อาหาร ออกกำลังกาย และฤดูกาล


คนเรามีแนวโน้มจะกินมากขึ้นในฤดูใบไม้ร่วงและฤดูหนาว การเปลี่ยนแปลงนี้รวมถึงน้ำหนัก และการออกกำลังกาย...

ดร.ยุนเช็ง มา แห่งมหาวิทยาลัยแมสซาชูเซ็ตส์ เมดิคอล สกูล ในวอร์เชสเตอร์ สหรัฐอเมริกา รายงานว่า

คนเรามีแนวโน้มจะกินมากขึ้นในฤดูใบไม้ร่วงและฤดูหนาว การเปลี่ยนแปลงนี้รวมถึงน้ำหนัก และการออกกำลังกายที่เปลี่ยนแปลงไปตามฤดูกาล

ดร.มาและคณะได้ทำการศึกษากลุ่มตัวอย่าง 593 คนที่มีอายุเฉลี่ย 48 ปีในตอนกลางเมืองแมสซาชูเซ็ตส์ เกือบทั้งหมดน้ำหนักเกินและอ้วน โดยให้อาสาสมัครบันทึกอาหาร และการออกกำลังกายติดต่อกัน 1 ปี

กลุ่มตัวอย่างนี้กินอาหารเฉลี่ยวันละ 1,963 แคลอรี่ โดยครึ่งหนึ่งมาจากแป้งและน้ำตาล(คาร์โบไฮเดรต) อีก 1 ใน 3 มาจากไขมัน

ฤดูกาลที่กินอาหาร(คิดเป็นหน่วยแคลอรี่)มากที่สุดเป็นฤดูใบไม้ร่วง(ก่อนฤดูหนาว) และน้อยที่สุดในฤดูใบไม้ผลิ(ก่อนฤดูร้อน)

แม้แต่ชนิดของอาหารก็เปลี่ยนไปตามฤดูกาล กลุ่มตัวอย่างจะกินอาหารประเภทแป้งและน้ำตาลมากที่สุดในฤดูใบไม้ผลิ(ก่อนฤดูร้อน) กินไขมันและไขมันอิ่มตัวมากที่สุดในฤดูใบไม้ร่วง(ก่อนฤดูหนาว)

น้ำหนักตัวของกลุ่มตัวอย่างเปลี่ยนแปลง 0.45 กก.ในรอบปี ฤดูที่น้ำหนักตัวเพิ่มคือฤดูหนาว ซึ่งมีกิจกรรมทางกาย(ออกกำลังกายและใช้แรง)น้อยที่สุด ส่วนฤดูที่มีกิจกรรมทางกายมากที่สุดได้แก่ ฤดูใบไม้ผลิ(ก่อนฤดูร้อน)

การเปลี่ยนแปลงตามฤดูกาลของอาหาร กิจกรรมทางกาย และน้ำหนักตัวปรากฏชัดที่สุดในผู้ชาย(มากกว่าผู้หญิง) คนวัยกลางคน คนที่ไม่ได้มีผิวขาว(นิโกร เอเชีย หรือคนที่มีเชื้อสายอเมริกากลางหรือใต้)

ปัจจัยที่ทำให้คนกินอาหารพลังงานสูงมากในฤดูหนาวคือ ช่วงเทศกาล คนบางคนสะสมไขมันเพิ่มขึ้นปีละ 1 ปอนด์ (0.454 กก.) เมื่อรวมกัน 10 ปีจะได้ 10 ปอนด์ (4.54 กก.) ทำให้เกิดปัญหาสุขภาพ

ดร.มาแนะนำว่า คนเราควรจะควบคุมอาหาร และออกกำลังกายเพิ่มขึ้นในฤดูหนาว เพื่อรักษาสมดุลระหว่างการได้รับพลังงานจากอาหาร และการใช้พลังงาน(ออกกำลังกาย และใช้แรง)

คนไทยซึ่งมีเทศกาลตลอดปีควรจะควบคุมอาหาร และออกกำลังกายเพิ่มขึ้นในทุกเทศกาล

นอกจากนั้นควรหลีกเลี่ยงงานเลี้ยง และงานสังสันทน์เท่าที่จะทำได้ เพราะยิ่งร่วมงานมาก ยิ่งเสี่ยงอ้วนมากขึ้นครับ... 

    แหล่งที่มา:                                      
  • Charnicia Huggins. Eating, exercise habits vary by season: study > http://go.reuters.com/newsArticle.jhtml?type=healthNews&storyID=10633195 > December 20, 2005. (source: European Journal of Clinical Nutrition, December 7, 2005)
  • ข้อมูลและการอ้างอิงในบล็อก บ้านสุขภาพ มีไว้เพื่อส่งเสริมสุขภาพ และป้องกันโรค ไม่ใช่เพื่อการรักษาโรค
  • ท่านที่มีโรคประจำตัวควรปรึกษาหมอที่ดูแลท่านก่อนนำข้อมูลไปใช้
  • ขอขอบพระคุณ > อาจารย์เทวินทร์ อุปนันท์ IT โรงพยาบาลค่ายสุรศักดิ์มนตรี
  • ขอขอบพระคุณ > อาจารย์ ณรงค์ ม่วงตานี และอาจารย์เทพรัตน์ บุณยะประภูติ IT ศูนย์มะเร็งลำปาง
  • นพ.วัลลภ พรเรืองวงศ์  > ๒๐ ธันวาคม ๒๕๔๘
หมายเลขบันทึก: 10172เขียนเมื่อ 20 ธันวาคม 2005 10:04 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 17:13 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

ไม่อนุญาตให้แสดงความเห็น
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท