ลานเล่น ลานเล่า


สถานที่ที่ ถูกทิ้งร้าง ทรุดโทรมดูเหงา หากแต่อาจจะเป็นที่ไหนสักแห่งอาจเป็นเพียงลานดินเล็ก ระเบียงบ้าน หรือ แคร่ไม้เก่าๆ ที่ตกลงนัดหมายกันด้วยหัวใจของผู้เล่า และผู้ฟังหรือ ผู้เล่นกับผู้ชวนเล่นแล้วมาพบปะกันด้วยเวลาแห่งความพร้อม

ยามบ่ายใต้ร่มเงาจามจุรีต้นใหญ่ใบหนา 

ชายผู้เฒ่าที่เด็กรู้ไปทั่วหมู่บ้านว่าใจดีมีนิทานสนุกๆเล่าให้ฟังอยู่เสมอขอเพียงแต่เห็นว่าเด็กๆมารวมตัวจับกลุ่มกันตรงลานเล่นนี้เมื่อไรเป็นว่าจะเห็นพ่อเฒ่าขยับตัวมารวมกับเด็กแล้วเริ่มต้นด้วยคำถามที่ชวนคิดแล้วเชื่อมโยงเข้ากับเรื่องที่จะเล่า เด็กๆชอบใจเพราะบางวันพ่อเฒ่าก็ชวนเล่นด้วยของเล่นที่ทำง่ายๆ เช่น ว่าว เป่าใบไม้หรือแม้แต่ชวนปั้นดิน

“ไหน ใครรู้จักแม่ธรณีบ้าง?” พ่อเฒ่าเริ่มต้นด้วยคำถาม เด็กหญิงอายุประมาณ 3-4 ขวบ วางมือจากการขุดดินด้วยช้อนสังกะสีใส่ในกะลามะพร้าวอย่างเพลิดเพลิน หันไปทางเสียงและขมวดคิ้วมองพ่อเฒ่าอย่าง งง ๆ  เด็กโตกว่าเข้าโรงเรียนแล้วยืดอกตอบอย่างโอ่ว่าโธ่ง่ายจะตาย “ก็ดินยังไงเล่าตา” 

“แล้วรู้ไหมว่าดินมีประโยชน์อย่างไร?” พ่อเฒ่าถามต่อ  “มีไว้ปลูกข้าวกิน” เสียงหนึ่งตะโกนเข้ามา “ ปลูกผักก็ได้” อีกเสียงหนึ่งตะโกนบ้าง “เอาไว้เล่นได้ด้วย”เด็กหญิงตัวเล็กๆตอบ............................ 

คงจะดีไม่น้อยหากเพียงวันละเล็กละน้อยที่เรื่องราวต่างๆถูกแปลงเป็นเรื่องเล่าหรือ ผูกเป็นนิทานสนุกๆถ่ายทอดสู่เด็กรุ่นลูกรุ่นหลานด้วยผู้ใหญ่ใจดี 

แต่ละหมู่บ้าน แต่ละพื้นที่มี “ลานเล่น ลานเล่า” ที่ไม่ได้หมายถึงศูนย์เยาวชนที่สร้างเป็นตึกใหญ่โตครอบครองพื้นที่ว่างๆไว้จำนวนหนึ่งแต่ไร้สิ่งมีชีวิต 

สถานที่ที่ ถูกทิ้งร้าง ทรุดโทรมดูเหงา หากแต่อาจจะเป็นที่ไหนสักแห่งอาจเป็นเพียงลานดินเล็ก ระเบียงบ้าน หรือ แคร่ไม้เก่าๆ ที่ตกลงนัดหมายกันด้วยหัวใจของผู้เล่า และผู้ฟังหรือ ผู้เล่นกับผู้ชวนเล่นแล้วมาพบปะกันด้วยเวลาแห่งความพร้อม

ปากคำของผู้เฒ่าเพียรเล่า เพียรถ่ายทอด เรื่องราวต่างๆมากมายฟังให้สนุก ฟังเป็นข้อคิดสอนใจซึ่งแล้วแต่ว่าใครจะเป็นคนฟัง อดีตบอกปัจจุบัน ปัจจุบันบอกอนาคต วิถีชีวิตที่ใช้บทเรียนแห่งวันวานมาบอกกล่าวเล่าขานผ่านเรื่องเล่าและนิทานสอนใจน่าจะดีไม่น้อย 

ผู้แก่ใกล้ชิดผู้อ่อนวัย พ่อแม่ผู้ใหญ่ใกล้ชิดเด็ก เด็กเป็นหน่ออ่อนที่ทุกคนในชุมชนช่วยกันกล่อมเกลี้ยงเลี้ยงดูโดยการช่วยกันทำตัวเป็นตัวอย่างที่ดี


“ลานเล่า ลานเล่น”กิจกรรมเล็กที่สวยงามเพื่อเปิดพื้นที่ทางความคิด มีคุณค่าทางจิตใจ จูงคนให้มาใกล้กัน 

ภายใต้ร่มเงาไม้ใหญ่ แสงแดดส่องลอดมาไรๆลมโชยเบาๆพอเย็นสบายๆ เด็กๆกลุ่มใหญ่นั่งล้อมวงรอบพ่อเฒ่านั่งตรงกลาง

ถัดไปเล็กน้อยเป็นแม่เฒ่า ยาย ย่า ป้า อา ตา ลุงและพ่อแม่นั่งล้อมไว้อีกชั้น ใครมีอะไรทำก็หยิบติดมือมา บ้างฟัง บ้างเล่า บ้างร่วมแลกเปลี่ยน บางครั้งคร่ำเคร่ง บางครั้งหยอกยิ้ม เวลาแห่งนิทาน เวลาแห่งชีวิตผสานกันได้พอดีเหมาะเจาะ 

หลากหลายเรื่องราวได้รับการถ่ายทอด เช่นเดียวกันหลายเรื่องราวได้รับการบันทึกไว้ในหัวใจหลายๆดวงทั้งเด็กและผู้ใหญ่ ตะวันลับขอบฟ้าไปแล้วบนกิ่งก้านของต้นจามจุรีคงเป็นที่อาศัยทำรังเพิงพักของนกหนูหมู่สัตว์ เช่นเดียวกันวันหนึ่งเมื่อเด็กเติบโตพวกเขาคงจะพร้อมที่จะเป็นไม้ใหญ่แผ่กิ่งก้านสาขาให้ร่มเงาแก่ผู้อื่นเช่นกัน

สรวงธร นาวาผล  จันทร์ 11 มิถุนายน 2550

หมายเลขบันทึก: 103530เขียนเมื่อ 15 มิถุนายน 2007 11:12 น. ()แก้ไขเมื่อ 31 มีนาคม 2012 18:46 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ชอบบทความและต้นไม้ในภาพมากคะ ได้ความรู้สึกคิดถึงยายจัง

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท