ห้อยพระอย่างไรไม่ให้เสื่อมพุทธคุณ


ข้าไม่กลัวของข้าเสื่อม แต่ข้ากลัวว่าแกจะเสื่อมจากพระซะมากกว่า

การที่ใครคนใดคนหนึ่งจะหันมาสนใจเรื่องใดเป็นพิเศษ คงต้องมีเหตุ หรือที่มาที่ไปจริงไหมครับ ผมเองก็เช่นกัน

ช่วงที่ผมเป็นเด็กผมห้อยพระและวิ่งเล่นตามประสาเด็กในระแวกบ้าน บางครั้งก็วิ่งลอดใต้ราวตากผ้าบ้าง ผู้เฒ่าผู้แก่ และญาติๆของผมก็มักตักเตือนว่า...

"อย่าวิ่งลอดใต้ราวตากผ้า เดี๋ยวพระ (พุทธคุณ)จะเสื่อม"

ผมก็ฟัง แต่ในใจก็สงสัยว่า เอ๊...มันเกี่ยวข้องกันได้ไงน๊อ??? จนกระทั่ง ผมได้ยินแม่เล่าให้ฟังว่า "วันนั้นแม่ได้ยินคนถามหลวงปู่ว่า...ถ้าห้อยพระของหลวงปู่แล้วมีข้อห้ามอะไรบ้าง ลอดใต้ราวตากผ้า พุทธคุณจะเสื่อมไหม"

ผมทึ่งกับคำตอบของท่านมาก ท่านตอบว่า

"ไม่ห้าม จะลอดใต้ราวตากผ้าก็ได้ ข้าไม่กลัวของข้าเสื่อม แต่ข้ากลัวว่าแกจะเสื่อมจากพระซะมากกว่า"

คำตอบของท่านเหมือนเป็นการปลุกผมให้ตื่นจากความเชื่อเดิมๆซึ่งเชื่อแบบไร้ปัญญา หรือเรียกได้ว่าเป็นความศรัทธาที่ปราศจากความเห็นที่ถูกต้อง (สัมมาทิฐิ) 

 

หมายเลขบันทึก: 103111เขียนเมื่อ 13 มิถุนายน 2007 21:47 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 11:25 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (16)

สวัสดีค่ะ

แหม ถูกใจจริงค่ะ เคยสงสัยแบบนี้หละ แล้วไม่เคยเชื่อที่คนบอกเลยว่า ห้อยพระ แล้วลอดราวตากผ้า พุทธคุณจะเสื่อม ก็ ถ้ามันจำเป็นต้องลอด ไม่มีทางอื่นอีก ก็แย่เลย

แต่อย่างไร  ใจเราก็อยากเดินที่กว้างๆดี  ไม่ต้องไป ลอดโน่นนี่ ให้เมื่อยหรอกนะคะ

สวัสดีค่ะน้องข้ามสีทันดร  

ชอบที่ท่านตอบว่า "แต่ข้ากลัวว่าแกจะเสื่อมจากพระซะมากกว่า"  

ตรงดี เข้าประเด็นค่ะ พระไม่เสื่อมหรอกค่ะ... คนต่างหากที่เสื่อมเพราะการปฏิบัติไม่ดี ไม่ชอบ ... ขอบคุณที่นำมาเล่าสู่กันฟังนะคะ ^ ^

 

ห้อยพระไว้ในใจครับ ทำยังงัยก็ไม่เสื่อมแน่นอนครับ...

ขอบคุณมากครับ...

คำคม จริงๆ ครับ

แต่ข้ากลัวว่าแกจะเสื่อมจากพระซะมากกว่า"

มาเยี่ยมเยียน .. ขอบพระคุณครับ

 

P

สวัสดีครับ

ถูกต้องเลยครับ ที่คุณ sasinanda บอกว่า ใจเราก็อยากเดินที่กว้างๆดี  ไม่ต้องไป ลอดโน่นนี่ ให้เมื่อย แต่ว่าความสงสัย ค้างคาใจมันมีอยู่ ตั้งแต่ผมเข้าใจว่า อย่ากลัวว่าพระจะเสื่อม แต่ให้กลัวจะเสื่อมจากพระ มุมมองในการนับถือศาสนาพุทธของผมจึงเปลี่ยนไป และคิดว่าหลายๆท่านในนี้ก็นับถือโดยใช้ปัญญามากกว่า...งมงาย

ขอบคุณมากครับ

สวัสดีครับพี่

P

ผมชอบอ่านหนังสือของท่านปัญญานันทภิกขุ ครับ เรื่องของการปฏิบัติตัว เรื่องของการเข้าถึงแก่นพุทธศาสตร์

ผมมักหัวแข็ง ใช้เหตุผลอยู่มาก จนคนรอบข้างว่าผมดื้อมากไป แต่ผมมองว่าบางครั้งเราต้องมองให้ทะลุสิ่งที่มันครอบเราอยู่ มายาคติหรืออะไรต่างๆ

ผมไม่ชอบห้อยพระ เพราะผมไม่ชอบที่มีอะไรแขวนบนตัว ผมไม่มีนาฬิกา  นิ้วก็มีแหวนเกลี้ยงๆที่แม่ให้ ๑ วง ใส่ไว้ในนิ้วนาง จนคนอื่นๆแซวว่ามีคู่มั่นคู่หมาย จะสลับนิ้วก็ไม่ได้ เพราะมันเหมาะเจาะเอานิ้วนางผมพอดี

.....

เรื่องราวก็มีแบบนี้หละครับ

สวัสดีครับพี่กมลวัลย์... P

คำสอนของหลวงปู่ท่านก็เรียบง่ายแบบนี้ล่ะครับ สั้นๆตรงประเด็น ท่านเคยบอกว่า "ทำม๊ง ธรรมะข้าพูดไม่เป็นหรอก ข้าเป็นพระบ้านนอก" แต่ใครที่เจอกับตัวเอง ล้วนยอมรับว่า..... โดน (ใจกันทุกคน)ครับ
ขอบคุณมากครับ

 P

ปุจฉา : ห้อยพระอย่างไรไม่ให้เสื่อมพุทธคุณ?
วิสัชนา : ห้อยพระไว้ในใจครับ ทำยังงัยก็ไม่เสื่อมแน่นอนครับ...
ขอบคุณครับ...คุณดิเรกที่วิสัชนาได้น่าฟัง แถมยังตรงตามที่หลวงปู่ท่านขยายความบอกว่า "ถ้าใจแกเป็นพระ ไม่ต้องห้อยอะไรเลยก็ได้"

P
ขอบคุณครับที่แวะมาเยี่ยม แล้วจะไปทักทายคุณนิรันดร์เช่นกัน

สวัสดีค่ะคุณข้ามสีทันดร

  • อ่านบันทึกนี้แล้วต้องหยุดและสะดุ้ง...
  • หยุด...เพื่อมองดูตัวเองว่าเสื่อมจากพระหรือเปล่า...
  • หยุด...เพื่อมองจิตตัวเองว่าเสื่อมจากธรรมหรือเปล่า
  • หยุด...เพื่อมองตัวเองว่าเข้าถึงธรรมบ้างหรือเปล่า
  • สะดุ้ง...ถามตัวเองว่า  "ห้อยพระทำไม"..."ห้อยพระเพื่ออะไร".... 
  • ขอบคุณที่เตือนสตินะคะ

สวัสดีครับเอก...P

เป็นธรรมดาของคนมีปัญญาครับ ไม่เชื่ออะไรง่ายๆ ต้องพิสูจน์แล้วว่าจริงและถูกต้องจึงจะเชื่อ
"ผมไม่ชอบห้อยพระ เพราะผมไม่ชอบที่มีอะไรแขวนบนตัว ผมไม่มีนาฬิกา  นิ้วก็มีแหวนเกลี้ยงๆที่แม่ให้ ๑ วง ใส่ไว้ในนิ้วนาง จนคนอื่นๆแซวว่ามีคู่มั่นคู่หมาย จะสลับนิ้วก็ไม่ได้ เพราะมันเหมาะเจาะเอานิ้วนางผมพอดี".....ดูเป็นอิสระดีนะครับ
เรื่องใส่แหวนนี่สงกะสัยว่า คนเขาคงมองว่าผมมีคู่หมั้น 2 คน เลย เพราะสวมแหวนปลอกมีด ซึ่งเป็นแหวนพระที่นิ้วนางทั้ง 2 ข้าง ด้วยเหตุผลเดียวกันครับ ใส่นิ้วอื่นไม่ได้

สวัสดีครับคุณน่านฟ้าทะเลลม  P

ขอบคุณเช่นกันครับผมที่กรุณาเตือนสติ

สวัสดีครับคุณ

P

พระบ้านนอกอย่างหลวงปู่ดู่ หลวงปู่บุดดา หลวงปู่ชา ฯลฯ ท่านช่างมีความสามารถหาคำพูดที่เรียบง่าย กระทัดรัด แต่โดนใจ มาโต้ตอบ(คำถาม)ลูกศิษย์ลูกหาได้ดีแท้ 

ฟังแล้วรู้สึกดีจังเลยครับ 

    เยี่ยมมากเลยครับ ไม่กลัวว่าพุทธคุณจะเสื่อมกลัวผู้คนเสื่อมจากพุทธคุณมากกว่า   ที่คือปราชญ์ครับ

                   แต่เรื่องคำบอกเล่าของผู้เฒ่าผู้แก่ก็มีที่มานะครับ  อาจจะเป็นเพราะว่าแต่ก่อนมีครูบาอาจารย์หมอมนต์หมอผี หมอพราร์ม ท่านต้องปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ วางตนให้เป็นที่เคารพอยู่มากพอสมควร กิริยาอาการบางอย่างก็เป็นข้อห้ามของคน "มีของ"

             การไม่ลอดราวผ้าเป็นการวางตนให้น่าเคารพ การรักษาสิ่งของที่ศักดิ์สิทธิ์ในความเชื่อ จำต้องมีพิธีการที่ต่างจากสิ่งของปกติ หรือผู้คนปกติทั่วไป

              เหมือทางเหนือ ห้ามผู้หญิงเข้าไปในเขตพระธาตุ  ไม่ใช่เป็นเรื่องของสิทธิมนุษยชนแบบหัวชนฝาหรอกครับ   แต่นั่นเป็นภูมิปัญญา เป็นความแยบยลอันหนึ่งที่ไม่ควรดูแคลนและมองข้าม   ตรงข้ามอาจมีปรัชญาบางอย่างแฝงไว้

             ลอดหรือไม่ลอด  ไม่สำคัญ  แต่สิ่งหนึ่งที่ผมได้เรียนรู้ จากงานของผมที่ต้องเดินไปตามหลังคาเรือนในหมู่บ้าน ก็คือ 

            1.  บ้านที่มีระเบียบเรียบร้อยก็ไม่ทำราวตากผ้าไว้ในที่จะต้อนรับผู้คน หรือเป็นทางที่ต้องเดินไปมา

            2. หากไม่เดินลอดไปบางทีเราต้องเดินอ้อมไป  ผมสังเกตว่า ผู้คนที่มีความเชื่อเช่นนี้พอเห็นผมปฏิบัติแล้ว  ดูพูดชื่นชมผมประมาณว่า หมอเขาเป็นคนถือ หมายถึงว่าอาจจะมีครูบาอาจารย์ คาถา สิ่งศักดิ์สิทธิ์ทำนองนั้น  

             3. แต่ถ้าไม่ค่อยมีชาวบ้านเดินตามเราผมก็ไม่กลัวหรอกครับที่จะลอดไปเลย พระที่ห้อยคออยู่ ผมก็ยังนับถือท่านแล้วก็นึกถึงพระพุทธเจ้าอยู่เสมอ  ไม่มีเสื่อม  แน่นอนอย่างที่คุณเล่ามานั่นล่ะครับ

           ขอบคุณมากที่นำบันทึกนี้มาให้ 

P

ท่านคงไม่ได้ใช้ความพยายามในการหาคำตอบมาตอบ แต่ท่านน่าจะเรียกจากฐานข้อมูลที่ท่านได้เก็บไว้ก็เลยสามารถใช้ได้ทันที 

ขออนุญาตเล่าประสบการณ์ให้อาจารย์ฟังเล็กน้อยครับ
ผมอ่านคำสอนของหลวงปู่ดูลย์ แล้วกลับมาอ่านคำสอนหลวงปู่ดู่ ท่านมีวิธีการสอนและคำสอนที่คล้ายกันมาก พอโตขึ้นมาได้อ่านของหลวงปู่ชา และฟังคำสอนหลวงปู่บุดดา ก็เลื่อมใสในปัญญาและความเข้าใจลึกซึ้งในธรรมของท่าน

แต่เรื่องพระอาจารย์ใบลานเปล่าทำให้ผมฟังธรรมของใครได้หมดเลย เลือกที่จะหยิบของดีมากิน มากกว่าจ้องหาของเสียในจานครับ

ขอบพระคุณมากครับ

 

ด้วยความยินดีครับพี่สุมิตรชัย  P ที่เข้าทักทาย

  • จริงๆแล้ว ผู้เฒ่าผู้แก่ท่านฉลาดมากนะครับ บางเรื่องท่านซ่อนความห่วงใยและปรารถนาดีไว้เบื้องหลังความเชื่อ และคำสอนนั้นๆ แต่เนื่องจากกาลเวลาผ่านไป นานๆเข้า ก็เลยเหลือแต่ความเชื่อเพียงอย่างเดียว
  • ขอบคุณครับสำหรับเรื่องราวที่เกี่ยวเก็บจากการทำงานมาเล่าให้ฟัง และได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท