ทบทวนชีวิตใน ๓ สัปดาห์ ๒๘ พย. – ๑๘ ธค. ๔๘


เป็นชีวิตที่ยุ่งเกินไป
ทบทวนชีวิตใน ๓ สัปดาห์   ๒๘ พย. – ๑๘ ธค. ๔๘
การที่ไม่ได้ทบทวนชีวิตทุกสัปดาห์ตามที่ตั้งใจไว้  แสดงว่าช่วงชีวิตสามสัปดาห์ที่ผ่านมาไม่ปรกติ คือยุ่งเสียจนไม่มีเวลาทบทวนชีวิต    ตัวต้นเหตุใหญ่ที่สุดคืองานมหกรรมจัดการความรู้แห่งชาติ    แต่ก็เป็นชีวิตที่มีความสุข     คือสุขแบบยุ่งๆ      ชีวิตไหลไปตามงาน
·        มหกรรมจัดการความรู้แห่งชาติ ครั้งที่ ๒   วันที่ ๑ – ๒ ธค. ประสบความสำเร็จเกินคาด     มีคนมาร่วมถึง ๑ พันคน    มากกว่าตัวเลขคาดหมาย ๗๐๐ คนไปถึง ๕๐%   ทำให้ทีมงานเหน็ดเหนื่อยกันมาก    นอกจากนั้นยังมีความสับสน มีผู้เดินมางานโดยที่เข้าใจผิดว่าใครๆ ก็เข้าร่วมงานได้ฟรี    ในด้านคุณภาพเราก็ประเมินว่าคุณภาพสูงกว่าที่เราคิดไว้    เพราะเรามีภาคีที่ทำ KM จริงๆ มาร่วมเวที     แต่เราก็เห็นข้อควรปรับปรุงมากมาย สำหรับเอาไว้วางแผนจัดงานปีหน้า ซึ่งเราตกลงกันไว้ว่าจะถือวันที่ ๑ – ๒ ธันวาคม ของทุกปี เป็นวันจัดการความรู้แห่งชาติ       หลังงานเราก็เริ่มวางแผนมหกรรมจัดการความรู้แห่งชาติ ครั้งที่ ๓ ทันที    โดยตั้งเป้าผู้เข้าร่วม ๒,๐๐๐ คน    และได้ติดต่อจองสถานที่ที่ อิมแพ็ค เมืองทองธานี แล้ว     ผลการจองคงจะทราบสัปดาห์หน้า     เราวางแผนให้ภาคีเข้ามามีบทบาทรับผิดชอบเวทีมากขึ้น
·        จบมหกรรมในวันที่ ๒    รุ่งขึ้นผมก็ไปเที่ยวนครวัด นครธม ที่กัมพูชา ทันที     โดยไปกับคณะ มสช. นำโดย นพ. สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ เลขาธิการมูลนิธิ     เอาไว้ผมอ่านหนังสือทำความเข้าใจอีกหน่อย จะเอาบันทึกเรื่องนี้มาลง
·        กลับมาจากเขมรดึกแล้ว รุ่งขึ้นเช้ามืดบินไปเชียงใหม่    ไปร่วมงานประชุมวิชาการรัฐศาสตร์ฯ ในวันที่ ๗    และร่วมตลาดนัดความรู้ ม. แม่โจ้ วันที่ ๘ ดังเล่าไว้แล้ว 
·        วันที่ ๙ หารือเรื่อง KM สอศ. ซึ่งมี ๒ ด้าน คือ KM แก้จน   กับ KM เพื่อพัฒนา สอศ. เอง     ขณะนี้มี บล็อก ของสมาชิก สอศ. ขึ้นมาหลาย บล็อก แล้ว  คงต้องรออ่านเรื่องราวของการไปดำเนินการ KM จริงๆ     และวันที่ ๑๘ – ๒๐ คุณธวัชกับอ้อ จะไปจัดตลาดนัด สอศ. ครั้งที่ ๒ ที่สุพรรณ    ตอนบ่ายหารือเรื่องวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกด้าน KM  ของคุณไพฑูรย์ ช่วงฉ่ำ โดยหารือร่วมกับ รศ. ดร. อรจรีย์ ณ ตะกั่วทุ่ง อาจารย์ที่ปรึกษาหลัก    ตกลงกันว่าคุณไพฑูรย์ จะกลับไปเขียนโจทย์วิจัย และวิธีการวิจัยที่ชัดเจน ส่งให้ อจ. ที่ปรึกษาดูว่าใช้ได้ไหม    
·        วันที่ ๑๐ พักฟื้น
·        วันที่ ๑๑ – ๑๒ ไปบ้านครูบาสุทธินันท์ ปรัชญพฤทธิ์ ที่ อ. สตึก  จ. บุรีรัมย์    ระหว่างทางได้ความรู้ว่าขาหมูตุ๋นยาจีนที่ อ. นางรองอร่อยมาก    ขากลับอดไม่ได้ที่จะซื้อเป็นของฝากภรรยา ซึ่งหมายความว่าตัวเองเป็นผู้กินเป็นส่วนใหญ่     จนวันนี้ยังไม่หมด     งานที่ไปคือการเตรียมดำเนินการทำวิทยานิพนธ์ นศ. ปริญญา เอก – โท แบบใหม่ คือแบบเรียนในชุมชน    เรียนรู้โดยดำเนินการ KM ร่วมกับกลุ่มชาวบ้าน    มี ปราชญ์ชาวบ้านและ อจ. จากมหาฯ เป็นที่ปรึกษา     ดังได้ลงบันทึกไว้แล้ว (คลิก)
·        วันที่ ๑๓ ประชุมภาคีจัดการความรู้ท้องถิ่น โดยมีสมาชิกเพิ่ม จาก ปปส.     ตอนบ่ายไปเป็นประธานประชุมคณะอนุกรรมการกลั่นกรองโครงการพัฒนาศิริราชสู่ความเป็นเลิศด้านการวิจัยและบริการ    ดังได้เล่าไว้แล้ว (คลิก)
·        วันที่ ๑๔ ประชุมประจำสัปดาห์ของ สคส. เพื่อ AAR และร่วมกันวางแผนดำเนินการงานที่จะทำ     แล้วบึ่งไปรับโฉนดที่ดินเท่าแมวดิ้นตายที่โคราช ที่ผ่อนส่งไว้ตั้งเกือบ ๒๐ ปีมาแล้ว
·        วันที่ ๑๕ ไปสุพรรณกับอ้อมและน้ำ     ร่วมประชุมสรุปบทเรียนโรงเรียนชาวนาของ มขข.     ดังเล่าไว้แล้ว (คลิก)
·        วันที่ ๑๖ บรรยายนำเรื่อง “ความรู้บูรณาการสู่สังคมไทย”   ดังจะได้เล่าต่อไป    จากการบรรยายนี้ ได้จัดทำ Narrated Ppt ไว้จำหน่ายด้วย    แล้วอยู่ฟังการอภิปรายกลุ่มเรื่องเดียวกัน ต่อ เพราะอยากฟังความเห็นของ ศ. ดร. เจตนา นาควัชระ    ดร. สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์   และ รศ. ดร. ไพฑูรย์ สินลารัตน์     บ่ายไปร่วมงานประกวดหนังสั้น จัดโดย วจส. เพราะอยากรู้ว่าเขาจัดกันอย่างไร    แต่ไม่ได้อยู่ร่วมจนจบ
·        วันที่ ๑๗ ไปนครศรีธรรมราช ร่วมประชุมสภา มวล.    และตอนบ่ายไปเยี่ยมชมโรงงานผลิต พาร์ติเคิล บอร์ด ที่สุราษฎร์ธานี ดังได้เล่าแล้ว (คลิก)    ตอนเครื่องบินร่อนลงที่นครฯ เห็นน้ำเจิ่งนองเต็มไปหมด    พอเครื่องจอดฝนก็เทลงมา     แต่โชคดีตอนบ่ายฝนหาย     ระยะนี้ภาคใต้ประสบอุทกภัยกว้างขวางมาก    และในช่วง ๒ วันนี้อากาศที่กรุงเทพเย็นลง และลมหนาวพัดแรง    ตอนประชุมสภา มวล. มีความคิดดีๆ มาฝาก     ดังจะได้ลงบันทึกต่อไป  
·        วันที่ ๑๘ เป็นวันที่ได้มีเวลาทบทวนชีวิตใน ๓ สัปดาห์ที่ผ่านมา
·        ผมบอกตัวเองว่า    ชีวิตที่ยุ่งเกินไปแบบ ๓ สัปดาห์ที่ผ่านมาไม่เหมาะต่อชีวิตคนแก่    คงต้องหาวิธีลดภาระงานลงไป     โดยยังคงทำประโยชน์ต่อสังคม    ดังกรณี มร. เชิญไปบรรยาย KM แก่ นศ. ป. โท  ๔ ชม.    ผมเสนอให้คุณธวัช ไปแทน เขาก็เอา     ผมเชื่อว่าคุณธวัช จะบรรยายได้ดี    เพราะมีประสบการณ์ตรงมาเกือบ ๒ ปี    ได้เห็นกิจกรรม KM ทั้งที่เข้มแข็ง และไม่เข้มแข็งมามาก 
วิจารณ์ พานิช
๑๘ ธค. ๔๘

 

หมายเลขบันทึก: 10006เขียนเมื่อ 18 ธันวาคม 2005 07:28 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:14 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ได้ติดตามอ่างบล็อกของอาจารย์มาพอสมควร  โดยเฉพาะบล็อกนี้รู้สึกเหนื่อยแทนอาจารย์มากเลยค่ะ  แต่ถ้าอาจารย์ไม่ยอมที่จะเหนื่อยอย่างนี้ KM ของไทยก็จะลดน้อยถอยลงไปอีกเยอะ  ขอเป็นกำลังใจให้อาจารย์ค่ะ

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท