เยี่ยมชมโรงงานไม้ พาร์ติเคิล บอร์ด


มีโอกาสพัฒนาที่หน้างานได้โดยการลดการสูญเสีย
เยี่ยมชมโรงงานไม้ พาร์ติเคิล บอร์ด
วันที่ ๑๗ ธค. ๔๘ หลังจากประชุมสภามหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์เสร็จในช่วงเช้า     และกินอาหารเที่ยงเสร็จ ก็ออกเดินทางไปสุราษฎร์ธานี    ไปที่อำเภอพุนพิน    เพื่อเยี่ยมชมโรงงานของบริษัท สยามริโซ ผลิตภัณฑ์ไม้ จำกัด (RISO)  ตั้งอยู่ที่ ๓๙/๙ หมู่ ๓  ต. พุนพิน    ดูวิดีโอบรรยายสรุป และซักถามคุณเพชร ศรีหล่มสัก ผู้จัดการ
พาร์ติเคิล บอร์ด คือแผ่นไม้ที่ทำจากการอัดชิ้นส่วนไม้ด้วยกาว    ราคาถูกกว่าไม้อัดมาก    ไม้ที่เป็นวัตถุดิบคือเศษไม้ยางพารา     เอามาสับด้วยเครื่องจักรให้เป็นชิ้นส่วนเล็กๆ    แล้วอบ    เลือกเอาชิ้นที่บางและขนาดเหมาะสมมาผสมกาว  โรยเป็นแผ่น แล้วอัดด้วยเครื่องที่ความร้อน ๒๐๐ องศาเซลเซียส    แล้วส่งไปฉาบผิวให้เป็นลายไม้    ลายไม้ดังกล่าวหนาขนาดกระดาษฉาบติดด้วยกาว    เขาบอกว่าในที่ชื้นพาร์ติเคิล บอร์ด ทนกว่าไม้อัด    เครื่องจักรที่ใช้ผลิตทำในเยอรมัน ออกแบบตามความต้องการของโรงงาน    คุณเพชรบอกว่าการวิจัยที่ทำอยู่เน้นที่กาว     ได้ร่วมมือกับบริษัท TOA ผู้ผลิตกาว ในการพัฒนากาวให้คุณภาพดียิ่งขึ้น      ผมกลับมาคิดว่ามีลู่ทางที่จะเพิ่มคุณภาพ และลดอัตราการสูญเสีย และเพิ่มความรู้ความสามารถของพนักงานและวิศวกรได้โดยการทำ KM และ TQA
เราเดินชมกระบวนการผลิตในโรงงานขนาดมหึมานี้เป็นเวลากว่าครึ่งชั่วโมง     โรงงานสะอาดและไฮเทคมาก    มีห้องควบคุมกระบวนการผลิตด้วยคอมพิวเตอร์ทั้งหมด ในระบบ HMI – Human Machine Interface     พนักงานทั้งหมดประมาณ ๒๐๐ คน    เป็นธุรกิจขนาดปีละ ๔๘๐ ล้านบาท    อัตราการผลิตวันละ ๓๐๐ ลูกบาศก์เมตร    ผมคิดว่าโรงงานี้มหึมาแล้ว เขาบอกว่าโรงงานของบริษัทวนชัยซึ่งอยู่ใกล้ๆ ใหญ่กว่าถึง ๑๐ เท่า    ดร. สุพัทธ์ พู่ผกา อธิการบดี มวล. บอกว่า บริษัทวนชัยเป็นผู้บุกเบิกการผลิต พาร์ติเคิล บอร์ด ในเมืองไทย ตั้งแต่ พศ. ๒๕๒๙    ตอนแรกๆ ไม่ค่อยมีคนใช้    แต่ตอนนี้เฟอร์นิเจอร์ส่วนใหญ่ทำด้วย พาร์ติเคิล บอร์ด   
ปัญหาสำคัญของโรงงานนี้คือความขาดแคลนวัตถุดิบ คือเศษไม้ยางพารา     เขาบอกว่าเขาไม่ยอมซื้อไม้อื่นที่จะเป็นการสนับสนุนการตัดไม้ทำลายป่า     อีกปัญหาหนึ่งคือเรื่องสิ่งแวดล้อม ได้แก่ฝุ่นและกลิ่นที่ออกไปกับควัน    มีชาวบ้านใกล้เคียงมาร้องเรียนบ้างเป็นบางครั้ง     และปัญหาที่ ๓ คือขณะนี้ผลิตได้มากจนมีปัญหาการแข่งขันด้านแย่งตลาดกัน 
ผมเข้าใจว่าอุตสาหกรรมไม้ต้องทำเป็น chain จึงจะเกื้อกูลกัน    ดังนั้นในบริเวณติดกันจึงมีบริษัทเรืองอุทัย สุราษฎร์ธานี จำกัด (1991) ซึ่งเป็นโรงงานผลิตไม้ยางพาราอบอยู่ด้วย     และครอบครัวนี้มีโรงงานผลิตเฟอร์นิเจอร์อยู่ที่ปทุมธานี    ผลิตภัณฑ์ทั้งหมดส่งออกต่างประเทศ ประมาณ ๖๐%
ไปดูโรงงานแบบนี้แล้วสะท้อนใจที่ประเทศไทยไม่สามารถเพิ่มขีดความสามารถในการพึ่งตนเองด้านเทคโนโลยีได้    เรายังต้องซื้อเครื่องจักรของโรงงานแบบนี้ในลักษณะ turn key    และไม่มีลู่ทางถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านการผลิตเครื่องจักรเพื่อเพิ่มความสามารถในการพึ่งตนเองได้เลย
วิจารณ์ พานิช
๑๗ ธค. ๔๘

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 10135เขียนเมื่อ 19 ธันวาคม 2005 20:04 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 14:20 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

ผมส่งเสริมปลูกสวนป่าตะกูครับไม้ 1.5 เดือนครับ ไม้จะตัดประมาณ ธ.ค. 52 จำนวน 100 ไร่ ครับ ผมจะส่งไม้ให้ทางบริษัทได้หรือไม่ครับ

อ.ชอบ 081-906-5549

ขอราคาไม้สน ไม้เบญจพรรณ

สวัสดีคะ

ขอทราบรายละเอียดการสั่งซื้อ และ ราคา

ไม้สน ไม้เบญจพรรณ ขนาด 55*28*2 โทร 02-514-1474 แฟ็กซ์ 02-514-1475 ติดต่อ คุณโอ๋

สวัสดีค่ะ

ขอทราบระบบบัญชีของบริษัทคุณได้ไหมค่ะ จะนำไปประกอบสื่อการเรียนของดิฉันคะ

ของปีที่แล้วก็ได้นะคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท