ศิลปะ (4) จัดอย่างไร ได้กับนักเรียน


นอกจากตัวครูแล้ว ยังมีแหล่งเรียนรู้ในท้องถิ่นอีกมาก

ศิลปะ (4)

จัดอย่างไร ได้กับนักเรียน

             ในตอนที่ 3 ที่ผ่านมา ผมได้เล่าถึงวิธีการจัดหลักสูตรการสอนวิชาพื้นฐานศิลปะในภาพรวม 3 แบบ ไปแล้วนะครับ  คำถามอยู่ตรงที่ว่า จัดแบบนั้นแล้ว นักเรียนเขาได้อะไร แบบใดดีที่สุด เหมาะสมกับสภาพสังคมในยุคปัจจุบัน  ผมขอเล่าเรื่องนี้ต่อกันเลยนะครับ 

            จัดแบบที่ 1. จัดหลักสูตรแบบภาพรวม มีครบทั้ง 6 มาตรฐาน 3 สาระของศิลปะ เรียนรู้จากครูคนเดียว ใช้วิธีการสอนที่หลากหลาย นักเรียนเป็นสำคัญ มีการเชื่อมโยงกันใน 3 สาระของศิลปะอย่างชัดเจน วิธีนี้เป็นการมองศิลปะในภาพกว้าง ถ้าเป็นตัวผม ขอใช้วิธีนี้ ผมเป็นครูที่เรียนจบมาทางจิตรกรรม และศิลปศึกษา ในสาระ ทัศนธาตุ, องค์ประกอบศิลป์ (หลักการต่าง ๆ , และผลงานทางศิลปะ) ไม่มีปัญหา ผมจัดการเรียนรู้ได้   ส่วนดนตรีไทย ผมพอได้ ฝึกหัดเล่นเครื่องดนตรีไทยมา 3-4 อย่าง ก็แค่ให้เด็กเขาเรียนรู้จากแหล่งเรียนรู้ใกล้ตัวก็ได้  ดนตรีสากล ผมพอได้ (ไม่เก่ง) จัดการเรียนรู้แบบใช้สื่อการเรียนรู้ช่วยครู ส่วนการร้องเพลง อันนี้ได้มากหน่อย เราสามารถแนะนำนักเรียนได้ดีก็เน้นที่ตัวครูบ้าง  มาถึงนาฏศิลป์ ก็จัดการเรียนรู้แบบกว้าง ๆ ให้นักเรียนสามารถบอกได้ เล่าเรื่อง อธิบายได้ เรื่องของนาฏยศัพท์ ผมเคยเล่น ลิเก มาหลายปี พอจำได้บ้าง แต่อาจไม่แม่นเท่าครูนาฏศิลป์ ก็ใช้สื่อแหล่งเรียนรู้ช่วย ส่วนในเรื่องของเพลงพื้นบ้าน ผมเอาตัวผมเป็นสื่อนำเสนอความรู้ได้เลย  เมื่อเด็ก ๆ ได้เรียนรู้หลักการทั่วๆ ไปแล้ว ก็มากำหนด ให้นักเรียนได้พิจารราตนเองว่า มีความสนใจในผลงานศิลปะด้านใดในแขนงต่างๆ ได้แก่ ผลงานศิลปะล้ำค่าแขนงจิตรกรรม ประติมากรรม สถาปัตยกรรม วรรณกรรม ดนตรี และนาฏศิลป์ (เพลงพื้นบ้าน) ก็ให้นักเรียนศึกษาเป็นพิเศษ เรียนรู้ให้สูงกว่าบอกได้ นั้นหมายถึงจะต้องปฏิบัติได้ด้วย (เพียง 1 อย่างก็พอ) ให้นักเรียนวางแผน สร้างสรรค์ผลงานศิลปะตามความสนใจ 1 อย่าง ลงมือปฏิบัติโดยการทำตามขั้นตอนจนมีความสามารถทำได้ดี  นำความสามารถมาเสนอแก่เพื่อนกลุ่มเล็ก 2-3 คน (บอกหลักการ แสดงความสามารถให้ดู) ประเมินผลความสามารถ นักเรียนเจ้าของผลงานนำไปปรับปรุง  และนำความสามารถมาเสนอต่อ ครูและเพื่อน ๆ ที่หน้าชั้นเรียน นักเรียนทุกคนรับรู้และร่วมกันประเมินผลให้เพื่อน นักเรียนก็จะได้เห็นของจริงจากเพื่อน 40 คนก็ 40 ผลงาน น่าสนใจนะครับ  ครูก็ไม่ต้องเป็นสำคัญมาก 

               จัดแบบที่ 2 จัดแบบแยกออกเป็นสาระ  สาระละ 1 ปี คือ ม.1 เรียนศิลปะ เน้นทัศนศิลป์  ม.2 เรียนศิลปะ เน้นดนตรี และ ม.3 เรียนศิลปะเน้นนาฏศิลป์  ครูสอนเป็นทีม 2 คน (ทีมแบบสอนด้วยกัน 2 คน มิใช่แบ่งชั่วโมงกันสอน)  รูปแบบนี้ยังพอมองเห็นการเชื่อมโยงบ้างที่มีครู 2 คน ประสานงานกันในการร่วมมือกันจัดกิจกรรมการเรียนรู้ศิลปะ  แต่ถ้ามองภาพใหญ่ เป็นการเรียนวิชาเฉพาะ มิใช่วิชาศิลปะ พูดได้เลยว่า เรียนวิชาทัศนศิลป์  เรียนวิชาดนตรี และเรียนวิชานาฏศิลป์ จุดที่บ่งบอกถึงความผิดปกติจะอยู่ที่ครูผู้สอน จะสอนเน้นที่การปฏิบัติ เพราะครูเก่งด้านนี้ ตรงจุดนี้จึงทำให้วิชาพื้นฐานวิชานี้ กลายเป็นการเรียนวิชาเพิ่มเติมแอบแฝงไปเสีย แม้ว่าจะใช้ครูถึง 2-3 คน แต่เชื่อได้ว่า คงมิใช่ครูที่ถนัดวาดภาพ ครูที่ถนัดดนตรี ครูที่ถนัดนาฏศิลป์ มาอยู่ทีมเดียวกัน เพราะถ้าเป็นอย่างนั้น การบูรณาการจะเกิดขึ้นได้ในทันที เป็นการบูรณาการศิลปะใน 3 สาระ และ 6 มาตรฐาน  แต่ถ้าทีมงานเป็นครูที่ถนัดด้านเดียวกันมา ก็ไม่เกิดการเรียนรู้ศิลปะที่มุ่งไปสู่สุนทรียะ คงได้แต่ฝึกทักษะตามที่ครูถนัด  ถามว่าแล้วได้อะไร ก็ตอบว่า ได้ฝึก ได้ลงมือทำ ได้แสดงออก  แต่ในวันนี้ ในพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542  มุ่งเน้นความสำคัญทั้งด้านความรู้ ความคิด ความสารถ คุณธรรม กระบวนการเรียนรู้ และความรับผิดชอบต่อสังคม โดยยึดผู้เรียนเป็นสำคัญ  จะเห็นได้ว่าการเรียนรู้ที่จะครบองค์รวมได้ จะต้องมีการเชื่อมโยงกันหลายสาระ จึงจะเดินไปถึงจุดหมายปลายทางได้ 

 การจัดแบบที่ 3 จัดแบบแยกออกเป็นสาระ สาระละ 1 ปี คือ ม.1 เรียนศิลปะ เน้นทัศนศิลป์  ม.2 เรียนศิลปะ เน้นดนตรี และ ม.3 เรียนศิลปะ เน้นนาฏศิลป์  ใช้ครูสอนคนเดียว (ใครถนัดศิลปะด้านใดก็ให้สอนด้านนั้น)  แบบนี้มีปรากฏในหลักสูตรสถานศึกษา ลองค้นหาได้ทางอินเทอร์เน็ท มองดูว่าคล้ายๆ กันกับรูปแบบที่ 2 ที่ผมได้พบมา  แต่ถ้ามองลึกลงไปในตอนท้ายจะพบว่า นี่คือวิชาเพิ่มเติมที่แฝงมาในคำว่าวิชาพื้นฐานโดยแท้ ๆ เลย  เพราะใช้ครู 1 คน สอนศิลปะตามที่ครูถนัด 1 ปี (ครูเป็นสำคัญมาก) ครูผู้สอนน่าที่จะลืมไปว่า วิชาพื้นฐานนักเรียนจะต้องเรียนรู้ได้ทุกคน ถึงแม้ว่าจะต้องใช้เวลาสั้น ยาวไม่เท่ากันก็ตาม  เพราะบุคคลย่อมมีความแตกต่างกัน แล้วใครจะเป็นผู้บอกพวกเขาให้เชื่อได้ว่า หลักสูตรใหม่นี่ดีกว่าหลักสูตรเก่า เพราะเด็กเขาได้มีโอกาสเท่าเทียมกัน ในการพัฒนาร่างกาย จิตใจ สติปัญญา ความรู้ และคุณธรรม มิใช่พัฒนาเฉพาะความรู้แต่เพียงอย่างเดียว 

จึงทำให้ยังมีครูที่เฝ้าแต่จะพูดว่า สอนไม่ทัน เวลาไม่พอขอเวลาเพิ่ม แต่ว่าจะสอนใครไม่ได้บอก นักเรียนชื่อว่าอะไรยังเรียนรู้ไม่ทันไม่ได้บอก บอกแต่เพียงว่า สอนไม่ทัน ตกลงเขาคนนั้นกำลังพัฒนานักเรียนทั้งห้อง (ทำได้ยากมาก) หรือเขากำลังทบทวนความรู้ของตนเองอยู่ครับ  เพราะการจัดการเรียนรู้ในปัจจุบันเขาพัฒนานักเรียนเป็นรายบุคคลกันแล้ว จะต้องให้นักเรียนได้เรียนรู้และสรุปเป็นองค์รวมได้เอง มิใช่ครูอ่านจากตำราให้จบเล่ม แล้วภาคภูมิใจว่าสอนจบแล้ว (เหมือนตอนที่ผมเป็นครูใหม่ ๆ ) วันนี้หลักสูตรเปลี่ยนไปแล้ว ครูได้ปรับเปลี่ยนวิธีการสอนตามวิธีการของหลักสูตรในปัจจุบันหรือยัง

ผมคงไม่อาจที่นำเอาวิธีการจัดการเรียนรู้ ตามหลักสูตรของสถานศึกษาต่าง ๆ มาวิเคราะห์ได้ เพราะเป็นเรื่องของคณะกรรมการในแต่ละสถานศึกษา  และผมคงมิบังอาจที่จะชี้ได้ว่า การจัดทำหลักสูตรการสอนวิชาพื้นฐานศิลปะ แบบใดดีที่สุด เพราะมีเงื่อนไขที่ตัวครู (วิชาเอกที่เรียนมา)  แต่ผมขอชี้ประเด็นให้เห็นว่า เหตุผลที่การจัดการศึกษา การจัดการเรียนรู้มันสับสน ไม่แน่นอนเป็นเพราะอะไร  เป็นเพราะครูไม่เข้าใจ  หรือว่า เป็นเพราะหลักสูตรเปิดกว้างเสียจนครูตีความเข้าข้างตนเองได้หมด หรือเป็นเพราะว่า ไม่มีผู้ตรวจสอบติดตามความถูกต้อง เหมาะสม  และที่สำคัญที่สุด ณ วันนี้ ครูศิลปะ ได้ทำความเข้าใจในจุดเน้น กระบวนการจัดการเรียนรู้ หลักการ จุดหมาย โครงสร้างของหลักสูตร ตลอดจน สาระและมาตรฐานการเรียนรู้ที่ครูเอง จะต้องนำไปจัดกับนักเรียนที่ท่านรับผิดชอบกันอย่างถูกต้อง และมีความเข้าใจอย่างครบถ้วนดีแล้วหรือยัง

ยังไม่ช้าเกินไปที่จะหันกลับไปเปิดเอกสาร หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานพุทธศักราช  2544  เอกสารแนวทางการจัดทำหลักสูตรสถานศึกษา 2545  เพื่อทบทวนบทบาทของครูว่าที่วุ่นวายสับสนอยู่ในขณะนี้ เป็นเพราะหลักสูตรแกนกลาง  หรือหลักสูตรสถานศึกษา หรือเพราะความเข้าใจของเรา หรือเป็นเพราะการแปลความเข้าข้างตนเอง เรายังคงปรับเปลี่ยนวิธีการได้ เพราะหลักสูตรสถานศึกษา เอื้ออำนวยให้มีการจัดการที่ยืดหยุ่นได้ 

           นอกจากตัวครูแล้ว ยังมีแหล่งเรียนรู้ในท้องถิ่นอีกมากมายที่ยังไม่ได้ถูกนำเอามาใช้ การปรับปรุงจึงเป็นการปรับเพื่อให้เข้าที่ สู่ความถูกต้องสมเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติการศึกษาชาติ ครับ นักเรียนจะได้พัฒนาร่างกาย จิตใจ สติปัญญา ความรู้ และคุณธรรม ไปพร้อม ๆ กัน จนได้เป็นบุคคลที่สมบูรณ์ในอนาคตต่อไป

(ติดตามต่อ ในตอนที่ (5) บูรณาการได้จริงหรือ / ชำเลือง มณีวงษ์) 

 

หมายเลขบันทึก: 104050เขียนเมื่อ 17 มิถุนายน 2007 15:17 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 18:05 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

สวัสดีค่ะ..อาจารย์..ชำเลือง

  • ครูอ้อยอ่านแล้วค่ะ..ครูอ้อยเชื่อและศรัทธาอาจารย์ในการจัดการเรียนรู้มากเลยค่ะ  นับว่าเป็นแบบอย่างที่ดียิ่งค่ะ  
  • และครูอ้อยก็เชื่อว่า..นักเรียนจะได้พัฒนาร่างกาย จิตใจ สติปัญญา ความรู้ และคุณธรรม ไปพร้อม ๆ กัน จนได้เป็นบุคคลที่สมบูรณ์ในอนาคตต่อไป
  • แต่ครูอ้อยขออนุญาตแนะนำนิดนึงค่ะ   อาจารย์พยายามเว้นวรรค  ย่อหน้า  เพื่อให้อ่านง่ายขึ้นนะคะจะดีมากๆค่ะ 
  • เรียนเชิญอาจารย์อ่านที่บันทึกนี่ค่ะขวัญผวา...ที่คาร์ฟูร์

ขอบคุณค่ะ..ครูอ้อย

 

สวัสดี ครับ ครูอ้อย (สิริพร กุ่ยกระโทก)

 

·       ขอบคุณที่เข้ามาเยี่ยม

·       ขอบคุณในคำแนะนำที่บอกมา

·       อาจเป็นเพราะ อายุมากขึ้นนะ (ตาก็ไม่ค่อยเห็น)

·       เดี๋ยวจะเข้าไปขำ ๆ ๆ กับน้อง ๆ 555555555

                                            ชำเลือง  มณีวงษ์

 

ไม่อนุญาตให้แสดงความเห็น
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท