ท่านคิดอย่างไรกับอุทยานการเรียนรู้ TKpark


อุทยานการเรียนรู้ TKpark -- Thailand Knowledge Park นับเป็นนวัตกรรมการศึกษาอันหนึ่งซึ่งหาได้ยากในเมืองไทย

สำนักงานอุทยานการเรียนรู้เกิดจากความต้อง การสร้าง "ห้องสมุดที่มีชีวิต มีการเปลี่ยนแปลง มีหนังสือดี ทันสมัยอย่างต่อเนื่องตลอดเวลา ไม่ตายตั้งแต่วันสร้าง" ที่สำคัญคือเพื่อส่งเสริมให้คนไทยรักการอ่านและการเรียนรู้ อย่างจริงจัง

มติ ครม. เมื่อวันที่ 13 มกราคม 2547 ระบุว่า อุทยานการเรียนรู้ ได้รับความเห็นชอบหลักการจัดตั้งให้เป็นแหล่ง การเรียนรู้ ที่มีบรรยากาศสร้างสรรค์ ทันสมัย สะดวกในการเข้าถึง และใช้บริการ เพื่อปลูกฝังนิสัย รักการอ่าน ด้วยการเรียนรู้ด้วยตนเอง และการเข้าร่วมกิจกรรมสร้างสรรค์ที่หลากหลาย...และเป็นห้องสมุดที่มี มากกว่าหนังสือ

คณะทำงานของ อุทยานการเรียนรู้ ได้ศึกษาเรื่องราวของการทำห้องสมุดให้มีชีวิต ในประเทศต่างๆ ซึ่งเห็นพ้องกันว่าการอ่านหนังสือเป็นพื้นฐานสำคัญยิ่งของการเรียนรู้ ตามมาด้วยการปฏิบัติให้รู้จริง เช่น ประเทศฝรั่งเศส (The Georges Pompidou Centre) ประเทศอังกฤษ (Idea Store) ประเทศญี่ปุ่น (Sendai Mediatheque) ประเทศสิงคโปร์ (Library@Orchard) และ จากการระดมความคิดร่วมกับเครือข่าย ทั้งผู้ใหญ่ และเยาวชน ซึ่งช่วยให้คณะทำงานตกผลึกความคิดในเรื่องของแนวทาง การจัดตั้ง ที่จะปลุกจิตวิญญาณ รักการอ่านหนังสือ ด้วยกิจกรรมสนุกสนาน และหลากหลายทางศิลปวัฒนธรรม ที่ตรงกับความต้องการของกลุ่มเป้าหมาย

ในขณะนี้ TKpark มีอยู่สองแห่ง คือในส่วนกลางที่กรุงเทพ และที่ยะลา ผมอยากให้มีการจัดตั้งห้องสมุดที่เป็นมากกว่าที่เก็บหนังสือขึ้นอีกมากๆ ในภูมิภาค แต่คิดว่าไม่ง่ายในทางปฏิบัติ เนื่องจากข้อจำกัดต่างๆ มากมาย

ได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนความเห็นกับผู้ใหญ่ของ TKpark หลายท่าน เป้าหมายของ TKpark เน้นที่เด็ก รู้สึกยินดีที่ท่านเหล่านี้ เปิดรับความคิดเห็นใหม่ๆ ซึ่งก็มีคำถามฝากถามติดตามมาคือ

  1. ท่านคิดอย่างไรกับแนวคิดเกี่ยวกับ TKpark ซึ่งมีพันธกิจหลักอยู่ที่การส่งเสริมการเรียนรู้ด้วยตนเอง การรักการอ่าน การเรียนนอกห้องเรียน กิจกรรมสร้างสรรค์ที่หลายหลาย เสริมด้วย "ห้องสมุดมีชีวิต" ที่ไม่ทำให้การเรียนรู้เป็นเรื่องน่าเบื่อ
  2. มีหน่วยงานใดที่เห็นด้วยกับแนวการศึกษาและการสร้างทัศนคติในแนวนี้ อยากร่วมเป็นภาคี หรือให้ความสนับสนุน จัดกิจกรรมร่วมกันไหม (TKpark มีพันธมิตรอยู่มากแล้ว แต่สามารถรับได้อีก เพื่อกระจายวิธีการออกสู่ส่วนภูมิภาค)
  3. ท่านเห็นอย่างไรกับ TKpark มีข้อเสนอแนะเพื่อปรับปรุงให้ดีขึ้นอย่างไรบ้าง; คำว่าเห็นหมายความว่าท่านเคยไปเยี่ยม TKpark แล้ว อาจจะพาลูกหลานไป หรือเคยไปร่วมสัมนา/กิจกรรมต่างๆ ที่ TKpark จัดเองหรือจัดร่วมกับพันธมิตรต่างๆ ในอดีต; หากท่านยังไม่เคยไปเยี่ยมและอยู่ไม่ไกลเกินไป ผมแนะให้ลองหาเวลาแวะไปครับ

ความคิดเห็นต่างๆ ที่ปรากฏในบันทึกนี้ จะส่งตรงไปยัง TKpark ในโอกาสต่อไป; ไหนๆ ก็เป็นผู้เขียนบันทึกนี้ ผมมีความเห็นในเบื้องต้นอย่างนี้ครับ

  • เว็บดูสวยดี แต่ช้ามาก; อาจจะมีประสิทธิภาพดีในกรณีที่ใช้สำหรับเครือข่ายภายใน แต่ความล่าช้าในการโหลดจากภายนอก จะทำให้ผู้ใช้ที่เข้ามายังเว็บเบื่อ และมองข้ามคุณค่าที่เว็บเสนอให้ไปหมด; หากมีการแยกเว็บระหว่าง local กับ remote access น่าจะดีกว่านี้
  • ในอนาคต เชื่อว่าความรู้ที่อยู่ในพหุสื่อ (multimedia) จะมีมากขึ้น จึงไม่เหมาะอีกต่อไปที่จะรวมศูนย์ทุกอย่างไว้ที่ TKpark; เรื่องนี้ต้องแยก ระหว่างการจัดเตรียมพหุสื่อซึ่งอาจเตรียม-ประเมินจากศูนย์กลางได้ ออกจากการกระจายความรู้เหล่านี้ ไปสู่เด็ก/ห้องสมุด/ภาคีในวงกว้าง (content delivery)
  • สมาชิก ดิจิตอลทีเคพาร์ค (สมาชิกแบบผ่านทางอินเทอร์เน็ตเท่านั้น ไม่เสียค่าใช้จ่าย) ซึ่งจำเป็นต้องมีบัญชีผู้ใช้ผ่านเข้าใช้ิบริการ อย่างน้อยน่าจะให้เห็นได้ก่อนว่าเมื่อสมัครแล้ว จะสามารถเข้าถึงอะไรได้บ้าง รายการหนังสือใน e-Library/รายการวิดีทัศน์ก็ยังดี
  • อยากเห็นกิจกรรมเหล่านี้มากขึ้น
    • ที่เรื่องที่สร้างเสริมความภูมิใจในตนเอง (self-esteem) เสริมด้วยแรงจูงใจในทางบวก (การยอมรับ ความชื่นชม) เช่นการประกวดที่ไม่ใช้รางวัลเงินสดเข้าล่อ
    • กิจกรรมจิตอาสาซึ่งเกิดได้นอก TKpark แต่ TKpark เผยแพร่ให้เป็นแบบอย่างสำหรับผู้อื่น
    • ให้คุณค่ากับ original content ซึ่งมาจากการค้นคว้าหาความรู้ มากกว่าการตัดปะ ซึ่งนอกจากจะพัฒนาความรู้ในเด็กแล้ว ยังช่วยฝึกทักษะทางภาษา และกระบวนการคิดอีกด้วย
หมายเลขบันทึก: 100189เขียนเมื่อ 2 มิถุนายน 2007 06:22 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 21:25 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (18)
  • ความรู้ที่ TK Park  มีบรรจุไว้ นั้น ความจริงน่าจะไม่มีความรู้  ที่เรียกว่า ความจริงในชนบท
  • ผมพูดอยู่เสมอว่า ประเทศไทย มี 76 จังหวัด โอกาสทางการศึกษา  ดูเหมือนพยายามจะให้เท่าเทียมกันในแง่หลักการ
  • การเริ่มของ TK Park ผมถึงว่าดี  แต่หากได้รู้จักเชื่อมโยง  จะทำให้คน / เด็ก เยาวชนไทยจังหวัดอื่น รู้สึกมีส่วนร่วม และไม่มองข้ามความสำคัญของจังหวัดอื่น ๆ
  • เพราะ TK Park ทำงานโดยใช้ความว่า แห่งชาติ จึงควรมีแผนเพื่อให้เกิดผลในระยะยาวให้คำว่า แห่งชาติ เป็นจริงได้ในอนาคตตามแผน ขออภัยหากมีแผนแล้วแต่ผมเข้าใจผิด ครับผม

ขอบคุณสำหรับความเห็นครับ ความรู้มีอยู่มากมาย จะหวังให้ทุกอย่างที่รวมศูนย์มีครบทุกอย่างนั้น คงเป็นไปไม่ได้

แต่ผมคิดว่านี่กลับเป็นโอกาสที่จะช่วยให้ TKpark มีสิ่งที่ควรมี เป็นสิ่งที่ควรเป็น ตอบสนองต่อความเป็นจริงของชีวิต -- ในเมื่อใช้งบประมาณแผ่นดิน ก็ต้องตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนใช่ไหมครับ

ผมคิดว่าถึงแม้ว่ามีแผนอยู่แล้ว แต่หากยังไม่ดี หรือยังไม่ดีพอ ก็น่าจะปรับเปลี่ยนได้(บ้าง)นะครับ ขึ้นกับเหตุผลการเอาชนะข้อจำกัดต่างๆ และข้อเสนอปรับปรุงจริงจังแค่ไหน

สำหรับผม TKpark เป็นเครื่องหมายอีกอันหนึ่งของการแบ่งแยกระหว่าง "กรุงเทพฯ" กับ "ต่างจังหวัด" ครับ ปัญหาของการไม่เท่าเทียมกันในโอกาสทางการศึกษาในประเทศไทยนี่เป็นปัญหาที่ใหญ่มากทีเดียว แทนที่งบประมาณเพื่อสร้าง TKpark จะใช้เพื่อแก้ปัญหานี้ กลับนำมาใช้สร้าง TKpark เพื่อเพิ่มปัญหาให้ใหญ่ขึ้น

ส่วน TKpark ที่ยะลาคือการแก้ปัญหาทางการเมืองที่ปลายเหตุ สำหรับผมแล้วไม่ใช่เป็นการแก้ปัญหาความไม่เท่าเทียมกันของโอกาสทางการศึกษาในประเทศไทยแต่อย่างไร

TKpark ต้องแก้ปัญหาในองค์รวมโดยนึกถึงประเทศไทยทั้งประเทศ เพราะประเทศไทยไม่ใช่แค่กรุงเทพฯ

อย่าคิดว่าให้คนต่างจังหวัดทำเกษตรอยู่กันแก่พออยู่พอกิน แล้วให้คนกรุงเทพฯ ทำงานสร้างสรรค์ที่ต้องใช้ประโยชน์จากหนังสือใน TKpark ดังนั้นจึง feed ข้อมูลดีๆ ให้คนกรุงเทพฯ อย่างเดียว ส่วนคนต่างจังหวัดก็โหมโปรโมตให้กลับไปทำนา

TKpark เป็นเครื่องหมายแบ่งวรรณะของคนไทย มากกว่าเป็นโอกาสทางการศึกษาครับ

ถ้า TKpark กลับใจอยากแก้ปัญหานี้ ต้องเปิดพร้อมกัน 76 จังหวัดครับ แต่ไม่ต้องเปิดให้ fancy อย่างในกรุงเทพฯ หรอก มันเกินความจำเป็นครับ

ผมใช้ public libraries ในอเมริกาเยอะมากในหลายเมืองด้วยกัน ไม่เห็นมีห้องสมุดที่ไหนเขา fancy เท่า TKpark เพราะเขานึกถึงประโยชน์ใช้งานมากกว่าความ fancy

public library ในอเมริกาของเมืองเล็กๆ มีหนังสือไม่ได้แพ้ TKpark เลย แถมถ้าหนังสือไม่มีเขายืมข้ามห้องสมุดมาให้เราได้อีกต่างหาก

เรื่องพวกนี้ประเทศไทยน่าจะทำได้ ประเทศเราเล็กกว่ารัฐในอเมริกาเสียอีก แต่ชอบแก้ปัญหาง่ายให้เป็นเรื่องยาก

สรุปก็คือ ล้ม TKpark ซะ เอางบประมาณมาลงที่ "ห้องสมุดประชาชน"

และนโยบายที่ต้องคิดเป็นหลักคือ "ห้องสมุดจะดีก็เพราะมีหนังสือดี ไม่ใช่เพราะมีการตกแต่งดี"

ก็จริงครับอาจารย์ว่า TKpark นั้น เป็นรูปแบบที่ fancy เหลือเกิน แล้วในส่วนสาระที่ว่า "ห้องสมุดที่มีชีวิต มีการเปลี่ยนแปลง มีหนังสือดี ทันสมัยอย่างต่อเนื่องตลอดเวลา ไม่ตายตั้งแต่วันสร้าง" อาจารย์เห็นว่าความคิดนี้เป็นอย่างไรครับ

ถ้าสาระนี้ใช้ไม่ได้ ก็ไม่มีประโยชน์ที่จะเผยแพร่ต่อไป แต่ถ้าใช้ได้ ก็สามารถแนะนำ/สร้างเครื่องมือต่างๆ เช่นกิจกรรมการเรียนรู้ต่างๆ แล้วกระจายออกไปตามห้องสมุดโรงเรียน ห้องสมุดชุมชน สนับสนุนผ่านการดูงาน การจัดกิจกรรมร่วม ฯลฯ

ห้องสมุดตามคณะต่างๆ มีหนังสือดีตั้งเยอะ แต่คนนอกคณะก็ไม่ได้คิดจะเข้าไปใช้ไม่ใช่หรือครับ แล้วยืมหนังสือได้จริงหรือครับ

ผมคิดว่าแนวคิดของ TKpark คือห้องสมุดไม่ใช่สถานที่น่าเบื่อ (แต่อาจจะออกแนวไปในแนวการตลาด หวือหวาตามแนวรัฐบาลในยุคนั้นมากไปหน่อย)

เด็กเป็นจำนวนมาก ติดการ์ตูน ติดเกมส์ ติดโทรทัศน์ จะมีวิธีไหนที่จะเปลี่ยนการให้คุณค่าของเด็กจากความบันเทิงชั่วขณะ มาเป็นการแสวงหาความรู้ไหมครับ

อย่างที่เขียนในบันทึก ผมก็ไม่ได้คิดว่าการกระจาย TKpark แบบที่เป็นอยู่ จะเป็นคำตอบที่ดีไม่ว่าสำหรับคำถามอะไรก็ตาม แต่การเอาหนังสือใส่ห้องสมุด ก็งบ อบต. แหล่งเงินก็เป็นภาษีที่จัดเก็บในท้องถิ่นส่วนใหญ่ไม่ใช่หรือครับ ทำไมจึงไม่จัดสรรมา (ควรจะถามนายก อบต.)

TKpark เพิ่งเปลี่ยนบอร์ด เปลี่ยนผู้บริหาร แล้วเขาฝากถามมาว่าควรปรับปรุงอย่างไรบ้าง การเปิดกว้างแบบนี้ไม่ดีหรือครับ 

โดย concept นั้นดีแน่นอนครับ แต่ผมอาจจะติดตากับการทำหวือหวาในช่วงที่ผ่านมาของ TKpark มากไปหน่อย ผมเอง "มีปัญหา" กับเรื่องห้องสมุดในประเทศไทยมานานแล้วครับ ผมเคยเขียนไว้ที่นี่ครับ

ผมเคยไป TKpark อยู่ครั้งหนึ่ง ไปนั่งกินกาแฟในห้อง VIP ด้วย แต่แทนที่จะดีใจที่เห็นเมืองไทยมี TKpark ผมกลับโมโหมาก เพราะเป็นการใช้งบประมาณที่ "หวือหวา" มากเกินไป (แถมยังมีห้อง VIP ด้วย ไม่รู้จะเน้นเรื่องความแตกต่างในโอกาสของคนไทยไปถึงไหน) คนต่างจังหวัดอีกมากมายคงไม่ได้มีโอกาสเข้าถึง TKpark อย่างง่ายๆ เป็นแน่ เพราะหากจะลงทุนสร้าง TKpark อย่างกรุงเทพฯ ทุกจังหวัดคงใช้งบประมาณมหาศาล ซึ่งคงอีกนานกว่าจะเกิดขึ้นได้

งบประมาณที่ลงทุนกับ TKpark ถ้าเอางบมาวิเคราะห์กันแล้ว งบส่วนไหนบ้างเป็น "สาระ" (ได้แก่เรื่องการสร้างโอกาสทางการเรียนรู้) งบส่วนไหนบ้าง "ไร้สาระ" (ได้แก่เรื่องตกแต่ง ฯลฯ) ผมว่าเรื่องนี้น่าสนใจทีเดียวครับ

ผมเป็น "หนอน" อยู่ในห้องสมุดหลายแห่งในอเมริกา เรียกได้ว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องห้องสมุดอย่างมากคนหนึ่งทีเดียวครับ (ซึ่งเรื่องการเป็น nerd นี่ไม่ใช่เรื่องน่าภาคภูมิใจอะไร สาวไม่ชอบ)

ผมอยากเห็นห้องสมุดอย่าง Arbutus Library หรือ Catonsvile Library สองที่ที่ใกล้บ้านผม ทั้งสองแห่ง "alive" แต่ไม่ "fancy" ครับ

ผมคิดว่าสิ่งแรกที่บอร์ดใหม่ของ TKpark ควรทำคือ TKparkExpress ปูพรมทุกอำเภอทั่วประเทศไทยครับ (รายละเอียดเกี่ยวกับแนวคิด TKparkExpress ถ้าสนใจเดี๋ยวผมค่อยอธิบายเพิ่มครับ)

ผมเชื่อว่าเด็กไทยที่ดูติดเกมส์ ฯลฯ นั้นไม่ใช่ว่าเขาไม่ได้มีใจใฝ่รู้นะครับ เขาขาด "โอกาส" แบบที่ "เข้าใจ" เขาเท่านั้นเอง เพราะ "โอกาส" ส่วนใหญ่มาในรูปแบบที่เหมาะกับคนยุคก่อนหน้าเขาสักสองสามรุ่นครับ

เรื่องเกี่ยวกับหนังสือและห้องสมุดเพื่อคนไทยนี่ผมมีลูกบ้าเยอะ (กรุณาอ่านอีกครั้ง) จะให้ผมช่วยอะไรผมอาสาทำเต็มที่ครับ

ดีใจจังเลยที่ได้เจอ blog นี้  อิอิ  คันมานานแล้วค่ะ 

ด้วยความเคารพนะคะ

เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2549 พาเด็กๆ ( พิการทางสายตา ) ไปกทม.  เพื่อเตรียมตัวเข้ารับประทานรางวัลฯ นิสิตพิการ มมส ชนะเลิศเรียงความ จึงไปเยี่ยมชมค่ะ   ก็ดีใจที่เจอหนังสืออักษรเบรลล์ ( แม้ว่าจะมีแค่นิทานของเด็กเล็กๆ ) และมี braille block (ทางเดินที่มีสัญญลักษณ์เพื่อคนตาบอด)นะคะ  แต่ก็ขำขำว่า  ช่างทำเหมือนฟุตบาทของ กทม จริงๆ

คือ เบรลล์บล๊อค มีเป็นหย่อมๆ แล้วคนตาบอดจะรู้ได้อย่างไรคะ  จะเดินด้วยการอาศัยเบรรล์บล๊อคเป็นแนวทางการเดินทางได้อย่างไร  เดี๋ยวมีเดี๋ยวหาย    เหมือนกับว่าทำเพื่อให้คนตาดีเห็นว่ามี  braille block นะ  เป็น universal access นะ แต่การใช้งานของคนตาบอดจริงๆใช้งานได้หรือไม่  อย่างไรไม่รู้...  และโซนสื่อเสียง  ก็ไม่มีเบรลล์บล๊อคนำทางไปอ่ะค่ะ  ซึ่งจริงๆแล้วสื่อเสียงนั้นคนตาบอดสามารถเข้าถึงได้นะคะ   เพียงแต่เดินไปไม่ถึงอ่ะค่ะ

กำเอิงค่ะ

การทำ braille block มีราคาสูงกว่า  ทำพื้นธรรมดามากค่ะ  ถ้ามีความจริงใจอยากให้เป็น universal access  ควรทำแล้วเกิดประโยชน์ในการใช้สอย  คนตาบอดที่ใช้เบรลล์ บล๊อค ก็จะเดินทางไปที่สื่อที่เขาเข้าถึงอ่ะค่ะ  เช่นสื่ออักษรเบรลล์  สื่อเสียง  ทางเข้า  ทางออก หรือห้องน้ำ  และตู้หนังสืออักษรเบรลล์  น่าจะมีการทำแถบอัษรเบรลล์ติดไว้ที่ตู้ด้วย  เขาจะคลำอ่านได้อ่ะค่ะ ว่าชั้นไหนมีอะไรบ้าง

การลงทุนทำอะไรเพื่อคนพิการ  เป็นสิ่งที่น่าชื่นชมมากเลยค่ะ  แต่ถ้าทำแบบใช้ประโยชน์ไม่ได้จริงๆนี่  เป็นการทำให้สูญเสียเงินเปล่าๆนะคะ  ดิฉันเสียดายค่ะ

 สวัสดีค่ะ

ดิฉันเห็นด้วยค่ะที่คุณconductor บอกว่า

TKpark  มีพันธกิจหลักอยู่ที่การส่งเสริมการเรียนรู้ด้วยตนเอง การรักการอ่าน การเรียนนอกห้องเรียน กิจกรรมสร้างสรรค์ที่หลายหลาย เสริมด้วย "ห้องสมุดมีชีวิต" ที่ไม่ทำให้การเรียนรู้เป็นเรื่องน่าเบื่อ

สิ่งที่ต้องควรทำตอนนี้คือ

สร้างวัฒนธรรมรักการอ่านหนังสือให้มากๆขึ้นค่ะ

และมันก็เกี่ยวกับ ครอบครัวด้วย ถ้าที่บ้านไม่อ่านหนังสือดีๆกันเลย ลูกๆจะรักการอ่านได้อย่างไร

ลำพังโรงเรียนไม่พอค่ะ

ยกเว้น คนที่ดีเอง ไม่ต้องมีใครเป็นแบบอย่างก็ได้

        ผมยังดูมันทะแม่งๆ อะไรหลายอย่าง ในการสร้าง TKpark วัตถุประสงค์ดีทุกอย่าง ผมเป็นสมาชิก ได้รับข่าวสารตลอด แต่..ผมแค่สงสัย..

  •  ทำไมไปอยู่บนห้าง มีอะไรแอบแฝง เรื่องเลือกสถานที่หรือเปล่า จะช่วย central world ที่กำลังจะจม เนื่องจากไม่มีคนหรือเปล่า ?

         ผมขอเสนอนะครับ

          น่าจะทำ TKpark school มากกว่า ไกล้ชิดเด็กมากกว่า โดยเน้นที่โรงเรียนชั้นประถม มามองสิ่งที่จำเป็น ว่าหนังสือไรควรจะอยู่ในห้องเรียน

       แล้วมาหานโนบายกันว่าจะทำยังไงให้เด็กเข้าใช้ห้องสมุดให้มากกว่าเดิม

          ไม่หวังให้เด็กประถม ยืมหนังสือไปอ่านที่บ้าน แต่แค่ต้องการให้เขาได้เข้าห้องสมุด และได้อ่านแค่นี้ น่าจะเป็นวัตถุประสงค์เบื้องต้นที่ต้องทำกันกอ่น

พอดีอ่านพบตอนนี้เลยค่ะ เลยเอามายืนยันว่า คนไทย อ่านหนังสือกันน้อยมาก

ครอบครัวดิฉัน คุณพ่อ คุณแม่ อ่านหนังสือมาก เลยเป็นโรคติดต่อ อ่านกันมาจนชั้น หลาน พยามจะให้ส่งต่อไปอีกค่ะ

 

ก็รู้ๆกันอยู่นะครับว่า เมื่อเปรียบเทียบคนในสังคมอื่นๆอีกหลายสังคม (โดยเฉพาะนอกเอเชียตะวันออกเฉียงใต้) คนไทยอ่านหนังสือน้อย แม้แต่ในหมู่วัยรุ่นที่ให้ความสำคัญแก่การศึกษาไว้สูงสุดก็ตาม

http://gotoknow.org/blog/Kati1789/100517

ผมรู้สึกเหมือนอาจารย์ธวัชชัยนะครับ ยิ่งเห็นความหรูแล้วยิ่งรู้สึกไม่ชอบ แอนตี้แทนคนต่างจังหวัดอย่างแรงเลยครับ

โดยแนวคิด"ห้องสมุดที่มีชีวิต มีการเปลี่ยนแปลง มีหนังสือดี ทันสมัยอย่างต่อเนื่องตลอดเวลา ไม่ตายตั้งแต่วันสร้าง" แล้วเป็นแนวคิดที่ดีครับ และผมเห็นด้วยอย่างยิ่ง ห้องสมุดไม่ใช่โกดังหนังสือ แต่เป็นแหล่งเรียนรู้  แต่การทำ TK park ผมมองว่ายังไงๆ ก็ไม่สามารถทำเป็นต้นแบบเพื่อให้กระจายไปที่อื่นได้ เพราะแค่งบที่ใช้มันก็ไม่ตรงกับสภาพความเป็นจริงของบ้านเราแล้ว 

ถ้าให้ผมตั้งโจทย์ผมอยากเสนอให้คงปรัชญา ของ TKpark นี้ไว้ แต่แบ่งงบที่ได้เป็น 5 ส่วน กระจายไป 5  ภาค ดูว่าภายใต้งบประมาณที่ลดลง (แต่ก็ยังอาจอยู่ในระดับที่สูงเกินงบ อบจ. ต้องลองปรับอีกที) ทีมงานจะดำเนินงานอย่างไรให้คงปรัชญานี้ได้และเข้าได้กับวัฒนธรรมท้องถิ่น

เมื่อวานไปงานระดมสมองเรื่องสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ที่ทำเนียบ ได้พบกับอาจารย์ใหญ่ 2 โรงเรียนกทม.หนึ่งและต่างจังหวัดหนึ่ง เลยได้ข้อคิดเพิ่มขึ้นคืออาจาย์บอกว่าคนกทม.คิดว่าสื่ออินเทอร์เน็ตเป็นอันตรายและสำคัญที่สุด แต่หากมองภาพรวมของประเทศแล้ว สื่อสิ่งพิมพ์สิสำคัญกว่า เพราะประเทศเรามีพื้นที่ต่างจังหวัดมากกว่าในกรุง สื่อสิ่งพิมพ์แพร่กระจายในต่างจังหวัด ไร่นา ชนบทได้กว้างกว่ามาก มีอิทธิพลกว่ามาก

กลับมาในเรื่อง TKpark  ซึ่งเห็นด้วยกับ concept ห้องสมุดไม่ต้องน่าเบื่อ มี multimedia แต่หากต้องการกระจายไปต่างจังหวัดมากๆ ควรจะเน้นที่หนังสือมากกว่า ให้มีหลากหลายและหมุนเวียนใหม่ๆมาเสมอ  เคยพาลูกไป TKpark ปรากฎว่าจุดขายที่เค้าสนใจคือเกมส์มากกว่าหนังสือ! การมีก็อาจดีแต่หากต้องเลือกขอให้ความสำคัญกับหนังสือค่ะ 

อย่างไรก็ตาม หากยังไม่สามารถมี TKpark ได้ทุกจังหวัด จะสามารถไปปรับปรุงห้องสมุดประชาชนเดิมได้มั้ย เพราะปกติก็จะตั้งในทำเลที่ดีอยู่แ้ล้ว อาจเป็นลักษณะความร่วมมือก็ได้ synergy ไงคะ 

เรื่องความหรูหรา ผมไม่คิดว่าอยู่ในวิสัยที่จะทำอะไรได้ครับ มีของหรูที่ทำไปแล้วด้วยผู้บริหารชุดก่อนไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ดี ก็คงไม่ใช่ทางออกที่ดีที่จะต้องเสียเงินเพิ่มเพื่อไปทำให้ไม่หรูนะครับ

คำตอบจาก TKpark ครับ ได้มาเมื่อปลายเดือนที่แล้ว แต่เพิ่งเอามาโพส


1.  ทำไมอุทยานการเรียนรู้ ดูหรูหราเกินความจำเป็น

ตอบ    การสร้างแรงจูงใจและความสนใจการอ่านสำหรับผู้ที่ไม่ชอบอ่าน หรือไม่คุ้นเคยกับการอ่านนั้น ต้องการมากกว่าโต๊ะเก้าอี้และหนังสือ อุทยานการเรียนรู้ TKpark ในส่วนที่เป็นห้องสมุดมีชีวิต เป็นกลยุทธ์ที่จะจัดให้พื้นที่ที่สร้างสรรค์ในทางบวกสำหรับเด็กและเยาวชนรวมถึงวัยรุ่น เพื่อจูงใจ สร้างความสนใจ และสร้างนิสัยในการอ่าน คิด และเรียนรู้  การออกแบบอุทยานการเรียนรู้มีพื้นฐานจากการวิจัยทัศนคติและพฤติกรรมของเด็กและวัยรุ่นในการใช้เวลา และสี่งที่จูงใจที่จะทำให้สนใจในการใช้เวลา แนวคิดในการออกแบบก่อตั้งอุทยานการเรียนรู้มีวัตถุประสงค์เพื่อดึงดูดความสนใจของเด็กๆและวัยรุ่น ให้สนใจที่จะเข้ามาใช้สถานที่ และมาบ่อยๆจนเกิดความความคุ้นเคนกับสื่อที่สร้างสรรค์  ซึ่งหมายถึงการที่ต้องแข่งขันกับสถานที่อื่นๆ ซึ่งเด็ก และเยาวชนคุ้นเคยอยู่แล้ว เช่น ศูนย์การค้า  โรงภาพยนต์  สถานเริงรมย์ หรือร้านอาหารที่กลุ่มวัยรุ่นสามารถไปสังสรรกัน หรือสวนสนุกสำหรับเด็ก  ฉะนั้นการออกแบบรูปแบบโดยรวมจึงทำให้ดูมีชีวิตชีวา ทันสมัย ทำให้เด็กและเยาวชนรู้สึกว่าเป็นสถานที่ที่เหมาะกับเขา   รู้สึกสนุก สบายกาย สบายใจ  ซึ่งเป็นปัจจัยหลักในการเรียนรู้ รายละเอียดการออกแบบภายในนั้นเป็นไปตามกลยุทธ์ และอยู่บนพื้นฐานของผลการวิจัยพฤติกรรม และความตั้งใจที่จะทำให้เป็นสถานที่ที่เด็กและวัยรุ่นเลือกที่จะใช้เวลา นอกเหนือจากที่บ้านและโรงเรียน

2        ทำไมต้องอยู่ในศูนย์การค้าราคาแพง

ตอบ    หนึ่งในอุปสรรคของการอ่านและการเรียนรู้คือความสะดวก  และโอกาสในการเข้าถึงหนังสือ เมื่อวัตถุประสงค์หนึ่งของอุทยานการเรียนรู้ TK park คือการให้เด็กและเยาวชนมีโอกาสได้เลือกอ่านหนังสือ และแสวหาความรู้ด้วยสื่อทีหลากหลาย อุทยานการเรียนรู้ แห่งแรกจึงต้องอยู่ในสถานที่ที่เด็กๆ ผู้ปกครอง และวัยรุ่นสามารถเข้าถึงได้โดยสะดวก   เนื่องจากบริเวณที่ตั้งของเซ็นทรัลเวริลด์อยู่จุดศูนย์กลางของแหล่งที่เด็ก ผู้ปกครอง และ วัยรุ่น มักจะใช้เวลาหลังเลิกเรียน เลิกงาน หรือวันหยุด อยู่แล้ว ทำให้ไม่เป็นการยุ่งยากซับซ้อนในการเข้าถึง   นอกจากนี้ยังเป็นจุดที่เดินทางมาได้สะดวกโดยรถสาธารณะหลายประเภท เป็นการลดต้นทุนในการเข้าถึงของกลุ่มเป้าหมาย

3        ทำไมมีห้องต่างๆมากมาย จำเป็นด้วยหรือ

ตอบ    อุทยานการเรียนรู้ ที่ชั้น 8 เป็นเสมือนห้องทดลองการสร้างสรรค์การเรียนรู้และต้นแบบแนวคิดห้องสมุดมีชีวิต  เพื่อขยายผลต่อไปยังชุมชนในวงกว้าง  ซึ่งการเรียนรู้นั้นเกิดขึ้นได้หลายทางนอกเหนือจากการอ่านหนังสือ  ห้องต่างๆ เกิดจากแนวคิดทฤษฎีการสร้างความสนใจในการเรียนรู้ ที่ตระหนักถึงความสนใจที่ต่างกัน   แต่ละคนมีความสนใจ และหนทางในการเรียนรู้ที่ต่างกัน  ความต่างนี้เองที่ทำให้สังคมเจริญรุ่งเรื่องได้ด้วยความรู้ความชำนาญที่ส่งเสริมกัน  เหตผลอีกประการหนึ่งคือการที่อุทยานการเรียนรู้ มีกลุ่มเป้าหมายที่ต่างกัน  คือตั้งแต่เด็กเล็ก จนถึงวัยรุ่น  ได้กล่าวแล้วว่าสถานที่ห้องสมุดมีชีวิตอุทยานการเรียนรู้แห่งแรกนี้ ถือเป็นเสมือนห้องทดลองการสร้างสรรค์การเรียนรู้  จึงต้องมีห้องต่างๆ และส่วนต่างๆที่เหมาะกับความพร้อมในการเรียนรู้ขอแต่ละวัย

4.      TK park เป็นสถานที่สำหรับคนรวยเท่านั้น ทำให้ย้ำช่องว่างความแตกต่างของคนที่มีโอกาสและคนด้อยโอกาส

ตอบ    อุทยานการเรียนรู้แห่งแรกที่ชั้น 8 เป็นเสมือนห้องทดลองการสร้างสรรค์การเรียนรู้ และต้นแบบแนวคิดห้องสมุดมีชีวิต  เพื่อขยายผลต่อไปยังชุมชนในวงกว้าง การออกแบบนั้นเป็นไปตามวัตถุประสงค์หลักในการจูงใจกลุ่มเป้าหมาย ในสภาพแวดล้อมที่ต้องแข่งขันกับแรงจูงใจอื่นๆ   นอกจากนี้ยังเป็นศูนย์ในคิค้นวิธีการเรยนรู้ต่างๆ และการผลิตสื่อความรู้ต่างๆ  สำหรับกลุ่มเป้าหมายที่ต่างๆกัน  เมื่อแนวคิดนี้ได้ผล สามารถช่วยจูงใจความสนใจของเด็ก ผู้ปกครอง และวัยรุ่น เป็นทางเลือกในการใช้เวลาอย่างสร้างสรรค์ได้ ก็ถึงเวลาขยายแนวคิดต่างๆไปยังชุมชน  โดยปรับรูปแบบและสาระให้เข้ากับความต้องการของชุมชนนั้นๆ โดยร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐ และเอกชนในการขยายแนวคิดนี้ เป้าหมายคือให้มีห้องสมุดที่มีชีวิต ที่เป็นพื้นที่สร้างสรรค์ ให้โอกาสในการอ่านสื่อดีดี ในบรรยากาศที่สร้างสรรค์ในแต่ละชุมชนทั่วประเทศ  ทั้งนี้ ต้องการการสนับสนุนและกำลังใจจากทุกฝ่ายและคนไทยทุกคนในประเทศ

สรุป  เราทุกคนมีส่วนช่วยให้ประเทศชาติอยู่ได้ ช่วยให้คนไทยมีความรู้ มีความคิดโดยการสร้างทัศนคติในทางบวก  ส่งเสริมสถานที่ที่สร้างพลังทางบวก และสนับสนุนการทำงานเพื่อการสร้างสรรค์สังคม รวมทั้งการให้กำลังใจผู้ที่ทำงานเพื่อประเทศชาติอย่างสุจริตใจ

  • ที่โรงเรียนได้ TKpark งบ 2 ล้านบาท แต่ยังไม่เห็นว่าเป็นอย่างไร
  • ผมคิดว่าน่าจะดี
  • คงเป็นประโยชน์ในระดับหนึ่ง ถ้านักเรียนใช้เป็น ไม่ใช่ใช้ได้อย่างเดียว
  • เดี๋ยวนี้ นักเรียนใช้อินเตอร์เน็ตได้ แต่ใช้ไม่เป็น ทำให้เกิดปัญหามากมายตามมา
  • ผมเคยพาลูกไปที่ TKpark ที่กรุงเทพฯ แต่ก็มีเวลาน้อย
  • ลูกชายเป็นคนที่ชอบอ่านมาก อ่านได้ทั้งวัน
  • ดีหรือไม่ผมว่าอยู่ที่คนใช้บริการว่าความต้องการของเขาแค่ไหน
  • ในดีมีเสีย ในเสียมีดี ไม่มีอะไรดีหมด หรือเสียหมด ครับ
  • โดยconcept หลักของ TK  ก็เป็นแนวคิดที่ดีค่ะ  ส่วนภูมิภาคสามารถนำมาเป็นแนวทางได้ 

    อุทยานการเรียนรู้เมืองนครศรีธรรมราช ก็เป็นหน่วยงานหนึ่งที่มีลักษณะคล้ายๆ กับ TK  แต่เราดำเนินการโดยเทศบาลนครนครศรีธรรมราช   ไม่ได้ขึ้นกับ TK แต่อย่างใด  รูปแบบการให้บริการมีความหลากหลาย ดึงดูดใจให้เด็กๆ เข้ามาที่นี่ เพื่อค้นคว้าหาความรู้  เราอาจจะเรียกร้องความสนใจจากเด็กๆ ด้วยความหรูหรา ทันสมัย สะดวกสะบาย แต่เมื่อเด็กเข้ามาแล้ว ก็เป็นหน้าที่ของเราว่าจะเบี่ยงเบนความสนใจเขาออกจากสิ่งเหล่านั้นได้อย่างไร   จะต้องมีอย่างอื่นที่น่าสนใจมากกว่าความหรูหรา  เด็กอยู่กับความหรูหราได้ไม่นานหรอกค่ะ   และเด็กแต่ละพื้นที่ก็มีความแตกต่างกัน มีความสนใจต่างกัน กิจกรรมจึงมีความต่างกันออกไป

    อบจ หรือเทศบาล ไม่มีงบมากอย่าง TK แน่นอน หนังสือเป็นหมื่นเป็นแสนเล่ม เราคงทำไม่ได้  เรามีได้แค่นับพันเล่ม  เพื่อส่งเสริมการอ่านเท่านั้น  เครือข่ายที่จะร่วมงานก็ยิ่งแย่ไปใหญ่  วิทยากร ผู้รู้ คนเด่น คนดัง ที่จะมาต่างจังหวัดเพื่อทำกิจกรรมให้เด็กก็ยิ่งยาก  และเราไม่สามารถเรียกเก็บค่าใช้จ่ายจากผู้ใช้บริการได้ มิฉะนั้นก็จะยิ่งสร้างความแตกต่างระหว่างเด็กไปชุมชน  กับเด็กที่พ่อแม่มีฐานะ

    อุทยานการเรียนรู้เมืองนครศรีธรรมราช เปิดให้บริการมาได้ 18 เดือน มีเด็กๆ เข้ามาใช้บริการวันละเกือบ 1000  คน  เราดำเนินการอย่างไรภายใต้งบประมาณที่จำกัด  แวะไปอ่านได้ใน Block นะคะ

    เป็นเรื่องน่ายินดีที่อุทยานการเรียนรู้เมืองนครศรีธรรมราชได้รับการตอบรับที่ดีครับ

    ผมเชื่อว่าทาง TKpark ไม่ได้ต้องการให้แต่ละศูนย์ลงทุนมากมายเกินความเหมาะสม และทาง TKpark จะผลิตสื่ออิเล็กทรอนิกส์ออกมาเพื่อให้ CLP แต่ละท้องถิ่นเลือกนำไปใช้นะครับ

    หาก CLP ใดๆ ผลิตสื่อ/ชุดความรู้สำหรับท้องถิ่นออกมา (เช่นพิษณุโลกทำเรื่องสมเด็จพระนเรศวร หรือพระพุทธชินราช) ก็น่าจะแลกเปลี่ยนกันได้ครับ จะได้ไม่หนักแรงใคร และได้เนื้อหามาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันได้

    ติดต่อ TKpark

    TK PARK ยะลา เท่าที่ผมทราบมาครับ เกิดจาก แนวคิดเทศบาลนครยะลา ที่ต้องการสร้างความรู้ให้ประชาชนเยาวชน เป็นงบประมาณของเทศบาลนครยะลา+กับประชาชนของยะลา จึงเกิดมาได้ ผมว่าขึ้นอยู่กับผู้บริหารของเทศบาลนะคับ ผมเคยไปอ่านหนังสือทั้งวันเลยเพราะ

    1.สถานที่สบาย สงบ สวยมาก ดีกว่าโต๊ะธรรมดาจึงดึงดูดให้เยาวชนอยากอ่านหนังสื่อและมีกิจกรรมมากเลย

    2.มีมุมอาหารว่างเผื่อหิว

    3.ผมเห็นมากันเป้นครอบครัวเลย เด็กเล็กมากก้เล่นได้ พ่อแม่อ่านหนังสือ มันดีนะครับ ผมชอบ และอีกมาก

    สรุปนะครับ ขึ้นอยู่กับความตั้งใจของผู้บริหารเทศบาลมากกว่านะ จะหางบยังไง เช่น ตัดงบสร้างถนน(สร้างแล้วมีผมประโยชน์บางหรือไม่ไม่รู้) แต่ถ้าสร้างเพื่อเยาวชนผมสนับสนุนเต็มที่ ยะลาจึงมี TKpark และอย่างอีกมาก

    พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
    ClassStart
    ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
    ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
    ClassStart Books
    โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท