ศรีลังกาประเทศที่น่าสนใจ


ประชุม ASAIN CREDIT UNION FORUM 2006

ศรีลังกาประเทศที่น่าสนใจ

ปฏิรูปสุขภาพฉบับนี้ต้องขออนุญาตท่านผู้อ่าน ที่จะนำเรื่องราวที่ผมได้มีโอกาสเข้าร่วมประชุม ASAIN CREDIT UNION FORUM 2006 ระหว่างวันที่ 20-24 กันยายน 2549 ณ กรุงโคลัมโบ ประเทศศรีลังกา วันที่ผมออกเดินทางเป็นวันเดียวกับที่คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข(คปค.) ได้ทำการยึดอำนาจการปกครอง ในช่วงที่อยู่ในประเทศศรีลังกา ก็มีข่าวการเปลี่ยนแปลงการปกครองของไทย ได้ถูกหยิบขึ้นมานำเสนอในหน้าหนังสือพิมพ์ของศรีลังกาทุกวันเช่นเดียวกัน ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นข่าวจากสำนักข่าว BBC นักวิเคราะห์ข่าวให้ข้อสังเกตว่าเป็นการรัฐประหารที่ไม่เหมือนประเทศอื่นๆ ข้อดี ที่ไม่มีการเสียเลือดเสียเนื้อ มีภาพของประชาชนมอบดอกไม้ให้กับทหาร หรือไม่ก็เข้าคิวกันยืนถ่ายรูปหมู่กับรถถัง นั่นคือภาพที่ออกสู่สายตาชาวต่างประเทศ (เท่าที่ผมได้รับทราบ) ขอกลับเข้ามาสู่เรื่องราวที่ได้พบเห็นในประเทศศรีลังกาดีกว่า ประชากรส่วนใหญ่จะนับถือพุทธศาสนา มีคริสต์ อิสลามและฮินดู รองลงมา อาชีพก็ทำเกษตรกรรมที่ขึ้นชื่อก็ปลูกชา การทำสวนยาง สวนมะพร้าว โรงแรมGALADARI สถานที่จัดประชุม อยู่ใจกลางกรุงโคลัมโบ ใกล้กับที่พักของประธานาธิบดี ซึ่งผู้จัดแจ้งว่าปลอดภัยที่สุดเพราะมีค่ายทหารล้อมรอบ ถนนรอบๆ มีทหารคอยยืนรักษาการ ตลอดแนวถนน (นั่นคือเหตุผลที่เขาบอกว่าปลอดภัย) แต่สำหรับเราก็คิดได้เลยว่านี่คือ ความอึดอัด เพราะว่าไม่สามารถออกไปเตร่ที่ไหนได้เลย ประเทศศรีลังกาตกเป็นเมืองขึ้นของต่างชาตินับร้อยปี ทั้งดัชท์ อังกฤษ อีกทั้งต้องเผชิญกับภัยธรรมชาติอยู่ตลอดเวลา เมื่อคราวเกิดเหตการณ์สึนามิ ก็กวาดซะเรียบ เสียหายไปมากเลยทีเดียว ประชาชนของเขาต้องพยายามช่วยเหลือตัวเองมาโดยตลอด จะพึ่งพาจากรัฐบ้างก็ยากที่จะเข้าถึง เนื่องจากเหตุการณ์บ้านเมืองยังไม่ค่อยปกติ มีกลุ่มแบ่งแยกดินแดนพยัคฆ์ทมิฬ อีแรม ขยายฐานอำนาจอยู่ทางด้านตอนเหนือ  ดังนั้นชาวบ้านทั่วไปจึงต้องจับกลุ่มช่วยกันเอง จากสรุปการบรรยาย สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนได้จัดตั้งขึ้นปีนี้ ครบรอบ 100 ปีแล้ว โดยมีชุมนุมกลาง คือ SANASA FEDERATION นอกจากนี้แล้วที่น่าสนใจ คือ ธนาคารประชาชน เขาใช้ชื่อว่า “PEOPLE BANK” เป็นพี่เลี้ยง นำส่วนที่เกิน หรือ กำไร นำมาแบ่งปันให้ความช่วยเหลือ องค์กรการเงินเล็กๆ ที่ยังไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ ทั้งในด้านการบริหารและวิชาการ ฝึกอบรมผู้นำสร้างผู้บริหารสหกรณ์ ธนาคารประชาชนจะเข้มแข็งมาก และเข้าถึงประชาชนได้เป็นอย่างดี ตั้งอยู่แทบทุกมุมถนน เป็นธนาคารเล็กๆ ไม่ใหญ่โต ไม่โอ่อ่าเหมือนเมืองไทย จึงถือได้ว่าเป็นองค์กรการเงินของชาวบ้านที่ชาวบ้านเข้าถึง ที่น่าทึ่งก็ที่เขามีนโยบายจับมือกับเครดิตยูเนี่ยนส่งเสริมให้ประชาชนได้ช่วยตนเองแบบครบวงจร ไม่ใช่เฉพาะการรับฝากและปล่อยกู้เท่านั้น ชุมนุมกลาง SANASA FEDERATION จะทำหน้าที่ 6 ประการ คือ 1.พัฒนาองค์กรด้านการเงินของประชาชนเป็นสถานบันการเงินกลาง 2.ด้านประกัน และ สวัสดิการ (SANASA Insurance Co.) 3.ด้านส่งเสริมการศึกษา ฝึกอบรม (SANASA Campus Ltd.) 4.ส่งเสริมผลิตภัณฑ์ (SANASA Producer&Consumer Alliance) 5. ส่งเสริมด้านเครื่องจักรกล ส่งเสริมช่างพัฒนาฝีมือ (SANASA Engineering&Development Ltd.)  6. ด้านเอกสาร สื่อต่างๆ (SANASA printer’s & publisher Ltd.) จะเห็นได้ว่าการทำงานทั้ง 6 ด้านจะเป็นการส่งเสริมสนับสนุนซึ่งกันในแต่ละด้าน ด้วยการเริ่มต้นด้วยการออมเงิน สะสมทุนด้วยกัน เมื่อมีกองทุนแล้ว ก็สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้โดยสะดวก นำไปประกอบอาชีพ ทั้งด้านอุตสาหกรรมในครัวเรือน จนถึงอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อม แล้วยังช่วยส่งเสริมด้านการตลาด ส่งเสริมการขาย เรียกได้ว่าครบวงจร ประเทศที่ยากจนเหล่านี้ ในจุดด้อยก็ย่อมจะมีจุดแข็ง ซึ่งจุดแข็งที่ว่านี้ ก็คือ การพึ่งตนเอง ประชาชนช่วยตนเองก่อน คงไม่ต้องหวังรอพึ่งแต่ภาครัฐอย่างเดียว  เพียงแต่รัฐอย่าขัดขวางเท่านั้นเอง

ประเทศศรีลังกา จากภาพที่เรามองนั้นคือประเทศที่ยังล้าหลัง ยังไม่พัฒนา ถนนหนทาง การคมนาคมยังลำบาก แต่เท่าที่สังเกตเขาก็มีความสุขดี อยู่แบบพอเพียง พึ่งตนเอง  ถึงไม่ต้องรวยแต่ก็มีความสุขได้  ผิดกับบางคนที่รวย แต่ก็ไม่มีความสุข ท่านว่าจริงไหมครับ

 
คำสำคัญ (Tags): #ศรีลังกา
หมายเลขบันทึก: 101505เขียนเมื่อ 7 มิถุนายน 2007 16:37 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 18:55 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท