หะสัน อัลบันนา ขุนพลแห่งกองทัพอิสลาม


คนมากมายอยู่เพื่อตัวเอง ไม่เคยคิดถึงผู้อื่น หลังจากสิ้นลมก็ถูกลืม ฉากชีวิตก็ถูกปิด

มีเพียงไม่กี่คนที่อยู่เพื่อผู้อื่น แบกรับความทุกข์ยากของผู้คน คนเหล่านี้ความตายไม่สามารถลบล้างพวกเขาได้ ซึ่งอิหม่ามหะซัน อัลบันนา เป็นหนึ่งในคนเหล่านี้

แม้ว่าท่านมีความสามารถสูงส่ง เฉลียวฉลาด ไหวพริบปฏิภาณดี เป็นครูที่พูดโน้มน้าวเก่ง เป็นนักพูดฝีปากกล้า เป็นนักเขียนที่เลอเลิศ มีความเป็นผู้นำ เป็นนักวางกลยุทธ เป็นนักการเมืองผู้เจนจัด แต่ว่าลักษณะอันโดดเด่นของท่านกลับเป็นการก่อตั้งองค์กรเผยแพร่ศาสนาอย่างเป็นระบบ ที่มีคุณสมบัติที่จะแพร่หลายข้ามพรมแดนเขตชาติและทวีป สามารถสร้างมุสลิมที่สามารถพลีตนและทุกสิ่งทุกอย่างเพื่ออัลลอฮ์ได้

ลิขิตแห่งองค์อภิบาลกำหนดให้ หะซัน อัลบันนา ถือกำเนิดในกลียุค ยุคต่อต้านอิสลาม โลกมุสลิมประสบกับแผนร้ายของนักล่าอาณานิคมที่แผ่อิทธิพลทั่วไป สงครามทางความคิดและอารยธรรมเกิดขึ้นกับประเทศมุสลิมส่วนใหญ่ ที่สุดแห่งโศกนาฎกรรมที่เกิดขึ้นกับโลกมุสลิมช่วงนั้นคือ การล้มล้างระบบคอลีฟะต์อิสลาม ในปี ค.ศ. 1924 แผ่นดินอันเป็นที่ตั้งของระบบคอลีฟะต์ อันเป็นศูนย์รวมและสัญลักษณ์แห่งเอกภาพของมวลมุสลิม ได้กลายเป็นอาณาจักรเซคคิวลาร์ กฎหมายอิสลามถูกล้มล้าง มุสลิมเป็นประหนึ่งฝูงแพะค่ำคืนฝนกระหน่ำ ความรู้ความคิดเกิดการพลิกผัน การละทิ้งศาสนาเกิดการแพร่หลาย ผลงานและศักดิ์ศรีแห่งอิสลามถูกป้ายสี อาณาจักรอิสลามถูกแบ่งแยกออกเป็นรัฐเล็กรัฐน้อยที่มีความหวาดระแวงซึ่งกันและกัน อุมมะต์อิสลามไร้ที่พึ่งใดๆนอกจากอัลลออ์และแรงศรัทธาต่อพระองค์

หะซัน อัลบันนาถือกำเนิดขึ้นมาในสภาพเฉกนี้ ท่านตระหนักดีว่าความพยายามของนักต่อสู้อิสลามจะสูญเปล่าตราบใด

ที่มีลักษณะเป็นการทำงานส่วนบุคคล ต่างคนต่างทำ ท่านเห็นความสำคัญที่จะต้องระดมกำลัง ร่วมมือกันทำงานในองค์กรเดียวกันที่เป็นองค์กรอิสลามเต็มรูปแบบ ที่ทำงานเพื่ออิสลามในชีวิตทุกๆด้าน นำเสนออิสลามแบบใหม่ อิสลามที่เต็มลักษณะและสง่างาม ซึ่งท่านเป็นนักปฏิรูปมุสลิมตามนัยแห่งวจนศาสดา ว่า

يأتى أمتى على رأس كل مائة سنة من يجدد لها أمر دينها

ทุกๆ เริ่มต้นศตวรรษ จะมีผู้มาปฏิรูปเรื่องศาสนาให้แก่ประชาชาติของฉัน

อัลลอฮ์ได้รวบรวมความอัจฉริยะภาพของผู้นำมุสลิมมากมายไว้ในตัวหะซัน อัลบันนา อาทิ ญะมาลุดดีน อัลอัฟฆอนีย์ มุฮัมมัด อับดุห์ รอชีด ริฎอ

ญะมาลุดดีน อัลอัฟฆอนีย์ เป็นคนแรกที่สังเกตเห็นความอาฆาตพยาบาทต่อชาวมุสลิมที่สถิตย์อยู่ในใจ

นักล่าอาณานิคมชาวยุโรป

มุฮัมมัด อับดุห์ เป็นผู้ที่เน้นการติดอาวุธทางปัญญาและวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีสมัยใหม่แก่มุสลิม

รอชีด ริฎอ เป็นนักอรรถาธิบายอัลกุรอ่าน ผู้ยึดแนวทางสะลัฟ เป็นมุฟตีที่รู้วิญญาณและเป้าหมายของอิสลาม

ท่านจึงเป็นผู้ที่ความรู้ความเข้าใจประดุจดังนักกฎหมายอิสลามผู้ยิ่งใหญ่ของเรา และมีแนวคิดอัจฉริยะของนักปฎิรูปผู้ยิ่งใหญ่อีกด้วย

ถึงแม้ว่าท่านไม่ได้เป็นนักเขียน แต่ข้อเขียนของท่านก็แพร่หลายตามวารสารสิ่งพิมพ์ต่างๆ ท่านเขียนเรื่องวิชาการอิสลาม และวิชาการทั่วไป ท่านเขียนทั้งวิชาการด้านตัฟซีรและหะดิษ ฟิกฮ์และอุศูลุลฟิกฮ์ จริยธรรมและตะเซาวุฟ ประวัติศาสตร์และบุคคลสำคัญ คำสอนและคุตบะต์ การทำงานองค์กรและการเผยแพร่ศาสนา การศึกษาและการปฏิรูป การเมืองและสังคม เศรษฐกิจและสถาปัตยกรรม ท่านเขียนงานเหล่านี้อย่างผู้เชี่ยวชาญที่มีวิจารณญาณ

ท่านอ่านอัลกุรอ่านเสียงดังกังวาน และอธิบายได้อย่างกับเป็นตอบารีย์หรือกุรตูบีย์ ท่านสามารถอธิบายข้อความยากๆให้ผู้คนเข้าใจได้อย่างง่ายดาย

แม้ว่าท่านไม่ได้เรียกตัวเองว่าเป็นศูฟีย์ แต่ว่าในการอบรมสั่งสอนของท่าน ท่านเน้นปลูกฝังความรักต่ออัลลอฮ์ ท่านกล่าวถึง ฮาริษ อัลมุฮาสิบีย์ และอบูฮามิด อัลฆอซาลีย์ เสมอ

ท่านศึกษาซุนนะต์จากบิดาของท่าน ผู้เรียบเรียงมุสนัดอะหมัด บินหัมบัล อีกทั้งได้เรียนฟิกฮ์เฉพาะมัซฮับอีกด้วย ทำให้ท่านสามารถเข้าใจแนวคิดของชาวสะลัฟและคอลัฟได้อย่างแจ่มแจ้ง

ท่านศึกษาประวัติศาสตร์อิสลาม จนสามารถเข้าใจถึงสาเหตุปัจจัยความเจริญรุ่งเรืองและความตกต่ำของมุสลิมในยุคต่างๆ โดยเน้นการศึกษาโลกมุสลิมปัจจุบันและการต่อสู้กับศัตรูชาวต่างชาติ

เมื่อดูผลงานของท่าน ไม่มีใครคิดเลยว่าเป็นผลงานของชายคนหนึ่งที่เสียชีวิตไปตอนอายุ สี่สิบต้นๆเท่านั้น หากว่าไม่ได้รับการอำนวยจากองค์ผู้สูงส่ง

คนมากมายที่เข้าใจอิสลามเพราะท่าน ผู้หลงผิดมากมายกลับตัวกลับใจเพราะท่าน สาธารณชนที่เคยร้องตะโกนบูชานักการเมือง กลับมากล่าวตักบีร ตัสเบียะห์อัลลอฮ์ นักคิดนักวิชาการเท่าไรที่เคยละเลยต่ออิสลาม ไม่สนใจต่อคำสอนของอัลลอฮ์ แต่หลังจากที่ได้ยินคำสอนของท่าน กลับมายึดมั่นต่อศาสนา มาร่วมเรียกร้องสู่การใช้ชีวิตภายใต้หลักการศาสนา ภายในระยะเวลาแค่ 20 ปี ท่านใส่วิญญาณแก่ร่างกายมุสลิมที่แน่นิ่งไปแล้วให้กลับมาเคลื่อนไหวอีกครั้ง ท่านสร้างมวลชนที่ทำให้นักล่าอาณานิคมทางทหาร ทางความคิดทางการศึกษาต้องตระหนก

ผลงานดังกล่าว ท่านทั้งหลายคิดหรือว่าเป็นเพราะศักยภาพของคนๆเดียว โดยปราศจากการอำนวยจากองค์ผู้สูงส่งกระนั้นหรือ ? หาไม่เลย ...

ด้วยบุคลิกภาพ ความเคร่งครัดทางศาสนา ความสัมพันธ์กับอัลลอฮ์อันแน่นแฟ้น ความเข้าใจอิสลามอันลึกซึ้ง เข้าใจสภาพสังคม รู้ซึ้งถึงปัจจัยของการพัฒนา สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นการอนุเคราะห์ขององค์อภิบาลต่อประชาชาติอิสลาม ท่านก่อตั้งองค์กรของท่านขึ้นมาในปี ค.ศ. 1928 ภายหลังจากระบบคอลีฟะต์ถูกล้มล้างประมาณ 4 ปี ได้ปฏิบัติตามแผนงานฟื้นฟูประชาชาติอย่างเต็มรูปแบบ ได้อุทิศชีวิตทั้งหมดเพื่อการนี้ ได้เรียกร้องเชิญชวนผู้คนมาร่วมงานด้วยกัน ซึ่งขณะนั้นท่านมีอายุเพียงแค่ 20 กว่าๆเท่านั้น

จิตใจอันมุ่งมั่นของท่านมีความคาดหวังอันยิ่งใหญ่เพื่อประโยชน์ของมวลมุสลิม คนที่ไม่รู้จักท่านคิดว่าสิ่งเหล่านั้นเป็นเพียงแค่ความเพ้อฝัน

องค์กรที่ตั้งขึ้นมีเป้าหมาย 2 ประการ คือ

หนึ่ง กู้เอกราชรัฐอิสลามให้พ้นจากการยึดครองทุกรูปแบบของต่างชาติ

สอง จะต้องสถาปนารัฐอิสลามที่นำคำสอนอิสลามมาปฏิบัติอย่างครบถ้วน ทั้งหลักคำสอนทางสังคม และเรียกร้องผู้คนสู่อิสลาม

แนวทางไปสู่เป้าหมายดังกล่าวโดยรวมๆแล้วคือ การสร้างปัจเจกชนให้เป็นมุสลิมเต็มรูปแบบ ทั้งด้านความเชื่อ ความคิด จิตใจ ร่างกาย การประกอบศาสนกิจ เมื่อนั้นก็เกิดเป็นครอบครัวมุสลิม แล้วเป็นชุมชนมุสลิม ซึ่งการปฏิรูปสังคมและรัฐอิสลามก็จะบังเกิดผลสำเร็จด้วยการอนุมัติของอัลลอฮ์

อิหม่ามหะซัน อัลบันนา ไม่ละเลยบทบาทของมุสลิมะต์ ในองค์กรมีหน่วยงานอะคอวาตมุสลิมาต สำหรับมุสลิมะต์โดยเฉพาะ เน้นการให้การศึกษาอบรมเพื่อให้เป็นมุสลิมะต์ที่ถูกต้องสมบูรณ์ คู่ควรต่อภาระหน้าที่สร้างอนุชนที่จะนำมาซึ่งชัยชนะดังคาดหวัง เป็นสมาชิกสังคมที่มีคุณภาพและบทบาทต่อสังคม ท่านไดก่อตั้งโรงเรียนสตรีฮิรออ์ขึ้นมา ในยุคที่การศึกษาของสตรีในโลกมุสลิมเป็นสิ่งประหลาด ที่นั่นยังมีการอาชีพแก่พวกนางอีกด้วย

ชีวิตของอิหม่ามหะซัน อัลบันนา ใช้ไปในการต่อสู้ปกป้องเสรีภาพทางการเมืองของมุสลิม เพื่อการแสดงความคิดเห็นอย่างเสรีในการเลือกผู้นำระดับต่างๆ ท่านเห็นว่าระบบรัฐสภาเป็นระบบที่ใกล้เคียงกับอิสลามมากที่สุด

ตามทัศนะของท่าน ดุนยาทั้งหลายล้วนไร้ค่า ท่านสาละวนอยู่กับการละหมาดอย่างมุ่งมั่น การกียามุลลัยล์อันยาวนาน การเดินทางเพื่อเผยแพร่ศาสนาไปยังทั่วทุกสารทิศ ธรรมมาสน์ทุกเมือง ทุกตำบลของอียิปต์ล้วนเคยรู้จักท่าน บางครั้งท่านละหมาดซุบฮ์ ที่ไคโร ละหมาดซุห์รี่ ที่อัลมีเนีย แล้วเดืนทางไปยังซูฮาจ แล้วไปกีนา แถบที่ราบสูง โดยหาเวลานอนหลับช่วงโดยสารรถไฟระหว่างเมืองเหล่านี้เท่านั้น

ชีวิตของท่านนับเป็นนาทีมิใช่เป็นชั่งโมง เป็นวัน หรือเป็นปี ท่านเดินทางไปยังสิบๆ จังหวัด และได้ไปพูดคุยกับมวลชนอย่างน้อยสามพันตำบล ท่านสร้างความรักด้วยรอยยิ้ม สร้างความมั่นใจด้วยเหตุผล หลีกเลี่ยงการโต้เถียงทุกรูปแบบ เน้นให้มุสลิมยึดมั่นต่อแก่นสารไม่ใช่กระพี้ จัดเรียงลำดับความสำคัญก่อนหลัง โดยเน้นย้ำการตักวาต่ออัลลอฮ์และเตรียมตัวเพื่อพบกับพระองค์เสมอ

ท่านกล่าวเสมอว่า การตายเพื่อความถูกต้องคือการมีชีวิตที่แท้จริง

โดยปกติแล้ว คนทั่วไปอาจมีเวลาฮึกเหิมและเวลาอ่อนล้า การมีแสงสว่างในตัวเองเสมอเป็นลักษณะของดาวฤกษ์เท่านั้น หะซัน อัลบันนา จึงเป็นประดุจดังดาวฤกษ์ที่ไม่เคยดับแสง

ท่านถูกลอบสังหารอย่างโหดเหี้ยมในวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 1949 ในขณะที่องค์กรอิควานมุสลิมีนกำลังเผชิญหน้ากับอุปสรรคปัญหาอันแสนสาหัส เจ้าหน้าที่ความมั่นคงห้ามสานุศิษย์และประชาชนทุกคนแม้กระทั่งการไว้อาลัยและ
ละหมาดแก่ร่างอันไร้วิญญาณของท่าน
บรรดาบุตรีของท่านจึงต้องทำหน้าที่หามศพของท่านไปยังหลุมศพและฝังด้วยตนเอง ด้วยอายุเพียง 43 ปีเท่านั้น

วันนี้ 55 ปีที่ท่านจากไป ชื่อเสียงของท่านกลับยิ่งแพร่หลายไปในวงการต่างๆ อุดมการณ์ของท่านยิ่งแทรกซึมไปยังทุกหัวระแหงของโลก

คำสอนของหะซัน อัลบันนา จะต้องดำรงอยู่ เป็นคำสอนที่มุสลิมผู้มีความบริสุทธิ์ใจต่อศาสนาไม่มีวันโกรธเกลียด องค์กรของหะซัน อัลบันนา แม้กระทั่งหลังจากท่านถูกลอบสังหารเสียชีวิตไปแล้วหลายสิบปี ก็ยังเป็นองค์กรที่มีความพอดีที่สุด ไม่สุดโต่งและไม่หละหลวม และยังเป็นแนวคิดที่มีความสำคัญต่อประวัติศาสตร์อิสลามยุคปัจจุบันเสมอ

ชีวประวัติ

ชีวิตในวัยเด็ก

วัยประถมศึกษา

ท่านเริ่มศึกษาขั้นประถมศึกษาที่โรงเรียนรอชาดดีนีย์ ซึ่งเป็นโรงเรียนเอกชน โดยได้บันทึกความประทับใจต่อบุคลิกภาพของ ชัยค์มุฮัมมัด ซะฮ์รอน เจ้าของโรงเรียน เนื่องจากชัยค์เป็นผู้รู้ที่เคร่งครัดและเฉลียวฉลาด แม้ว่าวุฒิทางการศึกษาในระบบของท่านจะไม่ทัดเทียมกับอุลามาอ์ของทางราชการ แต่ปฎิภาน ลักษณะนิสัย มรรยาทและความเป็นนักสู้ ทำให้ท่านสร้างผลงานได้มากมาย ท่านสอนชาวบ้านที่มัสยิด สอนศาสนาแก่สตรีตามบ้าน ท่านก่อตั้งโรงเรียนแบบโรงเรียนกาตีบะต์เอกชนทั่วไปในยุคนั้นขึ้นมาราวปี ค.ศ. 1915 เพื่อให้การศึกษาแก่เยาวชนตามรูปแบบการศึกษาสมัยใหม่ ให้ทั้งความรู้และการขัดเกลาจรรยามารยาท รายวิชาที่ศึกษาก็มีความโดดเด่น โดยที่นอกเหนือไปจากวิชาที่สอนกันทั่วไปในขณะนั้นแล้ว ในคาบสุดท้ายของวันพฤหัสบดีสุดสัปดาห์ นักเรียนจะต้องเรียนรู้และท่องจำหะดิษใหม่ และทบทวนหะดิษของสัปดาห์ก่อนๆ หะดิษที่ท่านท่องจำในช่วงนี้มีมากพอประมาณ และจำอย่างขึ้นใจสามารถนำไปใช้ได้ตลอดชีวิต

นอกจากนั้นยังมีการสอนเรียงความ ไวยากรณ์ บทร้อยแก้วร้อยกรองที่สำคัญๆ ซึ่งในสมัยนั้นวิชาเหล่านี้ยังไม่มีการสอนกันในกาตีบะต์อื่นๆ

ส่วนวิธีการสอน ถึงแม้ว่าท่านไม่ได้ศึกษาวิชาครูหรือจิตวิทยาใดๆ แต่ในการเรียนการสอนท่านเน้นการมีความรู้สึกร่วมในการเรียนรู้ระหว่างครูกับนักเรียน ในการให้รางวัลตอบแทนผลงานดีเลว ส่วนใหญ่เป็นนามธรรมที่ให้ความรู้สึกปิติยินดี หรือเป็นคำตำหนิในรูปบทกวี

เช่น การตอบแทนคนทำดีด้วยบทกวีนี้

หะซันตอบได้ดี ขออัลลอฮ์พอใจ ให้เขาฉลาด

และตอบแทนนักเรียนคนหนึ่งที่ทำงานไม่เป็นที่น่าพอใจว่า

โอ้ความขยันเจ้าอยู่ไหน จงมาไวๆ มาหาเด็กชายคนนี้

ท่านให้นักเรียนคนดังกล่าวเขียนบทกวีด้วยตนเองไว้ใต้คะแนนของงานที่ได้

ความจริงท่านเป็นคนตาพิการ แต่ว่าท่านสามารถเห็นสัจธรรมได้ชัดเจนยิ่งกว่าคนตาดีเสียอีก

فإنها لا تعمى الأبصار ولكن تعمى القلوب التى فى الأبصار

ดวงตาหาได้บอดไม่ แต่ดวงใจในทรวงต่างหากที่มืดบอด

ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา หะซัน อัลบันนา จึงตระหนักในความผูกพันระหว่างศิษย์กับครู

เพราะว่าเมื่อนักเรียนมีความเคารพรักต่อครูไม่ว่าครูสั่งสอนอะไรนักเรียนจะเชื่อฟังทั้งหมด

นอกจากนั้น ท่านยังถือโอกาสพานักเรียนไปอ่านหนังสือที่ห้องสมุดส่วนตัวของท่าน ทำให้นักเรียนติดนิสัยรักการอ่าน ใช้ให้นักเรียนค้นคว้าเรื่องราวบางตอน และพาไปร่วมวงสนทนา ศึกษาค้นคว้า หรือโต้แย้งระหว่างนักวิชาการ ทำให้นักเรียนมีความรู้สึกดีๆต่อวิชาการมากขึ้น

หะซัน อัลบันนา ศึกษาที่นี่ในช่วงอายุ 8 - 12 ปี

ระหว่างเรียนที่นี่ ท่านท่องจำอัลกุรอ่านได้ประมาณครึ่งหนึ่ง คือจากเริ่มต้นจนจบซูเราะต์อัลอิสเราะอ์

ระดับมัธยมศึกษา

หลังจากนั้น เมื่อชัยค์ซะห์รอน ไม่ได้สอนประจำ เริ่มมีอาจารย์ท่านอื่นๆเข้ามาร่วมสอน ซึ่งมีลักษณะแตกต่างจากชัยค์ หะซัน อัลบันนา จึงขออนุญาตบิดาเพื่อไปศึกษาต่อ โรงเรียนมัธยม แต่บิดาคัดค้านเพราะมีความมุ่งมาดปรารถนาให้ท่านท่องจำอัลกุรอ่านทั้งหมดก่อน ท่านจึงให้สัญญาว่าจะท่องจำด้วยตนเองต่อไป บิดาจึงยินยอม ท่านจึงไปเรียนต่อที่โรงเรียนมัธยม

สัปดาห์ต่อมาเมื่อเริมเรียนมัธยม กิจวัตรของท่าน ตอนเช้าหลังละหมาดซุบห์ คือท่องจำอัลกุรอ่าน จากนั้นจึงไปโรงเรียน กลับจากโรงเรียนท่านต้องศึกษาและฝึกฝนวิชาช่างซ่อมนาฬิกาจากบิดาซึ่งประกอบ
อาชีพนั้นไปจนกระทั่งละหมาดอีชา
หลังจากนั้นจึงทบทวนบทเรียนและเข้านอน

กิจกรรมช่วงมัธยมศึกษา

ครูมุฮัมมัด อับดุลคอลิก ครูคณิตศาสตร์ซึ่งมีความเคร่งครัดศาสนาและมีมรรยาทงดงาม ได้เสนอแนะให้นักเรียนชั้นมัธยมปีที่ 3 ตั้งชมรมจริยธรรมขึ้นมา โดยที่ท่านเป็นครูที่ปรึกษา ได้จัดให้สมาชิกทำการเลือกประธานชมรม และท่านได้ออกระเบียบขึ้นมาว่า ใครด่าผู้อื่น ให้ปรับ 1 มิลีม ใครด่าพ่อผู้อื่น ปรับ 2 มิลีม ใครด่าทอแม่ผู้อื่น ปรับ 1 เปียส ใครด่าทอศาสนา ปรับ 2 เปียส ใครทะเลาะกับเพื่อน ปรับ 2 เปียส โดยที่ถ้าผู้กระทำผิดเป็นกรรมการหรือหัวหน้าชมรม จะต้องปรับเพิ่มเป็นเท่าตัว ผู้ใดไม่จ่ายค่าปรับจะถูกคว่ำบาตรจากเพื่อนๆ เงินค่าปรับที่ได้ให้นำไปใช้เพื่อการกุศล สมาชิกชมรมทุกคนจะต้องกำชับซึ่งกันและกันให้เคร่งครัดศาสนา ดำรงละหมาด ซื่อสัตย์ต่ออัลลอฮ์ พ่อแม่ และผู้อาวุโสกว่า

หะซัน อัลบันนา ได้รับเลือกให้เป็นประธานชมรม ชมรมได้ค่าปรับมากพอประมาณ บางส่วนใช้ไปเพื่อเลี้ยงส่งเพื่อนบางคนที่ไปเรียนต่อที่อื่น และครั้งหนึ่งใช้จัดการศพชายนิรนามที่แม่น้ำไนล์พัดมาติดกำแพงโรงเรียน

หะซัน อัลบันนา เห็นว่า ชมรมลักษณะนี้สามารถหล่อหลอมลักษณะนิสัยนักเรียนได้ดี

ยิ่งกว่าบทเรียนภาคทฤษฎีเป็นอย่างมาก

สู่โรงเรียนฝึกหัดครู ( ปกศ. ต้น )

ต่อมาจังหวัดบูไฮเราะต์ได้ออกระเบียบใหม่ยกเลิกระบบการศึกษาแบบเก่า โรงเรียนของรัฐบาลจะเริ่มสอนตั้งแต่ระดับประถมศึกษา หะซัน อัลบันนา จึงชั่งใจที่จะเลือกเรียนมัธยมศึกษาตอนปลายที่วิทยาลัยสอนศาสนาแห่ง
อเล็กซานเดรียของอัซฮัร
หรือเข้าเรียนโรงเรียนฝึกหัดครูชั้นต้น ที่จังหวัดดะมันฮูร ซึ่งท่านตัดสินใจเลือกเรียนโรงเรียนฝึกหัดครู ซึ่งเป็นหลักสูตรฝึกหัดครูชั้นต้น 3 ปี โดยการเข้าเรียนที่นี่จะต้องประกอบด้วยเงื่อนไข 2 ประการ คือจำกุรอ่านทั้งหมด และอายุ 14 ปีเต็ม ซึ่งตอนนั้นหะซัน อัลบันนา อายุได้เพียง 13 ปีกว่าๆ และ จำอัลกุรอ่านถึงซูเราะต์ยาซีนเท่านั้น แต่ก็สามารถสอบเข้าได้ด้วยการให้สัญญาว่าจะท่องอัลกุรอ่านที่เหลือทั้งหมด และขอร้องให้คณะกรรมการอนุโลมเรื่องอายุ

ใกล้บ้านของท่านมีมัสยิดเล็กๆหลังหนึ่ง กลุ่มตอรีเกาะต์ศอฮาฟียะต์ ร่วมกันกล่าวซิกร์หลังละหมาดอีชาทุกคืน หะซัน อัลบันนา เกิดความประทับใจต่อความไพเราะของเสียงซิกร์จากจิตวิญญาณพร้อมๆ กัน ทางกลุ่มให้เกียรติแก่ยุวชนน้อยอย่างมาก ท่านจึงเข้าร่วมกิจกรรมเป็นประจำ ที่นี่ท่านได้รู้จักกับผู้ร่วมงานในกลุ่มอิควานมุสลิมีนในโอกาสต่อไปหลายท่านด้วยกัน ซิกร์ดังกล่าวทั้งหมดเป็นกุรอ่านและหะดิษ และบิดาของท่านก็เขียนหลักฐานของซิกร์ดังกล่าวให้แก่ท่าน

ท่านได้อ่านหนังสือ المنهل الصافى ซึ่งเป็นข้อเขียนถึงผลงานและประวัติชีวิตของชัยค์หะซะนัยน์ อัศศอฮาฟีย์ ผู้ก่อตั้งตอรีเกาะต์คนแรก ชัยค์หะซะนัยน์เป็นศิษย์เก่าอัซฮัร ถือมัซฮับชาฟีอีย์ ท่านเป็นนักวิชาการที่เคร่งครัดศาสนาเป็นอย่างยิ่ง

ตอรีเกาะต์ศอฮาฟียะต์ เน้นการศึกษาหาความรู้ การปฏิบัติศาสนกิจอย่างเคร่งครัด การซื่อสัตย์ต่ออัลลอฮ์และการรำลึกถึงพระองค์ การต่อต้านบิดอะต์ กำชับให้ทำความดี ยับยั้งความชั่ว การตักเตือนคนทำผิดต่อคำสอนของอัลกุรอ่านและซุนนะต์ ท่านมีความกล้าหาญในการส่งเสริมความดีและยับยั้งความชั่ว โดยไม่เกรงกลัวคำครหาใด ๆ ทั้งปวง ครั้งหนึ่งท่านเคยไปเยี่ยมริยาฎ ปาชา ขณะดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรี มีผู้รู้คนหนึ่งเข้ามาหานายกรัฐมนตรี เขากล่าวสล่ามและเดินก้มเข้ามาจนเกือบถึงขั้นรุกุอ์ ชัยค์เดินเข้าไปไกล้และตบหน้าเขา ชัยค์กล่าวว่า ยืนตรงๆ การรุกุอ์ไม่อนุญาตให้กระทำต่อผู้ใดนอกจากอัลลอฮ์ ท่านทำให้วิชาการและศาสนาตกต่ำ

ครั้งหนึ่งเพื่อนของริยาฎ ปาชา เข้ามาหาเขาโดยใส่แหวนทองคำและถือไม้เท้าที่หัวประดับด้วยทองคำ
ท่านกล่าวทันทีว่า
นี่ ทองนั้นเป็นสิ่งต้องห้ามแก่ผู้ชาย จงนำไปให้ภรรยาของท่านเสีย อย่าได้ขัดคำสั่งของท่านรอซูลุลลอฮ์ซิ

ครั้งหนึ่ง เขาและคณะอูลามาอ์เข้าเยี่ยมกษัตริย์เตาฟีก ปาชา พวกเขากล่าวสล่ามแก่กษัตริย์ด้วยเสียงอันดัง กษัตริย์ตอบสล่ามด้วยการยกมือ ชัยค์กล่าวว่า การตอบสล่ามจะต้องตอบให้เหมือนหรือไม่ก็ให้ดีกว่า การตอบด้วยการทำสัญญาณไม่เป็นที่อนุมัติ กษัตริย์จึงจำต้องกล่าวเหมือนที่ท่านแนะนำ และสรรเสริญต่อท่าทีนี้ของท่าน

นอกจากนั้นท่านยังเข้าร่วมกิจกรรมของผู้สอนศาสนาแบบอื่นๆ เช่น การอบรมศาสนา ณ สุสาน โดยมีวานิชจากจังหวัดมะห์มูดียะต์คนหนึ่งชื่อ ชัยค์มุฮัมมัด อบูเชาชะต์ รวมผู้คนราวๆ 10 กว่าคน ทั้งหมดร่วมกันไปเยี่ยมสุสาน เสร็จแล้วจึงไปหยุดที่มัสยิดชัยค์นุญัยลีย์ ร่วมกันอ่านซิกร์ เสร็จแล้วท่านได้เล่าชีวประวัติของคนดีๆสมัยก่อน ชัยค์เล่าได้อย่างประทับใจและซาบซึ้งเป็นอย่างยิ่ง แล้วท่านไปเปิดสุสานเปล่าให้ดู ท่านเตือนให้เรานึกถึงวาระสุดท้ายของเราที่นั่น พูดถึงความเปล่าเปลี่ยวและความมืดของสุสาน ท่านร้องให้และกลุ่มก็พลอยร้องให้ร่วมกับท่านด้วย แล้วทุกๆคนก็ทำการเตาบัตต่ออัลลอฮ์

ต่อมามีผู้แนะนำให้ท่านรู้จักกับชัยค์อับดุลวะห์หาบ หัวหน้าตอรีเกาะต์ศออาฟียะต์ซึ่งเป็นทายาทของ ชัยค์หะซะนัยน์ ในวันที่ 4 รอมาดอน ปี ฮ.ศ. 1341 การได้รับการอบรมจากชัยค์

อย่างไรก็ตามท่านก็ไม่ได้ให้สัตยาบันเป็นสมาชิกของตอรีเกาะต์ดังกล่าว
คำสำคัญ (Tags): #หะสัน อัลบันนา
หมายเลขบันทึก: 102526เขียนเมื่อ 11 มิถุนายน 2007 18:33 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 08:44 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

ไม่ทราบว่าผู้ที่แปลบทความนี้คือ ท่านอาจารย์ ฆอซาลีย์ หรือเปล่าครับ..

ครับ ไม่ทราบคุณ muftee เป็นนามของท่านใดครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท