เกิดอะไรขึ้นที่รพ.พยุหะคีรี.......หลังจากเข้าร่วมตลาดนัดความรู้การดูแลผู้ป่วยเบาหวานครั้งที่2


เกิดอะไรขึ้นที่รพ.พยุหะคีรี.......หลังจากเข้าร่วมตลาดนัดความรู้การดูแลผู้ป่วยเบาหวานครั้งที่2

          สิ่งแรกที่กลับมา คือ อยากเขียนเรื่องเล่า ทางทีมก็วางแผนไว้ว่า จะเล่าเรื่องอะไรอย่างไร แต่อุปสรรคที่สำคัญของรพ.เราคือ ระบบการสื่อสาร Internet ใช้ไม่ได้ ตั้งแต่ก่อนไป ร่วมประชุม น้อยครั้งมากที่จะเปิดได้ จึงทำให้ไม่ได้เขียนเรื่องลงมา แต่ก็ได้กัลยาณมิตรอย่างคุณ สุภาพรรณ ที่คอยพยายามช่วยเหลือทุกวิถีทางที่จะลงเรื่องให้ วันนี้เลยลงทุนมานั่งร้าน Internet และส่งเรื่องมาให้   หลังจากการเข้าร่วมตลาดนัด ทั้งทีมรู้สึกโลกทัศน์กว้างขึ้น ได้รับรู้ถึงแนวทางในการดูแลผู้ป่วยเบาหวานที่หลากหลาย ทำให้รู้สึกว่ามีอะไรที่ต้องทำอีกมากมาย สิ่งสำคัญคือ มีกำลังใจในการที่จะพัฒนาการให้บริการในคลินิกมากขึ้น เนื่องจากแต่เดิม มองว่า รพ.ของเราเป็นรพ.เล็กๆ ยังขาดความพร้อมในหลายๆด้าน ตั้งแต่บุคลากร อุปกรณ์ เครื่องมือ ตลอดจนการสนับสนุนต่างๆ แต่สิ่งที่เรียนรู้ได้ คือ ในทีมที่เข้าร่วมตลาดนัดความรู้ครั้งนี้ แม้แต่สถานีอนามัยหรือ รพ.เล็กๆ ขนาด 10 เตียง ยังประสบความสำเร็จในการดูแลผู้ป่วยเบาหวาน กลับมาเริ่มเกิดไฟกองเล็กๆ ในสมองของทีม เกิดความรู้สึกต้องการพัฒนาคลินิกเบาหวานให้ดีขึ้น มีความคิดอยากจะทำอะไรต่างๆมากมาย สิ่งที่ทำเป็นอันดับแรก คือ นัดกันมาประชุม ว่าเราได้อะไรบ้าง นำมาเล่าให้ หัวหน้างานต่างๆที่เกี่ยวข้องฟัง และพูดถึงความฝันของทีมที่อยากจะทำ นำแนวทางไปปรึกษาผู้อำนวยการรพ. รู้สึกว่าทั้งทีมกระตือรือล้นมาก โดยเฉพาะเภสัชกรหัวหน้าทีม ของเราในครั้งนี้ ณ.ปัจจุบัน สิ่งที่เริ่มดำเนินการ คือ การจัดตั้งทีมที่ชัดเจนเนื่องจากรพ.ของเราเป็นรพ.เล็กๆ ในทีมจะไม่มี สหวิชาชีพครบ เช่น ไม่มีนักโภชนาการ ไม่มีนักกายภาพบำบัด ส่วนใหญ่ก็จะเป็นพยาบาลในแต่ละจุด เช่น พยาบาลผู้ป่วยนอก พยาบาลให้คำปรึกษา พยาบาลผู้ป่วยใน พยาบาล PCU แพทย์และเภสัชกร เราเริ่มพัฒนาศักยภาพของทีมโดยการเพิ่มพูนความรู้ให้ใกล้เคียงกัน (มีตัวแทนจากทีมเข้าอบรมสมาคมผู้ให้ความรู้โรคเบาหวาน นำมาถ่ายทอดต่อ) เพื่อนำไปสู่การทำงานที่เป็นในทิศทางเดียวกัน และปรับกิจกรรมในคลินิกเบาหวานให้ครอบคลุมโดยเริ่มจากมีการให้ความรู้ที่เป็นระบบ ชัดเจนขึ้น ปรับเปลี่ยนสมุดพก ให้เกิดประโยชน์ต่อผู้ป่วยได้จริง ในการทำกลุ่มน้ำตาลสูง มีการพัฒนาเป็นการดูแลเฉพาะรายบุคคล เริ่มทำในรายที่ทำกลุ่มแล้วยังพบมีน้ำตาลสูงติดต่อกัน 3 เดือน ปรับระบบการดูแลผู้ป่วยเบาหวานที่นอนโรงพยาบาล ปรับระบบการเยี่ยมติดตามผู้ป่วยเบาหวานหลังจำหน่าย โดยเยี่ยมเป็นทีมในกรณีปัญหาซับซ้อน ดูเหมือนสิ่งที่ต้องพัฒนามีมากมาย ทางทีมได้ตกลงกันว่า คงจะค่อยๆพยายามทำเท่าที่จะสามารถทำได้ อาจจะไม่ได้ผลเลิศที่สุด แต่คงดีกว่าไม่ได้ทำอะไรเลย นอกจากนี้ทางทีมยังมีความหวังว่าสักวันหนึ่ง คงจะมีเรื่องความสำเร็จสักเรื่องในการดูแลผู้ป่วยเบาหวานมาเล่าให้เครือข่ายฟัง สิ่งที่ทางทีมสนใจต้องการจะทำต่อไป คือ การใช้สมุนไพรในผู้ป่วยเบาหวาน ซึ่งสืบเนื่องมาจาก รพ.ของเราได้เริ่มมีการจัดตั้งสวนสมุนไพร ที่ชัดเจน การจัดตั้งชมรมสมุนไพรในโรงพยาบาล ........................

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 10266เขียนเมื่อ 21 ธันวาคม 2005 09:12 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 มิถุนายน 2012 23:36 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
ต้องขอชื่นชมคุณส้มเสี้ยวที่ลงทุนไปเขียนบันทึกนี้ที่ร้านอินเตอร์เน็ต สำหรับเรื่องการใช้สมุนไพรในผู้ป่วยเบาหวาน ในงานประชุมวิชาการโภชนาการ'๔๘ ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ มีการเสนองานวิจัยที่ใช้น้ำมะระขี้นกด้วย ทีมวิจัยประกอบด้วยนักวิชาการของสถาบันวิจัยโภชนาการ และของคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ในบทคัดย่อสรุปไว้ว่า การศึกษานี้แสดงให้เห็นว่าการดื่มน้ำมะระขี้นก ๒๐ มล.วันละ ๒ ครั้ง มีความปลอดภัยและสามารถลดระดับน้ำตาลในเลือดในผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ ๒ ได้ การรับประทานมะระขี้นกจึงเป็นทางเลือกหนึ่งในการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดของผู้ป่วยที่เป็นเบาหวาน
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท