ศิลปะ (5) บูรณาการได้จริงหรือ


ทำเพื่อการนำเสนอในระยะสั้น หรือนำเสนอในระยะยาว

 

ศิลปะ (5)

บูรณาการได้จริงหรือ

     ในตอน (4)  ผมได้กล่าวเอาไว้ว่า นอกจากตัวครูแล้ว ยังมีแหล่งเรียนรู้ในท้องถิ่นอีกมากมายที่ยังไม่ได้ถูกนำเอามาใช้ การปรับปรุง จึงเป็นการปรับเพื่อให้เข้าที่  เข้าสู่ความถูกต้องสมเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติการศึกษาชาติ ครับ   นักเรียนจะได้พัฒนาร่างกาย  จิตใจ  สติปัญญา  ความรู้  และคุณธรรม ไปพร้อม ๆ กัน จนได้เป็นบุคคลที่สมบูรณ์ในอนาคตต่อไป

       หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน  เป็นการจัดการเรียนรู้ที่มุ่งพัฒนาผู้เรียนทุกคน ตลอด  12 ปี (4 ช่วงชั้น) ในการจัดทำหลักสูตรสถานศึกษา  ตามที่ผมได้เข้ารับการอบรมมา ในฐานะตัวแทนของจังหวัด ระดับชั้นมัธยมศึกษา (24-28 มิถุนายน 2545 โรงแรมแอมบาสซาเดอร์)  เพื่อนำความรู้มาขยายผลในการจัดทำหลักสูตร  มาจนถึงวันนี้ ผมมอง เห็นว่า หลักสูตรสถานศึกษายังไม่สมบูรณ์ในเรื่อง ความพร้อม เอกลักษณ์ ภูมิปัญญาท้องถิ่น และลักษณะอันพึงประสงค์ (ด้านคุณธรรม จริยธรรม และค่านิยม ที่สามารถวัดได้อย่างน่าเชื่อถือ) ถ้ามองไปถึงองค์รวมของความรู้ที่นักเรียนจะได้รับและที่จะคงเหลือตกตะกอนให้นำเอาไปใช้ได้  (บูรณาการ) ก็ต้องคิดหนัก แม้แต่ผู้เล่าเองก็ยังไม่รู้ว่า เราเดินถูกทางหรือไม่

      

        ผมพยายามตีความ  คำว่า บูรณาการ ให้ออกมาเป็นความคิดรวบยอดที่ตนเองเข้าใจว่า น่าจะเป็นการเรียนรู้แบบกำหนดเป้าหมายการเรียนรู้ร่วมกัน ไม่แบ่งแยกเป็นวิชาใดวิชาหนึ่ง  นำเอาความรู้หลาย ๆ วิชามาใช้เชื่อมโยงกัน เพราะชีวิตจริงของคนเรา ความรู้รอบตัว ความรู้ทันเหตุการณ์ ความรู้จักคิด วิเคราะห์เป็น  จึงจะนำไปใช้แก้ปัญหาได้ สิ่งที่ผมต้องนำมาคิด ทบทวนบทบาทของตนเอง วันนี้เราเดินมาเกือบถึงจุดหมายปลายทางของชีวิตแล้ว  ช่วงเวลาที่ผ่านมาเกือบ 40 ปี ในวงวิชาชีพครู  ผมริเริ่มสร้างสรรค์ผลงานจนได้รับการยกย่องในระดับประเทศนับสิบครั้ง เคยได้ไปอบรมสัมมนาระดับนานาชาติก็หลายครั้ง (บางคนยังทำเป็นไม่ยอมรับเลย) นับประสาอะไรกับรุ่นน้อง ๆ ที่เพิ่งจะเข้ามาเป็นครู 

       ในส่วนตัวผมมีแต่ให้กำลังใจ งานครูเป็นงานที่ยาก ถ้าครูมีความสามารถสอนนักเรียน 1 คน ให้เก่งจนประสบความสำเร็จมีชื่อเสียงได้ ถึงวันที่เขาจบออกไปเด็กเขาก็เอาชื่อเสียงติดไปด้วย  เราเป็นครูอยู่ที่โรงเรียนก็ต้องสร้างกันใหม่  ครูช่วยคิดหาวิธีแก้ปัญหาเด็กที่เรียนอ่อน เกเร ไม่สนใจเรียน ใช้วิธีการต่าง ๆ ด้วยความพยายามและตั้งใจเกินร้อย พอแก้ปัญหาเจ้าคนนี้ได้ เป็นคนดี เดี๋ยวก็มีตัวแทนโผล่ขึ้นมาใหม่อีก ก็เป็นอยู่อย่างนี้ไปตลอด  ขอแต่เพียงว่า ครูรุ่นน้อง ๆ อย่าเพิ่งท้อแท้  ถดถอยเสียก่อน  ผมคนหนึ่งจะขอเฝ้าดูท่านอย่างสงบและขอเป็นกำลังใจให้ตลอดไปในสภาพความเป็นจริง หรือในวิถีชีวิตของคนเรา จะต้องพึ่งพาอาศัยกัน จะอยู่โดดเดี่ยวคนเดียวไม่ได้  การเชื่อมโยงสัมพันธ์กันจึงเป็นสิ่งที่จะช่วยให้การแก้ไขปัญหาทำได้รวดเร็วขึ้น

       การพัฒนาคนเป็นสิ่งที่ยุ่งยากซับซ้อนไม่เหมือนกับการสอนให้นักเรียนมีความรู้  วันนี้หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน มีจุดมุ่งหมายที่สูงกว่าสอนให้รู้ จะต้องสอนให้คิด มีความสามารถ มีกระบวน การเรียนรู้ และมีคุณธรรม มีความรับผิดชอบด้วยเพื่อนครูคงเคยได้ยิน คงเคยได้พบเห็น และคงเคยได้สัมผัสกับคำว่า บูรณาการที่มีครูเก่ง ๆ หลายท่าน จัดทำเอกสารรายงานผลเอาไว้  อย่างน่าพิศวง  บ้างก็นำเสนอว่า

     - วิธีจัด....ที่บูรณาการ 5 กลุ่มสาระ โดยนวัตกรรม.... แบบศูนย์การเรียนรู้ (น่าสนใจมาก)

     - วิธีจัดการเรียนรู้แบบบูรณาการองค์รวมวิชา....กลุ่มสาระ...โดยครู 2 กลุ่มสาระ (แจ๋ว)

     - บูรณาการโดยจัดการเรียนรู้แบบโครงการ/โครงงาน 8 กลุ่มสาระ  (น่าที่จะทำได้)

     - ตามไปดูบูรณาการ ผ่านสื่อพื้นบ้าน เพลง..... ข้ามกลุ่มสาระ (ครูเล่นเพลงไม่เป็น)

       ตามหลักของการบูรณาการ จัดได้หลายลักษณะ ได้แก่

      1. บูรณาการแบบผู้สอนคนเดียว โดยการเชื่อมโยงสาระการเรียนรู้ต่าง ๆ ที่สอดคล้องกับชีวิตจริงของนักเรียน

      2. บูรณาการแบบคู่ขนาน ครูสอน 2 คน หรือมากกว่า แบบนี้ยึดหัวข้อเรื่องใดเรื่องหนึ่ง แล้วจัดการเรียนรู้เชื่อมโยงกันไป

      3. บูรณาการแบบสหวิทยาการ  เป็นการนำเอาเนื้อหาจากหลายกลุ่มสาระมาเชื่อมโยงเพื่อจัดการเรียนรู้ร่วมกัน เช่น เรื่องสิ่งแวดล้อม

     4. บูรณาการแบบโครงการ/โครงงาน เป็นการจัดการเรียนรู้ร่วมกัน มีเป้าหมายเดียวกัน  เช่น กิจกรรมการเข้าค่าย  กิจกรรมกลุ่มสนใจ ผมอยากให้มองภาพรวมจริง ๆ 

        ในฐานะที่ผมเป็นครูสอนศิลปะ และเรียนจบปริญญาตรีมาทางศิลปะ ไม่ว่าท่านจะจัดการเรียนรู้ไปสู่องค์รวมรูปแบบใด  ผลที่ออกมาน่าที่จะต้องมี 1 ชิ้นงาน (ในการจัดการเรียนรู้รายวิชา) มิใช่ว่า บูรณาการ 3 กลุ่มสาระ ได้ 3 ชิ้นงาน ก็จะกลายเป็นว่า ไปเพิ่มงานให้นักเรียนมากขึ้น แทนที่จะลดงานลงได้บ้าง (จึงจะเรียกว่าเชื่อมโยง) ไม่รู้ผมเข้าใจถูกทางไหม  และที่ผมมองเห็นเป็นองค์รวมแท้ ๆ ตามประสบการณ์ตามความคิดของผม  ก็คือ 

             ณ เวทีแสดงนาฏดนตรี (ลิเก) ที่มีการออกแบบสร้างสรรค์ด้วยงานศิลปะที่สวยงาม ไฟฟ้าแสงสีเสียง ถูกประดับประดาเอาไว้อย่างวิจิตร ทีมงานการแสดงมีจำนวนนับร้อยคน (มีรถหลายคัน)คณะที่มีชื่อเสียงดัง ๆ จะมีแฟนคลับ มารอชมตั้งแต่ตอนเย็น บ้างก็เอาเสื่อมาปูรองนั่ง นำเอาอาหารเบา ๆ มานั่งรับประทาน คุยกันไป ฟังเสียงเพลงจากเครื่องขยายที่โรงลิเกเขาเปิด พอได้เวลาประมาณ 20.30 น.หรือเลยไปเล็กน้อย  จะได้ยินเสียงวงดนตรีปี่พาทย์โหมโรง  เสียงกลองทัดดัง ตึม ตึม ตึม นั่นหมายถึงว่า จวนที่จะได้เวลาเริ่มทำการแสดงแล้ว  พอประมาณ 21.00 น. เสียงระนาดราลงรับเสียงผู้ร้องก็ดังขึ้นด้วยคำว่า  เฮ สลาม มา น๊า  ล๊า ลา ลา หล่า ล๊า  ลา ล๊า ลา ลา    หล่า ลา ลา ....  จบการออกแขก บางคณะร้องถึง 3 รา (ออกแขก 3 รอบ) โฆษกของคณะก็จะกล่าวต้อนรับผู้ชมบอกที่ไปที่มาของงาน และประกาศเรื่องที่จะทำการแสดงในคืนนี้ จากนั้นวงดนตรีปี่พาทย์ก็ทำเพลง เสมอ ลิเกรำออกมาคารวะผู้ชม เริ่มแสดงตามท้องเรื่อง ตลอดเวลาทำการแสดง 3-4 ชั่วโมง สะกดอารมณ์ผู้ชมให้ตรึงอยู่กับบทบาทที่หน้าเวที ชวนให้ผู้ชมทั้งหลายได้คิดติดตาม บางเวลา ได้ยิ้มได้หัวเราะ บางเวลาได้รู้สึกสงสาร จนกลั้นน้ำตาไม่อยู่  และบางเวลารู้สึกโกรธแทนตัวแสดง มีทั้งสนุกสนาน และมีคติสอนใจ จะมีผู้ชมลิเกสักกี่คนที่คิดแล้ว นำเอากลับไปวิเคราะห์ต่อได้บ้างว่า การชมการแสดงนาฏดนตรีหรือลิเก 1 คณะ หรือ 1 โรง หรือ 1 ผลงาน สิ่งที่ท่านได้สัมผัส ได้เรียนรู้มีอะไรบ้าง ณ บนเวทีสถานที่ แห่งนั้น

      

       1.  โรงลิเก เป็นการออกแบบทางสถาปัตยกรรมที่แน่นหนา สวยงาม ปรับเปลี่ยนได้ง่าย

       2.  ฉากพื้นหลังนักแสดง เป็นงานจิตรกรรม ภาพวาด หรือปัจจุบันเป็นงานพิมพ์อิงค์เจ็ท

       3.  เครื่องดนตรีที่บรรเลงรับการร้อง ประกอบการรำ เป็นวงดนตรีไทย

       4.  หมอนอิง เครื่องถ้วยโถทองเหลือง ประดับตั่งนั่งร้องเจรจา เป็นประติมากรรมและหัตถกรรมพื้นบ้าน

       5.  บทร้อง บทเจรจามาจากบทประพันธ์ที่เป็นวรรณกรรมทางศิลป์  ซึ่งได้ผ่านการกลั่นกรองมาเป็นอย่างดี  ผ่านผู้แสดงที่มีน้ำเสียงไพเราะจับใจ

       6.  บทบาทในการแสดงมีทั้งร้อง รำ เจรจา  ท่ารำ ทำท่าทาง มาจากนาฏศิลป์ไทย ที่อาจจะผสมรูปแบบชาวบ้านเอาไว้ด้วย

       7.  ไฟฟ้า แสงสีเสียง ที่ช่วยส่องให้เกิดความไพเราะ และความสวยงาม เป็นเทคโนโลยีร่วมสมัยที่ยังนำเอามาใช้ได้ตลอดเวลา

       8.  เครื่องแต่งกายของผู้แสดง มาจากการออกแบบ ชุดเสื้อผ้าที่ดูวาววับ ฉายแสงตระการตา

       9.  เครื่องประดับบนศีรษะ แขน ลำตัว เป็นประติมากรรมที่จัดทำได้อย่างมีรูปทรง ที่สวยงาม

          นี่แค่เพียงบุคคลธรรมดาคนหนึ่งนั่งมองการแสดงลิเกเพียง 1 คณะ  และจากความคิดของคนหนึ่งคน สิ่งที่ต้องนำมากล่าวตรงนี้คือ ผลผลิต หรือผลงานของลิเก 1 โรง 1 เรื่อง มีการนำเอาความรู้ ทักษะจากหลายสาขามาเชื่อมโยงกันอย่างลงตัว จนเกิดเป็นนาฏศิลป์การแสดงที่มีคุณค่า เกิดเป็นองค์ความรู้ ได้อย่างกลมกลืน ครับ  แล้วคำว่าบูรณาการที่จัดการเรียนรู้ให้กับผู้เรียน จัดกันเพียงเพื่อนำเสนอในระยะสั้น  หรือนำเสนอได้ในระยะยาวตลอดไป

(ในตอนที่ (6) ผมจะเล่าต่อถึงเรื่องทำไมต้องสอนเพลงพื้นบ้านครับ / ชำเลือง  มณีวงษ์) 

 

หมายเลขบันทึก: 104546เขียนเมื่อ 19 มิถุนายน 2007 14:16 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 18:05 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

ก็ชอบลิเกมากๆๆเลยค่ะ ก็อยากให้อนุรักษ์ไว้นาน ๆ เลยนะค่ะ

  • เช่นเดียวกัน ครับ ผมก็ชอบดูศิลปะการแสดงทุกแขนง
  • ดูเพื่อการเรียนรู้และเพื่อให้กำลังใจศิลปินนักแสดงด้วย
  • ในอดีตที่ผ่านมา เคยได้ฝึกหัดการแสดงลิเก (นาฏดนตรี) มาบ้าง การแสดงมีไม่มาก ในสมัยเด็ก ๆ ครับ

ทำให้เห็นภาพ การเรียนแบบบูรณาการได้ชัดเจน ขอบคุณค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท