สรุปประเด็นKMบรรยายทีม สสจ.อยุธยา


Knowledge sharing ที่ต้องเน้นปฏิบัติจริงแล้วดีจึงนำมาเล่าต่อ ไม่ใช่แค่ไปฟังคนอื่น ไปอบรมมา ไปอ่านมาเห็น(เอาเอง)ว่าดีแล้วมาบอกให้คนอื่นทำ

        เมื่อวันที่ 20 ธันวาคมที่ผ่านมา ทีมงานตรวจสอบความสมบูรณ์ของเวชระเบียนจากหน่วยงานในสังกัด สสจ.อยุธยา ได้มาทำกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ที่เขื่อนภูมิพลและในตอนบ่ายได้แวะมาฟังผมบรรยายKM โดยตกลงไว้ 1.30 ชั่วโมง กว่าจะได้บรรยายก็บ่าย 2 โมง บรรยายเสร็จ 3 โมงครึ่ง ซักถามอีกก็ 4 โมงเย็นพอดีได้เวลากลับ ทำให้ไม่มีเวลาได้เดินดูโรงพยาบาล ก่อนกลับทางศูนย์คุณภาพได้ติดต่อกลุ่มแม่บ้านนำสินค้าโอท็อปบ้านตากที่เป็นของฝากให้มาจำหน่ายเพื่อซื้อของฝากกลับอยุธยาด้วย ปรากฎว่าสินค้าไม่พอขาย พรุ่งนี้มีทีมดูงานมาอีกก็เลยให้กลุ่มแม่บ้านเตรียมสินค้าไว้เยอะหน่อย เป็นการช่วยกันสนับสนุนสินค้าบ้านตาก

        ผมเคยไปบรรยายให้ทีมผู้บริหารของสสจ.อยุธยาแล้วครั้งหนึ่งเมื่อ 18 พฤศจิกายน 2547 ที่อยุธยา มีผู้บริหารใน สสจ. ผอ.รพ. รวมทั้งผอก.รพ.พระนครศรีอยุธยา ก็ได้มานั่งฟังด้วย ทั้งๆที่ผมรู้สึกว่าท่านน่าจะรู้มากกว่าผม ได้คุยกับท่านๆบอกว่าฟังคนอื่นมากๆได้ประโยชน์มากกว่า นั่งอ่านหนังสือคนเดียว ตอนนั้นภาคแรกมีอาจารย์ ดร.ประพนธ์ บรรยายหลักการ ส่วนของผมเป็นเรื่องเล่าในสิ่งที่ทำ คุณประกิจ ที่เป็นตัวตั้งตัวตีในการจัดเครือข่ายKMของอยุธยา จนมีผลงานเป็นที่รู้จักและสามารถเป็นวิทยากรกลุ่มได้ดี บอกกับผมว่าฟังคราวนี้กับคราวก่อนก็ต่างกันไป คราวนี้เติมเต็มบางสิ่งบางอย่างให้ดีกว่าและชัดเจนกว่า ซึ่งก็เป็นธรรมดา ตอนนั้นยังไม่ค่อยรู้อะไรมาก การเชื่อมโยงก็ยังไม่ชัดเจนเท่าตอนนี้

        ผมดูเวลาแล้วก็กลัวว่าจะบรรยายได้ไม่ครบตามที่เตรียมไว้ ก็เลยเริ่มต้นด้วยการสรุปประเด็นสำคัญของKM ก่อน หากเวลาไม่ทันก็ตัดตอนได้เลย แต่ปรากฎว่าผมก็ขอต่อเวลาจนพูดได้ครบที่เตรียมมาแต่ก็อยู่ใน 1.30 ชั่วโมงที่ตกลงกันไว้ (ปกติแล้วถ้าเชิญผมไปบรรยายน้อยกว่า 1 ชั่วโมง ผมจะไม่ค่อยไปเพราะคิดว่าไม่คุ้มกับการเสียเวลาเดินทางและผมไม่มีความสามารถพอที่จะพูดสั้นๆให้เข้าใจกันได้ครบเพราะผมชอบพูดให้เห็นภาพรวมทั้งหมด)   สิ่งที่ผมได้สรุปประเด็นในตอนแรกก็คือ

1.     KM เริ่มจากความสำเร็จ ความดี ความสุขใจ เป็นการมองและคิดเชิงบวก มุ่งค้นหา Success Story ในหน่วยงานของตนเอง ทำให้พยายามมองหาความดีของคนอื่น ส่งผลให้เกิดความชื่นชมซึ่งกันและกันตามมา บรรยากาศในการทำงานของหน่วยงานจะดีขึ้น หากจะพูดถึงความผิดพลาดก็เป็นแบบกัลยาณมิตร ไม่ลงโทษคนทำผิดพลาดแต่เอามาวิเคราะห์เพื่อเรียนรู้จากความผิดพลาดป้องกันไม่ให้ตนเองหรือคนอื่นผิดพลาดซ้ำอีก

2.     KM เริ่มจากความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน เป็นการจัดการความสัมพันธ์ของคน (Human relationship Management) เพราะเราต้องการดึงเอาความรู้ส่วนใหญ่ที่ใช้ในการทำงานจริงออกมาและมันเป็นความรู้ฝังลึกที่อยู่ในตัวคน หากคนรักกัน ไว้ใจกันก็จะนำเอาสิ่งดีๆที่ตนเองมีอยู่มาแบ่งให้คนอื่นได้

3.     KM มีผู้เกี่ยวข้องที่สำคัญที่สุดก็คือผู้ปฏิบัติหรือคุณกิจ ที่ต้องสร้างความรู้จากการปฏิบัติจริงในงานประจำที่เขาทำอยู่ ดึงความรู้ฝังลึกออกมาให้ได้ การกระตุ้นให้ผู้ปฏิบัติเกิดการเรียนรู้ในขณะทำงานจึงมีความสำคัญอย่างมากเพราะส่งผลต่อการสร้างความรู้ของเขาอันจะนำไปสู่การปฏิบัติที่ดีได้

4.     KM มีส่วนสำคัญมากอยู่ที่ Knowledge sharing ที่ต้องเน้นปฏิบัติจริงแล้วดีจึงนำมาเล่าต่อ ไม่ใช่แค่ไปฟังคนอื่น ไปอบรมมา ไปอ่านมาเห็น(เอาเอง)ว่าดีแล้วมาบอกให้คนอื่นทำ อย่างนี้ไม่ใช่การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ที่แท้จริงในการจัดการความรู้และควรเน้นการแลกเปลี่ยนขับเคลื่อนความรู้ข้ามแดนในหน่วยงานก่อน กระตุ้นให้ผู้ปฏิบัติกับผู้ปฏิบัติคุยกัน รุ่นพี่กับรุ่นน้อง หัวหน้ากับลูกน้อง แผนกกับแผนก วิชาชีพกับวิชาชีพ แล้วจึงค่อยออกไปแลกกันนอกหน่วยงาน เพราะมันจะแนบแน่นกับงานประจำของตนเองมากกว่า และเมื่อจะตัดสินว่าทำแล้วดีนั้นขอให้พิจารณาจากผลลัพธ์ก่อนแล้วค่อยย้อนไปวิธีปฏิบัติ หากต้องเปรียบเทียบต่างกลุ่มหรือต่างหน่วยงานต้องมีการเทียบเคียงผลงานกันด้วย เพื่อจะได้เกิดความเชื่อถือกัน

5.     KM เป็นเรื่องของการปฏิบัติมากกว่าทฤษฎี เน้นการนำความรู้ในตัวคนออกมาให้เห็นชัดเพื่อนำไปปรับเป็นการทำงานที่ดีขึ้นเรื่อยๆ ทุกอย่างต้องผ่านการปฏิบัติจริงก่อนจึงจะเอามาบอกคนอื่นเพื่อให้เขาลองเอาไปปฏิบัติหรือประยุกต์ใช้ในบริบทของเขา

6.     KM เป็นเรื่องของความสมัครใจ ไม่ใช่บังคับ คนเราจะเรียนรู้ได้เขาจะต้องได้ใช้จริง และตระหนักเสมอว่าคนเรารู้มากกว่าที่พูดได้ เขียนได้ ดังนั้นเมื่อต้องการความรู้ที่ทำสำเร็จจากผู้ปฏิบัติงานจึงต้องใช้วิธีการที่หลากหลายแตกต่างกันไปในแต่ละคนเพื่อที่จะสกัดความรู้ฝังลึกของเขา

หมายเลขบันทึก: 10642เขียนเมื่อ 25 ธันวาคม 2005 22:11 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:15 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท