อสมช.ทหารเอกแห่ง “กองทัพพัฒนาสุขภาพภาคประชาชน”


อสม

อสมช.ทหารเอกแห่ง กองทัพพัฒนาสุขภาพภาคประชาชน

 

ปฏิรูปสุขภาพฉบับที่ผ่านมา ผมพูดถึงเรื่องของอสม.ที่จะรับการติดอาวุธทางปัญญา และเพิ่มวิทยฐานะ เป็นอสม.เชี่ยวชาญ หรือ อสมช. โดยในวันที่ 22 มิถุนายน 2550 รมช.กระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์วัลลภ ไทยเหนือ จะเดินทางมาเป็นประธานเปิดการประชุมวิชาการสุขภาพภาคประชาชน จังหวัดเพชรบุรี ณ โรงแรมลองบีช อ.ชะอำ  ทั้งนี้กระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายที่จะเร่งพัฒนา อสม. ซึ่งมีประมาณ 8 แสนคนทั่วประเทศ ในปีนี้จะอบรมเพิ่มพูนความรู้ความสามารถให้ได้ร้อยละ 25 แบ่งเป็น 3 กลุ่มคือ กลุ่มแรก เพิ่มพูนด้านสุขภาพอนามัย กลุ่มที่ 2 พัฒนาเป็นอสม.ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะเรื่อง เช่น โรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง เบาหวาน สุขภาพจิต และกลุ่มสุดท้าย พัฒนาให้เป็นอสม.ผู้เชี่ยวชาญ ที่สามารถร่วมปฏิบัติงานในสถานีอนามัยได้ โดยจะพิจารณาหาค่าตอบแทนให้อสม. เหล่านี้ด้วย โดยจะเรียกกลุ่มอสม.ที่ได้รับการพัฒนานี้ว่าเป็นอสม.ผู้เชี่ยวชาญ หรือ อสมช. สำหรับจังหวัดเพชรบุรีมีอสม.(เดิม)อยู่ประมาณ 6,700 คน ทั้งนี้มีเป้าหมายที่จะได้รับการพัฒนาเป็นอสมช. ประมาณ 2,202 คน คือหมู่บ้านละ 3 คน จะเริ่มดำเนินการติดอาวุธทางปัญญา โดยกระบวนการฝึกอบรม ตั้งแต่วันที่ 9 กรกฏาคม -31 สิงหาคม 2550 โดยระดับจังหวัดจะมีทีมวิทยากร หรือครูฝึกระดับจังหวัด (ครู ก.)จังหวัดละ 5 คน เข้ารับการฝึกอบรมทบทวนความรู้และสร้างวิทยายุทธ์ใหม่ทั้งหมด ระหว่างวันที่ 5-6 กรกฏาคม 2550 เพื่อกลับมาดำเนินการให้เสร็จสิ้น ก่อนสิ้นปีงบประมาณนี้ สำหรับผู้รับนโยบายมาดำเนินการคือ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ โดยกองสนับสนุนสุขภาพภาคประชาชน อาสาสมัครสาธารณสุขที่จะผ่านการอบรมเพิ่มพูนความรู้ ก็จะนำเอาความรู้ไปใช้ในหมู่บ้านเพื่อส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคแก่ประชาชน สามารถคัดกรองกลุ่มเสี่ยง ดูแลกลุ่มเสี่ยงและผู้ป่วยโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ผู้ประสบปัญหาสุขภาพจิต ในชุมชนเองก็จะมีระบบการเฝ้าระวังและดูแลผู้ป่วยโรคที่เป็นปัญหาสุขภาพของหมู่บ้านของตนเอง สามารถจัดการด้านสุขภาพในการแก้ไขปัญหาและพัฒนาสุขภาพได้ด้วยตัวของชุมชนเองโดยเฉพาะในหน้าฝนเช่นนี้  โรคภัยไข้เจ็บที่มักจะมากับหน้าฝน ที่พี่น้องอสม.กำลังเร่งดำเนินการกันอยู่ในแต่ละพื้นที่ ก็คือ การเฝ้าระวังและทำลายแหล่งเพาะพันธ์ยุงลาย ที่ใช้หลัก 3 ป. คือ ปิด เปลี่ยน ปล่อย    เริ่มจากการ ปิด = ปิดฝาภาชนะที่จะเป็นแหล่งลูกน้ำยุงลาย คือ โอ่งน้ำ ตุ่มน้ำ ที่จะต้องปิดฝาให้มิดชิด เช่นการใช้ผ้าพลาสติกผูกรัดปากโอ่ง ,เปลี่ยน = เปลี่ยนน้ำในภาชนะที่มีน้ำขังแช่เป็นเวลานาน เช่น แจกันดอกไม้ แจกันพลูด่าง แจกันที่ศาลพระภูมิเจ้าที่ ,ปล่อย = ปล่อยปลาหางนกยูงในภาชนะที่ไม่สามารถปิด เปลี่ยนได้ เช่น ในอ่างบัว เป็นต้น การเฝ้าระวังป้องกันโรคในเขตรับผิดชอบ กำหนดให้อสม. 1 คน รับผิดชอบต่อ 10 หลังคาเรือน พร้อมทั้งมีการกระตุ้นให้ชาวบ้านได้มีการกำจัดลูกน้ำยุงลายไปพร้อมกันด้วย อีกทั้งดูแลว่ามีการบุตรหลานเกิดการป่วยขึ้นหรือไม่ ถ้ามีการป่วยไข้ให้รีบเข้ารับการรักษาทันทีที่สถานีอนามัยหรือโรงพยาบาลใกล้บ้าน พร้อมแจ้งข่าวให้ทางจังหวัดและอำเภอทราบและจะได้จัดทีมการควบคุมและป้องกันโรคระดับพื้นที่ เพื่อดำเนินการควบคุมโรคอย่างทันท่วงที ภายใน 24 ชั่วโมง

พวกเราคงจะได้เห็นผลงานที่ประจักษ์ ของทหารเอกแห่ง กองทัพพัฒนาสุขภาพภาคประชาชน คือ อสมช. ได้ทำงานอย่างเต็มที่และเป็นรูปธรรม ภายในเดือนสิงหาคม 2550 นี้  หวังว่าทุกท่านคงจะได้ปรบมือให้เพื่อเป็นกำลังใจ อีกครั้งนะครับ

นพ.วัลลภ ไทยเหนือ รมช.สธ. เป็นประธานในพิธีเปิดการอบรม อสมช.
และถ่ายภาพเป็นที่ระลึกกับอสม.ที่มาร่วมงาน ณ โรงแรมลองบีช ชะอำ

 

ภาพอสม.ดีเด่น ปี 2550 จำนวน 10 สาขา ของจังหวัดเพชรบุรี

รับรางวัลและโล่ จากนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเพชรบุรี   

คำสำคัญ (Tags): #อสม
หมายเลขบันทึก: 102464เขียนเมื่อ 11 มิถุนายน 2007 14:50 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 พฤษภาคม 2012 14:53 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท