สถาบันมัสยิด กับบทบาทเกี่ยวกับทุนทางเศรษฐกิจ


มัสยิด

                        เนื่องจากอิสลามเป็นระบบชีวิตที่สมบูรณ์แบบ  ประกอบด้วยคำสอนที่เกี่ยวข้องกับทุกเรื่องราวในการดำเนินชีวิตของมนุษย์   รวมทั้งคำสอนที่เกี่ยวกับเศรษฐกิจ  อิสลามส่งเสริมให้มุสลิมเป็นผู้ที่ทำงานและมีรายได้ตามครรลองที่ดีมีประโยชน์ต่อตนเองและสังคม   แต่ห้ามประกอบอาชีพทุจริต   

ดังนั้นด้วยสถานภาพของมัสยิดที่เป็นสถาบันหลักหนึ่งในสังคมมุสลิม  สถาบันมัสยิดจึงเอื้ออำนวยต่อสภาพทางเศรษฐกิจของสังคมโดยรวม  โดยการเป็นสถาบันให้ความรู้และเผยแพร่หลักการอิสลามทางด้านเศรษฐกิจ  เป็นสถาบันที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับซะกาต  และเกี่ยวกับทรัพย์สินวะกัฟ  ดังจะกล่าวถึงในรายละเอียดต่อไปนี้

                ในเมื่อมัสยิดเป็นสถาบันที่มีหน้าที่เผยแพร่ศาสนาอิสลาม  ซึ่งเป็นศาสนาที่เอื้ออำนวยต่อการประกอบอาชีพ   มัสยิดจึงมีหน้าที่ส่งเสริมการประกอบอาชีพตามหลักการศาสนาอิสลามเช่นเดียวกัน     ดังนั้นบทบาทของมัสยิดด้านเศรษฐกิจจึงต้องสอดคล้องกับหลักการด้านเศรษฐกิจด้วยโดยการปฏิบัติสิ่งต่อไปนี้    (  Al-Banna,1992 : 340 )

                1. มัสยิดจะต้องส่งเสริมให้ผู้คนมีความขยันขันแข็งในการประกอบอาชีพ  และให้ใช้ทรัพย์สินที่ได้มาให้เกิดประโยชน์มากที่สุด

                เนื่องจากอิสลามยกย่องทรัพย์สินที่ได้มาโดยสุจริต  ยกย่องคนร่ำรวยที่ทำงานโดยสุจริต  และใช้จ่ายไปเพื่อช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ และเพื่อแสวงหาความเมตตาจากอัลลอฮฺ

                ท่านศาสดา  ศอลลัลลอฮูอะลัยฮิวะซัลลัม  กล่าวว่า

               

نعم المال  الصالح للرجل الصالح

         

ความว่า ทรัพย์สินที่ประเสริฐคือทรัพย์ของชายผู้ประเสริฐ

 

                และยังถือว่าพ่อค้าวานิชผู้ซื่อสัตย์ควรคู่กับสถานภาพอันสูงส่งในระดับเดียวกับอริยบุคคลทั้งหลาย  ท่านกล่าวว่า

 

                التاجر الصدوق الأمين  مع النبيين والصديقين والشهداء

 

ความว่า  วานิชผู้ซื่อสัตย์และไว้วางใจได้  จะอยู่พร้อมกับบรรดาศาสนทูต  และผู้ซื่อสัตย์และผู้พลีชีพเพื่ออัลลอฮฺ  ( ในวันพิพากษา)  (  รายงานโดยบุคอรีย์และมุสลิม )

                ในสงครามครั้งหนึ่ง ท่านศาสดาได้สัมผัสมือกับซะอัด  ปรากฎว่ามือของเขาหยาบกระด้างมาก  เมื่อท่านถามเขาถึงเหตุผล  เขาตอบว่า มาจากการทำงาน  ท่านศาสดา  ศอลลัลลอฮูอะลัยฮิวะซัลลัม  จึงกล่าวว่า

 

هذان   يدان  يحبهما الله ورسوله                       

ความว่า มือทั้งสองนี้เป็นมือที่อัลลอฮฺและรอซูลของพระองค์รัก

                นอกจากนั้นท่านศาสดา  ศอลลัลลอฮูอะลัยฮิวะซัลลัม ยังห้ามมิให้นำทรัพย์สินไปใช้ไปในทางที่ไม่ก่อให้ก่อประโยชน์  ท่านกล่าวว่า

 

                إن الله ينهاكم عن قيل وقال  وكثرة السؤال  واضاعة المال 

          ความว่า แท้จริงอัลลอฮฺห้ามพวกท่านจากการพูดเรื่องไร้สาระ  และการถามมากเรื่อง  และการทำให้เสียทรัพย์

 

                2.  ส่งเสริมให้ผู้ที่อยู่ในวัยทำงานจะต้องทำงาน

 

                มัสยิดจะต้องส่งเสริมให้ผู้ที่อยู่ในวัยทำงานจะต้องทำงาน  โดยถือว่าการทำงานเป็นสิ่ง     วาญิบ  1   สำหรับผู้ที่มีความสามารถ   จะต้องยกย่องผู้ที่ประกอบอาชีพโดยสุจริต   ชี้แจงว่าการประกอบอาชีพเป็นการประกอบศาสนกิจที่ประเสริฐแขนงหนึ่ง    เพราะว่าการประกอบอาชีพเป็นภารกิจหนึ่งของบรรดาศาสนทูต  รายได้ที่ประเสริฐคือรายได้ที่มาจากการประกอบอาชีพด้วยตนเอง  และอิสลามยังห้ามการขอทาน   ตำหนิการไม่ทำงาน เพราะว่าจะเป็นภาระต่อต่อสังคมแม้ว่าการไม่ทำงานจะมีเหตุผลอันเนื่องมาจากการจำกัดตนอยู่กับการประกอบศาสนกิจก็ตาม

                อัลลอฮฺ  กล่าวว่า

 

                ความว่า  และจงกล่าวว่า  จงทำงานเถิดท่านทั้งหลาย  แล้วอัลลอฮฺจะเห็นการงานของพวกท่านและศาสนทูตของพระองค์และเหล่าศรัทธาชน   และพวกท่านจะถูกนำกลับไปยังองค์ผู้รู้สิ่งเร้นลับและสิ่งเปิดเผย   แล้วพระองค์จะแจ้งแก่พวกท่านในสิ่งที่พวกท่านกระทำไว้ ( อัตเตาบะต์:105 )

 

 

 

 

 


1  หมายถึง  สิ่งที่จำเป็นต้องปฏิบัติ  ผู้ที่ปฎิบัติจะได้ผลบุญ   ผู้ที่ละเลยจะได้รับการลงโทษ

 

 

               

ท่านศาสดา  ศอลลัลลอฮูอะลัยฮิวะซัลลัม  ยังได้กล่าวว่า

 

ما  أكل أحد طعاما قط خيرا من أن يأكل من عمل  يده  وإن  نبي الله  داود  عليه السلام  كان  يأكل من عمل  يده

 

ความว่า  ไม่มีผู้ใดรับประทานอาหารใดที่ดีกว่าอาหารที่ได้มาจากการทำงานด้วยตนเอง  และแท้จริงดาวูด   อะลัยฮิสลาม  ศาสดาของอัลลอฮฺ  รับประทานอาหารที่ได้มาจากการทำงานด้วยตนเอง

            อุมัร  บินคอตตอบ   กล่าวว่า  พวกท่านคนหนึ่งอย่าได้หยุดแสวงหาปัจจัย  แล้วนั่งวิงวอนว่า  โอ้อัลลอฮฺ โปรดจงประทานปัจจัยแก่ฉัน   ก็เป็นที่รู้กันแล้วว่าฝนมิได้ตกลงมาเป็นเงินเป็นทอง

                และท่านศาสดา  ศอลลัลลอฮูอะลัยฮิวะซัลลัม  ยังห้ามการขอทาน  โดยกล่าวว่า

 

                لا  يزال الرجل  يسأل  الناس حتى يأتى  يوم  القيامة  وليس  فى وجهه مزعة لحم

 

          ความว่าชายคนหนึ่งที่ขอทานผู้คนในวันแห่งการฟื้นคืนชีพ  จะมาโดยที่ใบหน้าไม่มีเนื้อ

 

 

3.  ส่งเสริมให้มีการแสวงหาทรัพยากรธรรมชาติมาใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างคุ้มค่ามากที่สุด

 

มัสยิดจะต้องมีบทบาทในการส่งเสริมให้มีการแสวงหาทรัพยากรธรรมชาติชนิดต่างๆ  อาทิ  ก๊าซ   แร่ธาตุ น้ำมันดิบ   พลังน้ำ  พลังแสงอาทิตย์   พลังงานลม  ทรัพยากรสัตว์หรืออื่นๆ  มาใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างคุ้มค่ามากที่สุดไม่ว่าจะนำใช้ประโยชน์ในด้านการศึกษาวิจัย   การบริโภคอุปโภค  อุตสาหกรรม  หรือกสิกรรม หรืออื่นๆ  เนื่องจากสรรพสิ่งล้วนถูกสร้างมาเพื่อให้มนุษย์ได้ใช้ประโยชน์ 


ความว่า   พวกท่านไม่เห็นดอกหรือว่า  อัลลอฮฺนั้น ได้บันดาลสรรพสิ่งในชั้นฟ้าและในแผ่นดินเพื่อพวกท่าน  และประทานความโปรดปรานของพระองค์แก่พวกท่าน ทั้งที่เด่นชัดและซ่อนเร้น   (  ลุกมาน : 20 )

 


ความว่า   และพระองค์คือผู้บันดาลมหาสมุทรให้พวกท่านได้รับประทานเนื้อสดๆ  จากมัน  และนำสิ่งที่พวกท่านใช้มันเป็นเครื่องประดับมาจากมัน   และพวกท่านเห็นกำปั่นที่แล่นไปในนั้น  และเพื่อให้พวกท่านแสวงหาความโปรดปรานของพระองค์ ( ที่มีอยู่ในนั้น ) และเพื่อพวกท่านจักได้ขอบคุณ    ( อันนะห์ล  : 14 )

อย่างไรก็ตามในการนำทรัพยากรเหล่านี้มาใช้  ต้องให้เกิดประโยชน์อย่างคุ้มค่ามากที่สุด การใช้โดยไม่คุ้มค่า  ไม่เป็นธรรมแก่สาธารณชน  ให้ประโยชน์แก่คนบางกลุ่มบางพวก    โดยสุรุ่ยสุร่าย  ไม่ศึกษาผลดีผลเสียให้รอบคอบ  และไม่ระมัดระวังผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม  ทั้งบนบก   ในทะเล หรือแม้แต่ในแผ่นดิน  ล้วนเป็นสิ่งต้องห้ามในอิสลามเช่นกัน  เพราะจะเป็นการสร้างการบ่อนทำลายขึ้น  อุตสาหกรรมใดๆ  ที่ทำลายโอโซนในชั้นบรรยากาศ  ทำให้แม่น้ำลำคลองเน่าเสีย  ทำให้เกิดสารพิษหรือมลภาวะต่างๆแก่ชุมชน  หรือการนำกากสารพิษสารกัมมันตรังสีไปทิ้งไว้ตามขั้วโลกเหนือหรือขั้วโลกใต้ตามที่ปรากฎเป็นข่าวอยู่เนืองๆ     ล้วนเป็นสิ่งต้องห้ามในอิสลาม   ดังที่อัลลอฮฺ กล่าวว่า

 


ความว่า  และจงอย่าบ่อนทำลายในแผ่นดินหลังจากที่ได้รับการพัฒนาแล้ว ( อัลอะรอฟ :  56 )

               

               

 

               ความว่า  ความเสื่อมเสียได้ปรากฎขึ้นบนบกและในมหาสมุทรด้วยสิ่งที่น้ำมือมนุษย์ได้ขวนขวายไว้  เพื่อให้พวกเขาได้ลิ้มรสบางส่วนจากสิ่งที่กระทำไว้  เผื่อว่าพวกเขาจะกลับตน       (รูม  : 41)

 

 

กล่าวโดยสรุปก็คือ  ศาสนาอิสลามให้ความสมดุลระหว่างการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมกับการพัฒนา  โดยไม่สุดโต่งไปด้านใดด้านหนึ่ง   ดังนั้นมัสยิดจึงต้องมีบทบาทในการส่งเสริมการนำทรัพยากรธรรมชาติมาใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างคุ้มค่า  และจะต้องมีบทบาทในการยับยั้งการใช้โดยทำลายสิ่งแวดล้อม

 

 

4.  ห้ามปรามการประกอบอาชีพทุจริต

 

                นอกจากมัสยิดจะต้องมีบทบาทในการส่งเสริมการประกอบอาชีพที่สุจริตแล้ว  ยังต้องห้ามปรามการประกอบอาชีพทุจริตอีกด้วย

                การยับยั้งห้ามปรามการประอบอาชีพที่ทุจริตนั้น  มัสยิดมีบทบาทโดยตรงในการเผยแพร่และชี้แจงเกี่ยวกับอาชีพต้องห้ามตามคำสอนอิสลาม  อาชีพเหล่านั้นได้แก่  อาชีพเกี่ยวกับสิ่งเสพติด   การพนัน   การฉ้อโกง   การลักขโมย  อาชีพที่สร้างความเดือดร้อนให้แก่ผู้อื่น  หรือการแสวงหากำไรเกินควร

                นอกจากนั้นมัสยิดจะต้องมีบทบาทในการชี้แจงพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ในการประกอบอาชีพ  เนื่องจากสิ่งเหล่านี้อาจเกิดขึ้นได้แม้กระทั่งในขณะที่ประกอบอาชีพสุจริต   สิ่งเหล่านี้ได้  การติดสินบน   การแย่งชิงลูกค้า   การเหนียวหนี้   การไม่รับผิดชอบต่อหน้าที่   การจ่ายเงินค่าจ้างล่าช้า     การไม่ตรงต่อเวลา    การผลิตสินค้าที่ไม่มีคุณภาพ  ฯลฯ

                              

               

                5.  ส่งเสริมการแก้ไขปัญหาความยากจน

               

อิสลามส่งเสริมให้มีการแก้ไขปัญหาความยากจนให้หมดไป  โดยวิธีการต่างๆ   โดยให้มีผู้รับผิดชอบโดยตรง  ซึ่งเป็นหน้าที่ของมัสยิดที่จะต้องสนับสนุนกิจกรรมดังกล่าว  เนื่องจากศาสนาอิสลามไม่ต้องการให้มีความยากจน

                ท่านนบี   ศอลลัลลอฮูอะลัยฮิวะซัลลัม  เคยกล่าวว่า

 

                اللهم   إنى أعوذبك  من  الكفر والفقر    

 

          ความว่า โอ้อัลลอฮฺโปรดจงปกป้องฉันให้พ้นจากการปฏิเสธ(ต่ออัลลอฮฺ)   และความยากจน 

                และสอนว่า  ความยากจนอาจทำให้บางคนสิ้นคิด  ทำให้จำเป็นต้องต่อสู้เพื่อการดำรงชีวิตแม้กระทั่งต้องยอมทำสิ่งชั่วร้ายเพียงเพื่อให้ได้ทรัพย์สินมา  แม้กระทั่งโดยการโกง   การปล้น    การลักขโมย    ชิงทรัพย์   ฆ่าตัวตาย  หรือบางครั้งแม้จะต้องละทิ้งการละหมาด  การถือศีลอด  หรือการกระทำสิ่งที่ทำให้สูญเสียความเป็นมุสลิมก็ตาม   ท่านกล่าวว่า

               

يكاد الفقر كفرا  

 

ความว่า   ความยากจนนั้นเฉียดๆการปฏิเสธ

 

                อย่างไรก็ตาม วิธีการแก้ไขปัญหาความยากจนบางประการก็เป็นหน้าที่โดยตรงของมัสยิด  เช่น  การจัดเก็บและแจกจ่ายซะกาตให้แก่คนยากจนหรือคนที่มีหนี้สิน  

                การแจกจ่ายซะกาตสำหรับคนยากจนมีเป้าหมายเพื่อแก้ไขปัญหาความยากจน  จึงเป็นหน้าที่ของมัสยิดที่จะต้องวางแผนเพื่อหาวิธีการที่ดีที่สุด  เพื่อให้ความยากจนหมดไปจากสังคม  การแจกจ่ายโดยไม่วางแผนเพื่อแก้ปัญหาความยากจน  เช่น  แจกคนละเล็กคนละน้อยหลายๆคน  โดยที่ทุกคนไม่สามารถจะหลุดพ้นจากความยากจนได้  จึงไม่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของหลักศาสนา      อิสลาม 

               

                6.  ส่งเสริมการประกันสังคมแก่ทุกๆคน ให้สามารถดำเนินชีวิตได้ตามปกติสุข

 

                มัสยิดจะต้องส่งเสริมการประกันสังคมแก่ทุกๆคน ให้สามารถดำเนินชีวิตได้ตามปกติสุข  ตราบเท่าที่เขาได้ปฎิบัติหน้าที่โดยสมบูรณ์ หรือว่าเป็นผู้ไร้ความสามารถที่ไม่สามารถดูแลตัวเองได้ เนื่องจากอิสลามถือว่าผู้นำต้องรับผิดชอบต่อการเป็นอยู่ของราษฎรทุกคน

                ท่านศาสดา  ศอลลัลลอฮูอะลัยฮิวะซัลลัม  กล่าวว่า

          الإمام  راع   وهو مسئول عن رعيته

           

               ความว่า  ผู้นำคือผู้ดูแล  เขาต้องรับผิดชอบต่อราษฎรของเขา ( รายงานโดยบุคอรีย์และมุสลิม )

                และกล่าวว่า

                أنا أولى  بكل مسلم  من نفسه   من  ترك  مالا فلورثته  ومن ترك دينا أوضياعا  فإلي   وعلي 

 

ความว่า ฉันมีหน้าที่ต่อมุสลิมคนหนึ่งมากกว่าตัวเขาเองเสียอีก  ผู้ใดตายลงโดยมีมรดกก็เป็นของทายาทของเขา  แต่ถ้ามีหนี้(ที่ไม่มีทายาท)หรือครอบครัวที่ไม่มีคนดูแล  ก็เป็นของฉันและเป็นหน้าที่ของฉัน   ( รายงานโดยบุคอรีย์และมุสลิม )

อุมัร  บินคอตตอบ  ได้เดินไปเห็นชาวยิวคนหนึ่งเที่ยวเดินขอทานผู้คน  ท่านจึงไปห้ามมิให้ขอทาน  และสอบถามถึงเหตุผลที่ต้องขอทาน ก็ปรากฎว่าชายคนนี้อ่อนแอ  ไม่สามารถประกอบอาชีพใดๆได้   ท่านจึงขอโทษและกล่าวว่า ท่าน   เรามิได้ให้ความเป็นธรรมกับท่าน  ตอนที่ท่านแข็งแรงเราเก็บภาษีญิซยะต์จากท่าน  แต่พอท่านอ่อนแอเรากลับทอดทิ้งท่าน  จงเอาเงินจากกองคลังให้แก่เขาให้พอเพียง

 

                7.  ส่งเสริมให้มีการใช้จ่ายไปในทางที่ถูกที่ควร  ไม่สุรุ่ยสุร่ายและไม่ตระหนี่

 

                มัสยิดจะต้องมีบทบาทในการส่งเสริมให้มีการใช้จ่ายไปในทางที่ถูกที่ควร  ไม่สุรุ่ยสุร่ายและไม่ตระหนี่

ท่านศาสดา  ศอลลัลลอฮูอะลัยฮิวะซัลลัม จึงห้ามมิให้นำทรัพย์สินไปใช้ไปในทางที่ไม่ก่อให้ก่อประโยชน์  ท่านกล่าวว่า

 

                إن الله ينهاكم عن قيل وقال  وكثرة السؤال  واضاعة المال 

          ความว่า แท้จริงอัลลอฮฺห้ามพวกท่านจากการพูดเรื่องไร้สาระ  และการถามมากเรื่อง  และการทำให้เสียทรัพย์

 

               

                การสะสมทรัพย์โดยไม่ใช้จ่ายไปตามสมควรเป็นสิ่งต้องห้ามในอิสลาม   มัสยิดจึงต้องชี้แจงหน้าที่ของปัจเจกบุคคลในการใช้จ่ายไปในลักษณะต่างๆ  ตามหน้าที่ของตน

                ทุกคนมีหน้าที่ต้องใช้จ่ายไปเพื่อสิ่งที่จำเป็นสำหรับตนเอง  การปล่อยให้ร่างกายของตนพินาศเป็นสิ่งต้องห้าม 

                อัลลอฮฺ  กล่าว่า

 

                ความว่า  และจงใช้จ่ายไปในหนทางของอัลลอฮฺ  และอย่าสร้างความพินาศด้วยน้ำมือของพวกท่านเอง   ( อัลบะกอเราะต์  : 195)

บิดามีหน้าที่ต้องทำงานเพื่อใช้จ่ายไปเพื่อการดูแลปัจจัยที่จำเป็นในครอบครัว   ทั้งค่าอาหาร  เสื้อผ้า  เครื่องนุ่งห่ม  ยารักษาโรค   ที่อยู่อาศัยของผู้ที่อยู่ใต้ปกครองทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นบุตรหรือภรรยา  โดยเฉพาะอย่างยิ่งบุตรสาวที่ยังไม่สมรส   ตราบใดที่นางยังไม่สมรส  ก็เป็นหน้าที่ของผู้เป็นบิดาที่จะต้องจ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูนางตลอดไป  ไม่อนุญาตให้ผลักไสนางให้ออกไปทำงานเพื่อหาเลี้ยงชีพด้วยตนเอง   นางไม่มีบิดา ผู้ที่ต้องรับผิดชอบดูแลนางก็คือ  พี่น้อง   ปู่  หรือพี่น้องชายของพ่อตามลำดับ  

ส่วนบิดามารดาที่ชราภาพแล้ว  ก็เป็นหน้าที่ของลูกๆทุกคนทั้งชายหญิงจะต้องจ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูท่านทั้งสอง 

                บิดายังมีหน้าที่ต้องให้การศึกษาที่จำเป็นสำหรับศาสนา  และการประกอบอาชีพของบุตรแก่ลูกๆ

                ทุกคนก็มีหน้าที่ต้องใช้จ่ายต่อสังคมและประเทศ  เช่น  การจ่ายภาษี  การบริจาคเพื่อการกุศลประเภทต่างๆ ทั้งการสร้างมัสยิด  สร้างโรงเรียน   โรงพยาบาล   สถานสงเคราะห์ให้การช่วยผู้ประสบภัยพิบัติต่างๆ  หรืออื่นๆ

                นอกจากนั้นทุกคนยังมีหน้าที่ใช้จ่ายเพื่อเผยแพร่และปกป้องศาสนา   ส่วนหนึ่งคือการจ่ายซะกาตทรัพย์สินประจำปีสำหรับผู้ที่มีรายได้ถึงพิกัด

                ผู้ที่ใช้จ่ายไปตามหน้าที่เหล่านั้นจะได้รับผลตอบแทนอันมหาศาล

                อัลลอฮ์กล่าวว่า

 

 

 

ความว่า  และพวกเขาไม่ใช้จ่ายไปไม่ว่าเล็กน้อยหรือมากมาย  และไม่เดินลัดลุ่มน้ำใด  นอกจากอัลลอฮฺจะตอบแทนพวกเขา ในสิ่งประเสริฐยิ่ง

คำสำคัญ (Tags): #มัสยิด
หมายเลขบันทึก: 101323เขียนเมื่อ 6 มิถุนายน 2007 23:48 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 19:48 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
  • ตามเข้ามาอ่านครับ
  • เป็นเรื่องใหม่อีกเรื่องสำหรับผมครับ
  • ขอบคุณมากครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท