างๆ ภายนอก เช่น ความยากจนหรืออาจเกิดจากปัจจัยภายนอกเมื่อเราเผชิญกับสถานการณ์และปัญหาต่างๆ ดังนั้น เร็คเลสซ์ จึงเสนอทฤษฎีในการควบคุมตนเองไว้ดังนี้
      การควบคุมจากภายใน ได้แก่ ความสำนึกที่สามารถยับยั้งควบคุมตนเองได้ ความสำนึกที่ดีงาม ความเคารพตนเอง มโนธรรมที่ได้รับการพัฒนาอย่างดี ความอดกลั้นต่อความคับข้องใจ ความสามารถในการต่อสู้กับอารมณ์ฝ่ายต่ำ ความสำนึกรับผิดชอบ ความมุ่งมั่นต่อเป้าหมาย การหาความพึงพอใจอย่างอื่นชดเชย การให้เหตุผลในการถ่ายโยงความเครียด เป็นต้น
     การควบคุมจากภายนอก ได้แก่ ความยึดมั่นในจารีตประเพณี ความคาดหวังของสังคม ภาระผูกพันที่ต้องปฏิบัติตามปทัสถานของสถาบัน ความรับผิดชอบตามที่ได้รับมอบหมาย โอกาสที่จะได้รับการยอมรับ และความสำนึกเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มที่ตนสังกัดอยู่ หรือใช้หลักการและแนวคิดการควบคุมตนเองตามหลักพุทธศาสนา อันได้แก่ หิริ และ โอตตัปปะ
หิริ คือ ความละอายต่อการกระทำผิดที่เกิดขึ้นภายในใจของคน ส่วน โอตตัปปะ คือ ความเกรงกลัวต่อผลแห่งการกระทำผิดชั่วร้าย ต่อการรู้เห็นของผู้อื่น
    นอกจากนี้ยังมีทฤษฎีของ เอฟ อีแวน ไนย์ ที่เน้นการควบคุมจากสังคม ทฤษฎีการเรียนรู้ทางสังคมของ อัลเบิร์ต แบนดูรา ที่เน้นการเรียนรู้การควบคุมตนเอง และการควบคุมพฤติกรรมโดยใช้การเรียนรู้จากสังคม
 
การพัฒนาการควบคุมตนเอง
   
การพัฒนาการควบคุมตนเองนั้น เด็กจะต้องผ่านการพัฒนาความสามารถในการควบคุมตนเอง โดยผ่านกระบวนการต่างๆ หลายอย่าง ได้แก่ การเรียนรู้โดยผ่านการเสริมแรงโดยตรง การเรียนรู้การควบคุมตนเองจากเทคนิควิธีวางระเบียบวินัย และการเรียนรู้การควบคุมตนเองจากการทำต้นแบบ (จรรยา สุวรรณทัต, ลาดทองใบ ภูอภิรมย์ และ กมล สุดประเสริฐ, 2533,
หน้า 9-15)
     นอกจากนี้ ลอเรนซ์ และการ์บิลล์ แบร์ (Lawrence and Gabrielle Blair, 1996,
อ้างในอารยา ด่านพานิช, 2542.) ศึกษาเรื่องผลจากพฤติกรรมการเผชิญหน้าปัญหาและการควบคุมตนเองต่อการปรับตัวของเด็กที่สูญเสียญาติ โดยศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างพฤติกรรมการเผชิญปัญหา การควบคุมตนเองจากแรงกระตุ้นภายใน ความเครียดในชีวิตประจำวัน และการปรับตัวในเด็กที่สูญเสียญาติ กลุ่มตัวอย่างเป็นเด็ก จำนวน 68 คน อายุ 8-13 ปี และญาติผู้ดูแลที่เหลืออยู่
พบว่าผู้ที่มีการควบคุมตนเองจากแรงกระตุ้นภายในได้ดี จะมีภาวะซึมเศร้าน้อย มีพฤติกรรมต่อต้านสังคมน้อย และมีการเห็นคุณค่าในตนเองสูงมากกว่าเด็กที่มีแรงกระตุ้นจากภายนอกตนเอง
 
     ดังนั้นการพัฒนาเด็กเยาวชนให้รู้จักการควบคุมตนเองได้นั้น ต้องให้ความสนใจทั้งในเรื่องที่เป็นรายบุคคลเฉพาะกรณี เรื่องของครอบครัว สถาบันการศึกษา และบริบททางสังคมอื่นๆ ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ทั้งในลักษณะที่จะช่วยกล่อมเกลา และฝึกฝนให้เด็กเยาวชนได้พัฒนาจิตลักษณะภายในไปได้ทุกช่วงอายุ จนเกิดเป็นอุปนิสัยที่จะสามารถควบคุมตนเองได้ในทุกสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน และสามารถดำรงอยู่ได้อย่างสง่างามแม้จะเป็นผู้แพ้หรือผู้ชนะในสังคมไหนก็ตาม
 
คำสำคัญ (Tags): #การพัฒนาเด็ก
หมายเลขบันทึก: 106973เขียนเมื่อ 28 มิถุนายน 2007 13:22 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 20:42 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท