กรณีของ "ซุปเปอร์แมน"


เป็นเรื่องดีที่จะมีพนักงานที่เป็นคนดี เป็นที่พึ่งต่อคนรอบข้างได้ มีความรับผิดชอบสูง เก่ง ทำอะไรก็มักจะประสบผลสำเร็จ กรณีพนักงานที่ดีเหล่านี้ ขอเรียกง่ายๆ ว่า "ซุปเปอร์แมน" 

อุปนิสัยของซุปเปอร์แมนตามเรื่องดั้งเดิมนั้น ไม่ได้ "ดี" อย่างที่ปรากฏอยู่ในปัจจุบัน ซุปเปอร์แมนเปลี่ยนไปจริงๆ โลโก้ก็เปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัยเช่นกัน 

ในองค์กรก็เช่นกัน ไม่ใช่ความผิดของซุปเปอร์แมนที่เขาดี เก่ง และเป็นที่พึ่งได้ แต่การที่หวังพึ่งซุปเปอร์แมนอยู่เรื่อยๆ ก็เหมือนกับมีเพื่อนแล้วล้มทับ-เอาเปรียบเขาตลอดเวลาอย่างนี้ สักวันหนึ่งเขาก็จะเปลี่ยนไป

การมีซุปเปอร์แมนอยู่ในองค์กร อาจถือได้ว่ามีสิ่งที่มีค่า แต่เมื่อมีโชคอย่างนี้แล้ว ก็ต้องมองให้เห็นคุณค่าตามความเป็นจริง และรักษาสิ่งดีนี้ไว้ให้นานที่สุด เลิก take it for granted เสียทีว่าเดี๋ยวซุปเปอร์แมนก็มาแก้ไขเอง สิ่งที่ต้องทำซึ่งเห็นอยู่แล้วว่าต้องทำ จะรอไปทำไม

ไม่ใช่ความผิดของซุปเปอร์แมนที่เขาดี เป็นที่พึ่งพาได้ มีความรับผิดชอบสูง และเก่ง แต่ในลักษณะที่มีใครสักคนโดดเด่นขึ้นมาเป็นพิเศษ ผู้บริหารควรกลับมาพิจารณาองค์กรตามความเป็นจริง ว่าความโดดเด่นนั้น เกิดจากความพิเศษของซุปเปอร์แมน หรือเกิดจากความไม่เป็นเรื่องของสิ่งที่อยู่รอบๆ ตัวเขา

หากเกิดจากความโดดเด่นของเขาเอง ควรพยายามหาทางช่วยเหลือแบ่งเบาภาระของเขาให้มากขึ้น อย่าให้เกิดความรู้สึกว่าทั้งองค์กรต้องพึ่งพาเขาคนเดียว -- เรื่องนี้นอกจากจะไม่จริงแล้ว ยังเป็นการผลักเขาไปสู่มิจฉาทิฏฐิอีกด้วย เป็นการทำลายเขาโดยอ้อม แทนที่จะช่วยให้เขาเกิดความภูมิใจในตนเองในทางที่ถูกต้องในเรื่องงาน+ความเป็นผู้มีจิตใจสูง

หากความโดดเด่นของซุปเปอร์แมน เกิดจากความห่วยของสิ่งที่อยู่รอบๆ ตัวเขา ท่านควรจะตระหนักว่าท่านมีปัญหาใหญ่แล้ว; วิธีหนึ่งซึ่งอาจแก้ไขได้เร็ว คือซอยงานให้ย่อยลง กำหนดหลักชัยให้อยู่ในระดับที่บรรลุได้ การประสบความสำเร็จบ่อยๆ จะช่วยสร้างความมั่นใจ+ความภูมิใจให้แก่พนักงานได้ -- สิ่งที่ท่านไม่ควรทำเด็ดขาดคือยกย่องซุปเปอร์แมนแล้วเหียบย่ำตำหนิผู้อื่นโดยการเปรียบเทียบกันโดยตรง นอกจากจะไม่ได้แก้ปัญหาอะไรเลยแล้ว ยังสร้างความกดดันให้ซุปเปอร์แมนอีกด้วย ความสะใจของท่านไม่ได้ช่วยให้องค์กรมีทรัพยากรที่มีคุณภาพขึ้นเลย

แม้กล่าวมาอย่างนี้ ผมไม่ได้แนะให้ทำให้ทุกคนเท่ากันหมด ไม่ได้ขอให้ทำให้ซุปเปอร์แมนกลายเป็น Clark Kent และไม่ได้แนะให้ทำให้คนธรรมดารอบๆ ข้างกลายเป็นซุปเปอร์แมนไปหมด

ผู้บริหารควรยอมรับพนักงานในแบบที่เขาเป็น แต่มอบหมายงานที่เขาสามารถ contribute ให้กับองค์กรได้อย่างคุ้มค่า ปรับปรุงให้พนักงานทุกคน ให้เป็นคนที่มีค่ามากขึ้น ทั้งในสายตาของสังคมรอบตัวเขา และในสายตาของตัวเขาเอง

ปัจจัยให้เกิดสัมมาทิฏฐิ หรือทางเกิดแห่งแนวความคิดที่ถูกต้อง ต้นทางของปัญญาแลความดีงามทั้งปวง ประกอบไปด้วย ปรโตโฆสะ เสียงจากผู้อื่น การกระตุ้นหรือชักจูงจากภายนอก คือการรับฟังคำแนะนำสั่งสอน เล่าเรียน หาความรู้ สนทนาซักถาม ฟังคำบอกเล่าชักจูงของผู้อื่น โดยเฉพาะการสดับสัทธรรมจากท่านผู้เป็นกัลยาณมิตร และ โยนิโสมนสิการ การใช้ความคิดถูกวิธี ความรู้จักคิด คิดเป็น คือ ทำในใจโดยแยบคาย มองสิ่งทั้งหลายด้วยความคิดพิจารณา รู้จักสืบสาวหาเหตุผล แยกแยะสิ่งนั้นๆ หรือปัญหานั้นๆ ออก ให้เห็นตามสภาวะและตามความสัมพันธ์แห่งเหตุปัจจัย (องฺ ทุก ๒๐/๓๗๑/๑๑๐; พจนานุกรมพุทธศาสตร์ฉบับประมวลธรรม [34] )

น่าทดลองให้ซุปเปอร์แมนถ่ายทอดวิธีคิด-วิธีทำ แม้จะไม่ได้ทำให้ทุกคนที่ฟังกลายเป็นซุปเปอร์แมนขึ้นมาได้ แต่ก็อาจจะมีบัวปริ่มน้ำ (ซึ่งมีโยนิโสมนสิการ) เข้าถึงอะไรบางอย่างได้เหมือนกัน (ด้วยปรโตโฆสะ)

หมายเลขบันทึก: 101627เขียนเมื่อ 8 มิถุนายน 2007 06:00 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2012 22:10 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ขอบคุณ บทความดีๆ นี้ ดิฉันก็เป็นได้แค่ บัวปริ่มนำ กำลังพัฒนาตนต่อไป แล้วจะตามมาอ่านนะคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท