มิติทางสังคมของหมาก


ไม่มีอะไรดำรงอยู่ลอยๆ มันเชื่อมโยงกับสิ่งอื่นเสมอ

ในมิติทางด้านสุขภาพช่องปาก หมากเป็นต้นเหตุของโรคเหงือกอักเสบ เป็นปัจจัยเสี่ยงของการเกิดมะเร็งช่องปาก เป็นข้อห้ามที่ต้องไม่ลืมเตือนคนไข้หลังจากถอนฟัน

แต่ในมิติทางสังคม หมากเป็นอะไรมากกว่าสิ่งที่ทันตบุคคลากรต้องกำจัด

(ซึ่งในความเป็นจริงกระบวนการทางสังคมต่างหากที่เป็นผู้ลดปริมาณคนกินหมากในสังคมไทย)betel 

พ่อเฒ่ากำลังหั่นหมากกับเชี่ยนหมากคู่ใจ ที่สกลนคร

หมากมีความเกี่ยวพันอย่างยิ่งกับวิถีชีวิตคนไทยในอดีต และเชื่อมโยงมาจนถึงปัจจุบันด้วย

ชานหมาก เป็นสิ่งที่ชายหญิงใช้บอกรักกัน (ขุนช้างขุนแผน ขุนแผนพูดกับนางพิม)

ชานหมากเจ้าอยากพี่ยังคาย  แขนซ้ายคอดแล้วเพราะหนุนนอน

หรือ กาพย์เห่ชมเครื่องคาหวาน:

หมากเจียนเจ้างามปลอด พลูต่อยอดน่าเอ็นดู 

กระวานอีกกานพลู บุหรี่ให้เหลือใจหาญ

เชี่ยนหมากเป็นเครื่องแสดงศักดิ์และฐานะของคนในสังคม สำหรับชาวบ้านชานหมากก็เป็นกล่องธรรมดา ส่วนราชนิกูลก็เป็นตลับที่เขียนลายไว้อย่างวิจิตร หาดูได้ตามพิพิธภัณฑ์

การกินหมากนั้น ทำให้ฟันมีสีครับ ค่านิยมของคนไทยสมัยก่อน นิยมการมีฟันเป็นสีดำ และเชื่อหรือไม่ สีของฟันแสดงถึงวุฒิภาวะของคนไทยในสมัยก่อนด้วย ย้อนไปไม่นานครับนักครับ แค่รุ่นสองรุ่นเท่านั้น ที่เราสามารถดูความเป็นผู้ใหญ่ของคนได้จากสีฟัน เด็กน้อยฟันขาว เพราะยังเด็กเกินไปที่จะกินหมาก วัยรุ่นเริ่มกินหมาก ฟันก็จะยังไม่ดำหรอกครับ แต่จะเป็นสีแดงเหมือนกับสีทับทิม จนกระทั่งเป็นผู้ใหญ่เต็มตัวนั้นแหละฟันจึงจะเป็นสีดำดังสีนิล

มีบทประพันธ์พระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่สองเรื่องอิเหนา (คัดลอกมาจากศุภร บุนนาค, สมบัติกวีชุดอิเหนา. 2539, กรุงเทพฯ: เคล็ดไทย) ที่อิเหนารบฆ่าวิหยาสะกำตาย แล้วมาดูศพวิหยาสะกำ เกิดความสลดใจที่นักรบผู้นี้ยังไม่เป็นผู้ใหญ่เต็มตัว เสียดายไม่ควรมาตาย และที่อิเหนารู้ทันทีว่าวิหยาสะกำยังไม่โตเป็นผู้ใหญ่เต็มตัวนั้น เพราะดูจากสีของฟันซึ่งเป็นสีแดงครับ

 มาเห็นศพทอดทิ้งกลิ้งอยู่                       พระพินิจพิศดูแล้วใจหาย

หนุ่มน้อยโสภาน่าเสียดาย                     ควรจะนับว่าชายโฉมยง

ทนต์แดงดังแสงทับทิม                        เพริดพริ้มเพรารับกับขนง

เกศาปลายงอนงามทรง                        เอวองค์สารพัดไม่ขัดตา

 

เชื่อมเรื่องหมากมาถึงบทเรียนวันนี้ครับ นั่นคือ ไม่มีสิ่งใด หรือปรากฎการณ์ใดที่ลอยตัวอยู่เฉยๆ โดยไม่เชื่อมโยงกับสิ่งอื่นๆ แค่หมากเรื่องเดียวเชื่อมโยงกับสังคมวัฒนธรรมและวิถีชีวิตไม่รู้เท่าไหร่ แค่การ “ให้ความรู้” กับผู้เฒ่าว่าเลิกกินหมากเถอะ มันไม่ดีนะตา แค่นี้มันง่ายเกินไปหรือเปล่าครับ ทั้งๆ ที่ความหมายของหมากในชีวิตเขามีมากมายขนาดนั้น แล้วเรื่องอื่นๆ ที่เราจะคิดเข้าไป “จัดการ” ละครับ มันเชื่อมโยงกับชีวิตเขามากน้อยแค่ไหน เรื่องขนมถุง เรื่องบุหรี่ เรื่องการแปรงฟัน ฯลฯ

พอเสียทีเถิดที่ชอบให้เหตุผลว่าคนในชุมชน “ไม่มีความรู้” จึงไม่มีพฤติกรรมสุขภาพที่เราปรารถนาได้ ถ้ามองประเด็นต่างๆ อย่างกะว่ามันดำรงอยู่โดดๆ เดี่ยวๆ ลอยๆ ไม่เชื่อมโยงกับอะไรเลยก็มีแนวโน้มที่จะสร้างกิจกรรมโครงการอะไรที่เสียเปล่าได้มาก สรรพสิ่งล้วนเชื่อมโยงครับ มองให้เห็นแล้วจะเกิดความงอกงามทางปัญญา

คำสำคัญ (Tags): #เชื่อมโยง
หมายเลขบันทึก: 105559เขียนเมื่อ 22 มิถุนายน 2007 21:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 3 มีนาคม 2014 11:28 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท