วิธีอ่านหนังสือเพื่อขัดเกลาตนเอง ( ๒ ) ... (โยชิโนริ โนงุจิ)


การแบ่งปันความรู้ที่ได้รับมาภายใน 48 ชั่วโมง จะช่วยให้เราซึมซับความรู้นั้นได้มากขึ้น

บันทึกนี้เป็นตอนที่ ๒ ต่อจากบันทึก วิธีอ่านหนังสือเพื่อขัดเกลาตนเอง ( ๑ ) ... (โยชิโนริ โนงุจิ)

ซึ่งเป็นอีกตอนหนึ่งในหนังสือ ชื่อ "มองด้วยใจ" ที่เขียนโดย "โยชิโนริ โนงุจิ" แปลโดย "ทิพย์วรรณ ยามาโมโตะ" ซึ่ง "โยชิโนริ โนงุจิ" เป็นผู้เขียนหนังสือขายดี เช่น กฎแห่งกระจก, EQ Note ความสำเร็จเริ่มต้นที่หัวใจ, กฎแห่งกระจก ฉบับการ์ตูน ฯลฯ

 

ลองฟังข้อคิดของงานเขียนตอนนี้ต่อนะครับ ...

 

 

วิธีอ่านหนังสือเพื่อขัดเกลาตนเอง ( ๒ )

 

ต่อไปนี้ผมขอเล่าถึงวิธีการอ่านอย่างเฉพาะเจาะจงลงไปอีก

 

อย่างแรก สิ่งสำคัญคืออย่ารีบร้อนและใช้เวลาในการอ่านให้มากเข้าไว้ การอ่านอย่างมีประสิทธิภาพในเวลาอันสั้นที่สุด น่าจะเป็นผลดีสำหรับอ่านเพื่อเก็บข้อมูลและแสวงหาความรู้ แต่สำหรับการอ่านเพื่อขัดเกลาตนเอง เราไม่จำเป็นต้องคำนึงถึงการใช้เวลาอย่างมีประสิทธิภาพ แต่ควรให้ความสำคัญต่อ "การค่อย ๆ รับรู้ด้วยความรู้สึกนึกคิดของตนเอง" มากกว่า

สิ่งสำคัญคือ การได้รับประสบการณ์ด้านความรู้สึก (ความประทับใจ) ว่า "อ่านหนังสือเล่มนี้แล้วเรารู้สึกอย่างไร" มากกว่า การได้รับรู้ด้วยปัญญาว่า "หนังสือเล่มนี้เขียนเกี่ยวกับเรื่องอะไร" เพราะว่าคนเราเปลี่ยนแปลงกันได้ด้วยความประทับใจนั่นเอง

 

นอกจากนี้เราไม่ควรปักใจเชื่อเนื้อหาทั้งหมดที่ได้อ่านมา หากมีเรื่องที่ไม่เข้าใจหรือข้อสงสัย ก็ควรลองไตร่ตรองในมุมมองของตัวเองดูบ้าง ในหนังสือ "หลุนหวี่" เขียนไว้ว่า

"หากเรียนรู้แต่ไม่คิดตาม ก็เปรียบได้กับคนตาบอด (หากแค่รับความรู้มาจากคนอื่น แต่ไม่ลองคิดดูด้วยตนเอง ก็จะไม่เข้าใจอย่างถ่องแท้)"

 

หากมีจุดที่ต้องการโต้แย้งก็ต้องลองโต้แย้ง และเมื่อโต้แย้งแล้วก็ลองคิดต่อไปว่า "ถ้าเราเป็นนักเขียนผู้นี้จะตอบกลับว่าอย่างไร" ในระหว่างนั้นจะลองเขียนบรรยายความรู้สึกและความคิดของตนเองลงบนพื้นที่ว่างในหนังสือก็น่าจะดีเหมือนกัน

เมื่อเราอ่านไปพลางหยุดคิดไปพลาง ก็จะยิ่งเข้าใจความคิดของผู้เขียนได้เป็นอย่างดี เพราะการอ่านด้วยวิธีนี้ นอกจากจะเป็นการสร้าง "เวลาพูดคุยกับนักเขียน" แล้ว ในขณะเดียวกัน เรายังสร้าง "เวลาพูดคุยกับตนเอง" อีกด้วย

เหมือนเราได้พูดคุยกับ (ผู้เขียน) ผู้มีความสามารถแบบตัวต่อตัวฉันใด เราก็ได้หันกลับมาพูดคุยกับตัวเองฉันนั้น นี่ละคือ รสชาติอันล้ำเลิศของการอ่านหนังสือ

(เหมือนเราเขียนบล็อก แล้วมีเพื่อน ๆ มาเขียนความคิดเห็นนะครับ)

 


ต่อไปนี้ผมขอกล่าวถึงสิ่งที่สำคัญที่สุดในการอ่านหนังสือเพื่อขัดเกลาตนเอง นั่นคือ การเชื่อมโยงไปสู่การลงมือปฏิบัติ

หวังหยางหมิง ผู้ก่อตั้งลัทธิหยางหมิง กล่าวว่า "การเรียนรู้และการปฏิบัติมีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน" หรือเรียกว่า "เอกภาพของการเรียนรู้และการปฏิบัติ" (Unity of Knowledge and Action)

การเรียนรู้และการปฏิบัติมีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ไม่ได้หมายความว่า "เรียนรู้ก่อนแล้วจึงลงมือปฏิบัติในภายหลัง" แต่หมายความว่า การเรียนรู้และการลงมือปฏิบัติไปพร้อมกัน เมื่ออ่านหนังสือแล้วคิดหรือรู้สึกอย่างไร ก็ให้เปลี่ยนความคิด การกระทำ และคำพูดของตนเองในขณะนั้นเลย

 

สำหรับผม เมื่อได้อ่านหนังสือหลายเล่มแล้วมีสิ่งที่คิดว่า "ลงมือปฏิบัติจริงได้ทันที" ผมก็จะเริ่มต้นทำในตอนนั้น และเขียนบันทึกลงใน "สมุดปฏิบัติจริง" ซึ่งในสมุดเล่มนั้นจะมีสิ่งที่ผมคิดว่า "ลงมือปฏิบัติจริงได้ทันที" เขียนไว้

อาจจะกล่าวได้ว่า สมุดเล่มนั้นคือ ผลึกของความคิดและความรู้สึกที่ผมได้จากการอ่านหนังสือ และการเปิดอ่านสมุดเล่มนั้นเป็นประจำทำให้ผมได้ทบทวนวิธีการใช้ชีวิตที่ผ่านมาของตัวเอง

(ผนึกความคิด น่าจะเกิดจากการอ่านบล็อกได้เช่นกัน)

 

 

ผมยังมีอีกเรื่องหนึ่งที่อยากแนะนำ

 

สำหรับหนังสือที่อ่านแล้วรู้สึกดี คุณก็ควรเล่าถึงเนื้อหาของหนังสือเล่มนั้นให้ผู้อื่นฟังก่อนที่เวลาจะล่วงเลยไป ผมทราบมาว่า การแบ่งปันความรู้ที่ได้รับมาภายใน 48 ชั่วโมง จะช่วยให้เราซึมซับความรู้นั้นได้มากขึ้น

(เคยมีงานวิจัยบอกว่า การที่เราเข้าใจอะไรบางอย่างแล้ว แล้วได้มีโอกาสสอนผู้อื่นต่อ เราจะมีความคงทนในการจำถึง 90% ในเนื้อหาที่เราสอนไปนั้น)

 

สำหรับผมแล้ว เมื่อได้อ่านหนังสือเล่มไหนแล้วรู้สึกดีก็จะแนะนำให้เพื่อน ๆ อ่านด้วย หลังจากนั้นก็แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับเพื่อนที่ได้อ่าน การได้รับฟังความคิดเห็นที่มีมุมมองแตกต่างจากตนเอง จะช่วยให้เรารับรู้สิ่งใหม่ ๆ และเข้าใจเนื้อหาของหนังสือได้ดียิ่งขึ้น

(แนะนำหนังสือ เหมือนบล็อก "หอมกลิ่นหนังสือ" บล็อกนี้ยังไงล่ะครับ อ่านแล้วแบ่งปันบางส่วน แต่หากอยากอ่านเต็มเล่ม ต้องลองไปหาซื้อจากร้านหนังสือดู ถือว่า แบ่งปันกันนะครับ)

 

นอกจากนี้ ผมยังชอบมอบหนังสือที่มีอิทธิพลต่อชีวิตของผมอย่างมากให้ผู้อื่น และเป็นเรื่องสนุกอยู่ไม่น้อยเวลาพิจารณาว่า "สำหรับคนนี้แล้ว หนังสือแบบไหนน่าจะเป็นประโยชน์มากที่สุด"

หากเพื่อนนำเรื่องราวเกี่ยวกับหนังสือมาเล่าสู่กันฟังเพิ่มมากขึ้น ก็ยิ่งช่วยเพิ่มสีสันให้ชีวิตเราได้เช่นกัน ลองเล่าวิธีการอ่านหนังสือที่ได้เรียนรู้จากบทนี้ให้คนรอบข้างฟัง และลองขยายกลุ่มเพื่อนผู้ร่วมกันขัดเกลาตนเอง ก็เป็นเรื่องดีนะครับ

(โหย ตรงนี้ก็เป็นเหมือนกัน ชอบมอบหนังสือให้เป็นของขวัญโอกาสสำคัญ แต่ก็ต้องเลือกดูตามลักษณะนิสัยและความชอบของแต่ละคนด้วย)


 

 

................................................................................................................................................

 

การอ่านหนังสือ เป็นขัดเกลาความคิดของตัวเองครับ

การอ่านหนังสือ เป็นการเปิดโอกาสให้เราได้พัฒนาตัวเอง

ไม่ใช่อย่างที่มีคนว่าผมว่า "นิพพานจากการอ่าน" แน่นอน

(มีคนบอกผมว่า ผมเป็นพวก "นิพพานจากการอ่าน")

ท่าน ว.วชิรเมธี เขียนหนังสือชื่อ "นิพพานได้ทุกวัน"

 

เราใฝ่รู้ เราจึงอ่าน

เราใฝ่งาน เราจึงคิด

เราใฝ่มีชีวิตที่ดี เราจึงปฏิบัติ

 

มันเป็นเช่นนั้นเอง

 

บุญรักษา ทุกท่านครับ ;)...

 

................................................................................................................................................

ขอบคุณหนังสือดี ๆ

โนงุจิ, โยชิโนริ (ทิพย์วรรณ ยามาโมโตะ แปล).  มองด้วยใจ. กรุงเทพฯ: อมรินทร์ How-To, 2553.

 

หมายเลขบันทึก: 454961เขียนเมื่อ 20 สิงหาคม 2011 00:04 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 16:38 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (8)
  • สำหรับหนังสือที่อ่านแล้วรู้สึกดี คุณก็ควรเล่าถึงเนื้อหาของหนังสือเล่มนั้นให้ผู้อื่นฟังก่อนที่เวลาจะล่วงเลยไป ผมทราบมาว่า การแบ่งปันความรู้ที่ได้รับมาภายใน 48 ชั่วโมง จะช่วยให้เราซึมซับความรู้นั้นได้มากขึ้น
    -> เห็นด้วย.. อันนี้จะนำไปปฎิบัติทันทีคะ 
  • อยากอ่านเล่มนี้จังคะ แต่ไม่มีขายใน amazon T_T ไว้กลับไปก่อน แล้วจะแลกเปลี่ยนความคิดนะคะ
  • มาชอบอ่านหนังสือ หลังจากอ่านบทความของอาจารย์นี่แหละ..หวังว่าอ่านแล้วจะมีสมาธิมากขึ้น กำลังพยายามอยู่คะ

นำเสนอบล็อก "หอมกลิ่นหนังสือ" ที่ผมเขียนไปเรื่อย ๆ นี้

(http://www.gotoknow.org/blog/scented-book/toc)

ให้คุณหมอบางเวลา CMUpal ได้ลองเข้าไปอ่านดูนะครับ

ตามดูหนังสือดีๆที่แนะนำให้

ขอบคุณมากๆค่ะ

ขอบคุณที่ท่าน ศน.ลำดวน เข้ามาเยี่ยมเยือนครับ ;)...

การอ่านหนังสือเพื่อขัดเกลาตนเอง....ดาวเห็นหัวข้อตอนแรกนึกว่าเป็นหนังสือธรรมะเสียอีก 555

เอ แต่จะว่าไป ธรรมะก็คือธรรมชาติ มีแทรกอยู่รอบๆ ตัวเราให้เราได้พิจารณา เพียงแต่บางคนมองเห็น ในขณะที่บางคนมองผ่าน

อืม จะว่าไปแล้ว ดาวเองมองว่าการอ่านหนังสือเพื่อขัดเกลาตัวเองคล้ายๆ กับการเขียนบันทึกเพื่อขัดเกลาตนเองนะคะ

อย่างเวลาที่เราจะเขียนบันทึก เราต้องคิดว่าจะเขียนอะไร ณ เวลานั้น ทบทวนความรู้สึกตัวเองก่อนจะบันทึก....

พอผ่านไป ย้อนกลับมาอ่านบันทึกเก่าๆ ที่เราได้เคยเขียนไว้ ทำให้เราได้รู้จักตัวเองดีขึ้น

เป็นการเรียนรู้ตัวเองทั้งในอดีตและปัจจุบันได้อีกวิธีหนึ่งค่ะ ^v^

คุณหมอดาว blue_star ยกตัวอย่างการอ่านหนังสือเพื่อขัดเกลาได้ชัดเจนครับ

เราเรียนรู้ตัวเองได้เลยเนาะ

ขอบคุณครับ ;)...

ขอบคุณสำหรับบทความดีๆ ที่นำมาแบ่งปันค่ะ เพียงแค่หัวข้อ "วิธีอ่านหนังสือเพื่อขัดเกลาตนเอง" ก็สะดุดตา และสะดุดใจ มันตรงตามความต้องการของตนเองที่กำลังอยากขัดเกลาชีวิตตนเองอยู่พอดีค่ะ อ่านแล้วได้ข้อคิด ได้ความรู้ต่างๆ ที่จะนำไปปฏิบัติค่ะ  

ไม่อยากหาข้ออ้างให้กับตนเอง เนื่องจากบริหารเวลาไม่เป็น หลายปีที่ผ่านมานี้ ซื้อหนังสือมาหลายเล่ม แต่อ่านไม่จบสักเล่ม ตั้งใจว่าจะต้องอ่านให้จบ ก็เลยใช้วิธีอ่านเร็วๆ บางครั้งก็แค่ต้องการรู้ว่าที่จั่วหัวหนังสือไว้ คำตอบคืออะไร แต่สุดท้ายก็อ่านไม่รู้เรื่อง จึงทำให้พักการอ่าน เล่มแล้วเล่มเล่า วันนี้ได้ทราบวิธีที่่คิดว่าเป็นข้อแนะนำที่ดีค่ะ 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท