งานชุมชนภาคสนามครั้งแรก


ไม่มีการจัดการศึกษาวิธีอื่นใด ที่จะทำให้นักศึกษาเข้าใจผู้คน ได้เหมือนกับการไปภาคสนาม

วันพุธนี้ (27 มิย 2550) นักศึกษาจะไปฝึกภาคสนามกันที่จังหวัดสระบุรี คิดว่าหลายคน คงตื่นเต้นกับภาคสนามครั้งแรก เลยอยากย้อนความทรงจำภาคสนามครั้งแรกของผมมาแบ่งปันให้ได้อ่านกันครับ 

หากนิยามการทำงานชุมชนภาคสนาม ว่าคือการได้ใช้ชีวิตอยู่ในพื้นที่ชนบทระดับตำบล หรือหมู่บ้าน เพื่อทำงานเกี่ยวกับการสร้างเสริมสุขภาพช่องปาก ได้มีโอกาสเรียนรู้วิถีชีวิตของคนในหมู่บ้าน ชุมชนอื่นๆ นอกเหนือไปจากครอบครัวของเรา หากใช้คำนิยามอย่างนี้นะ เชื่อหรือไม่ ผมไปชุมชนภาคสนามมาแล้วไม่ต่ำกว่า 30 ครั้ง ความประทับใจแรกคืออะไร ทำไมหลังจากครั้งแรกของชุมชนภาคสนามแล้วถึงติดใจและใช้วิถีชีวิตของตัวเองพัวพันกับการออกภาคสนามมาโดยตลอดจนถึงปัจจุบัน จะเล่าให้ฟังครับ

ครั้งแรกเกิดขึ้นเมื่อสิบห้าปีก่อน ชุมชนภาคสนามแรกของผมคือ ค่ายอาสาพัฒนาชนบท จัดโดยชมรมค่ายฯ คณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาฯ

สิบห้าปีที่ผ่านไปผมลืมรายละเอียดส่วนใหญ่ของเหตุการณ์และผู้คนหมดแล้วครับ มีรูปใบเดียวที่พอจะบอกได้ว่าใครได้ไปใช้ชีวิตร่วมกันบ้าง

รูปสมาชิกค่าย: ภาคสนามเมื่อผมยังเป็นนิสิตปีที่ 1 

สิ่งที่จำได้ชัดเจนก็คือ ค่ายไม่ได้ไปกันได้ง่ายๆ และไม่ได้ไปกันได้ทุกคน ต้องมีการพิสูจน์ เสียก่อนว่า คุณพร้อมที่จะไปค่ายได้ มีการตกลงกันจากกอง(อำนวยการ)ค่าย ว่าใครมีคุณสมบัติพอที่จะไปได้ ซึ่งโดยมากคุณสมบัติดังกล่าวก็คือ ความทุ่มเทเตรียมงานก่อนที่จะออกไปค่ายครับ ก่อนที่จะออกไปสู่พื้นที่นั้น เตรียมงานค่ายกันเป็นแรมเดือนนะครับ มีการประชุมกันแทบทุกเย็น เริ่มคุยกันห้าโมงเย็น กว่าจะเสร็จก็สองสามทุ่ม มีการแบ่งผู้สมัครไปตามโครง(การ)ต่างๆ (เช่น โครงสอน, โครงสร้าง, โครงหน่วยทันตกรรมเคลื่อนที่ ฯลฯ) หัวหน้าโครงการก็จะเรียกประชุมเพื่อคิดงาน เตรียมงานที่จะไปทำในพื้นที่ ใครที่ขาดประชุมบ่อยๆ หรือไม่มาช่วยงานอย่างเห็นได้ชัด ก็จะโดนตัดสิทธิ์ไม่ให้ไปค่าย

เสน่ห์ของค่ายในฐานะชุมชนภาคสนามที่ผมหลงใหลเป็นพิเศษ คือหลักในการทำงานที่ว่า จะทำอะไรในพื้นที่ ทั้งกิจกรรมที่ทำกับคนในหมู่บ้าน หรือกิจกรรมในการอยู่ร่วมกันเองในค่าย ต้องคิดและถกเหตุผลกันในวงประชุม จนกว่าทุกคนจะเห็นตรงกันว่า ทำไปทำไม ทำไปแล้วดียังไง ใครได้ประโยชน์จากการทำ (ประโยคคลาสสิกที่มักจะถามกันเสมอๆ เวลาเตรียมงานค่ายคือ "เราได้ประโยชน์ หรือชาวบ้านได้ประโยชน์" ประโยคนี้ผมอยากให้ นศ ทพ ทั้งหลายหมั่นถามกับบ่อยๆ มากๆ ในการฝึกภาคสนามนะครับ)

ด้วยหลักการอย่างนี้เอง จึงทำให้เราจำเป็นต้องมีการประชุมที่มีการถกเถียง การโต้แย้ง การยกเหตุผล การคาดเดาความรู้สึก การตำหนิติเตียน เพื่อสร้างสรรค์กิจกรรม (ที่เราคิดว่าเกิดประโยชน์ต่อชุมชน) และเพื่อแก้ปัญหาทุกอย่าง (อย่าลืมว่าเราต้องคิดเองทุกอย่างแม้กระทั่งวัตถุประสงค์ของการออกค่าย) ในขณะที่คนทำงานแต่ละคนมีความขัดแย้งในเชิงเหตุผลอย่างมหาศาล เราต้องประคับประคองอารมรณ์ความรู้สึกของคนทำงานให้อยู่ในสถานการณ์ที่ทำงานกันได้ ไปตลอดรอดฝั่ง คำถามที่ว่า ตกลงจะเอาคน หรือจะเอางาน ก็เกิดขึ้นตลอดเวลาของการประชุมค่าย

ประโยคทองจากปากของ ทพญ.พจนา พงษ์พานิช (ปัจจุบันทำงานอยู่ รพช แห่งหนึ่งในจังหวัดเชียงราย) ที่ว่า "ไปค่ายเพื่อไปเข้าใจผู้คน" เป็นหลักการที่ผมยังใช้มาจนถึงทุกวันนี้ครับ แม้ว่าการไปชุมชนภาคสนาม มีจุดประสงค์ เครื่องมือ กิจกรรม มากมาย แต่หัวใจของการไปภาคสนามทุกครั้ง คือ "การไปเพื่อเข้าใจผู้คน" ทั้งคนในหมู่บ้าน คนที่ทำงานสาธารณสุขในพื้นที่ หรือแม้แต่เพื่อนๆ ในกลุ่ม

คำว่าเข้าใจ อยู่ในระดับที่ลึกซึ้งกว่าคำว่ารู้  เรารู้ได้จากข้อมูล แต่เราจะเข้าใจได้จากประสบการณ์การใช้ชีวิต

เท่าที่ผมทราบ ไม่มีการจัดการศึกษาวิธีอื่นใด ที่จะทำให้นักศึกษาเข้าใจผู้คน ได้เหมือนกับการไปภาคสนาม

โปรดอย่าถามเลยนะครับว่า การเข้าใจผู้คนมันเกี่ยวอะไรกับการทำฟันด้วย เพราะผมจะถามกลับว่า มีตรงไหนที่ไม่เกี่ยวบ้าง

เขียนมาเสียยืดยาว เพียงแค่อยากจะให้กำลังใจกับ ภาคสนามแรกของ นศ ทพ ครับ อยากจะฉายภาพย้อนอดีตให้เห็นว่า ภาคสนามครั้งแรกของผมลำบากกว่าของท่านมาก ทั้งในเรื่องทางกายภาพ (หาเงินทำค่ายเอง, ผจญความเสี่ยงภัยต่างๆเอง, การดำรงชีวิตอยู่ในค่ายแบบไม่ใช้ไฟฟ้า, ใช้น้ำบ่อ ฯลฯ) และเรื่องการประชุมที่เป็นการประชุมแบบปลายเปิด คือไม่เสร็จจนกว่าทุกคนจะเห็นพ้องต้องกันด้วยเหตุผล อุปสรรคเหล่านี้ได้ถูกอาจารย์ถากถางให้ไว้แล้วระดับหนึ่งในภาคสนามแรกของพวกท่าน ท่านจึงมีเวลาในการศึกษาและทำความเข้าใจผู้คนได้อย่างเต็มที่

อยากจะให้กำลังใจว่าภาคสนามเป็นกิจกรรมดึงดูดใจครับ จากภาพข้างบน สมาชิกร่วมกิจกรรมภาคสนามแรกกันกับผม อย่างน้อยมีเจ็ดคนที่แม้ในขณะนี้ ก็ยังใช้ชีวิตอยู่ในวัฏฏะของภาคสนาม ความสนุกของการได้มีโอกาสไปเข้าใจผู้คน ผลักดันให้คนเหล่านี้ไปเป็นอาจารย์ภาคชุมชน, เป็นหมอฟันในโรงพยาบาลชุมชน หรือกระทั่งเป็นนักวิจัยอิสระด้านสังคม

สำหรับผม มันเป็นกิจกรรมที่มีเสน่ห์อย่างยิ่งครับ ถ้าสมาชิกแต่ละคนรู้สึก"อิน" และสนุกกับมัน มีเสน่ห์ถึงขนาดว่า หลังจากภาคสนามแรกแล้วผมก็ไปค่ายอีกประมาณสิบค่าย หลังจากจบเป็นทันตแพทย์แล้วก็ได้ไปภาคสนาม ทั้งในฐานะหมอ ฐานะอาสาสมัคร ฐานะอาจารย์ และในฐานะนักวิจัย อีกสิบกว่าจังหวัดทั่วประเทศดังจุดเขียวๆ ที่จรดไว้ในแผนที่ข้างล่างนี้ครับ

dd

 

อยากให้ทุกคนได้สัมผัสถึงเสน่ห์ของภาคสนาม อย่างที่ผมได้สัมผัสครับ

ขอให้มีความสุขกับภาคสนามแรกนะครับ

 

คำสำคัญ (Tags): #ภาคสนาม
หมายเลขบันทึก: 106325เขียนเมื่อ 25 มิถุนายน 2007 22:25 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 19:11 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท