ข่าวหน้า 1: เพิ่มประกันสุขภาพ 2.1พันบาทต่อคน


เพิ่มประกันสุขภาพ 2.1พันบาทต่อคน

เพิ่มประกันสุขภาพ 2.1พันบาทต่อคน

สศช.หวั่นหลักประกันสุขภาพทำงบบานปลาย ชี้แต่ละปีจ่ายเพิ่มในอัตราสูงกว่างบรายจ่ายรัฐกว่า 3 เท่า แนะ สปสช.วางกรอบบริการ ถ้าไม่จำเป็นให้จ่ายสมทบแทน สมาคม รพ.เอกชนหวั่นภาพพจน์เสีย จี้ คน.แจงคุมเข้มราคายา


เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน ที่ทำเนียบรัฐบาล นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการกลั่นกรองเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรี คณะที่ 2 โดยที่ประชุมมีมติ อนุมัติข้อเสนออัตราเหมาจ่ายรายหัวสำหรับการสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ประจำปีงบประมาณ 2551 ในอัตรา 2,100 บาทต่อประชากร โดยกระทรวงสาธารณสุขรายงานว่า รัฐบาลจะต้องใช้วงเงินงบประมาณในการสนับสนุนค่าใช้จ่ายเพื่อการประกันสุขภาพแก่ประชาชนรวม 97,601,700,000 บาท เนื่องจากโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าในปี 2551 จะมีประชากรที่เป็นเป้าหมายหลักในการเข้ารับบริการจากโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า 46,477,000 คน จากประชากรที่อยู่ในระบบประกันสุขภาพ 61.15 ล้านคน

รายงานข่าวแจ้งว่า ทั้งนี้ งบประมาณปี 2551 ที่เหมาจ่าย 2,100 บาทต่อประชากร ถือเป็นอัตราที่ปรับเพิ่มจากปี 2550 ที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบไปเมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2549 ให้อัตราเหมาจ่ายรายหัวสำหรับการสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าอยู่ 1,899.69 บาทต่อประชากร โดยมีประชากรที่เป็นเป้าหมายหลักในการประกันสุขภาพถ้วนหน้า 46,066,000 คน สูงกว่าปี 2549 ที่มีอัตราเหมาจ่าย 1,510.50 บาทต่อประชากร และปี 2548 ที่มีอัตราเหมาจ่าย 1,396.30 บาทต่อประชากร

"วงเงินเดิมที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอที่ประชุมคือเหมาจ่าย 2,139.83 บาทต่อประชากร ใช้งบฯรวม 101,398.02 ล้านบาท และมีประชากรเป้าหมายหลักเข้ารับบริการ 47,386,027 คน แต่สำนักงบประมาณต้องการให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ทบทวนใหม่ ให้เหลือเพียง 2,100 บาทต่อประชากร เพราะปี 2551 รัฐบาลมีงบประมาณจำกัด ประกอบกับยังมีโครงการและนโยบายสำคัญๆ ที่ต้องทำเร่งด่วนอีกมาก ขณะที่ สปสช.ให้ความเห็นว่า การเสนอให้อัตราเหมาจ่ายรายหัวสำหรับโครงการประกันสุขภาพถ้วนหน้าในปี 2551 สูงกว่าปี 2550 อาจจะส่งผลกระทบต่อฐานะการคลังของประเทศบ้าง เนื่องจากรัฐต้องสนับสนุนงบประมาณในส่วนนี้เพิ่มมากขึ้นในระยะยาว แต่สุดท้าย ที่ประชุมเห็นตามที่สำนักงบประมาณให้ความเห็น จึงปรับลดมาที่ 2,100 บาทต่อประชากร" แหล่งข่าวกล่าว

ข่าวแจ้งว่า สำหรับสำนักงานคณะกรรมการพัฒนา การเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เห็นว่า แม้ว่างบฯเหมาจ่ายจะมีอัตราเพิ่มขึ้นลดลงโดยตลอด ในปี 2549-2551 แต่อัตราเพิ่มก็ยังอยู่ในเกณฑ์ สูงคือ 15.32% เมื่อเทียบกับอัตราการเพิ่มของงบประมาณปี 2551 ที่เพิ่ม 4.39% ซึ่งไม่สอดคล้องกัน เมื่อประกอบกับการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ คาดว่าจะ ทำให้ระยะยาวอาจจะมีปัญหาในการสนับสนุนงบประมาณจัดบริการตามหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า นอกจากนี้ สศช.ยังเห็นควรให้ สปสช.หาข้อยุติเกี่ยวกับขอบเขตการจัดบริการที่จำเป็นภายใต้โครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า และบริการที่เกินความจำเป็นเพื่อให้มีการร่วมจ่ายสมทบตามมาตร 39 ของ พระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า พ.ศ. 2545 เพื่อให้การกำหนดเบี้ยประกันสุขภาพเป็นธรรมมากขึ้น

วันเดียวกัน นายคมสัน โอภาสสถาวร รองประธานกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ในวันที่ 14 มิถุนายน หอการค้าไทยและสมาคมโรงพยาบาลเอกชน และโรงพยาบาลมีชื่อเสียง 4-5 ราย จะเข้าพบนายศิริพล ยอดเมืองเจริญ อธิบดีกรมการค้าภายใน เพื่อชี้แจงรายละเอียดการกำหนดราคายาและค่ารักษาพยาบาลในโรงพยาบาล อาทิ ต้นทุน ค่าใช้จ่าย วิธีการคำนวณ และการปฏิบัติต่างๆ เช่น การแสดงราคาหรือป้ายแสดงราคาและค่าบริการ รวมถึงขอความชัดเจนและข้อเท็จจริงต่อมาตรการที่กรมการค้าภายในจะนำมาใช้บังคับและบทลงโทษ

"ข่าวที่เกิดขึ้นอาจกระทบต่อภาพพจน์ในสายตาของประชาชนผู้เข้ารับการรักษา ซึ่งสมาคมยืนยันว่าทางปฏิบัติมีการกระทำที่ถูกต้อง สมาคมมีคณะอนุ กรรมการราคายาแผนปัจจุบัน (กกร.) กำกับดูแล ยืนยันว่าขณะนี้ก็มีการเข้มงวดต่อการกำหนดราคายา มีมาตรการดูแลในเรื่องการแจ้ง หรือแสดงราคายา หรือค่ารักษาพยาบาล จึงอยากรู้ว่ากระทรวงพาณิชย์อยากให้ปฏิบัติอย่างไรอีก" นายคมสันกล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากคณะอนุกรรมการยาแผนปัจจุบันได้มีมติในวันที่ 8 มิถุนายนที่ผ่านมา ให้กำหนดกรอบในการดูแลรายการยาที่มีราคาแพง เป็น ยาจำเป็นต่อการรักษา และใช้อย่างแพร่หลาย จำนวน 54 รายการ อาทิ ยาต้านเชื้อแบคทีเรีย ยาลดไขมัน ยาลดความดัน ยาโรคกระดูก ยาโรคมะเร็ง ยาโรคเบาหวาน ยาต้านไวรัส ยาโรคหัวใจ ยาโรคเอดส์ ยารักษามดลูก เป็นต้น และเข้มงวดต่อการปิดป้ายแสดงราคายาและค่ารักษา หากฝ่าฝืนให้เอาผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ.2542 โทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท ส่งผลให้กรมต้องควบคุมราคายาไม่ควรเกินร้อยละ 30-50 และคาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จภายใน 2 สัปดาห์

ที่มา: http://www.matichon.co.th/matichon/matichon_detail.php?s_tag=01p0117140650&day=2007/06/14&sectionid=0101

คำสำคัญ (Tags): #งบ สปสช.
หมายเลขบันทึก: 103185เขียนเมื่อ 14 มิถุนายน 2007 09:43 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 ตุลาคม 2014 11:55 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท