ความประทับใจต่อ KM โรงเรียนชาวนามูลนิธิข้าวขวัญ สุพรรณบุรี


ความประทับใจต่อ KM โรงเรียนชาวนามูลนิธิข้าวขวัญ  สุพรรณบุรี

         ผมได้เอารายงานการเรียนรู้ของโรงเรียนชาวนามาลงบล็อกเป็นระยะ ๆ  ให้ท่านได้เห็นภาพโดยละเอียดแล้ว   เมื่อวันที่ 15 ธ.ค.48  มีการประชุมใหญ่รายงานผลการเรียนรู้ของระดับมัธยม (บำรุงดิน)   ซึ่งนักเรียนโรงเรียนชาวนาพร้อมใจกันเรียนซ้ำเพราะผลการเรียนในช่องการทำนาฤดูกาลที่แล้วยังไม่ดี   สอบตกกันมาก   คือยังใช้ปุ๋ยเคมีกันอยู่   กับรายงานผลการเรียนรู้ของระดับอุดม (พัฒนาพันธุ์ข้าว)

         นักเรียนโรงเรียนชาวนาเกือบ 200 คนนี้ได้เรียนร่วมกันมาเกือบ 2 ปีแล้วและทุกครั้งที่มีการประชุมใหญ่แบบนี้ผมจะเข้าร่วมประชุมด้วยเสมอ   นอกจากนั้นนักเรียนโรงเรียนชาวนายังได้รับเชิญเข้าร่วมกิจกรรมกับ สคส. อยู่เนือง ๆ   และผมก็เชิญแขกผู้ใหญ่ในบ้านเมืองไปเยี่ยมโรงเรียนชาวนาเป็นระยะ ๆ   นักเรียนชาวนาจึงคุ้นเคยกับผมคล้ายเป็นญาติ   และนักเรียนเหล่านี้ก็ได้พัฒนาตนเองขึ้นในหลากหลายด้านอย่างเห็นได้ชัด

         จากเหตุการณ์การนำเสนอและแลกเปลี่ยนเรียนรู้เมื่อวันที่ 15 ธ.ค.48   ผมมีความประทับใจดังต่อไปนี้
     1. เห็นพัฒนาการด้านทักษะในการนำเสนอ  การตั้งคำถาม   กล้าที่จะลุกขึ้นมาถาม   มีคำถามดี ๆ ที่เป็นคำถามปฏิบัติ
     2. เห็นพัฒนาการด้านความมั่นใจตนเอง   มั่นใจในการสร้างความรู้ขึ้นใช้เอง   มั่นใจที่จะไม่เชื่อความรู้จากภายนอกแบบหลับหูหลับตา   ผมเห็นชัดเจนว่าถ้ามีการ "เอื้ออำนวย" (empower) ชาวบ้านจะปลดปล่อยศักยภาพในการคิดริเริ่มสร้างสรรค์ได้สูงมาก   ตรงกับความเชื่อ (อคติ) ของผม
     3. ได้พบ "ยอดคุณกิจ" คือคุณป้าสำรวย   นักเรียนโรงเรียนชาวนา อ.เมือง   ซึ่งทำนาปลอดสารเคมีได้ผลผลิตเป็นที่เลื่องลือ   คือนา 17 ไร่ได้ข้าวเปลือก 22 เกวียนเศษ   ตกเกือบ 130 ถังต่อไร่   และเมล็ดข้าวเปลือกสวยใครเห็นใครชม   รวมทั้งพ่อค้าข้าว   เม็ดลีบก็ไม่มี   เคล็ดที่ไม่ลับคือไม่เผาฟาง   ใช้วิธีหมักฟางตามสูตรที่ มขข. แนะนำ   คือหมักกับจุลินทรีย์เป็นเวลาเดือนเศษ   มีการดูแลแมลงตามแนวทางสร้างสมดุลของแมลงในแปลงนา   และเมื่อจำเป็นก็ฉีดน้ำสมุนไพรไล่แมลง
     4. นักเรียนโรงเรียนชาวนาค้นพบว่าเพื่อนนักเรียนด้วยกันเป็นคนเก่ง   เป็นดาวเด่นด้านต่าง ๆ เต็มไปหมด   เช่นด้านจุลินทรีย์,  ด้านน้ำหมักชีวภาพ,  ด้านผลิตฮอร์โมนสูตรต่าง ๆ,   ด้านสมุนไพรไล่แมลง,   ด้านพัฒนาพันธุ์ข้าว,  ด้านจดบันทึก,  ด้านวาดรูป,  ด้านเป็นแม่เพลง,  ด้านทำขวัญข้าว ฯลฯ   การเห็นคุณค่าซึ่งกันและกันนี้ทำให้เคารพซึ่งกันและกัน   เกิดความรักใคร่สามัคคีภายในชุมชน
     5. ที่ อ.อู่ทอง  เป็นที่ดอน  ขาดน้ำ  นักเรียนชาวนาแก้ปัญหาการเรียนรู้โดยทำนาสาธิตในกระถาง   มีการเตรียมดินถึง 9 แบบ   แบบละ 4 กระถาง   ใช้สำหรับเรียนรู้เพื่อหาวิธีการที่เหมาะสมร่วมกัน   ตอนกินข้าวเที่ยงนักเรียนชาวนาคนหนึ่งมาเล่าให้ผมฟังว่า   ตนเองปลูกในกระถางแก้ว   เพื่อให้ดูรากเห็น   สังเกตลักษณะของรากจากการผสมดินต่าง ๆ กัน   เห็นความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ของนักเรียนชาวนาไหมครับ
      6. นักเรียนโรงเรียนชาวนาได้มีโอกาสออกไปเรียนรู้และแบ่งปันความรู้นอกหมู่บ้าน   บางคนได้ไปเขมร   บางคนได้ถวายนิทรรศการแด่สมเด็จพระเทพฯ   ออกนิทรรศการที่ ม.เกษตรศาสตร์บางเขน   เป็นต้น
      7. ทีมงานของ มขข. กลายเป็น "ผู้รู้" KM จากการปฏิบัติโดยตนเอง   คุณจิ๋ม (จันทนา  หงษา) ผู้จัดการ มขข. ได้รับเชิญจากวิทยาลัยอาชีวศึกษาบรรยายเรื่อง KM เป็นเวลา 2 ชม.   และบรรยายแก่กลุ่มข้าราชการกระทรวงเกษตรใน จ.สุพรรณ   ในวันที่ 19 ธ.ค.48 คุณเดชา  ศิริภัทรและ "คุณอำนวย" ของ มขข. ก็จะไปบรรยายในการสัมมนา KM ของ สอศ. ที่คุณธวัชไปเป็นวิทยากร
     8. นักเรียนชาวนาหลายคนได้พัฒนาขึ้นเป็นผู้นำชุมชน   และเป็นผู้นำเปี่ยมคุณธรรม   ไม่แสวงประโยชน์ใส่ตัว   ดังกรณีคุณนคร  แก้วพิลา   รร.ชาวนาอำเภอเมือง   ได้รับเลือกเป็นประธานเงิน SML 3 แสนบาท   ได้ตกลงกันว่าเอาไปซื้อเครื่องอัดเม็ดปุ๋ยชีวภาพ
     9. นักเรียนโรงเรียนชาวนาแต่ละคนมีความมั่นใจที่จะเอาความรู้ที่เรียนจากวิทยากรหรือจากการไปดูงาน   เอามาทดลองทำตามแนวทางของตนเอง   แนวใครแนวมัน   แล้วเอาผลมา ลปรร. กัน   นี่เป็นสุดยอดของความมั่นใจในตนเองและเคารพในความคิดของคนอื่น   และ มขข. ก็สุดยอดที่ส่งเสริมให้นักเรียนแต่ละคนคิดแนวทางทดลองเอง   คุณจิ๋มบอกว่าวิธีการนี้คือสิ่งที่ต่างจากวิธีการที่ มขข. ใช้ในอดีต   คือในอดีต มขข. ในฐานะ NGO จะส่งเสริมให้ชาวนาปฏิบัติตามวิธีการที่ มขข. บอก   แต่เมื่อใช้ KM มขข. เปิดโอกาสให้ชาวนาคิดหาวิธีการเอง   ทดลองเอง
 
         ผมคงจะเล่าความประทับใจไปได้เรื่อย ๆ   แต่บันทึกจะยาวเกินไป   ขอจบด้วยความประทับใจของหัวหน้าทีมติดตามและประเมินผล  รศ. ดร. เนาวรัตน์  พลายน้อย   ที่ชี้ให้เห็นว่าหัวใจของ รร.ชาวนามูลนิธิข้าวขวัญคือ   การเปลี่ยนระบบคิดของชาวนา   จากยึดแนวทางเกษตรโลภนำ  เป็นเกษตรพอเพียง

         อีกไม่กี่เดือนโครงการที่ สคส. ไปสนับสนุน รร. ชาวนาก็จะจบ   แต่เราจะทำให้ความสัมพันธ์ระหว่าง มขข. - นักเรียนชาวนา - สคส. ไม่สิ้นสุด   สคส. จะหาวิธีดำรงความสัมพันธ์ไว้ตลอดตราบเท่าที่ยังมี สคส.   โดยจะเป็นความสัมพันธ์ผ่านผลงานของโรงเรียนชาวนาแต่ละแห่งที่เราหวังว่าจะรวมตัวกันเรียนรู้เรื่อยไปไม่หยุดยั้ง

           

          คุณอ้อม กำลัง AAR                         ช่วยกันถาม ช่วยกันตอบ

                                  

                                          บรรยากาศห้องประชุม  

                                   

      รูปวาดพร้อมบันทึก โดย คุณบังอร สุวรรณสูร  รร. ชาวนา อ. บางปลาม้า                 

วิจารณ์  พานิช
 16 ธ.ค.48


 

หมายเลขบันทึก: 10098เขียนเมื่อ 19 ธันวาคม 2005 17:31 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มกราคม 2013 20:36 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท