บอกต่อเรื่องที่หนึ่ง: อาชีพนักคณิตศาสตร์ประกันภัย


อาชีพยอดนิยมในอเมริกา และจีน

       The Job Almanac แปลกันตรงๆ ว่า อาชีพยอดนิยม ซึ่งถ้าหากเป็นผลสำรวจของเมืองไทย ที่มาจากการสำรวจของ Jobsdb.com เมื่อปี พ.ศ. 2548 พบว่า 3 อันดับแรก ได้แก่ วิศวกร การตลาด และประชาสัมพันธ์ ตามลำดับ แต่ถ้าถามจากเด็ก หรือเยาวชนส่วนใหญ่คำตอบในอันดับต้นๆ ก็คงจะหนีไม่พ้น แพทย์ วิศวกร ทนายความ แอร์โฮสเตส แต่เรื่องราวที่จะบอกต่อในบรรทัดต่อๆ ไปนี้ ขอข้ามไปพูดถึงผลสำรวจของประเทศยักษ์ใหญ่กันบ้าง โดยเป็นผลสำรวจอาชีพยอดนิยมของชาติมหาอำนาจอย่างอเมริกา อันเป็นผลสำรวจมาจาก การจัดอันดับอาชีพที่คนอเมริกันนิยมมากที่สุด 250 อาชีพ โดยใช้เกณฑ์ต่างๆ ในการตัดสินทั้งหมด 6 ด้าน ดังนี้

  1. Income … เงินเดือน
  2. Environment … สภาพแวดล้อมของการทำงาน
  3. Employment Outlook … โอกาสในอนาคต
  4. Physical Demands … ความเหนื่อยยากของร่างกาย
  5. Securities … หลักประกันความมั่นคง
  6. Stress … ความกดดัน

       นิตยสาร The Jobs Rated Almanac” ซึ่งจัดพิมพ์โดย American Reference Inc. แห่งเมืองชิคาโก สหรัฐอเมริกา เป็นนิตยสารที่สำรวจ พร้อมๆ กับจัดอันดับอาชีพที่ได้รับความนิยมสูงสุด ที่เรียกว่า Top Best Jobs จากทั้งหมด 250 อาชีพ ได้ถูกตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ. 1988 (พ.ศ. 2531) และในปีนั้นผลสำรวจอาชีพยอดนิยมของคนอเมริกันอันดับหนึ่ง ได้แก่ “Actuary” หรือที่เมืองไทยบ้านเราเรียกกันว่า นักคณิตศาสตร์ประกันภัย และตลอดระยะเวลาเกือบ 20 ปี จนถึงปัจจุบัน นิตยสารดังกล่าวมีการแก้ไข ปรับปรุงมาแล้วทั้งหมด 6 ครั้ง ฉบับล่าสุดเป็น Sixth Edition พิมพ์เมื่อปี ค.ศ. 2002 อาชีพ Actuary ก็ได้รับความนิยมอยู่ในอันดับที่ 2 รองจาก Biologist และ Top 10 Best Jobs in 2002 ได้แก่

  1. Biologist
  2. Actuary
  3. Financial planner
  4. Computer-systems analyst
  5. Accountant
  6. Software engineer
  7. Meteorologist
  8. Paralegal assistant
  9. Statistician
  10. Astronomer

      โดยสรุปแล้วที่ผ่านมา ในการตีพิมพ์รวม 6 ครั้ง อาชีพ Actuary ติดอยู่ในอันดับหนึ่งถึงสองครั้ง และไม่เคยต่ำกว่าอันดับที่สี่เลย          การจัดอันดับของนิตยสารดังกล่าว มีที่มาจากแหล่งข้อมูลที่เป็นหน่วยงานของรัฐบาลในสหรัฐฯ หลายหน่วยงาน ไม่ว่าจเป็น The U.S. Bureau of Labor Statistics รวมทั้ง The U.S. Census Bureau ประกอบกับการศึกษาข้อมูลจากสมาคมการค้า และอุตสาหกรรมต่างๆ อีกจำนวนมาก          ถัดจากฝั่งอเมริกา ตอนนี้กลับไปดูผลสำรวจของประเทศผู้ยิ่งใหญ่ในแถบทวีปเอเชียกันดูบ้าง.....    

 ว่าด้วย 10 อาชีพทำเงินในอีก 4 ปีข้างหน้าในเมืองจีน         

       หนังสือพิมพ์ฟอร์จูน ไทมส์ ของจีน ได้ตีพิมพ์บทความว่าด้วย 10 อาชีพทำเงินในอีก 4 ปีข้างหน้า หนึ่งในนั้นคือ “Actuary” อีกแล้ว ซึ่งติดอยู่ในอันดับต้นๆ เลยทีเดียว ทั้งนี้ ด้วยเหตุผลที่ว่า ทุกวันนี้ นักคณิตศาสตร์ประกันภัยในแดนมังกรทั่วทั้งประเทศที่เป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติมีไม่ถึง 10 คน เปรียบเสมือน สมบัติล้ำค่าหายาก ของเมืองจีนเลยทีเดียวก็ว่าได้ เพราะธุรกิจประกันภัยข้ามชาติกำลังรุกเข้าสู่ตลาดแดนมังกร พร้อมๆ กับการเติบโตของธุรกิจประกันภัย                          

       กลับเข้าสู่ข้อมูลของประเทศเรากันบ้าง... เมื่อพูดถึงความนิยม และความต้องการคนในอาชีพ Actuary ในสองประเทศใหญ่ๆ ไปแล้ว คราวนี้ก็คงต้องย้อนกลับมามองที่เมืองไทยของเราว่า อาชีพ Actuary เป็นที่รู้จัก หรือได้รับความนิยมกันมากน้อยแค่ไหน

       จากการสอบถามจากผู้อาวุโสในสายงานด้านประกันภัย และอาจารย์หลายๆ ท่านจากหลายๆ สถาบันการศึกษา ก็ได้รับคำตอบว่า ปัจจุบันนี้ธุรกิจประกันภัยในเมืองไทยต้องนำเข้า Actuary จากต่างประเทศมาทำงานเป็นจำนวนมาก เพราะ Actuary ในประเทศไทยอยู่ในระดับขาดแคลน!!! ฟังดูแล้วก็ไม่รู้สึกแปลกใจเท่าไหร่นัก เพราะหลายคนที่อ่านมาถึงตรงนี้ เชื่อว่าเกินห้าสิบเปอร์เซ็นต์ ที่เพิ่งเคยได้รู้จักอาชีพนี้เป็นครั้งแรก...

       หลังจากหาข้อมูลมาพอสมควรแล้ว จึงได้คำตอบกับตัวเองว่าทำไมอาชีพนี้จึงขาดแคลน นั่นก็เพราะ ไม่มีใครรู้จัก นั่นเอง เพราะเมื่อไม่มีใครรู้จัก ไม่มีใครทราบว่าอาชีพนี้ทำอะไร อยู่ที่ไหน ต้องเรียนจบอะไร และอื่นๆ อีกมากมายแล้ว แล้วใครล่ะจะตัดสินใจไปเรียนในสาขาวิชาชีพแบบนั้น ???  เมื่อไม่มีบัณฑิตทางสาขาวิชาชีพนี้ แล้วจะมีทรัพยากรบุคคลที่มีคุณภาพในสายงานนี้ได้อย่างไร...         

       มีอาจารย์ท่านหนึ่ง ซึ่งเป็นผู้มีคุณวุฒิทางด้านคณิตศาสตร์ประกันภัย ได้ยกตัวอย่างบทกวีบทหนึ่งชื่อ “The Road Not Taken” เรียบเรียงโดยกวีชาวอเมริกัน Robert Frost (1874-1963) ที่ดูจะเหมาะสมและมีความหมายดีทีเดียว  

I shall be telling this with a sigh
Somewhere ages and ages hence:
Two roads diverged in a wood, and I-
I took the one less traveled by,
And that has made all the difference.
 

เดินป่า มาถึง ซึ่งแยก
ถนนแรก คนมาก ฝากฝัน
ฉันเลือก คนน้อย เส้นนั้น
เพราะนั่น ฉันจึง แตกต่าง
 

*** คงไม่มีคำอธิบายใดๆ สำหรับความหมายของบทกวีนี้ ***                   

       ถึงแม้อาชีพ Actuary จะยังไม่เป็นที่รู้จักกันดีนักในเมืองไทย แต่ตรงกันข้ามโดยสิ้นเชิงกับความต้องการของตลาด ที่นับวันจะยิ่งมีมากขึ้นๆ ตามอัตราการเจริญเติบโต และเงินหมุนเวียนจำนวนหลายหมื่นล้านบาทในแต่ละปีของธุรกิจประกันภัย แต่น่าเสียดายที่บริษัทจำนวนมากต้องว่าจ้าง Actuary จากอเมริกา ออสเตรเลีย สิงคโปร์ ฮ่องกง หรือมาเลเซียมานั่งทำงานแทนคนไทย แม้แต่ในสำนักงานที่ทำงานอยู่ขณะนี้ ก็มีการอิมพอร์ตนักคณิตศาสตรประกันภัยผู้เชี่ยวชาญมาจากออสเตรเลีย และญี่ปุ่น ฟังดูแล้วก็น่าเสียดายไม่น้อย

       ด้วยเหตุผลใดที่ทำให้บุคลากรด้านนี้กำลังขาดแคลนสำหรับภาคธุรกิจในบ้านเรา หลายคนคิดแล้วก็คงมีคำตอบให้ตัวเองต่างๆ กันไป แต่ประโยคที่เคยได้ยินมาคงพอจะใช้ได้ คือประโยคที่ว่า ผู้ไม่รู้ ย่อมไม่ผิด................         

       สำหรับบันทึกนี้เป็นเพียงการแนะนำที่มา หรือเรียกน้ำย่อยเท่านั้น ไว้จะมาขยายความเกี่ยวกับอาชีพ Actuary ที่ว่านี้ รวมทั้งข้อมูลต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในบันทึกต่อๆ ไป....     

ขอขอบคุณแหล่งข้อมูล:

www.careerjournal.com 

www.beanactuary.org

www.iprbthai.org

นิตยสารผู้จัดการ

วารสาร สสวท: มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

อาจารย์ ดร. ปิยวดี โขวิฑูรกิจ และอาจารย์ชญณา พูลทรัพย์

หมายเลขบันทึก: 103205เขียนเมื่อ 14 มิถุนายน 2007 10:41 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 11:25 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (54)

สวัสดีค่ะ

บันทึกนี้น่าสนใจค่ะ

ลูกชายดิฉันเคยเล่าว่า ในบริษัทเขามีนักคณิตศาสตร์ ทำหน้าที่คล้ายๆที่คุณเล่า จบคณิตศาสตร์เกียรตินิยม เป็นชาวฝรั่งเศส เขาทำงานกันเป็นทีม

ลูกทำงานในบริษัทที่ปรึกษาทางการเงินที่ใหญ่มาก เป็นอันดับ 5 ในโลก

1.City Bank 2. Bank of America 3.HSBC 4.GE.Capital  5.JP.Morgan

มีคนจบสาขาต่างๆมากมาย จากมหาวิทยาลัยดังๆในโลก แต่เขาจะทำงานเป็นทีมกันค่ะ

ดีแล้วที่คุณเรียนวิชานี้ เข้ากับยุคสมัยที่การประกันรุ่งโรจน์มากๆ

ลองอ่านบันทึกของดิฉันค่ะ  จะเข้ามาอ่านต่ออีกนะคะ

ที่นี่

สวัสดีค่ะคุณ sasinanda

ขอบคุณ และดีใจค่ะที่อาชีพนี้เป็นที่รู้จักอยู่ในเมืองไทย เพราะส่วนใหญ่ผู้ที่อยู่ในสายงานนี้ เมื่อเติบโต หรือมีคุณวุฒิระดับหนึ่งก็จะออกไปทำงานต่างประเทศ เนื่องจากความแตกต่างเรื่องรายได้ที่เห็นได้ชัดเจน และโอกาสในการทำงานที่สูงขึ้น ส่วนการทำงานของนักคณิตศาสตร์ประกันภัยนั้น โดยมากจะทำงานเป็นทีม และเป็นโปรเจคๆ ค่ะ อย่างที่ทำอยู่ ก็จะมีทั้งคนไทย และที่ปรึกษาชาวญี่ปุ่น ออสเตรเลีย และอาจารย์ในสถาบันการศึกษาของไทยบางท่านที่ศึกษามาทางสายงานนี้ค่ะ

เคยเข้าไปอ่านบันทึกของคุณ  sasinanda หลายครั้งแล้วค่ะ โดยเฉพาะบันทึกที่เขียนเกี่ยวกับเด็กค่ะ เพราะที่บ้านมีหลานอายุประมาณหลานของคุณ sasinanda น่ะค่ะ แล้วจะคอยติดตามนะคะ

เรย์

สวัสดีอีกทีค่ะ

ทราบไหมคะ ว่า ในเมืองไทยนี้ มีคนเรียนและอาชีพอย่างนี้ มากไหมคะ ต้องจบอะไรมาก่อนคะ

แน่ๆคือ สายวิทย์ วิทยาศาสตร์ ...??

อยากทราบเป็นความรู้ค่ะ เพราะยังไม่แพร่หลาย

ที่คุณบอกว่า ส่วนใหญ่ คนจบมา มักไปทำงานต่างประเทศ ทำกับบริษัทประกันอย่างเดียวหรือคะ

การไปทำงานกับบริษัทข้ามชาติใหญ่ๆ เป็นอะไรที่กดดันมาก เพราะไปเจอแต่คนเก่งๆทั้งนั้น เราต้องเอาศักยภาพของเรามาใช้อย่างมากๆ มิฉะนั้น จะสู้เขาไม่ได้ ซึ่งต้องการความอดทน วิริยะ อุสาหะอย่างสูง

ผลที่ได้ ก็คุ้ม ในทุกด้าน โดยเฉพาะ ได้ความรู้เพิ่มมากขึ้นมาก มุมมองกว้างและไกลขึ้น และconnectionก็สูงค่ะ

มีข้อเสีย คือ ต้องเดินทางบ่อย ไปประชุม เพราะทีมงานอยู่คนละประเทศ มี conference call กันทุกวัน

แต่ลูกชายเขาชอบ  งานไม่ซ้ำซาก ทำเป็นproject แต่ละproject ว่ากันเป็นปี บางทีมีหลายprojectทีเดียวกัน 

 ก็ดีค่ะ สำหรับคนที่ ทำงานกับความกดดันได้

จะเข้ามาคุยบ่อยๆค่ะ

P

nichy แนะนำให้เข้ามาเยี่ยม....

หลวงพี่ก็ไม่เคยรู้จักอาชีพนี้เหมือนกัน....

เล่ามาเรื่อยๆ นะ จะติดตามอ่าน....

เจริญพร

สวัสดีอีกครั้งเช่นกันค่ะ

สายอาชีพนี้มีคนเรียนน้อย ถึงน้อยมากค่ะ แต่กลับเป็นที่ต้องการของตลาดในปัจจุบัน ปัจจุบันมีสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษา หรือมหาวิยาลัยที่เปิดสอนสาขาวิชานี้โดยตรงอยู่ไม่กี่ที่ เท่าที่ทราบกันในวงการประกันภัยก็มี

  • คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาฯ
  • คณะวิทยาศาสตร์ ม. ธรรมศาสตร์ และ
  • คณะวิทยาศาสตร์ ม. เทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (บางมด)

ส่วนในระดับปริญญาโท ก็มีที่จุฬาฯ และสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ หรือนิด้าค่ะ

   ส่วนสาขาที่ต้องจบมาก่อน ถ้าหมายถึงในระดับมัธยม ก็ต้องเป็นสายวิทยาศาสตร์แน่นอนค่ะ เพราะงานที่ต้องทำ นอกจากจะเกี่ยวข้องกับการจัดการความเสี่ยง หรือศาสตร์ทางด้านการเงินแล้ว ยังต้องอาศัยหลักการทางสถิติ และการคำนวณที่ค่อนข้างซับซ้อนเลยทีเดียวค่ะ

   เห็นด้วยกับคุณ  sasinanda ค่ะที่ว่าการทำงานร่วมกับชาวต่างชาติ ให้อะไรกับเราหลายๆ อย่าง ถือเป็นความท้าทาย และการสร้างโอกาสที่ดีให้กับตัวเอง ถึงจะเหนื่อย แต่ก็คุ้มค่ะ จะมีอุปสรรคอยู่บ้างในเรื่องการติดต่อสื่อสาร ระยะทาง และความแตกต่างของเวลาค่ะ แต่โดยรวมแล้วถือว่าได้มากกว่าจริงๆ ค่ะ

ขอบคุณอีกครั้งนึงค่ะที่แวะมาเยี่ยมเยียน รู้สึกหายเหนื่อย และมีกำลังใจขึ้นเยอะเลยค่ะ จะคอยติดตามอ่านบันทึกของคุณ  sasinanda ค่ะ อ่านแต่ละบันทึกแล้วช่วยเตือนสติตัวเองได้ดีเลยค่ะ

เรย์

P
ก่อนอื่นขออนุญาตทักทายและพูดคุยกับ
P
โดยไม่ใช้คำศัพท์สำหรับพระสงฆ์นะคะ เพราะ เรย์นับถือศาสนาอิสลามน่ะค่ะ ด้วยหวังว่า
P

จะอนุญาตนะคะ....

ขอบคุณค่ะ ที่เข้ามาเยี่ยมเยียน จริงๆ ไม่แปลกใจหรอกค่ะ ที่ยังมีคนอีกเยอะไม่เคยได้ยินอาชีพนี้ ไว้จะเข้ามาเล่าให้ฟัง และแบ่งปันความรู้ในการทำงานให้ทราบนะคะ

เรย์ เคยเข้าไปอ่านบันทึกของ

P
อยู่บ่อยๆ ค่ะ จากลิงค์ของณิชน่ะค่ะ ถึงไม่ได้นับถือพุทธ แต่คำสอน หรือเรื่องราวในอดีตบางอย่างก็เอามาเป็นคติสอนใจ หรือให้ข้อคิดได้ดีค่ะ

ขอบคุณอีกครั้งนะคะ

เรย์

โอ เป็นการเปิดโลกใหม่เลยนะคะ

ไม่เคยรู้จักมาก่อน อาชีพ แบบน้องเรย์

รู้จัก

  • คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาฯ
  • คณะวิทยาศาสตร์ ม. ธรรมศาสตร์ และ
  • คณะวิทยาศาสตร์ ม. เทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (บางมด)

 จุฬาฯ และ นิด้าก็รู้จัก แต่ไม่รู้จักที่น้องเรย์ เรียน หรือทำงาน ค่ะ

แต่ชอบที่จะรู้เรื่อง  การจัดการความเสี่ยง หรือศาสตร์ทางด้านการเงิน หลักการทางสถิติ และการคำนวณที่ค่อนข้างซับซ้อน

เขียนอีกนะคะ  น่าสนใจมากค่ะ

จะได้ทราบมากขึ้น ว่า Actuary”   นักคณิตศาสตร์ประกันภัย  เป็นอย่างไร

ยินดีต้อนรับจ้า ... ในที่สุด ฮ่าๆๆ

เป็นเพื่อนกันมาตั้งนาน เพิ่งรู้นะเนี่ยว่าเพื่อนเราทำงานอะไร ... ว่าแต่ สิบเล่มอ่ะสิบเล่ม เมื่อไหร่จะได้เนี่ย

..ณิช..

สวัสดีค่ะคุณหมอ

P

เรย์เองก็ชอบที่จะหาความรู้ทางด้านการแพทย์เหมือนกันค่ะ เคยมีประสบการณ์ด้านการพิจารณาผลตรวจสุขภาพ ผลเลือด และประวัติการรักษาของคนที่จะมาทำประกันชีวิตค่ะ เพราะต้องนำมาประเมินความเสี่ยง และเรียกเก็บเบี้ยประกันในอัตราที่เหมาะสมค่ะ

จริงๆ แล้วการจัดการความเสี่ยงนำมาประยุกต์ใช้ได้กับทุกสาขาค่ะ ไว้จะมาขยายความในบันทึกต่อๆ ไปนะคะ ยินดีที่ได้ร่วมแบ่งปันความรู้ โดยเฉพาะความรู้ที่แปลกใหม่ และกำลังเป็นที่ต้องการของภาคธุรกิจค่ะ

เรย์

P

สวัสดีเพื่อนรักผู้หวังดี

ทำตามที่สัญญาแล้วนะ ที่บอกว่าจะเขียนๆ และแล้วก็ทำได้แล้ว ขอบคุณมากนะจ้ะสำหรับคำแนะนำ และกำลังใจ แต่เรื่องสิบเล่มๆ เนี่ย (เหมือนสิบหมื่นๆ ยังไงไม่รู้) ไม่ขอสัญญาแล้วกันนะเพื่อน เพราะมันคงไม่ใช่เรื่องง่ายๆ เดี๋ยวทำไม่ได้ ไม่อยากผิดสัญญา

ว่าแต่...หายยุ่งเมื่อไหร่ อย่าลืมแบ่งปันเรื่องราวดีดีผ่านบันทึก บอกเล่าจากแดนไกล กันนะจ้ะ หายไปนานคิดถึงน่ะ

เรย์

เรียน ท่านเรณู

  •  น่าชื่นชมครับที่
  • นักคณิตศาสตร์
  • ทำงานด้านความเสี่ยงที่สำนักประกันภัย 
  • ให้เห็นอีกมุมหนึ่งของชีวิตครับ
  • นักคณิตศาสตร์ ไม่ได้เป็นแต่ ครู สอนหนังสือ
  • นับถือ นับถือ

แวะมาเยี่ยมครับ และยินดีที่ได้อ่านครับ

  • ตามมาขอบคุณ
  • กลับมารายงานตัว
  • เข้ามาเขียนบันทึกอีกนะครับ
  • มีประกันความรักที่ไหนขายบ้างครับ
  • ฮ่าๆๆๆๆๆ

สวัสดีค่ะ ท่านอาจารย์หมอ

P
  • ขอบคุณมากนะคะ สำหรับการแวะมาเยี่ยมเยียน และคำชื่นชม
  • ยินดีค่ะที่ช่วยให้ได้เห็นอีกมุมหนึ่งของนักคณิตศาสตร์ประกันภัย ที่มีมากกว่าการสอนหนังสือ และสายงานด้านวิชาการ
  • แต่เนื่องจากเป็นสาขาที่ค่อนข้างใหม่ สำหรับเมืองไทย บางครั้งก็เลี่ยงไม่ได้ค่ะสำหรับงานด้านการสอน

เรย์

 

 

สวัสดีค่ะ อาจารย์

P

ขอบคุณนะคะที่แวะมาเยี่ยมเยียน และยินดีที่ได้ต้อนรับค่ะ

 

เรย์...

สวัสดีค่ะ อาจารย์

P
  • อุตส่าห์ตามมาขอบคุณ ที่นี่น่าจะพอแวะหลบฝนได้นะคะ
  • กลับมาจากสอบ และเยี่ยมคุณแม่แล้ว เป็นยังไงบ้างคะ
  • ไว้จะเข้าไปเยี่ยมค่ะ
  • ประกันความรักนี่ ถือว่าเป็น Product ใหม่เลยนะคะ จะเก็บไว้พิจารณาค่ะ แต่การคิดค่าเบี้ยประกันฯ นี่ คงต้องประเมินความเสี่ยงกันหลายด้านหน่อยนะคะ ไว้โครงการนี้เป็นรูปเป็นร่างเมื่อไหร่ เรียนเชิญอาจารย์เป็นที่ปรึกษานะคะ :D 

เรย์...

อาชีพนี้ไม่เป็นที่รู้จัก

เลยไม่มีความต้องการใช้

และไม่ต้องการใช้ก็เพราะไม่มีใครบังคับให้ใช้

วิชาชีพนี้ 555 

ขอบคุณนะคะคุณ Boss ที่เข้ามาแสดงความคิดเห็นถึงแม้คุณยังไม่รู้จักและไม่มีความต้องการใช้ ความเห็นของคุณอาจไม่มีประโยชน์ในเชิงวิชาการแต่กลับมีความหมายมากนะคะ เพราะทำให้ฉันได้เห็นอีกมุมหนึ่งของคน (ทำงาน)

ถ้ามีโอกาสก็แบ่งปันความรู้ในสายอาชีพของคุณบ้างนะคะ ดิฉันยินดีที่จะรู้จักและรับทราบไว้เป็นความรู้ค่ะ

เรณู

เพิ่งมา ขอเพิ่มไว้ในแพลนเน็ต อ่านต่อเมื่อว่าง

เพิ่งเคยได้ยินอาชีพนี้

น่าสนใจจังค่ะ

ชอบบทนี้

I shall be telling this with a sigh

Somewhere ages and ages hence:

Two roads diverged in a wood, and I-

I took the one less traveled by,

And that has made all the difference.

เดินป่า มาถึง ซึ่งแยก

ถนนแรก คนมาก ฝากฝัน

ฉันเลือก คนน้อย เส้นนั้น

เพราะนั่น ฉันจึง แตกต่าง

สวัสดีค่ะคุณหมอจริยา

เรย์รู้จักอาชีพแพทย์ มาตั้งแต่เด็กๆ เคยเป็นความฝันในครั้งหนึ่งด้วยเลยค่ะ ตอนนี้คุณหมอได้รู้จักอาชีพใหม่ที่เรย์ทำอยู่ ยินดีและขอบคุณมากค่ะที่ให้เกียรติติดตาม

ถ้าพูดถึง นักคณิตศาสตร์ประกันภัย คนส่วนใหญ่อาจไม่เคยได้ยิน แต่ถ้าเปลี่ยนเป็น การจัดการความเสี่ยง (Risk Management) คนที่ไม่เคยได้ยินคงน้อยลงเยอะเลยค่ะ จริงๆ หน้าที่หลักของนักคณิตศาสตร์ประกันภัย ก็คือการจัดการความเสี่ยง ให้กับบริษัทประกันภัยนั่นเองค่ะ

บทประพันธ์นี้แปลโดยอาจารย์ชญณา พูลทรัพย์ เป็นอาจารย์ที่นิด้า อาจารย์ท่านเป็นผู้มีคุณวุฒิและประสบการณ์ทางด้านสาขานี้โดยเฉพาะเลยค่ะ เรย์ก็ชอบที่อาจารย์แปลเหมือนกันค่ะ แตกต่าง แต่ไม่ แปลกแยก นะคะ :)

ขออนุญาตถามนะครับ คือผมสนใจอาชีพนี้มากๆ

แล้วผมเรียนอยู่ ม.6 ในขณะนี้

และผมได้รู้จักอาชีพนี้จากอาจารย์แนะแนว

ผมจึงอยากทราบว่ามีคณะอื่นนอกจากนี้อีกหรือป่าวอะครับที่เปิดทำการสอน คือ

คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาฯ

คณะวิทยาศาสตร์ ม. ธรรมศาสตร์ และ

คณะวิทยาศาสตร์ ม. เทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (บางมด)

คือผมได้ทราบมาว่าคณะวิทยาศาสตร์มหิดลก็มีแต่ไม่แน่ใจเหมือนกันอ่าครับ

เลยอยากทราบข้อมูล และที่อื่นๆ

แล้วมีข้อแนะนำควรเรียนอย่างไรดี ต่อป.ตรี คณะอะไร โท. ที่ไหนอะครับ

ขอบคุณมากครับ

สวัสค่ะน้อง Job

 

ยินดีมากค่ะที่มีน้องๆ มัธยมปลายสนใจในอาชีพนี้เพราะถือเป็นการเตรียมตัวที่ดีค่ะ หากต้องการทำงานในสายอาชีพนี้ อย่างแรกคือต้องจบมัธยมปลายสายวิทย-คณิตฯ นะคะ

  • สำหรับการเรียนในระดับปริญญาตรีก็ควรเป็นที่สาขาที่เกี่ยวข้องกับคณิตศาสตร์ สถิติ และ/หรือการบริหาร การเงิน
  • ในปัจจุบันนี้มีมหาวิยาลัยที่เปิดสอนหลักสูตรคณิตศาสตร์ประกันภัยจำมากอย่างที่น้องได้ทราบแล้วในหลายๆ ที่ ทั้งเป็นการเรียนสาขาประกันภัยโดยตรง การเรียนในลักษณะการเลือกเป็นวิชาเอก หรือวิชาโท แตกต่างกันไปตามโครงสร้างหลักสูตรของแต่ละมหาวิทยาลัย ดังนั้นเพื่อให้มั่นใจว่าคณะและมหาวิทยาลัยที่น้องกำลังจะเข้าเรียนนั้นมีหลักสูตรที่เกี่ยวข้องหรือไม่ พี่อยากแนะนำให้ศึกษาจากโครงสร้างหลักสูตรของคณะนั้นๆ อย่างละเอียดซึ่งโดยส่วนมากจะปรากฏอยู่ในเวบไซต์ของคณะอยู่แล้วค่ะ
  • ส่วนของมหาวิทยาลัยมหิดลที่น้องถามมาก็มีให้เลือกเช่นเดียวกันค่ะ โดยจะสังกัดอยู่ในภาควิชาคณิตศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ค่ะ
  •  นอกจากมหาวิทยาลัยในเขตกรุงเทพฯ แล้ว ปัจจุบันนี้ต่างจังหวัดเองก็ได้เปิดสอนสาขาวิชานี้แล้วเช่นกันค่ะ เช่น คณะพาณิชยศาสตร์และการจัดการ มหาวิทยาสงขลานครินทร์ วิทยาเขตตรัง มหาวิทยาลัยขอนแก่น และอาจจะมีที่อื่นๆ อีกค่ะ

·         ปริญญาโทในสาขาคณิตศาสตร์ประกันภัยโดยตรงในประเทศไทยก็มี 2 ที่คือ คณะสถิติประยุกต์ นิด้า และภาควิชาสถิติ คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาฯ ค่ะ

ไม่ว่าน้องจะเลือกเรียนที่ไหนคณะอะไรก็ขอให้ประสบความสำเร็จนะคะ โชคดีค่ะ

พี่เรย์

สวัสดีครับพี่เรย์

ขอบคุณมากครับ ^^

และอยากจะรบกวนอีกรอบอ่าครับ

จะบอกว่ามันมีหลายมหาวิทยาลัยที่เปิดก็จริงอะนะครับ

แต่ที่นี้ผมอยากจะทราบว่าหมาวิทยาลัยไหนที่ได้มาตรฐาน ที่มีคุณภาพจริงๆ ที่พี่จะแนะนำ

พอจะทราบบ้างไหมครับ

และที่นี้ถ้าสมมติว่าเรียนจบแล้วอ่าครับ ผมอยากทราบว่ามีงานที่ไหนรองรับ

สามารถทำงานที่ไหนได้บ้าง และทำงานกันอย่างไร

สภาพชีวิตความเป็นอยู่

โอกาสความก้าวหน้าในการงานอาชีพนี้มากมากน้อยแค่ไหนครับ

อยากถามจากผู้รู้ มีประสบการจริงๆ อิอิ เพราะหาข้อมูลมาก็เยอะแต่ก็ยังไม่แน่ใจเท่าไรอ่าครับ

ขอบคุณอีกครั้งนะครับ

และการต่อป.โทที่จุฬามันก็มีให้เลือกตั้ง3ทาง ถ้าจะเลือกควรเลือกอะไรดีอ่าครับ

แขนงวิชาคณิตศาสตร์ประกันชีวิต

แขนงวิชาคณิตศาสตร์ประกันวินาศภัย

แขนงวิชาการจัดการการเสี่ยงภัย

สวัสดีค่ะน้อง Job

  • อย่างที่พี่เรย์เคยบอกไปแล้วค่ะว่าทุกคณะ ทุกมหาวิทยาลัยจะมีการเน้นทักษะในด้านต่างๆ ผ่านการเรียนรู้ในรายวิชาตามโครงสร้างของหลักสูตรที่แตกต่างกันออกไป ดังนั้นทุกมหาวิทยาลัยที่เปิดสอนสาขาคณิตศาสตร์ประกันภัยอยู่ในขณะนี้ถึงแม้จะมีโครงสร้างที่ต่างกันก็จริง แต่ทุกมหาวิทยาลัยก็มีมาตรฐานเดียวกันและได้รับการรับรองคุณภาพจากสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาเหมือนกันค่ะ ดังนั้นอย่างที่พี่เคยแนะนำแล้วค่ะว่าต้องพิจารณาอีกหลายอย่างที่ไม่ใช่แค่คุณภาพของการศึกษาประกอบด้วยค่ะ
  • ถ้าน้องเรียนจบในสาขาคณิตศาสตร์ประกันภัยโดยตรงนั้น แน่นอนว่างานที่น่าสนใจก็คงต้องเป็นงานที่เกี่ยวข้องกับการประกันภัย ซึ่งถ้าภายในประเทศก็จะมีทั้งหน่วยงานของรัฐ เช่น สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมธุรกิจประกันภัย (สำนักงาน คปภ.) องค์กรกลาง เช่น สำนักงานอัตราเบี้ยประกันวินาศภัย หรือจะเป็นองค์กรเอกชนซึ่งได้แก่บริษัทประกันวินาศภัย 70 กว่าบริษัท และบริษัทประกันชีวิตอีก 20 กว่าบริษัท หรือจะเป็นบริษัทตัวแทน นายหน้าด้านการประกันภัยต่างๆ ที่มีอยู่จำนวนมาก นอกจากนั้นยังสามารถทำงานในสาขาการจัดการความเสี่ยงที่หลายบริษัทกำลังมีหน่วยงานนี้อยู่ในปัจจุบัน เช่น ธนาคารพาณิชย์ โรงพยาบาล บริษัทหลักทรัพย์และธุรกิจอีกหลายประเภทเลยค่ะ
  • นอกจากหน่วยงานที่บอกแล้วนั้น ก็ยังสามารถทำงานในสายงานวิชาการได้อีกด้วยค่ะ เพราะสาขานี้กำลังเป็นที่ต้องการของตลาด แต่ยังขาดแคลนบุคลากร ดังนั้นหน่วยงานที่จะสามารถสร้างบุคลากรได้ดีก็ต้องเป็นสถานศึกษาโดยเฉพาะอาจารย์ในระดับอุดมศึกษาค่ะ
  • ถ้าพูดถึงโอกาสและความก้าวหน้าในสาขาอาชีพนี้นั้นแน่นอนว่าโอกาสมีอยู่มากทีเดียวค่ะเพราะยังมีพื้นที่ว่างอยู่อีกเยอะสำหรับคนที่จะก้าวเข้ามาในอาชีพนี้ ส่วนความก้าวหน้าในสายอาชีพนั้นพี่ว่าไม่ว่าจะสาขาอาชีพไหนเราก็สามารถก้าวหน้าได้ค่ะถ้าเรามีความรู้ ความสามารถและมีความพร้อมในอากาสที่ได้รับ
  • สำหรับการศึกษาต่อในระดับปริญญาโททั้งที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ก็ตามจะมีการแบ่งการเรียนออกเป็น 3 สาขาเช่นเดียวกันค่ะ ซึ่งได้แก่ คณิตศาสตร์ประกันชีวิต คณิตศาสตร์ประกันวินาศภัย และการจัดการความเสี่ยงภัย ซึ่งการเรียนของทั้งสามสาขานี้โดยทั่วไปจะมีวิชาหลัก (วิชาบังคับ) ที่เหมือนกันอยู่หลายวิชา แต่จะแตกต่างกันในเนื้อหาบางรายวิชาที่เป็นวิชาเลือกเท่านั้น โดยคณิตศาสตร์ประกันชีวิตจะเน้นไปในทางการคำนวณอัตราเบี้ยประกันภัยของการประกันชีวิตซึ่งส่วนมากจะเป็นการคำนวณแบบระยะยาว (Long Term Insurance) สำหรับคณิตศาสตร์ประกันวินาศภัยก็จะเป็นการคำนวนอัตราเบี้ยประกันภัยของการประกันวินาศภัย เช่น การประกันภัยรถยนต์ การประกันอัคคีภัย การประภัยทรัพย์สิน ฯลฯ ส่วนสาขาการจัดการความเสี่ยง (Risk Management) นั้นจะเป็นการเน้นไปในทางการบริหารและการจัดการความเสี่ยงภัย (Enterprise Risk Management) โดยการใช้ข้อมูลในอดีตและใช้เครื่องมือทางสถิติมาประเมินความเสี่ยงทั้งหมดที่มีอยู่ในองค์กรมาจัดการ เตรียมแผนรองรับเพื่อช่วยให้องค์กรได้รับผลกระทบน้อยที่สุดจากความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้น แต่เนื่องจากสาขาทั้งสามนี้อยู่ภายใต้ภาควิชาเดียวกัน ดังนั้นนักศึกษาจึงสามารถเลือกเรียนรายวิชาต่างๆ ได้อย่างเป็นอิสระ ขึ้นอยู่กับความสนใจและโอกาสในการทำงานของแต่ละคนค่ะ 

 

หากน้องสนใจจะสอบถามเพิ่มเติมก็ติดต่อพี่เรย์ได้ตามอีเมลที่พี่ตอบไปนะคะ

 

พี่เรย์

ขอบคุณมากนะครับพี่เรย์

เรียน ท่านผู้รู้

อยากทราบว่ามีสถาบันไหนบ้าง ที่มีการอบรบ คณิตศาสตร์ประกันชีวิต แบบระยะสั้นบ้างค่ะ อยากได้ด่วนมากค่ะ

ขอบคุณค่ะ

สวัสดีค่ะ

หนูขออนุญาตเรียกคุณว่า พี่เรย์ นะคะ

คือในตอนนี้

หนูสอบติดคณะวิทยาศาสตร์คณิตศาสตร์ สถิติ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ค่ะ

คือหนูสนใจในอาชีพนี้มาก หลังจากได้ยินแค่ชื่อ

แต่ตอนนี้หนู่เริ่มเข้าใจบ้างแล้ว ว่าอะไรเป็นยังไง

แต่ที่หนูสงสัยก็คือ หนูเรียนคณะนี้ แบบไม่ได้จบ คณิตศาสตร์ประกันภัยมาโดยตรง

แล้วจะสามารถ ทำงานหรือเรียนต่อทางด้านนี้ได้มั๊ย

ช่วยไขความข้องใจด้วยนะคะ

ขอบพระคุณมากค่ะ

*ขอบคุณกับบทความหลายๆเรื่องนะคะ

มีประโยชน์อย่างมากค่ะ

สวัสดีค่ะน้อง Natthaya

 

ด้วยความยินดีค่ะ ถ้าคำแนะของพี่พอจะมีประโยชน์กับน้องๆ ที่สนใจอาชีพนี้ค่ะ...

เท่าที่พี่เรย์ทราบและพอจะรู้จัก ก็พอจะมีนักคณิตศาสตร์ประกันภัยที่จบสาขาเดียวกันกับน้องจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่นะคะ (รวมทั้งเพื่อนพี่เรย์คนหนึ่งด้วย) เพราะฉะนั้นถ้าให้พี่เรย์ตอบจากประสบการณ์จากคนที่รู้จักก็มีโอกาสเป็นไปได้ค่ะ อีกอย่างการเป็นนักคณิตศาสตร์ประกันภัย ควรจะพื้นฐานของวิชาสถิติ คณิตศาสตร์รวมทั้งหลักการประกันภัย ซึ่งในส่วนของสิถิติและคณิตศาสตร์น้องก็คงจะได้รับจากการเรียนในสาขานี้อยู่แล้ว ดังนั้นถ้าในสาขาที่น้องเรียนอยู่มีวิชาเลือกที่เกี่ยวข้องกับหลักการประกันภัยเบื้องต้น พี่เรย์อยากแนะนำให้น้องเลือกเรียนหลักการประกันภัยนะคะ ทั้งนี้เพื่อเป็นการปูพื้นความรู้ทางด้านประกันภัยไว้ด้วย เพราะหลักการประกันภัยค่อนข้างจะซับซ้อนพอสมควร

อย่างไรก็ตามความรู้ต่างๆ ทางด้านคณิตศาสตร์ประกันภัยในเชิงลึกนั้น ส่วนใหญ่จะได้รับในระดับปริญญาโทและการทำงานจริงค่ะ ขอแค่มีพื้นฐานด้านการคำนวณที่ดี ที่สำคัญต้องมีใจรักค่ะ แค่นี้น้องก็สามารถเป็นนักคณิตศาสตร์ประกันภัยที่ดีได้ค่ะ :)

พี่เรย์เอาใจช่วยนะคะ

 

พี่เรย์

สวัสดีค่ะคุณ KA

ขอบคุณนะคะสำหรับการให้เกียรติเป็นถึง "ผู้รู้" แต่อยากให้เรียก "เรย์" ดีกว่าค่ะ เพราะประสบการณ์ยังน้อยนิดถ้าเทียบกับคำว่า ผู้รู้ น่ะค่ะ :)

ไม่แน่ใจว่าคำแนะนำจะยังพอมีประโยชน์อยู่หรือไม่นะคะ อีกอย่าง เรียนตามตรงว่าเรย์มีประสบการณ์ด้านคณิตศาสตร์ประกันภัยในบริษัทประกันชีวิตน้อยมากค่ะ เลยขออนุญาตแนะนำเวบไซต์ที่เรย์เคยแวะเวียนเข้าไปอ่านหรือหาข้อมูลแล้วกันนะคะ คิดว่าน่าจะพอมีข่าวสารการเปิดอบรมอยู่บ้างค่ะ

สำหรับในส่วนของมหาวิทยาลัยนั้นจะมีการเปิดสอนรายวิชาคณิตศาสตร์ประกันชีวิตอยู่ โดยสามารถเลือกลงทะเบียนเรียนแบบ Non Credit ได้ค่ะ

ลองติดต่อสอบถามทางหน่วยงานในรายละเอียดดูนะคะ

เรย์

สวัสดีครับ

ผมสนใจที่จะเรียนสถิติประยุกต์ สาขาประกันภัยและจัดการความเสี่ยงของนิด้านะครับ

คือผมอยากทราบว่าเรียนหนักมากไหมครับ หมายถึงว่าต้องมีการทำงานหรือพูดคุยกันในกลุ่มเรียน

ถึงดึกๆไหมครับ เพราะผมต้องเดินทางไปเอง(ไม่ได้ขับรถนะครับ) จากแถวพระราม2ครับ

เผื่อถ้าเรียนหนัก จะได้ลองคิดจะหาที่พักอยู่ในบริเวณใกล้ๆได้

ผมจบตรี ด้านบริหารการเงินนะครับ แล้วสนใจเรียนต่อเลยครับ

ขอบคุณมากนะครับ

สวัสดีค่ะคุณ Por

การเรียนในสาขาประกันภัยฯ ของสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) มีทั้งภาคปกติ (วันจันทร์ - ศุกร์) และภาคพิเศษพิเศษ (เสาร์ - อาทิตย์) ค่ะ โดยปกติแล้วไม่ว่าจะเป็นโปรแกรมไหนตามตารางเรียนจะเลิกเรียนประมาณ 4 โมงเย็น ส่วนในเรื่องของกิจกรรม การปรึกษาหรือการทำงานร่วมกันนั้น ส่วนมากจะเป็นการตกลงกันเองภายในกลุ่มค่ะว่าจะสะดวกกันในช่วงไหน แต่โดยปกติแล้วก็มีบ้างจนถึงบ่อยครั้งค่ะที่ต้องใช้สถานที่ของสถาบันฯ เพื่อความสะดวกทั้งในการนัดพบและการค้นคว้าเอกสารต่างๆ ในห้องสมุดโดยเฉพาะในช่วงที่มีกำหนดส่งงานและที่สำคัญคือช่วงใกล้สอบค่ะ :-) การเดินทางจากบริเวณพระราม 2 อาจจะต้องใช้เวลาอยู่พอสมควร ซึ่งแน่นอนว่าการอยู่ใกล้สถานศึกษาอาจจะสะดวกกว่า แต่ยังไงก็คงต้องพิจารณาเหตุผลอย่างอื่นประกอบด้วยนะคะ ขอให้โชคดีค่ะ

เรณู

 

ขอบคุณมากนะครับ สำหรับคำตอบดีๆ ขอให้เที่ยวให้สนุกในช่วงสงกรานนะครับ

สวัสดีครับ

ก่อนอื่นก็ขอบคุณสำหรับบทความดีๆนะครับ

ผมขอรบกวนถามคำถามหน่อยนะครับ

การทำงานด้านการประกันภัยเนี่ย เกี่ยวข้องกับการวิจัยหรือคิดค้นอะไรใหม่ๆบ้างหรือไม่

ถ่้าผมเลือกเรียนของมหิดลนะครับ ดีไหมครับ

ถ้าจบการศึกษาด้านนี้ในระดับปริญญาตรีในประเทศ แล้วจะหาทุนไปศึกษาต่อต่างประเทศได้ไหมครับ และจะหาทุนได้จากที่ไหนบ้างครับ(ทั้งป.ตรี โท หรือสูงกว่านั้น)

นักคณิตศาสตร์การประกันภัย ต้องมีคุณสมบัติเด่นใดบ้างครับ

ขอบคุณล่วงหน้าสำหรับคำตอบนะครับ

เต้ เกริกวิทย์ เวชชะ

บทความคณิตศาสตร์ประกันภัย

สวัสดีคะ คุณเรย์

เนื่องจากนิดสนใจอยากทำอาชีพนักคณิตศาสตร์ประกันคะ แต่เรียนป.ตรีเศรษฐศาสตร์มา และกำลังเรียนป.โทเศรษฐศาสตร์ ที่นิด้า

จะสามารถทำงานด้านนี้ได้มั้ย หรือจะต้องเรียนด้านนี้โดยตรงคะ

นิดทราบมาเหมือนกันว่าที่คณะสถภิติประยุกต์ ของนิด้ามี สาขาคณิตศาสตร์ประกันภัยโดยตรง

แต่นิดไม่อยากย้ายคณะใหม่ เพราะไม่อยากเสียเวลา รวมทั้งการสอบsoa ผู้สอบจำเป็นต้องจบจากคณะเหล่านี้

คนที่จบจากคณะอื่นอย่างนิดจะสามารถสอบได้หรือมั้ย

จะรอคำตอบนะคะ ขอบคุณคะ

สวัสดีค่ะ คุณเรย์ ขอบคุณสำหรับบทความดีดีนะคะ

คือเกียวไม่ได้จบวิทย์-คณิตตอนเรียน ม.ปลายค่ะ ส่วน ป.ตรีก้จบด้านภาษามาจาก ABAC วิชาคณิต-Stat ก็มีเรียนมาบ้างคะ แต่ก็ไม่ลึกมาก แต่ตอนนี้ชีวิตผกผันมาทำงานประกันภัย และก็ชอบนะคะ และตอนนี้อยากเรียนต่อ พออยากเรียนต่อก็อยากเรียนให้ตรงกับสายงานที่ทำอยู่ก็คือประกันภัย พอหาข้อมูลก็เจอสาขานักคณิตศาสตร์ประกันภัยซึ่งถือว่าน่าสนใจมาก ก็เลยไปสมัครสอบไว้ที่นิด้า สอบผ่านแล้วก็ไปสัมภาษณ์มาแล้ว แต่ตอนนี้ไม่มีความมั่นใจเลยค่ะว่า ถ้าสอบติดขึ้นมาแล้วจะสามารถเรียนไหวรึเปล่า เพราะเห็นคุณเรย์บอกว่า ม.ปลายต้องจบวิทย์-คณิต กัวเข้าไปเรียนแล้วเรียนไม่ไหว เสียทั้งเงินทั้งเวลาค่ะ

หรือว่ามีสาขาอื่นที่เกี่ยวกับประกันภัยแต่ว่าไม่เน้นคำนวณมีมั๊ยคะ เพราะเห็นคณะสถิติประยุกต์ นิด้า ก็สามารถเลือก major เป็น ERM ก็ได้แต่ว่ามันก็ยังมีเรื่องคำนวณเหมือนกันเพราะเป็นคณะสถิติประยุกต์อ่ะคะ

จะรอคำตอบนะคะ ขอบคุณมากคะ

ลูกสาวคนโต เก่งคณิตศาสตร์ กำลัง entrance ปีนี้ คุณพ่ออย่ากให้เรียน วิศว จุฬา คุณแม่อยากให้ลูกมีอาชีพเป็นนักคณิตศาสตร์ประกันภัย อยากให้คุณเรย์ ช่วยแนะนำว่าปริญาตรีควรเรียน ที่ไหนคณะอะไร จากนั้นต้องต่อโท ที่ไหนคณะอะไร ถือว่าช่วยแนะนำทางสว่างให้เด็ก ตาดำ ๆ นะคะ

หากลูกเรียนปริญญาตรีวิศว จุฬา มีโอกาสทำงานสายนี้หรือไม่ ช่วยชี้แนะด้วย

สวัสดีครับ พี่เรย์

ผมก็เป็นคนหนึ่งที่สนใจอยากเรียน คณิตศาสตร์ประกันภัย ครับ แต่ตอนนี้ผมยังสงสัยเรื่องของมหาลัย

ที่เปิดสอนอยู่อะครับ คือว่าตอนนี้ผมได้เรียนที่ ลาดกระบัง(คณิตประยุกต์) / มหิดล (คณิตศาสตร์ ) / เกษตร ( คณิตศาสตร์ )

ใน 2 ที่แรก มีสาขาคณิตประกันภัยให้เรียนคับ แต่เกษตรไม่มี อยากสอบถามว่า ถ้าหากผมเรียนที่เกษตร ( ได้ทุน เลยอยาก

เรียน อิอิ ) แล้วจบออกมาจะสามารถสอบเป็นนักคณิตศศาสตร์ประกันภัยได้ไหมครับ หรือต้องหาหนังสือที่เกี่ยวข้องกับ

คณิตประกันภัยมาอ่านเองด้วย ตอนนี้สับสนเกี่ยวกับวิชาที่เรียนมากมายเลยอะครับ พี่เรย์ช่วยแนะนำให้หน่อยนะครับ

สวัสดีครับทุกๆคน

ผมชื่อกอล์ฟนะครับ

ผมจบปริญญาตรีจากที่มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ(ABAC) คณะ บริหารธุรกิจความเสี่ยงและอุตสาหกรรมบริการ

เอก การประกันวินาศภัย ประสบการณ์เป็น Loss Prevention ใน Tokyo Marine Insurance(Thailand) Co.,Ltd

ก่อนอื่นต้องบอกว่า การประกันมี2แบบ คือ 1.Life 2.Non-life

ดังนั้นก่อนเรียนต้องศึกษาก่อนนะครับว่าอยากเรียนแบบไหน

ซึ่งตอนนี้ผมกำลังจะไปศึกษา Actuary ครับ ดังนั้นผมสามารถให้รายละเอียดสำหรับคนที่สนใจได้นะครับแต่อาจจะเยอะนิดนึงจึงต้องอธิบายครับ

ถ้าอยากรู้รายละเอียดยินดีตอบให้ครับ โทรถามได้ครับ

กอล์ฟ

อยากรู้เรื่อง Actuary อย่างละเอียดเลยค่ะ แบบว่า เรียนยังงัยที่ไหน

ต้องเน้นอะไรอย่างนี้อ่ะค่ะ

ขอคำแนะนำด้วยนะค่ะ

คือตอนนี้ผมกำลังศึกษาอยู่ คณะวิทยาศาสตร์ เอกคณิตศาสตร์ (pure math) ที่จุฬา อยู่อะคับ แต่ผมมีความประสงค์จะเรียนต่อโท เกี่ยวกับด้าน actuary อะคับผม ผมจะต่อโทด้านนี้ได้ไหมคับ และถ้าต่อได้ มีที่ไหนบ้างคับ แต่จริงๆก็อยากเรียนต่อที่จุฬาอะคับ ช่วยแนะนำผมหน่อยขอบคุณคับ

จิงๆ ที่จุฬาฯ มีสาขาคณิตศาสตร์ประกันภัยนะคะ

อยู่ในคณะพาณิชย์-บัญชี ภาควิชาสถิติ สาขาประกันภัย

ลองเข้าไปดูในเวปไซต์ได้ค่ะ

ขอบคุณสำหรับทุกข้อความที่ส่งมาผ่านทั้งทางอีเมลและความคิดเห็นในแต่ละบล็อกนะคะ

เรย์ได้พยายามตอบอีเมลทุกฉบับที่ส่งมาโดยตรงยังอีเมล์ส่วนตัว แต่หลายคนอาจจะให้อีเมลที่ติดต่อกลับไว้ไม่ถูกต้อง ทำให้หลายครั้งที่ตอบกลับ อีเมล์จะต้องตีกลับมาว่าไม่มี Account นั้นอยู่ หรือบางอีเมลที่เรย์ตอบกลับก็ถูกส่งไปยังท่านอื่น ที่ไม่ใช้คนที่ฝากข้อความไว้ก็มีค่ะ!

ดังนั้นหากเพื่อให้สามารถสื่อสารกันได้ หากเพื่อนผู้อ่านต้องการส่งอีเมลมาที่เรย์โดยตรง รบกวนตรวจสอบอีเมลที่จะให้เรย์ติดต่อกลับให้ถูกต้องตรงกับอีเมลของท่านนะคะ เพราะเกรงว่าข้อความที่ตอบกลับจะไปไม่ถึงค่ะ และต้องขออภัยด้วยนะคะถ้าตอบช้าไป แต่จะพยายามตอบทุกท่านค่ะ

ขอบคุณและยินดีสำหรับทุกความคิดเห็นค่ะ :)

เรณู

สวัสดีคะ

ตอนนี้อยู่อยู่ชั้น ม หก คะ แล้วกำลังจะศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษา ที่ คณะวิทยาศาสตร์ประยุกต์ สาขาสถิติธุรกิจและการประกันภัย เมื่อจบแล้วจะมีงานทำทางด้านไหนบ้างคะ แล้วจะสามารถศึกษาต่อในระดับปริญญาโทที่ไหนได้บ้างคะ มีทุนสนับสนุนที่ไหนบ้างคะ แล้วหนูจะทำงานทางด้าน คณิตศาสตร์ประกันภัยได้หรือป่าวคะ

ผมอยู่ ป.ตรี คณะวิทยาศาสตร์ปีสุดท้าย สนใจ สาขาคณิตศาสตร์ประกันภัยและการจัดการความเสี่ยง ที่นิด้าครับ

รบกวนถามคุณเรย์ เป็นข้อๆดังนี้นะครับ

1. สาขาประกันภัยของนิด้า รับรุ่นนึงประมาณกี่คนครับ การแข่งขันสูงมั้ย แล้วตอนสัมภาษณ์คัดออกเยอะมั้ยครับ

2. ระหว่าง คณิตศาสตร์ประกันภัย กับ การจัดการความเสี่ยง อันไหนเรียน Math หนักกว่ากัน

3. แขนงวิชาคณิตศาสตร์ประกันภัย กับ แขนงวิชาการจัดการความเสี่ยง เราสามารถเลือกตามความสนใจได้เลย หรือว่าต้องแข่งขันเพื่อเลือกกันอีกทีครับ

4.อัตราคนลาออก เรียนไม่ไหว สูงมั้ยครับ ไม่เก่งเลขเท่าไหร่ จะไหวมั้ยครับ

สวัสดีครับ ผมจบทางด้านบัญชี มา 5 ปี และสอบผู้ตรวจสอบบัญชีแล้ว ตอนนี้มีความสนใจที่จะเรียนปริญญาโททางด้าน Actuarial ของจุฬา ภาคนอกเวลาราชการ แต่ยังไม่มีข้อมูลมากพอที่จะเลือกสาขาวิชา ผมรบกวนคุณเรณูช่วยอธิบายความแตกต่างของทั้ง 3 สาขาที่มีได้มั้ยครับ 1) คณิตศาสตร์ประกันชีวิต 2) คณิตศาสตร์ประกันวินาศภัย 3) การจัดการการเสี่ยงภัย โดยส่วนตัวแล้วสนใจข้อ 2 กับ 3 แต่ไม่รู้ว่าต่างกันอย่างไร แต่ละสาขาถ้าจบไปแล้วสายงานด้านไหนจะเปิดกว้างมากกว่า ตอนนี้มีคนรู้จักเรียน Risk management ที่นิด้า และที่จุฬา เลยไม่แน่ใจว่าด้าน Risk managment มีโอกาสที่ดีกว่าหรือเปล่าครับ ขอรบกวนเท่านี้ และขอบคุณล่วงหน้าสำหรับคำตอบที่จะช่วยให้เห็นภาพชัดเจนมากขึ้นในการตัดสินใจน่ะครับ

ขอรบกวนหน่อยนะค่ะ.....

ตอนนี้จบ ป.ตรี การบัญชี มาค่ะ...แล้วสนใจอยากเรียน "คณิตศาสตร์ประกันภัย" ค่ะ...อยากทราบว่า

จะติดต่อที่เรียนได้ที่ไหนบ้าง...เห็นว่ามีที่ มหิดล แล้วก็ ลาดกระบัง....แล้วจะต้องจะต้องเรียนใหม่เลย

เหมือยเริ่มปริญญาใบใหม่ หรือว่าเรียนเป็น ป.โท ค่ะ...อีกอย่างหนึ่งที่กังวล คือ....ตอนเรียน ป.ตรี

ไม่ค่อยสนใจสักเท่าไหร่ เกรดก็เลยออกมาแบบ พอทนได้...5555 แต่ชอบวิชาคณิตศาสตร์นะค่ะ

รู้สึกเรียนแล้วสนุก อาจารย์ที่สอน เค้าเป็น CPA เค้าก็เคยแนะนำในชั้นเรียนว่า ถ้าใครอยากก้าวหน้า

ก็ให้ลองไปศึกษาเรียนเรื่อง "คณิตศาสตร์ประกันภ้ย" ดู ยิ่งมาได้อ่านในเน็ตก็เลยยิ่งสนใจ ยังไงรบกวน

ช่วยตอบข้อข้องใจด้วยนะค่ะ...ขอบคุณค่ะ

น้องอยู่ม.5 สนใจคณะนี้อ่ะค่ะ น้องขอรายละเอียดหน่อยได้ไหมค่ะ

เค้ารับเกรดเท่าไหร่ค่ะ ต้องเก่งวิชาอะไรบ้างค่ะพี่ เร

ผมชื่อเฉลิมวุฒิครับ จบป.ตรีด้านวิศวกรรมจากบางมด มีความสนใจอยากศึกษาทางด้านคณิตศาสตร์ประกันภัยเหมือนกันครับแล้วล่าสุดไปสัมภาษณ์ทุนนิด้าด้านประกันภัยแต่ยังไม่รู้ผลว่าได้ไหม ถ้าได้ต้องเรียนเต็มเวลาและต้องออกจากงานประจำ อยากรู้ว่าในเรื่องของการทำวิทยานิพนธ์จะยากไหมครับ ระหว่างศึกษาผมสามารถไปสอบวัดระดับของทางด้านประกันภัยซึ่งมีหลายเลเวลได้เลยหรือเปล่าครับ เพาะเหงตัววิชาบางอันเปงพวกคณิตศาสตร์พื้นๆทางพวกความน่าจะเป็นซึ่งเคยเรียนมาตอนมัธยมปลายและมหาวิทยาลัย

ยังไงรบกวนคุณเรณูด้วยนะครับ ถ้าไงลองอีเมล์ไว้สอบถามปัญหาด้วยนะคัพ ขอบพระคุณเป็นอย่างสูง

ปล.ติดต่อ [email protected]

อยากปรึกษาเกียวกับอาชีพนักคณิตศาสตร์ประกันภัยค่ะ

คือ เรียนป.ตรี คณะที่ไม่เกี่ยวกับสถิติเลย แต่ชอบคณิตศาสตร์มาก

และสนใจอยากทำงานด้านนี้ ถ้าจะเรียนต่อโทที่ไหนได้บ้าง ?

ต้องใช้ความรู้พื้นฐานอะไรบ้างคะ ? ช่วยอธิบายรายละเอียดที่ควรทราบ

สำหรับผู้ที่จะเริ่มเรียนด้วยคะ

จะรอรับอีเมลล์จากคุณเรย์นะคะ

ขอบคุณคะ

เรียน ท่านอาจารย์เร

หนูจบตรี สถิติ ประกันภัย ที่ จุฬา

ทำงาน เจ้าหน้าที่รับประกันภัย มา 4 ปีแล้วค่ะ

ตอนนี้ อยากเรียนโท ต่อ ด้านคณิตศาสตร์ประกันภัยค่ะ

เพื่ออยากทำงาน Actuary ค่ะ

แต่ไม่แน่ใจว่าควรเรียนที่ นิด้า หรือ จุฬา

เพราะเห็นรุ่นพี่ท่านหนึ่งบอกว่า ที่นิด้า จะออกแนวประยุกต์ แต่บ้านหนูใกล้จุฬามากเลย

จึงเรียนมาเพื่อ รบกวนโปรดให้ความเห็นผ่านทาง e-mail หนูค่ะ

[email protected]

ขอขอบพระคุณเป็นอย่างสูง

คือแอดติดที่ พระจอมเกล้าพระนครเหนือคะ คณะวิทยาศาสตร์ประยุกต์ สาขาวิชาสถิติธุรกิจและการประกันภัย คืออยากรู้คะว่าต่างจากคณิตศาสตร์ประกันภัยไหม คือตอนนี้ที่บ้านไม่อยากให้เรียนสาขานี้ เค้ากลัวว่าจบมาจะไม่มีงานรองรับ เค้าบอกว่าความต้องการน้อย จริงหรอคะ แต่คือหนูอยากเรียนนะแต่เค้าไม่ฟังอะไรเลย หนูเลยอยากรู้คะว่าถ้าจบมาสามรถต่อสายไหนได้อีก ทำอาชีพอะไร เงินเดือน การทำงาน รบกวนด้วยนะคะ เพราะต้องสัมภาษณ์16นี้แล้วแต่ที่บ้านก็ยังไม่ให้เรียน

เคยอ่านมาว่า มีสิบเล่ม แล้วถ้าสอบจะได้เล่มละ 5000 บาท

จริงเท็จยังไงคะ ช่วยไขข้อข้องใจหน่อย ตอนนี้จะขึ้นมอหกแล้ว

สนใจมากๆ รบกวนด้วยนะคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท