เมื่อพี่น้องศึกษานิเทศก์...แต่ละเขตฯ มาเรียนรู้เรื่อง KM


เมื่อเกิดประโยชน์เห็นผลดี ใครจะนำไปใช้บ้าง ก็เป็นเรื่องของเขา

          ก่อนหน้านี้ตอนปรับโครงสร้างกระทรวง ยุบรวมมาเป็นสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา 175 เขต จนกระทั่งถึงปัจจุบันเพิ่มรวมเป็น 178 เขต ในระยะแรก ๆ มักจะมีพี่น้องชาวศึกษานิเทศก์บ่นให้ฟังว่า พวกเราเป็นวิชาชีพที่ถูกลืมในแง่ของการได้รับการพัฒนา

          มาระยะนี้ เป็นที่น่ายินดีว่าหลาย ๆ หน่วยงานในสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ซึ่งเป็นหน่วยงานในสายบังคับบัญชาหลักของเรา กลับมามองเห็นความสำคัญในบทบาทของพวกเราอีกครั้ง ว่าเป็นผู้ที่มีความเหมาะสมในการนำพาให้คุณครูเราพัฒนาเรื่องต่าง ๆ ตามที่ท่านตั้งธงไว้ได้ รวมถึงจะเป็นผู้ขับเคลื่อนโครงการสำคัญต่าง ๆ นำไปสู่ผลสำเร็จตามความมุ่งหวัง

          โดยในขณะนี้ สพฐ.เห็นว่า การติดอาวุธให้กับศึกษานิเทศก์ เพื่อนำไปใช้เป็นเครื่องมือสำหรับจัดการความรู้ในการทำงานต่าง ๆ จะเป็นตัวช่วยที่ได้ผล ดิฉันเองก็ได้มีโอกาสเข้ามาเป็นคณะทำงานคนหนึ่งในทีมงานการจัดการความรู้ของ สพฐ. ที่มีสำนักพัฒนานวัตกรรมทางการศึกษา (สนก.)  เป็นเจ้าภาพรับผิดชอบในเรื่องนี้ ท่านผอ.สำนักฯ ดร.เบญจลักษณ์ น้ำฟ้า และ คุณดุจดาว ทิพย์มาตย์ เป็นแม่งาน

          ดิฉันชื่นชมและมองเห็นความมุ่งมั่นของแม่งานทั้งสอง โดยเฉพาะคุณดุจดาว ที่รับผิดชอบและทำงานนี้อย่างจริงจังแข็งขัน ไม่ทำงานแบบฉาบฉวย ลงคลุกกับผู้คนและวิธีการทำงานของนักจัดการความรู้หลาย ๆ ท่านก่อนเพื่อเป็นข้อมูลสำหรับการจัดเตรียมหลักสูตรที่มีรูปแบบเหมาะสมนำมาให้กับศึกษานิเทศก์

          จนกระทั่งมาลงตัวที่หลักสูตรในรูปแบบของโครงการวิจัย
EdKM ซึ่งคณะวิจัย ท่านดร.สุวัฒน์ เงินฉ่ำ ท่านดร.เลขา ปิยะอัจฉริยะ และท่านดร.ทัศนีย์ ไพฑูรย์พงษ์ เลือกนำเครื่องมือนี้มาจาก สคส. โดยท่านบอกว่าเป็นเครื่องมือที่เหมาะกับคนในวงการศึกษาอย่างพวกเรา ๆ

          เครื่องมือที่ว่าก็คือ เรื่องเล่าเร้าพลัง...การวิเคราะห์ขุมความรู้ สังเคราะห์แก่นความรู้...ตารางอิสรภาพ....ธารปัญญา...บันไดแห่งการแลกเปลี่ยนเรียนรู้...
AAR ...และ blog

          ซึ่งเมื่อวันที่
22-26 พฤษภาคม 2550 ที่ผ่านมา สนก. ได้เรียนเชิญทางคณะวิจัย EdKM ลงมาให้ความรู้ความเข้าใจในเครื่องมือเหล่านั้นกับทีมศึกษานิเทศก์แกนนำ หรือที่พวกเราชอบเรียกกันว่า ทีมแม่ไก่ จากนั้นก็ร่วมกันปรับหลักสูตรอีกครั้ง จนกลายเป็นหลักสูตรการพัฒนาบุคลากรแกนนำนักจัดการความรู้ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา 4 ภูมิภาค เป็นการประชุมปฏิบัติการ 4 จุด 4 ภาค ผู้เข้าร่วมกิจกรรมประกอบด้วยศึกษานิเทศก์จากทุกเขตพื้นที่ ๆ ละ 3 ท่าน คือ หัวหน้ากลุ่มนิเทศฯ และศึกษานิเทศก์อีก 2 ท่าน

          สัปดาห์ที่แล้วเริ่มที่ภาคใต้-สุราษฏร์ธานี ดิฉันไม่มีโอกาสได้ไปร่วมงานด้วย แต่ในสัปดาห์นี้ ระหว่างวันที่
26-30 มิถุนายน 2550 เป็นของภาคกลางและภาคตะวันออก จัดที่ชลบุรี ดิฉันมาช่วยได้เต็มที่ รวมถึงรุ่นหน้าวันที่ 6-10 กรกฎาคม 2550 ของภาคอีสานที่อุดรธานีนั้น วางแผนไว้ว่าจะลงไปอีกรุ่นหนึ่ง ส่วนรุ่นสุดท้ายของภาคเหนือที่เชียงใหม่ก็หมดโอกาสไปช่วยเช่นกันเนื่องจากติดภารกิจของเขตพื้นที่

          เมื่อวานพี่น้องศึกษานิเทศก์ผู้เข้าร่วมประชุมเดินทางมารายงานตัว หลังการแนะนำสถานที่และตรวจสอบเอกสาร ก็เริ่มทำกิจกรรม
อุ่นเครื่องเรื่อง KM” กันแล้วในช่วงเย็น เป็นกิจกรรมที่เปิดโอกาสให้แต่ละคนได้ร่วมตรวจสอบตัวเองในเรื่องของการจัดการความรู้ โดยรวมกลุ่มกัน 5-6 คน นั่งคุยสามประเด็น คือ สิ่งที่รู้แล้ว สิ่งที่ยังไม่รู้ และสิ่งที่คาดหวังว่าอยากจะรู้ในการมาครั้งนี้ มีศน.ไพโรจน์ รุจิระวิจักขณ์ เป็นผู้พาทำกิจกรรมไปตามลีลาพริ้วไหวของท่าน

          ทำกิจกรรมกันเสร็จก็ลงมารับประทานอาหารเย็นร่วมกัน และเปิดโอกาสให้แต่ละคนไปศึกษาเอกสารในกระเป๋าที่ได้รับไป ส่วนทีมวิทยากรก็ล้อมวงนั่งคุยกันอีกรอบ หลังจากที่ส่วนหนึ่งตั้งวงคุยกันตั้งแต่สาย ๆ ศน.นงนุช อุทัยศรี เจ้าของพื้นที่ชาวชลบุรี ทีมงานของพวกเราคนหนึ่งท่านถนัดเรื่องการประมวลเพื่อนำเสนอข้อมูล ก็รับอาสานำข้อมูลที่ได้จากการทำกิจกรรม
อุ่นเครื่องเรื่อง KM” หรือ BAR (Before Action Review) ไปประมวลผลเพื่อพามานำเสนอพวกเราในเช้านี้

           ทีมวิทยากรพวกเรามีการประเมินจากภาพรวม ในการหยั่งเชิงผู้เข้ารับการพัฒนา ก็พอจะมองเห็นว่าความรู้ส่วนใหญ่เกิดจากการศึกษาหาความรู้มาจากการอ่าน (ทฤษฏี) แต่ยังไม่เห็นแนวปฏิบัติ (
how to) ซึ่งทีมวิทยากรเห็นว่าหลักสูตรนี้จะพาผู้เข้ารับการพัฒนาได้รับสิ่งที่เขาคาดหวังและอยากรู้ได้ในที่สุด วันนี้จะเริ่มเห็นแนว และพรุ่งนี้จะชัดเจนมากยิ่งขึ้น

          เราไม่คิดว่าศึกษานิเทศก์ทุกท่านที่ได้รับการพัฒนาจะนำเครื่องมือเหล่านี้ไปให้ครูเรียนรู้กันจนโกลาหล แต่จะแทรกซึมโดยการเป็นผู้นำเครื่องมือนี้ไปใช้เสียเอง ทำบทบาทของตัวเองเป็นคุณอำนวยในแต่ละงานที่ตนรับผิดชอบ ใช้กระบวนการจัดการความรู้เป็นเครื่องมือขับเคลื่อนการทำงานระหว่างครูกับศึกษานิเทศก์เอง เมื่อเกิดประโยชน์เห็นผลดี ครูหรือใครที่เห็นเขาจะนำไปใช้บ้าง ก็เป็นเรื่องของเขาค่ะ





ความเห็น (7)

สวัสดีครับท่าน ศน.กุ้ง

    ดีใจที่ได้รับข่าวสาร  และโชคดีที่ภาคอีสาน ภาคกลางและตะวันออกจะได้รับประสบการณ์จาก
ผู้เชี่ยวชาญมาให้คำแนะนำ  น่าเสียดายแทนภาคใต้และภาคเหนือนะครับ

  • แวะเข้ามาเรียนรู้ครับ
  • ขอชื่นชมครับกับการขยายวงเรียนรู้ออกไปทั่ว ปท.
  • ขอบพระคุณมากครับ จะติดตามเรียนรู้ผ่านบล็อกต่อไปนะครับ

แวะเข้ามาทักทายหลังการอบรมที่ชลบุรี

อ่านแล้วเสียดายที่ไม่ได้อยู่ร่วมค่ะ

สวัสดีค่ะ

ก็พอจะมองเห็นว่าความรู้ส่วนใหญ่เกิดจากการศึกษาหาความรู้มาจากการอ่าน (ทฤษฏี) แต่ยังไม่เห็นแนวปฏิบัติ (how to) ซึ่งทีมวิทยากรเห็นว่าหลักสูตรนี้จะพาผู้เข้ารับการพัฒนาได้รับสิ่งที่เขาคาดหวังและอยากรู้ได้ในที่สุด

สรุปว่า ยังต้องประเมินผลการปฎิบัติอีกทีใช่ไหมคะ แต่เมื่อได้มีความรู้จากการอ่านแล้ว คงไม่มีปัญหานะคะ

  • ไม่รู้เป็นเพราะอะไร พักนี้เข้า G2K ยากมาก ๆ
  • ขออนุญาตแลกเปลี่ยนรวม ๆ สำหรับทุกท่านนะคะ
  • ก่อนอื่นต้องขอขอบพระคุณทุกท่านมาก ๆ ที่กรุณามาแลกเปลี่ยนพร้อมให้กำลังใจต่อกันค่ะ
  • งานนี้เราพาศึกษานิเทศก์เรียนรู้ทฤษฎีและการนำเครื่องมือ อาทิเช่น เรื่องเล่า ตารางอิสรภาพ ธารปัญญา ไปใช้ในการทำงานภาคสนามของตนเองค่ะ
  • ซึ่งเราเชื่อว่าเครื่องมือเหล่านี้จะสามารถนำไปล้วงลึกวิธีปฏิบัติ หรือ how to ของคุณครูที่ทำกิจกรรมร่วมกับศึกษานิเทศก์
  • และเชื่อว่าระยะหนึ่งศึกษานิเทศก์พวกเราจะมีโอกาสได้แลกเปลี่ยนวิธีปฏิบัติ หรือ how to ของศึกษานิเทศก์เองด้วยค่ะ
  • ขณะที่แสดงความคิดเห็นอยู่นี้ ดิฉันกำลังอยู่ที่จ.อุดรธานี เป็นคณะทำงานของภูมิภาคอีสาน
  • งานนี้เรามีโปรแกรมสวมกับงานตลาดนัดการจัดการความรู้ 4 ภูมิภาคของโครงการวิจัย EdKM ด้วยค่ะ
  • หากมีโอกาสเหมาะคงจะได้นำเสนอแง่มุมของทั้งสองงานในโอกาสต่อไปค่ะ
  • ขอบพระคุณอีกครั้งสำหรับ คุณพี่น้ายูร ท่านอ.วีรยุทธสิงห์ป่าสัก ท่านศน.A  ท่านอ.ทัศนีย์ ที่เคารพรักและคิดถึงมาก ๆ และ ท่านsasinanda ด้วยเช่นกันค่ะ
  • สวัสดีครับ อ.ปวีณา
  • น่าจะเป็นมิติของการเริ่มต้นที่ดีในทางการศึกษาที่ต่างฝ่ายเห็นความสำคัญของการนำ KM  เป็นกลไกของการขับเคลื่อนการทำงาน
  • ปัญหาสำคัญที่ผมวิตกอยู่มิใช่น้อยนั่นก็คือ  ความใส่ใจ  ซึ่งหมายถึงความจริงจัง  และความต่อเนื่องนั่นเอง
  • หรือแม้แต่การเรียนรู้ที่ขาดการปฏิบัติก็น่าจะเป็นหลุมพรางที่น่ากลัวต่อการพัฒนาระบบการศึกษาเป็นอย่างยิ่ง
  • โดยเฉพาะคิดว่าที่ผ่านมามีบุคลากรจำนวนไม่น้อยที่ตกลงไปในหลุมพรางนั้น  ... บางคนปีนขึ้นมาได้  แต่หลายคนก็ยังขึ้นมาไม่ได้เลยก็มี
  • ....
  • แต่อย่างไรก็ดี   ผมก็ยังเชื่อว่า  การพัฒนาสังคม  ต้องขับเคลื่อนผ่านกระบวนการทางการศึกษาอยู่วันยังค่ำ ..
  • ....
  • ขอบพระคุณครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท