คอนเสิร์ต “เปิดดวงตา” คอนเสิร์ต “เปิดศาสนาพุทธ”


เรามีคอนเสิร์ตร้องห่มร้องไห้ไปด้วยเพลงอกหักลากไส้มามากแล้ว นี่เป็นดนตรีทางเลือกอีกทาง ดนตรีที่ชักชวนให้ตื่นจากความหลับใหลไปสู่การรู้แจ้งและเบิกบานในเสียงเพลง.

คอนเสิร์ต  เปิดดวงตา   คอนเสิร์ต  เปิดศาสนาพุทธโดย...หนึ่งลมหายใจ           ระยะหลัง ๆ มักจะมีเรื่องให้เซอร์ไพร้สตลอด  เรื่องมันเป็นอย่างนี้....จู่ ๆ หลวงพี่พิทยา (หลวงพี่พิทยา คือพระไทยที่ไปอยู่หมู่บ้านพลัมเป็นเวลา ๑ ปี) ก็โทรมาชวนไปงาน คอนเสิร์ตเปิดดวงตา ที่ ม.ธรรมศาสตร์ บอกว่าจะขึ้นไปร้องเพลงในงานนี้พร้อมด้วยเพื่อนภิกษุจากหมู่บ้านพลัมอีก ๒ รูป แถมมีการชวนแบบทีเล่นทีจริงว่าจะให้เราขึ้นไปร่วมร้องด้วยแน่ะ งานนี้ก็เลยรีบตกปากรับคำแบบไม่ต้องคิดอะไรมาก แต่รับปากว่าจะไปชมเท่านั้นไม่ได้รับปากว่าจะขึ้นไปร่วมร้องบนเวที          นี่เป็นครั้งแรกในเมืองไทยที่มีการแสดงคอนเสิร์ตเปิดอัลบั้มเพลงธรรมะ  หลัก ๆ เลยก็คือเป็นการนำเอาบทกลอนของท่านพุทธทาสที่เคยแต่งไว้มาใส่ทำนองใส่ดนตรีให้เป็นเพลง โดยมี จีวัน เป็นศิลปินหลักทำหน้าที่นำเอาบทกลอนของท่านพุทธทาสมาเรียบเรียงใส่ทำนองและดนตรีเข้าไป พร้อมกับมีบทเพลงอื่น ๆ ที่แต่งขึ้นมาใหม่ และยังมีศิลปินรับเชิญท่านอื่น ๆ มาร่วมขับร้องด้วย  ก่อนที่จะกลายมาเป็นคอนเสิร์ตในวันนี้ได้มีการทำออกมาเป็นอัลบั้มถึง ๓ อัลบั้มด้วยกันแสดงว่ามีเรื่องราวของธรรมะที่อยากนำเสนอต่อสังคมอย่างมากมายจนล้นออกมาทีเดียว ๓ แผ่น           เย็นวันเสาร์ที่ ๑๒ พฤษภาคม ๒๕๕๐  ข้าพเจ้าก็ไปตามนัดที่หอประชุมใหญ่ ม.ธรรมศาสตร์อันคลาคล่ำไปด้วยผู้คนมากมาย  เราก็เตร่ ๆ อยู่หน้าหอประชุมตั้งนานไม่เห็นหลวงพี่พิทยามาตามนัด  เห็นมีแต่หลวงพ่อปัญญานันทภิกขุ นั่งเปิดงานอยู่หน้าประตูกับพระภิกษุอีกจำนวนหนึ่ง กะว่าจะกลับดีกว่าแต่พอได้เวลาก็เห็นพระภิกษุเดินทยอยขึ้นไปที่ชั้นสองเราก็เลยลอง ๆ พรางตัวเดินตามขึ้นไป (แบบว่าพรางชมพู) ถึงได้รู้ว่างานนี้พระภิกษุเข้าชมฟรี มีพระภิกษุจากวัดชลประทาน (ปากเกร็ด) ประมาณ ๑๐๐ รูปนั่งอยู่บนอัฒจรรย์ชั้นสอง และพระภิกษุจากวัดอื่น ๆ เห็นมีหลวงพี่มหาสมปองคนดังก็มาด้วย            ได้เวลาประมาณ ๑ ทุ่ม รายการคอนเสริ์ตเปิดอัลบั้มก็เริ่มประเดิมด้วย ๓ นักบวชจากหมู่บ้านพลัมออกมาร้องเพลงธรรมะให้ฟังประกอบด้วย หลวงพี่พิทยา หลวงพี่ฟับเจือง และ หลวงพี่ฟับเหลี่ยม เริ่มจากเพลง หายใจเถิดเพราะเธอมีชีวิต สลับกับเวอร์ชั่นภาษาอังกฤษ... ไม่มีเสียงดนตรีประกอบ..น่าฟังไปอีกแบบ..          จากนั้นก็เป็นเพลง ลมหายใจ ที่เราคุ้นเคยกันดีสลับกับเวอร์ชั่นภาคภาษาอังกฤษ...           No coming no goin หรือเพลง ไม่มีจากไป-ไม่มีกลับมา  หลวงพี่พิทยาอธิบายหลังร้องเพลงจบว่าพวกท่านทั้งสามรูปไม่ได้อยู่ที่นี่และไม่ได้ไปไหน เพียงแต่เหตุปัจจัยถึงพร้อมก็ทำให้พวกท่านได้มาอยู่ที่นี่ ได้มาร้องเพลงให้ฟังแค่นั้นเอง ดังนั้นจึงไม่มีการพบกันไม่มีการลาจาก มีเพียงเหตุปัจจัยที่ถึงพร้อมเท่านั้นที่ทำให้มีทุกสิ่งทุกอย่างเกิดขึ้น...อึ้ม...ฟังแล้วทำให้เข้าถึงธรรมะจริง ๆ             จากนั้นก็เป็นคราวของศิลปินฆราวาส ติ่งจีวัน ออกมาครวญเพลง มะพร้าวนาฬิเกร์ ซึ่งตกแต่งประดับประดาไปด้วย แสง สี เสียง และ Performance จินตลีลาประกอบ  พอจบเพลงมี ๓ สาว (ณัฐริกา ธรรมปรีดานันท์, วรรณพร ฉิมบรรจง กับใครอีกคนไม่รู้จัก ?)  ออกมาอ่านประวัติของท่านพุทธทาสภิกขุ ตั้งแต่ท่านเกิด...วัยรุ่น...ออกบวช...เรียนบาลี...เข้ากรุงเทพฯ...ไปอยู่วัดร้างจนได้รับฉายาว่าพระบ้า...สร้างสวนโมกข์...ได้รับเกียรติคุณต่าง ๆ จากสถาบันสงฆ์และสถาบันการศึกษา... จนกระทั่งมรณภาพ...เป็นการอ่านประวัติสดุดีประกอบดนตรีและโชว์ภาพสไลด์ของท่านพุทธทาสไปเรื่อย ๆ ตั้งแต่ภาพโยมพ่อ-โยมแม่ของท่าน ...ภาพท่านวัยเด็กจนกระทั่งเติบโต...จนกระทั่งออกบวช...งานนี้ใครไม่รู้จักท่านพุทธทาสให้มันรู้ไป            กลับมาเถิดศีลธรรม  เพลงขับขานคลอไปกับเสียงเปียโน ประกอบจิตลีลาบัลเล่ต์ผ่านเงานักแสดง ๒-๓ คน  เพลงนี้มาจากบทกลอนของท่านพุทธทาสที่เคยแต่งไว้สมัยเมื่อท่านมีชีวิตอยู่  เมื่อนำมาปรุงแต่งแล้วทำให้เกิดอรรถรสทางธรรม  น่าสนใจมากยิ่งขึ้น  เนื้อหาหลักของเพลงนี้บอกว่า โลกกำลังจะวินาศเพราะศีลธรรมกำลังจะพ่ายแพ้  บนจอหลังเวทีมีสไลด์โชว์ลายมือบทกลอนของท่านพุทธทาสตลอดจนจบเพลง            พิธีกร มีสุข แจ้งมีสุข (ไก่) ที่ชอบมาอ่านข่าวตอนเช้า ๆ ทางช่อง ๓ ออกมาแนะนำวงดนตรี จีวันแบนด์  โดยมี ดินป่าจีวัน (นักร้องนำ) อธิบายถึงเนื้อหาของคอนเสิร์ตครั้งนี้ว่า เป็นการนำเอาบทกลอนธรรมะของท่านพุทธทาสมาทำเป็นเพลง ซึ่งประกอบไปด้วย ๔ รสด้วยกันคือ อรรถรส สุนทรีรส  ธรรมรส และ วิมุตติรส  โดยที่ในอดีตกาลก็เคยมีพระภิกษุที่เคยฟังเพลงจนบรรลุธรรมมาแล้ว ฉะนั้นจุดมุ่งหมายของการแสดงคอนเสิร์ตในค่ำคืนนี้ก็เพื่อจะสื่อธรรมะให้เข้าถึงจิตใจของผู้ฟังผ่านบทเพลงด้วยนั่นเอง          บทเพลงต่อไปของดินป่าจีวันคือเพลง ตัวกู-ของกู ตกแต่งด้วยแสงสี ดนตรี กีตาร์ ซอ และเปียโน  จอภาพเบื้องหลังแสดงตัวหนังสือลายมือท่านพุทธทาสในบทกลอน ตัวกู-ของกู ที่ท่านเคยเขียนไว้อีกเช่นเคย            สลับด้วย  เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ออกมาอ่านบทกวีที่เคยแต่งไว้....พุทธทาสนามท่านปานขุนเขา....          กตัญญู  เพลงนี้มีตุ๊กตามือออกมาเต้นรำประกอบ  ท่วงทำนองชวนให้โยกหัวโยกไหล่ไปมาไม่น่าเบื่อ            มองแต่แง่ดีเถิด  เพลงนี้หลาย ๆ ท่านคงคุ้นเคยจากเนื้อหาที่พูดว่า เขามีส่วนเลวบ้างช่างหัวเขา จงเลือกเอาส่วนดีเขามีอยู่  เป็นประโยชน์โลกบ้างยังน่าดู  ส่วนที่ชั่วอย่าไปรู้ของเขาเลย  มีจินตลีลาตุ๊กตาปลาดุกตัวใหญ่ไล่กัดตุ๊กตาปลาตัวเล็กกว่า  ใส่ท่วงทำนองสนุก ๆ ไปด้วย ฟังแล้วเพลิดเพลินไม่เลว            พุทธทาสจักอยู่ไปไม่มีตาย ประสานเสียงหมู่ชายหญิง ๒๐ ชีวิต มีเปียโนและซอประกอบ  ขับร้องโดยสานุศิษย์ของ อ.ดุษฎี  พนมยงค์            ข้าพเจ้าเป็นพ่อค้า เพลงเร็กเก้มัน ๆ สนุก ๆ ที่นำเรื่องราวของท่านพุทธทาสมาแต่งเป็นบทเพลง ฉันเป็นพ่อค้าขายธรรมะ  มีร้านค้าประจำถิ่นชี่อสวนโมกข์....น่าสนใจดี          มะพร้าวนาฬิเกร์  นำมาขับร้องในอีกเวอร์ชั่นหลังจากที่ก่อนหน้านี้ขับร้องโดยติ่งจีวัน แต่คราวนี้ขับร้องโดย สุนทรี  เวชานนท์  มี  ธนิสร์ ศรีกลิ่นดี เป่าขลุ่ยโซโล่ประกอบ  เพลงนี้มีคอนเซ็ปเก๋ ๆ ว่าเป็นบทเพลงกล่อมเด็กที่สอนเด็ก ๆ ให้รู้จักนิพพานตั้งแต่ยังแบเบาะ            มีธรรมะเป็นแม่ มีแม่เป็นธรรมะ อีกเพลงที่มี performance ประกอบเพลงเพลิน ๆ      เป็นคอนเสิร์ตทั้งทีถ้าไม่มีเพลงร็อคแล้วจะเรียกว่าคอนเสิร์ตได้เต็มปากหรือ  ตถตา  เพลงร็อคแรง ๆ เร่าร้อน บอกเล่าถึงความไม่เที่ยงแท้แน่นอนของโลกธรรม ๘  อันประกอบไปด้วย...มีลาภก็ต้องเสื่อมลาภ...มียศก็ต้องเสื่อมจากยศ...มีสุขก็ต้องมีทุกข์...มีสรรเสริญก็ย่อมมีนินทาควบคู่กันไป...            เทวัญ  ทรัพย์แสนยากร  ปลุกเราให้ตื่นด้วยแซ็กโซโฟนคู่ใจกับท่วงทำนองเสียงแซ็กร้อน ๆ            ตามด้วยเพลง ความสุข-ความสุก ใคร ๆ ต่างก็วิ่งหาความสุขกันให้วุ่น แต่ดูหน้าตาก็ยังงง ๆ ว่าสุขจริง ๆ หรือว่า สุก ก.ไก่  กันแน่ ?ปิด ปิด ปิด - เปิด เปิด เปิด บทเพลงนี้มาจากกลอน ๒ บทของท่านพุทธทาส คือ  ปิด ปิด ปิด  กับ  เปิด เปิด เปิด   ที่พูดถึงการปิดหู-ปิดตา-ปิดปาก อย่าสอดส่ายให้มาก อย่าพูดมากจนเกินจำเป็น  ส่วนที่ควรเปิดก็คือ เปิดตารับแสงพระธรรม เปิดหูฟังเสียงธรรม เปิดปากสนทนาธรรม...                              หลังจากที่บทเพลงธรรมะจำนวน  ๒๐ กว่าบทเพลงได้ถูกขับขานออกไป  ศิลปินทั้งหมดก็ออกมารวมตัวกันบนเวทีอีกครั้งเพื่อกล่าวปิดการแสดง...            นับเป็นคอนเสิร์ตที่น่าสนใจคอนเสิร์ตหนึ่งที่ไม่ใช่แค่การแสดงดนตรีเท่านั้นแต่เป็นการนำเอาศิลปะการแสดงแขนงอื่น ๆ มาประกอบเข้าด้วยกันคือจินตลีลา การเต้นบัลเล่ต์  พร้อมไปกับการใช้เทคโนโลยีแสง สี  ที่ก้าวหน้ามาประกอบการแสดง  โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องของการนำเอาเนื้อหาธรรมะมาเป็นเมนูหลักของการนำเสนอ  แน่นอนว่านี่เป็นคอนเสิร์ตนอกกระแสที่ดูจะแตกต่างไปจากคอนเสิร์ตทั่วไป และถึงแม้คนดูในวันนั้นจะไม่ได้เต็มทุกที่นั่งแต่อย่างน้อยนี่ก็เป็นการเปิดโลกการแสดงดนตรีในรูปแบบใหม่ที่นำเนื้อหาของธรรมะในพุทธศาสนาเข้าไปเป็นแก่นหลักในการนำเสนอผ่านเสียงร้องและการเล่นดนตรีของศิลปินที่หลากหลายที่ยังไม่เคยทำมาก่อนเรามีคอนเสิร์ตร้องห่มร้องไห้ไปด้วยเพลงอกหักลากไส้มามากแล้ว  นี่เป็นดนตรีทางเลือกอีกทาง  ดนตรีที่ชักชวนให้ตื่นจากความหลับใหลไปสู่การรู้แจ้งและเบิกบานในเสียงเพลง.

หมายเลขบันทึก: 102360เขียนเมื่อ 11 มิถุนายน 2007 00:01 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:48 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท