ศิลปะ (6) ทำไมต้องสอนเพลงพื้นบ้าน


ขอทำต่อไปจนลมหายใจสุดท้าย แม้ว่าจะเหลือเพียงคนเดียว

 

ศิลปะ (6)

ทำไมต้องสอนเพลงพื้นบ้าน

         ในตอน ที่ผ่านมา ผมได้หยิบยกเอาเรื่องราวจากประสบการณ์ จากหลักการที่ได้มีท่านผู้รู้เขียนเป็นตำราเอาไว้ ผมได้ศึกษาและนำเอามาเล่าสู่กันฟัง  ผมเป็นครูที่มีพื้นฐานเดิม มาทางจิตรกรรม (วาดภาพ) และเรียนรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่นมาจากชาวบ้าน (เพลงพื้นบ้าน) เรียนมาจากป้าอ้น จันทร์สว่าง (ท่านเสียชีวิตไปเมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2550) เรียนฝึกปฏิบัติมาจากพ่อคุณวัน มีชนะ (เสียชีวิตไปนานแล้ว พ.ศ. 2519) เรียนรู้การร้องเพลงมาจากน้าชาย ชื่อ น้า จรูญ เกิดวัน ถ้าถามผมว่าในชีวิตชอบงานด้านใด  ผมตอบไม่ได้ครับ เพราะผมนำเอาความรู้ความสามารถหลาย ๆ อย่างมาเชื่อมโยงกันจนความสำคัญของชีวิตไปเสียแล้ว ทั้งงานศิลปะวาดภาพ งานร้องเพลงพื้นบ้าน งานทำขวัญนาค งานภูมิปัญญาหลายแขนง รวมทั้งงานด้านเทคโนโลยีที่เรียนผมมาด้วย

        

         แล้วทำไมต้องนำเอาเพลงพื้นบ้านมาจัดการเรียนรู้ในโรงเรียนด้วย  ข้อนี้ ผมมีความพยายามมานาน ตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2525 หลังจากที่ผมได้รับรางวัลชนะเลิศจากการประกวดเพลงอีแซว ของจังหวัดสุพรรณบุรี (คืนวันที่ 6 เมษายน 2525)  ผมนำเอาความรู้ความสามารถมาถ่ายทอดให้นักเรียน แต่ไม่ประสบผลสำเร็จ เรียกว่าจับยัดให้ไปเลยยังไม่รับ (รับไม่ได้ด้วย)  แต่ผมยังคงมีความมานะพยายาม จนกระทั่งเวลาผ่านมา 10 ปี จึงประจวบเหมาะที่ผมได้รับการทาบทามให้ฝึกหัดเพลงฉ่อยให้กับนักเรียนชั้น ม.1-2 เพื่อนำความสามารถไปแสดงในการชุมนุมยุวกาชาดเอเชียแปซิฟิกที่ จังหวัดชลบุรี ในปี พ.ศ. 2535 เป็นจุดเริ่มต้นของการสอนฝึกปฏิบัติเพลงพื้นบ้านที่โรงเรียนบรรหารแจ่มใสวิทยา 1  มาจนถึงในปัจจุบัน

          มีบางท่านถามว่า ทำไมจึงฝึกหัดแต่เพลงอีแซว ไม่ฝึกหัดเพลงอื่น ๆ บ้างหรือ  ผมก็ตอบไปว่า ผมฝึกหัดเด็กให้มีความสามารถในการแสดงเพลงพื้นบ้านหลายอย่าง เป็นต้นว่า เพลงอีแซว เพลงฉ่อย เพลงพวงมาลัย ลำตัด ลิเก เพลงเรือ เพลงเต้นกำ เพลงแหล่ ขับเสภา เพลงลูกทุ่ง จนถึงพิธีการทำขวัญนาค เวลาไปแสดงก็จัดไปตามที่เจ้าภาพเรียกร้องต้องการชม บางงานก็ผสมผสานกันด้วยเพลงพื้นบ้านหลาย ๆ อย่าง  ในความเป็นจริงผลผลิตหรือผลงานที่ผมสร้างสรรค์เอาไว้ผ่านตัวนักเรียน เป็นเวลานานเกือบ 20 ปีแล้ว ถ้าย่ำอยู่กับที่มีเพลงอีแซวเพียงอย่างเดียวคงเป็นอาชีพหากิน ไม่ได้ แต่บางท่านยังคงทำเป็นไม่เข้าใจยังพยายามที่จะหาโอกาสบอกผู้คนทั้งหลายที่เขามีโอกาส ได้รับรู้ในข้อความที่บิดเบือนอยู่อีก และก็ยังมีบางท่านพูดว่า วงเพลงพื้นบ้านโรงเรียนบรรหารแจ่มใสวิทยา 1  ไม่มีการพัฒนา ยังคงเล่นแต่เพลงอีแซว ผมจึงงงมาก ๆ เพราะว่าเราฝึกเด็กจนเลยขั้นการเรียนรู้ไปไกลแล้ว ไกลกว่าที่คนพูดผู้นั้นจะตามเด็ก ๆ ให้ทันได้เสียด้วยซ้ำ แต่ยังพบคำพูดที่ชวนให้งงมากอย่างไม่น่าเชื่อ (อันที่จริงอยากเล่าให้ท่านฟังอย่างละเอียด  แต่มันเป็นการกระทบบุคคลอื่นโดยไม่สมควร ทั้งที่เขาเหล่านั้น ทำให้วงการเพลงพื้นบ้านถดถอยไปมาก)

         ในวันนี้ เด็ก ๆ ในวงเพลงหลายคน มีอนาคตที่ไปได้ไกล  อิม ยุ้ย ท็อป แมน สามารถนำความรู้ไปรับใช้สังคมเป็นชีพมีรายได้กันแล้ว  อิม-หทัยกาญจน์ เมืองมูล เขามีโอกาสไปร้องเพลงในงานระดับสูง ยุ้ย-รัตนา ผัดแสน ได้เป็นตัวแทนโรงเรียนไปประกวดแข่งขันเพลงพื้นบ้าน ท็อป-ธีระพงษ์  ก็ร้องเพลงลูกทุ่งได้ดี ระดับเหรียญทองของเขตพื้นที่ ทุกวันนี้มีงานที่ผมต้องนำเด็ก ๆ ออกไปรับใช้สังคมได้อย่างมืออาชีพ คือ กิจกรรมการแสดงเพลงอีแซวของโรงเรียน จึงมีหนังสือเชิญ  ได้รับการติดต่อให้นำคณะไปแสดง ณ สถานที่ต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง ส่วนเพลงพื้นบ้านอื่น ๆ ผมจะยังคงรักษาเอาไว้ตามที่ตนเองเล่นได้แสดงได้ และผ่านงานแสดงบนเวทีมา 19 อย่าง ผมยังอยากที่จะฝึกหัดเพลงอื่น ๆ ต่อไปอีก แต่น่าเสียดายที่ครูเพลงหลายท่านต้องเสียชีวิตไปตามกาลเวลา เมื่อท่านล่วงลับไป ภูมิปัญญาที่ อยู่กับตัวท่านก็ดับไปด้วยอย่างน่าเสียดาย 

         ในเรื่องของเพลงพื้นบ้าน ถ้ามีคำถาม ถามว่า แล้วเพลงอื่น ๆ  ที่ฝึกหัดเด็กจนเป็นแล้ว เก่งแล้ว จะทำอย่างไรกันต่อไป  ก็ต้องนำเอาเรื่องนี้มาคิด   เพราะนั่นหมายถึงว่า   ก่อนที่จะทำงานชิ้นนี้ ไม่ได้มีการวางแผนเอาไว้ก่อนครับ  อย่างเช่น บางสถานศึกษาทำการฝึกหัดนักเรียน นักศึกษาเล่นลำตัด  ฝึกกันอย่างเอาจริงเอาจังจนออกแสดงได้อย่างดี แต่ผลสุดท้าย ไม่มีเวทีรองรับให้เด็กเขาได้ไปแสดงความสามารถ  ตรงนี้ต้องดูกระแสของสังคมด้วย อย่าเพียงแต่ว่าอยากทำ  เพราะแนวทางที่จะพาเด็ก ๆ เดินไปนั้น  จะต้องมีตลาดรองรับ จึงอยู่รอดได้ 

         

          เวลาที่ผ่านมา 16 ปีแล้ว ที่ผมนำเด็ก ๆ จาก 5-6 คน มาเป็น 15-17 คนไปแสดงในงานต่างๆ ณ สถานที่ต่าง ๆ ประมาณ 500 ครั้ง มาจนถึงวันนี้ ผลงานของนักเรียนได้นำเสนอผ่านสื่อโทรทัศน์  เกือบทุกช่อง จำนวน  55 ครั้ง ทางวิทยุอีกหลายครั้งครับ ส่วนทางสื่อสารมวลชนประเภทสิ่งพิมพ์หนังสือพิมพ์ก็มีมาก (หาได้ทางเว็บไซท์)  จุดขายอย่างหนึ่งที่ทำให้ผมยืนยงอยู่ได้ก็เพราะผมเป็นครูเพลงที่ยืนอยู่บนเวทีกับเด็ก ๆ ด้วยทุกงาน ครูก็เล่นเพลงบนเวทีกับเด็กด้วย ครับ  ผมได้เห็นความเจริญงอกงามของพวกเขาอย่างใกล้ชิด  ผมมีความสุขใจที่เด็ก ๆ เขามีความสามารถ และทำได้ ทำได้ดีด้วยนะ จึงได้รับความกรุณาจากหน่วยงานต่าง ๆ  เชิญไป ติดต่อไปนำเสนอผลงาน ทำให้เด็ก ๆ เขามีรายได้ นำมาใช้ในการเรียนของเขาด้วย 

          ถ้าถามว่า เหนื่อยไหม ล้าบ้างไหม อยากเลิกราหรือยัง คำตอบที่ผมเต็มใจตอบ คือ ฮึ! ยังครับ ยังคงทำต่อไปจนลมหายใจสุดท้าย ถึงแม้ว่าบนเวทีการแสดงเพลงพื้นบ้านจะเหลือผม เพียงคนเดียวก็ตาม

(พบกันตอนที่ (7) ผมจะเล่าต่อถึงเรื่องอาชีพทางศิลปะครับ / ชำเลือง  มณีวงษ์)

 

หมายเลขบันทึก: 104573เขียนเมื่อ 19 มิถุนายน 2007 15:16 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 18:05 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท