tracerผู้ป่วยหญิง


ตามรอย "การบำบัด"

ตามรอย การบำบัดฟื้นฟูผู้ป่วยหญิงเสพติดสถาบันธัญญารักษ์      

 1. บริบท (Context)

ปัจจุบัน พบว่าผู้ป่วยเสพติดที่เป็นเพศหญิงที่เข้ารับการรักษาในสถาบันธัญญารักษ์มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ดังสถิติผู้เข้ารับการบำบัดรักษา ในปีพ.. 2546-2548 พบว่าเป็นผู้ป่วยเสพติดเพศหญิง ร้อยละ 12.90, 21.17และ17.74  ของผู้ป่วยที่เข้ารับการบำบัดรักษาทั้งหมด (รายงานประจำปี 2548 สถาบันธัญญารักษ์)   จากปัญหาการแพร่ระบาดของยาเสพติดที่มีแนวโน้มสูงขึ้นในผู้หญิง นับว่าเป็นปัญหาที่สำคัญยิ่ง เนื่องจากในสังคมไทย ผู้หญิงมีบทบาทสำคัญในการเป็นแม่บ้าน และให้กำเนิดบุตร นอกจากนี้สตรีมีครรภ์ที่ใช้ยาเสพติด จะส่งผลให้ทารกในครรภ์เจริญเติบโตช้า หรืออาจเกิดความพิการได้  และทำให้เกิดการแท้งขึ้นได้โดยไม่มีสาเหตุ ทารกที่เกิดมามีน้ำหนักแรกคลอดน้อย ส่งผลให้มีพฤติกรรมผิดปกติ  รวมทั้งมารดาที่ใช้ยาเสพติดจะไม่สามารถเลี้ยงดูทารกได้อย่างเหมาะสม   นอกจากนี้ในปัจจุบันพบว่าผู้หญิงยังต้องรับภาระหน้าที่ในการหารายได้เพื่อเลี้ยงดูครอบครัวอีกด้วย ดังนั้นหากผู้หญิงมีปัญหาในการใช้ยาเสพติดก็จะส่งผลกระทบต่อตนเองและครอบครัวเป็นอย่างมาก และส่งผลต่อเนื่องถึงคุณภาพของเยาวชนซึ่งเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศชาติในอนาคต การบำบัดฟื้นฟูผู้ป่วยเสพติด ของสถาบันธัญญารักษ์ ปัจจุบันใช้รูปแบบการบำบัดฟื้นฟูแบบเข้มข้นทางสายใหม่ (FAST Model) โดยมีองค์ประกอบหลักคือ การมีส่วนร่วมของครอบครัว (F=Family)   กิจกรรมทางเลือกด้านอาชีพและการศึกษา(A=Alternative treatment Activity)   การช่วยเหลือตนเอง (S=Self help)  และชุมชนบำบัด (Tc=Therapeutic Community)   ผู้ป่วยต้องอยู่รักษาเป็นระยะเวลา 6-8 เดือนโดยมีทีมสหวิชาชีพที่ดูแลผู้ป่วยคือ แพทย์  พยาบาล  นักจิตวิทยา  นักสังคมสงเคราะห์  เภสัชกร  นักวิทยาศาสตร์การแพทย์  นักอาชีวบำบัด โภชนากร อาคารสถานที่ในการบำบัดฟื้นฟูผู้ป่วยหญิงเป็นชุดอาคารแยกจากผู้ป่วยชาย  การทำกิจกรรมการบำบัดฟื้นฟูส่วนหนึ่งดำเนินกิจกรรมภายในศูนย์ได้แก่กิจกรรมกลุ่มบำบัด  งานบำบัด  บางกิจกรรมทำร่วมกันเช่นกิจกรรมการศึกษา (กศน.)     การฝึกอาชีพ  และกิจกรรมในโอกาสพิเศษอื่นๆ เป็นต้นผู้ป่วยหญิงเสพติดที่เข้ารับการบำบัดฟื้นฟูในในสถาบันธัญญารักษ์ปัจจุบันพบว่า ส่วนใหญ่ใช้ยาเสพติดประเภทยาบ้ามากที่สุด   มีอายุในช่วง20 -30 ปี มากที่สุด   ระดับการศึกษาส่วนใหญ่จบการศึกษาระดับประถมศึกษาปีที่6  นอกจากนี้ยังพบว่าเป็นแม่บ้านอยู่ในวัยเจริญพันธุ์ มีบุตรที่อยู่ในวัยก่อนเรียนและวัยเรียน ร้อยละ 49 มีคู่สมรสเป็นผู้ที่เสพยาเสพติดร้อยละ 34 เป็นผู้ที่เร่ร่อนไม่มีที่อยู่อาศัยเป็นหลักแหล่งและมีอาชีพค้าบริการทางเพศในรูปแบบต่างๆ  ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 30  ของผู้ป่วยหญิงเสพติดที่เข้ารับการบำบัดรักษาทั้งหมด   และที่สำคัญยังพบได้บ่อยว่ามี ภาวะการตั้งครรภ์ร่วมด้วย  นอกจากนี้ผู้ป่วยหญิงเสพติดที่เข้ารับการบำบัดฟื้นฟูใน สถาบันธัญญารักษ์ส่วนใหญ่ร้อยละ 89 เป็นผู้ป่วยระบบบังคับบำบัดตาม พ.ร.บ. ยาเสพติด 2545  ต้องอยู่รับการบำบัด  120 วัน ผู้ป่วยแรกรับส่วนใหญ่มีความพร้อมในการรับการบำบัดค่อนข้างน้อย  เนื่องจากถูกบังคับให้เข้ารับการบำบัดฯจากข้อมูลดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่า การดูแลผู้ป่วยหญิงเสพติดมีความยุ่งยาก ซับซ้อน ทั้งด้านร่างกาย จิตใจและสังคม  หากการดูรักษาไม่สามารถตอบสนองต่อปัญหาและบริบทดังที่ได้กล่าวมาได้อย่างคลอบคลุม  ผลลัพธ์การรักษาไม่เป็นไปตามเป้าหมาย ก็จะส่งผลกระทบต่อตัวผู้ป่วย  ครอบครัว  ชุมชน และสังคมโดยรวมได้  จึงควรต้องมีการทบทวนกระบวนการรักษา และผลลัพธ์อย่างต่อเนื่อง เพื่อจะได้ให้การบำบัดรักษาอย่างครอบคลุม และตอบสนองความต้องการของผู้ป่วยในบริบทแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป 

2. ประเด็นสำคัญ/ความเสี่ยงสำคัญ (Critical issues / risks)               

 จากการทบทวนกระบวนการบำบัดฟื้นฟูผู้ป่วยหญิงเสพติดพบประเด็น/ความเสี่ยงสำคัญ ของการบำบัดฟื้นฟูดังนี้ด้านร่างกาย

·       ภาวะ การตั้งครรภ์ร่วมกับการใช้ยาเสพติด  การใช้ยาเสพติดระหว่างการตั้งครรภ์จะมีผลต่อทารกในครรภ์ทำให้เกิดการแท้งและการคลอดก่อนกำหนด   นอกจากนี้การให้ยาทดแทนกลุ่ม Opioid  หรือยาต้านโรคจิตบางชนิด  จะมีผลต่อการตั้งครรภ์เช่นกัน

·       ความพยายามที่จะทำให้เกิดการแท้ง ในรายที่ตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์ ซึ่งส่วนใหญ่จะพบในรายที่มีอาชีพขายบริการทางเพศในรูปแบบต่างๆ

·       โรคทางนรีเวช  พบได้บ่อยในรายที่มีอาชีพขายบริการทางเพศ ด้านจิตใจ อารมณ์

·       ภาวะแทรกซ้อนทางจิตจากการใช้ยาเสพติด หากไม่สามารถประเมิน และรักษาได้อย่างรวดเร็วจะเกิดปัญหาตามมามากมาย เช่นการทำร้ายตนเอง และผู้อื่น  เป็นต้น

·       การหลบหนี เนื่องจากความวิตกกังวลเกี่ยวกับ ภาระทางครอบครัว โดยเฉพาะ ในรายบังคับบำบัดตามกฎหมาย ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะไม่ได้รับการเตรียมความพร้อมก่อนเข้ารับการบำบัด ดังนั้นผู้ป่วยหญิงซึ่งส่วนหนึ่งเป็นแม่บ้านและมีบุตรที่ต้องเลี้ยงดู จึงมีความวิตกกังวลเกี่ยวกับภาระทางครอบครัวมาก  นำไปสู่การหลบหนีได้ด้านสังคม

·       การExposeในการตรวจค้นร่างกายและการ Expose จากการมีผู้ศึกษา/ดูงานการบำบัดรักษา

·       ปัญหาการทะเลาะวิวาท 

3. เป้าหมาย เครืองชี้วัดที่สำคัญ ( Purposes & Key indicator) 

3.1  เป้าหมาย   :                          

1. ผู้ป่วยหญิงเสพติดได้รับการบำบัดฟื้นฟูฯอย่างเหมาะสม สอดคล้องสภาพตามปัญหา

2. ผู้ป่วยหญิงเสพติดผ่านการบำบัดฟื้นฟูฯ อย่างปลอดภัย และ กลับไปใช้ชีวิต อยู่ในสังคมได้อย่างมีคุณภาพ               

 3.2  เครืองชี้วัดที่สำคัญ        

1.  จำนวนอุบัติการณ์ความเสี่ยง                               

- Abortion                         

-  มีอาการทางจิตทำร้ายตนเอง ทำลายสิ่งของ                                  

 - การหลบหนี                        

 - การถูกExpose กรณีต่างๆ                        

- การทะเลาะวิวาท

2.  ร้อยละความพึงพอใจของผู้ป่วยและครอบครัว      

3. ร้อยละผู้ป่วยที่จำหน่ายครบกำหนดไม่กลับไปติดซ้ำ                                                   

4. ร้อยละผู้ป่วยที่จำหน่ายครบกำหนดไม่กลับไปติดซ้ำและมีอาชีพ/ศึกษาต่อ                                               

5. ร้อยละของผู้ป่วยที่ได้รับการส่งต่ออย่างเหมาะสม 

4. กระบวนการเพื่อให้ได้คุณภาพ ( Key processes  for quality)             

4.1 การตามรอยกระบวนการคุณภาพการบำบัดฟื้นฟูผู้ป่วยหญิงเสพติด ทีมงานได้มีการทบทวนอุบัติการณ์ความเสี่ยงต่างๆ และนำมาสู่การปรับปรุง อย่างต่อเนื่อง เพื่อป้องกันความเสี่ยงที่สำคัญ ดังนี้ 

·       การตั้งครรภ์ร่วมกับการใช้ยาเสพติด  การประเมินการตั้งครรภ์ได้ล่าช้า  อาจทำให้เกิด Abortion   หรือ Attempt  Abortion ในรายตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์ได้   ดังนั้นจึงมีการปรับแบบฟอร์มซักประวัติผู้ป่วยใหม่โดยเพิ่มเนื้อหาและหัวข้อประวัติ LMP และการมีเพศสัมพันธ์ครั้งสุดท้าย รวมทั้งมีการส่งตรวจ Urine Pregnancy Test ในรายที่มีความเสี่ยงทุกราย เพื่อประเมินการตั้งครรภ์ให้ได้ก่อนที่จะนำไปสู่ปัญหาการแท้งได้  ส่วนในรายที่พบการตั้งครรภ์แล้ว ต้องมีการประเมินทัศนคติต่อการตั้งครรภ์  และความผิดปกติต่างๆ เพื่อประเมินภาวะการตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์ด้วย ซึ่งถ้าพบจะต้องให้การดูแลช่วยเหลืออย่างรีบด่วน โดยทีมสหวิชาชีพ โดยเฉพาะ  นักสังคมสงเคราะห์และนักจิตวิทยา  เพื่อปรับทัศนคติ และให้ข้อมูลแหล่งช่วยเหลือทางสังคมอื่นๆ   ในกรณีนี้ถ้าช่วยเหลือไม่ทันผู้ป่วยอาจคิดทำลายครรภ์ได้   นอกจากนี้ยังได้มีการจัดทำคู่มือการดูแลผู้ป่วยตั้งครรภ์  โดยเน้นการเฝ้าระวังการแท้งและการคลอดก่อนกำหนดเนื่องจากการใช้ยาเสพติดขณะตั้งครรภ์จะมีผลต่อการตั้งครรภ์ทำให้เกิดการแท้งและคลอดก่อนกำหนดได้  นอกจากนี้ยังต้องหลีกเลี่ยงในการให้ยาทดแทนกลุ่ม Opioid และยาที่ออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท   การดูแลให้ได้รับอาหารโปรตีนสูง   การพักผ่อนที่เพียงพอ  ตลอดจนกิจกรรมการออกกำลังกายที่เหมาะสม   รวมทั้งการดูแลด้านจิตใจ โดยเปิดโอกาสให้สามี และผู้ใกล้ชิดในครอบครัวได้เข้าเยี่ยมและให้กำลังใจอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง      รวมทั้งมีการวางระบบการส่งต่อเพื่อปรับแผนการบำบัดในรายที่มีความเสี่ยงสูง     

·       การป้องกันอันตรายสำหรับผู้ป่วยที่มีอาการทางจิตจากการใช้ยาเสพติด  การประเมินผู้ป่วยที่มีอาการทางจิตได้ล่าช้าอาจเกิดอันตรายในการทำร้ายตนเองหรือทำลายข้าวของ  รวมทั้งโรคอาจลุกลามมากขึ้น การประเมินได้อย่างรวดเร็วจะช่วย ป้องกันปัญหาต่างๆ เหล่านี้ได้  ที่ผ่านมา มีข้อจำกัดในการปฏิบัติ เนื่องจาก จำนวนนักจิตวิทยาไม่เพียงพอในการตรวจวินิจฉัยทางจิตวิทยาคลินิก เบื้องต้น เพื่อคัดกรองผู้ป่วยทุกราย จึงได้มีการตกลงร่วมกันเพื่อปรับปรุงระบบโดยเปิดช่องทางด่วนในรายที่พยาบาลพบความผิดปกติเบื้องต้น เพื่อช่วยคัดกรองผู้ป่วย ให้ได้รับการตรวจวินิจฉัยทางจิตวิทยาคลินิก  และได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที  

·       การหลบหนี ซึ่งส่วนใหญ่จะพบใน ช่วงแรกของการบำบัด  เนื่องจากผู้ป่วยคุมประพฤติส่วนใหญ่ไม่ได้รับการเตรียมความพร้อมก่อนเข้ารับการบำบัดดังนั้นผู้ป่วยหญิงซึ่งส่วนหนึ่งเป็นแม่บ้านและมีบุตรที่ต้องเลี้ยงดู จึงต้องการหลบหนีในช่วงวันแรกๆ เพื่อกลับไปจัดการภาระต่างๆ    ดังนั้น การติดต่อญาติ และครอบครัวให้ได้เร็วที่สุดเป็นสิ่งจำเป็น เพื่อให้ผู้ป่วยได้จัดการเคลียร์ปัญหาและภาระทางบ้านให้กับญาติจึง  ทีมงานผู้ดูแลผู้ป่วยจึงได้ลดขั้นตอนการติดต่อญาติให้ผู้ป่วยแรกรับ จาก 8 ขั้นตอนเหลือเพียง 2  ขั้นตอน   นอกจากนี้ผู้ป่วยบางราย ในช่วง แรกอาจมีปัญหาในการปรับตัวเข้ากับสิ่งแวดล้อมใหม่  หรือการได้รับข้อมูลการบำบัดไม่ครบถ้วนทำให้ไม่เข้าใจประโยชน์ที่จะได้รับ จึงเป็นสาเหตุของการหลบหนีจึงได้มีการปรับปรุงกระบวนการซักประวัติผู้ป่วยใหม่  การให้ข้อมูล และการสร้างแรงจูงใจโดยใช้กลุ่ม  Interview ซึ่งเป็นกลุ่มที่ผู้ป่วยจะได้รับความไว้วางใจเนื่องจากจะจัดผู้ป่วยที่มีประสบการณ์และประสบความสำเร็จในการปรับตัวได้เข้าร่วมกลุ่ม เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูล  และจูงใจให้อยู่รักษา     รวมทั้งการจัดระบบพี่เลี้ยงสำหรับผู้ป่วยใหม่ด้วย  จากการปรับปรุงในเรื่องต่างๆอย่างต่อเนื่องพบว่าอัตราการหลบหนีลดลงได้ระดับหนึ่ง แต่ไม่สามารถคลอบคลุมได้ทั้งหมดเนื่องจากมีปัจจัยภายนอกที่ไม่สามารถควบคุมได้เป็นตัวกระตุ้นให้ผู้ป่วยคิดหลบหนี เช่น   ปัญหาทางครอบครัวที่ไม่สามารถจัดการได้ 

·       การ Expose ผู้ป่วย   เนื่องจากผู้ป่วยเสพติดที่เข้ารับการบำบัดแบบผู้ป่วยใน มีความจำเป็นต้องตรวจค้นยาเสพติด และของผิดระเบียบทุกราย เพื่อป้องกันปัญหาการลักลอบใช้ยาเสพติดระหว่างรักษา  ที่ผ่านมาเคยเกิดกรณีที่ผู้ป่วยหญิงถูกตรวจค้นร่างกายโดยให้ถอดเสื้อผ้า  ทำให้ผู้ป่วยร้องไห้   จึงได้มีการทบทวนและปรับปรุงวิธีการตรวจค้นร่างกายโดยทีมได้คิดหาเครื่องนุ่งห่มที่สามารถตรวจร่างกายได้อย่างรัดกุมแต่ไม่ Expose  แทน เป็นผ้าถุงติดขอบยางยืดซึ่งสามารถตรวจค้นได้อย่างรัดกุม (ดังภาพในการนำเสนอ)  หลังจากได้ปรับปรุงวิธีการตรวจค้นร่างกาย ผู้ป่วยมีความพึงพอใจและยังไม่พบอุบัติการณ์อีก    นอกจากนี้ ยังได้มีการปรับปรุงแนวทางปฏิบัติในการเข้าศึกษาดูงาน ให้เป็นระบบมากขึ้น โดยให้หน่วยงานรับผิดชอบทำหนังสือแจ้งเวียนล่วงหน้าทุกครั้ง เพื่อจะได้เตรียมผู้ป่วย และจะไม่อนุญาตในรายที่ไม่พร้อมเปิดเผย รวมทั้งห้ามถ่ายภาพผู้ป่วย ถ้ามีความจำเป็นต้องขออนุญาตเป็นรายกรณี 

·       ปัญหาจากการอยู่ร่วมกัน เช่น การทะเลาะวิวาท  ปัญหารักร่วมเพศ  พบได้บ่อยในกรณีเล็กน้อยแต่ไม่ถึงขั้นรุนแรง เนื่องจากรูปแบบการบำบัด มีเครื่องมือบ้าน(Tool of House) และกลุ่มปรับความเข้าใจ เพื่อ ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและป้องกันเหตุการณ์ต่างๆเหล่านี้อยู่  (กิจกรรมด้าน Therapeutic Community ) 

4.2     การตามรอยกระบวนการทำงาน  มีการทบทวนแนวทางการดูแลผู้ป่วย(CPG) และพัฒนากระบวนการทำงาน ให้ตอบสนองและครอบคลุมบริบท เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการดูแล ที่มีคุณภาพอย่างต่อเนื่อง  ดังนี้ 

ระยะเตรียมการก่อนรักษา

·       ปรับปรุงกิจกรรมการเตรียมความพร้อมก่อนเข้ารักษา  ผู้ป่วยยาเสพติดมีความจำเป็นต้องได้รับการเตรียมความพร้อมก่อนการรักษาเนื่องจากต้องใช้ระยะเวลาในการรักษา นาน 4-8 เดือน ผู้ป่วยและญาติมักมีความกังวล จึงมีการปรับปรุงกระบวนการเตรียมความพร้อมโดยการจัดห้องสำหรับเตรียมความพร้อมโดยเฉพาะที่แผนกผู้ป่วยนอก และใช้สื่อวิดีโอ ช่วยเสริมในการให้ข้อมูล  ผลลัพธ์ทำให้ผู้ป่วยลดความวิตกกังวล และมีความพึงพอใจมากขึ้น ส่วนผู้ป่วยระบบบังคับบำบัดไม่ได้รับการเตรียมความพร้อมก่อนเข้ารับการบำบัด จึงต้องใช้เวลาในช่วง 7 วันแรกของการบำบัดเตรียมความพร้อมและให้คำปรึกษาเพื่อสร้างแรงจูงใจในการบำบัด 

ระยะการบำบัดฟื้นฟูสมรรถภาพ (FAST Model) 

·       ปรับปรุงกิจกรรมครอบครัว (Family ) จากการที่ผู้ป่วยใช้ยาเสพติด และเข้ารับการบำบัดฟื้นฟูเป็นระยะเวลานาน โดยเฉพาะในรายที่มีบุตรอาจทำให้บทบาทของการเป็นแม่ที่ดีขาดหายไป โดยเฉพาะในรายที่มีบุตรอยู่ในวัยก่อนเรียนซึ่งควรจะต้องเลี้ยงดูบุตรอย่างใกล้ชิด   รวมทั้งบทบาทของการเป็นแม่บ้านที่ดี ซึ่งอาจมีผลกระทบต่อสัมพันธภาพในครอบครัว  จึงเป็นที่มาของการพัฒนาการมีส่วนร่วม และสนับสนุนของครอบครัว เพื่อฟื้นฟูบทบาทการทำหน้าที่ของแม่ที่ดี โดยการจัดกิจกรรมสายใยรักแม่ลูก โดยให้ผู้ที่มีบุตรวัยก่อนเรียนสามารถนำบุตรเข้ามาเยี่ยมและส่งเสริมให้ผู้ป่วยได้อาบน้ำ ป้อนข้าวและอยู่ใกล้ชิดกับบุตร    ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยเกิดความรู้สึกมีคุณค่าของความเป็นแม่  และมีลูกเป็นสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจโดยทีมงานได้จัดเตรียมของเล่นเด็กไว้สนับสนุนด้วย  รวมทั้งเปิดโอกาสให้ครอบครัวได้เข้ามาร่วมรับประทานอาหารพูดคุยกับผู้ป่วยด้วย

 ·       การปรับปรุงกิจกรรมการพัฒนาด้าน การศึกษา อาชีพ (Alternative treatment Activity) โดยการสนับสนุนให้ผู้ป่วยได้ศึกษาต่อในระบบการศึกษานอกโรงเรียนของสถาบันธัญญารักษ์ และร่วมกับหน่วยงานวิจัย และอาชีวบำบัดสำรวจความต้องการด้านอาชีพของผู้ป่วยและเปิดสอนวิชาชีพที่เหมาะสมกับผู้ป่วยหญิง เช่นหัตถกรรม แปรรูปสมุนไพร การอาหาร ช่างเสริมสวยสตรี เป็นต้น 

·      ปรับปรุงกิจกรรมการพัฒนาทักษะด้านอารมณ์  ( Self help)   โดยปรับเปลี่ยนวิธีการดำเนินการกลุ่มการเรียนรู้ให้หลากหลาย ไม่น่าเบื่อ  เช่นการจัด โต้วาที  หรือ Walk Rally  เป็นต้น  

·       ปรับปรุงกิจกรรมการอยู่ร่วมกันในสังคม (Therapeutic Community)   สิ่งที่ทีมงานได้ปรับปรุงการดูแลในเรื่องนี้ได้แก่  การให้รางวัล เพื่อเสริมแรงและกระตุ้นให้เกิดพฤติกรรมที่พึงประสงค์มากขึ้น  โดยการจัดหาเครื่องแบบให้ผู้ป่วยที่มีความประพฤติดี ได้เลื่อนระดับเป็นระดับคณะผู้รับผิดชอบกิจกรรม     รวมทั้งส่งออกไปฝึกงานที่แผนกอื่นในโรงพยาบาล  ทำให้ผู้ป่วยได้รู้จักการวางตัวที่เหมาะสม และเกิดความภาคภูมิใจ สามารถทำตัวเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับผู้ป่วยอื่นได้อย่างต่อเนื่อง              

ระยะการวางแผนการจำหน่าย

·       ปัญหาการติดซ้ำ โดยเฉพาะในรายที่มีคู่สมรสใช้ยาเสพติดเป็นเรื่องที่ซับซ้อนและแก้ปัญหาได้ยาก สิ่งที่ทำได้ขณะนี้คือการแนะนำให้คู่สมรสมาเข้ารับการบำบัดฟื้นฟูและเปิดโอกาสให้สามารถพบปะกันได้ตามสมควร 

·       การสร้างความมั่นใจในการดำเนินชีวิตเมื่อจำหน่าย ผู้ป่วยส่วนใหญ่เมื่อจะได้รับการจำหน่ายออกไปสู่สังคมภายนอกจริงๆจะรู้สึกหวั่นไหว   จึงได้ปรับปรุงระบบการวางแผนการจำหน่าย  โดยเชิญครอบครัวเข้ามาร่วมวางแผนการดำเนินชีวิตร่วมกับผู้ป่วยและเจ้าหน้าที่ผู้ดูแลล่วงหน้าอย่างน้อย 2-3 สัปดาห์ โดยประเด็นหลักในกิจกรรมนี้จะเป็นเรื่องของการทบทวนกิจกรรมการป้องกันการติดซ้ำ การหลีกเลี่ยงตัวกระตุ้น การวิเคราะห์จุดแข็งและจุดอ่อนของตนเอง และทักษะการปฏิเสธ รวมทั้งความเป็นไปได้ในเรื่องการงานอาชีพ หรือการศึกษาที่จะมารองรับ เพื่อการมีคุณภาพชีวิตที่ดีหลังการจำหน่าย  ผลลัพธ์การดำเนินการพบว่าสถิติการติดซ้ำและการมีอาชีพหลังจำหน่ายยังไม่นิ่ง เนื่องจากมีปัจจัยภายนอกที่มีผลต่อการติดซ้ำและการมีอาชีพค่อนข้างมากเช่น ความรุนแรงของการแพร่ระบาดยาเสพติด   ทัศนคติของคนทั่วไปที่ยังไม่ยอมรับผู้ผ่านการบำบัด ซึ่งเรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องที่ต้องพัฒนาต่อไป 

·       การส่งต่อองค์กรการช่วยเหลือด้านสังคมที่เหมาะสม ที่ผ่านมาพบว่าผู้ป่วยที่มีปัญหาด้านสังคมเกี่ยวกับการขาดการสนับสนุน และรองรับของครอบครัว ผู้ป่วยที่ติดเชื้อเอดส์  ฯลฯ มักมีปัญหาการติดซ้ำตามมาเสมอการช่วยเหลือผู้ป่วยเหล่านี้ต้องอาศัยความร่วมมือทั้งจากทีมสหวิชาชีพภายในโรงพยาบาล โดยเฉพาะนักสังคมสงเคราะห์และนักจิตวิทยาให้การช่วยเหลือ  รวมทั้งองค์กรภายนอกที่จะต้องรองรับผู้ป่วยเหล่านี้  จากการดำเนินงานในรอบปีที่ผ่านมา ได้มีการส่งต่อผู้ป่วยที่ครบการบำบัดฯ และมีปัญหาเรื่องการติดเชื้อเอดส์ และไม่มีที่อยู่อาศัย ไปยังองค์กรช่วยเหลือภายนอก   3  ราย  สรุปผลจากการทบทวนและพัฒนาการบำบัดฟื้นฟูผู้ป่วย ในด้านต่างๆ     ซึ่งได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ ปี2547  ทำให้ได้ผลลัพธ์การบำบัดฯ   แสดงในตารางตัวชี้วัดดังนี้

   
คำสำคัญ (Tags): #การบำบัดฟื้นฟู
หมายเลขบันทึก: 104459เขียนเมื่อ 19 มิถุนายน 2007 09:16 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 มิถุนายน 2012 16:44 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท