ธรรมชาติของคน มี 3 ชนชั้น


คือ 1) ชนชั้นผู้นำทางความคิด เป็นนักวางแผน นักคิดยุทธศาสตร์ 2) ชนชั้นที่กำลังพัฒนา เป็นผู้ปฏิบัติ เป็นคนทำงาน และ 3) ชนชั้นที่รอการพัฒนา

     "ธรรมชาติของคน มี 3 ชนชั้น" เป็นถ้อยคำที่ผมได้ยินหลายครั้ง และรู้สึกอคติกับการแบ่งคนของเครือข่ายสินธุ์แพรทอง (ต.ลำสินธุ์ กิ่ง อ.ศรีนครินทร์ จ.พัทลุง) มาตลอดตั้งแต่ได้ยินครั้งแรก ๆ ด้วยคิดว่าการแบ่งชนชั้นของคน เป็นเรื่องแรกที่ไม่ต้องพูดถึงความเสมอภาคกันแล้ว แต่เมื่อได้รู้จักมักคุ้นกันเรื่อย ๆ ก็พบว่าแท้ที่จริงแล้วเป็นการแบ่งเพื่อการพัฒนาคนเท่านั้น ที่นี่เขาจะเน้นการพัฒนาคนด้วยกลไกการจัดการเรียนรู้ที่เน้นของจริงเป็นหลัก ความรู้มือสองก็ใช้ แต่ในระดับรอง ๆ ลงไป

     และเมื่อระหว่างวันที่ 28-31 พ.ค.50 ที่ผ่านมา ผมชักนำเครือข่ายนักพัฒนาสุขภาพชุมชนจากทั้ง 7 จังหวัด ภาคใต้ตอนล่างมาเข้าค่ายแบบพักบ้านแกนนำ จำนวน 28 คน เพื่อร่วมเรียนรู้จากแกนนำในการจัดการชุมชนให้พึ่งตนเอง และมุ่งมุ่นสู่สุขภาวะ แบบพอเพียง พอมี พออยู่ พอกิน มีตอนหนึ่งที่ทางทีมงานถอดมาได้จากพี่เล็ก (อุทัย บุญดำ) และตรวจสอบจากแกนนำท่านใด ๆ ก็เหมือนกันคือ เรื่องแนวคิดการแบ่งคนในชุมชนออกเป็น 3 ชนชั้น คือ 1) ชนชั้นผู้นำทางความคิด เป็นนักวางแผน นักคิดยุทธศาสตร์ 2) ชนชั้นที่กำลังพัฒนา เป็นผู้ปฏิบัติ เป็นคนทำงาน และ 3) ชนชั้นที่รอการพัฒนา โดยที่คนทั้ง 3 ชนชั้นนั้นสามารถเลื่อนตัวกลับไปกลับมาได้ตามแต่ละประเด็นและโอกาส

     กลยุทธ์การพัฒนาคนที่นี่จะใช้วิธีการกำหนดประเด็นไว้ล่วงหน้าในภาพกว้าง ๆ และจะพิจารณาเป็นคราว ๆ ไปว่า ณ ปัจจุบันจำเป็นต้องรู้เรื่องอะไรเป็นพิเศษ เพื่อให้รู้เท่าทันกระแสทุน กระแสบริโภคนิยม หรือกระแสอื่น ๆ ตามแต่ยุคสมัย การกำหนดนี้ก็ใช้ชนชั้นผู้นำทางความคิด เป็นคนกำหนด ก่อนตรวจสอบความต้องการด้วยการจัดเวทีให้ชนชั้นที่ 2 เป็นผู้เลือกและกำหนดรายละเอียดเอง สำหรับชนชั้นที่ 3 เอาตามความสนใจ หมายถึงหากพร้อมในตัวเองก็เข้ามาเองได้ แต่โดยกระบวนการจะไม่หวังผลมากนัก ยกตัวอย่างเช่นการเรียนรู้ในโรงเรียน อสม. โรงเรียนผู้นำฯ หรือโรงเรียนการเกษตร ซึ่งดำเนินการอยู่อย่างต่อเนื่องในปัจจุบัน

หมายเลขบันทึก: 105779เขียนเมื่อ 24 มิถุนายน 2007 00:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มีนาคม 2015 08:32 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (8)

สนใจ ประเด็นการจัดกระบวนการเพื่อแบ่งชั้นคนในชุมชนของที่นี่ ที่จะให้เกิดการยอมรับซึ่งเป็นแง่คิดว่าน่าจะเป็นเรื่องที่ค่อนข้างละเอียดอ่อน ให้สามารถกำหนดกลยุทธ์การพัฒนาที่ทุกฝ่ายพึงพอใจ และพร้อมที่จะเรียนรู้ น่าสนใจนะคะ

เรียน คุณอรทัย

     เอาเท่าที่ตอบได้ก่อนตอนนี้นะครับ ที่เหลือจะเพิ่มเติมแล้วมาลงไว้เป็น คห.เพิ่มนะครับ

     1) เท่าที่ทราบจากการพูดคุยกัน ก็เป็นการแบ่งกันเองจาชุมชนอยู่แล้ว และเขายังให้ประเด็นเรามาคิดเพิ่มอีกว่า แล้วต่างอะไรกันกับนอกชุมชนที่เขาแบ่งให้เป็นชนชั้นปกครอง ชั้นชั้นบริหาร ชนชั้นต่าง ๆ ที่ทำหน้าที่กดขี่มากกว่าการเอื้อประโยชน์ต่กันจริง ๆ อย่างเป็นธรรม สำหรับเขาแล้ว เขาเลือกที่จะแบ่งเพียงเพื่อรู้กลุ่มเป้าหมายให้ชัดในการพัฒนาคนของชุมชนเองครับ

     2) ประเด็นว่ากระบวนการแบ่งนั้นเป็นทางการแค่ไหน และแต่ละคนรู้ตัวหรือไม่ นั้นยังไม่ได้ทราบรายละเอียดประเด็นนี้ เพียงแต่ทราบว่าชั้นผู้นำทางความคิดนั้นทราบดี แต่อีก 2 ชั้นนั้นจะทราบแค่ไหนอย่างไร ยังไม่มีข้อมูลนะครับ

     ขอบคุณมากเลยครับ สำหรับคำถาม มีคำถามจึงทำให้ได้ทราบว่าข้อมูลที่ได้มาจากการเรียนรู้คราวนั้น ยังไม่เต็มอิ่มครับ

ขอบคุณ คุณชายขอบนะคะ

ที่นำเอาความรู้และประสบการณ์มาให้เกิดการแลกเปลี่ยน เชื่อว่าชุมชนคือขุมความรู้ที่นักพัฒนาควรค้นหาเพื่อนำกลับมาเติมเต็มให้ชุมชนนั้นได้อีกต่อไป

เรียน คุณอรทัย

     ที่จริงคำถามคุณช่วยเติมเต็มนะครับ การช่วยกันตั้งคำถาม ก็เป็นการช่วยกันสกัดขุมความรู้ครับ เวลาลงพื้นที่จริง ๆ เรามักจะขาดคนที่ช่วยตั้งคำถามคม ๆ
      ความรู้ในชุมชนมีเยอะครับ ฝังลึกอยู่เป็นส่วนใหญ่

สวัสดีครับ
    ชนชั้น ฟังแล้วน่าจะรู้สึกไปทางลบ เหตุเพราะเท่าที่ผ่านมา คนส่วนมากที่กิเลสหนา  เขาแบ่งชนชั้นกันเพื่อกดขี่ ข่มเหง  รังแก ชน ชั้นที่อ่อนด้อยกว่า เพื่อความมั่งมี เพื่อเกียรติ-ศักดิ์ศรี ที่พวกตนมุ่งหวัง อยากมี อยากได้ อยากเป็น
    แต่โลกจริง คนในสังคม เสมอ กันไม่ได้ อย่างดีก็ได้แค่คำพูดว่า เสมอกัน  เท่าเทียมกัน สรุปก็คือ ในชุมชนล้วนมีคนอยู่หลายชั้น  หากเป็นไปด้วย กุศลเจตนา ที่แท้จริงแล้ว  การจัดกลุ่ม แบ่งชั้น แบ่งคน เพื่อการ ทำหน้าที่ น่าจะเป็นเรื่องควรทำอย่างยิ่ง เพราะหากในใจคนต่างมี กุศล เป็นรากฐาน เขาย่อมยินดีที่จะยอมให้มีการเลื่อนชั้น ขึ้นลง กันเองได้ โดยไม่ยึดติดกับข้อกำหนดอันเป็นสมมุติเหล่านั้น .. เพราะเป้าหมายของงาน สำคัญกว่าการที่จะมาแบ่งว่าใครเป็นชนชั้นใด ... พี่บาวก็ว่าของพี่ไปเรื่อยเฉื่อย .. แต่คงพอจะกรองเอาไปใช้ได้บ้างเนาะ.

เรียน อาจารย์พี่ Handy

     ผมเสียโอกาสไปตั้งหลายเดือนครับ เพราะได้ฟังเขาครั้งแรกในเวทีประชุม ณ ศาลากลางจังหวัด ที่ผมเข้าร่วมประชุมในนาม นพ.สสจ.ฟังแล้วคิดเป็นเชิงลบ และเกิดอคติเป็นอย่างยิ่ง เลยไม่ฟังต่อ จนวันหนึ่งเหตุบังเอิญ เขามาร่วมงานของ ศวพถ.ที่ทีมงานและผมร่วมกันขับเคลื่อน "สุขภาวะชุมชน ฅนเมืองลุง" ถึงได้ทราบอย่างลึก เมื่อได้ฟังเขานิ่ง ๆ อย่างลึก ยิ่งเมื่อได้เข้าไปเยี่ยม ไปเยือน ยิ่งต้องตกใจในความเข้มแข็งของชุมชนแห่งนี้ ชุมชนที่เคยบาดเจ็บจากการกดขี่ของรัฐมาก่อน และยาวนาน สมัยถังแดง มาวันนี้เขาต้องเข้มแข็งเองเพื่อต่อต้านกระแสทุน สงสัยจะยาว...ไว้ต่อนะครับ (ยิ้ม)

ขอเพลง ถังแดง ด้วยนะครับ หายากมากเลยอยากได้มาก

ขอเพลง ถังแดง หน่อนะครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท