การศึกษาย้อนศร: ปัญหาของระบบการเรียนรู้?????


ตามหลัก อริยสัจสี่ เริ่มจาก ทุกข์ สมุทัย นิโรธ และมรรค ที่ให้รู้ปัญหา สาเหตุปัญหา แนวทางการแก้ปัญหา แล้วจึงหาวิธีการแก้ปัญหา แต่เราเริ่มในปี ๑ และ ๒ ด้วย นิโรธ แล้วจึงไปเรียนมรรค ในปี ๓ และปี ๔ อาจมีฝึกงานที่ทำให้เจอทุกข์และสมุทัยบ้างนิดหน่อย พอจบ “ปริญญา” จึงจะเข้าไปเรียนรู้ทุกข์ และสมุทัย โดยอาศัยนิโรธ และมรรคที่เรียนมา

การขับรถย้อนศรในที่ใดก็ตาม ถือเป็นอันตราย เสี่ยงต่ออุบัติเหตุและการถูกตำรวจจับเสียค่าปรับได้ง่ายๆ โดยเฉพาะในเขตการจราจรคับคั่งแล้ว ไม่ควรทำเป็นอย่างยิ่ง

แต่การศึกษาย้อนศร ไม่ยักมีใครถูกจับเลยสักคน แต่กลับถือว่าเป็นเรื่องธรรมดาไปซะแล้ว บางคนยังพูดเสริมให้ซะเลยว่า “โตแล้วเรียนลัด” ซึ่งผมก็เห็นด้วยนะครับ แต่ไม่เห็นด้วยกับการย้อนศร

เพราะทำให้ผู้เรียนขาดความรู้ความเข้าใจในเนื้อหา และบริบทขององค์ความรู้ พอที่จะนำไปใช้และพัฒนาต่อยอดได้ และกลายเป็นการศึกษาที่อยู่ในกล่องสี่เหลี่ยมทุกรูปแบบ ทั้งกล่องของข้อมูล ความคิด และกล่องของความรู้ และในที่สุดก็มีปัญญาแบบสี่เหลี่ยม (ตอบข้อสอบ) แค่ตอบคำถามสี่เหลี่ยม (ข้อสอบในกระดาษ) จนเรียนจบมาแบบสี่เหลี่ยม (ใบประกาศนียบัตรแบบต่างๆ)

ตอนนี้ ทุกคนต้องงงว่า แล้วการศึกษามันย้อนศรยังไง แล้วมันมาเกี่ยวกับสี่เหลี่ยมอย่างไร ใช่ไหมครับ

ถ้ายังไม่งง ให้กลับไปอ่านจนงง แล้วค่อยมาอ่านต่อครับ

ผมจะขอขยายความสั้นๆ ก็แล้วกันนะครับ

ระบบการศึกษาดั้งเดิมนั้น เราจะเรียนรู้มาจากการปฏิบัติ ใครปฏิบัติมาก คิดมาก ก็จะรู้มาก เนื่องจากเราเอาประสบการณ์จริงของเรา และข้อสงสัยต่างๆ มาตั้งคำถาม ตั้งสมมติฐาน พิสูจน์สมมติฐาน สร้างทฤษฎี พิสูจน์ทฤษฎี ทดสอบและแก้ไขทฤษฎีต่างๆจนมีความสมบูรณ์ขึ้นเรื่อยๆ ที่สามารถนำไปปรับใช้ได้ทั่วไป ทั้งการทำงานและการสอนผู้อื่น

แต่การศึกษาของเราส่วนใหญ่ ได้ตัดขั้นตอนของประสบการณ์ตรงออกไป ทำให้ความรู้ขาดบริบท ต้องเรียนแบบท่องจำเป็นส่วนใหญ่ ขาดความเข้าใจ และความเชื่อมโยงในเนื้อหาสาระของความรู้ แต่เมื่อเรียนทฤษฏีจบ ทุกคนก็คาดหวังว่าจะเอาทฤษฎีมาใช้กับโลกแห่งความเป็นจริงได้ทันที

นี่คือปัญหาของการย้อนศรแบบที่ ๑ การนำความรู้ที่ไม่มีบริบทของความเป็นจริงมาใช้ในการทำงาน

และปัญหาการย้อนศรส่วนที่ ๒ ก็คือ การเรียนในระดับปริญญาตรีที่เริ่มด้วยให้ท่องทฤษฎีต่างๆ จนตอบข้อสอบได้ แล้วส่วนใหญ่ผู้เรียนจะทิ้ง และลืมไปเลย เพราะถือว่าสอบผ่านแล้ว จึงให้ไปเรียนวิธีการใช้ทฤษฎีในปีที่ ๓ ปีที่ ๔ ที่จะเริ่มว่ากันใหม่โดยไม่ค่อยเน้นการย้อนมาอธิบายหลักการและทฤษฎี ที่ผู้เรียนมักจะลืมไปแล้วเป็นส่วนใหญ่ และพอถามก็บอกว่า ลืมไปหมดแล้วว่าที่เรียนในปีที่ ๑ และ ๒ มีว่าอะไรบ้าง และผู้สอนก็จะถูลู่ถูกังสอนไปแบบนั้น แล้วโยนความรับผิดชอบให้กับผู้เรียนไปทบทวนเอาเอง และส่วนใหญ่ของผู้เรียนก็ไม่ไปทบทวน

ตรงนี้ผมถือว่าย้อนศร เพราะควรทำตามแบบธรรมชาติ ตามหลัก อริยสัจสี่ เริ่มจาก ทุกข์ สมุทัย นิโรธ และมรรค ที่ให้รู้ปัญหา สาเหตุปัญหา แนวทางการแก้ปัญหา แล้วจึงหาวิธีการแก้ปัญหา แต่เราเริ่มในปี ๑ และ ๒ ด้วย นิโรธ แล้วจึงไปเรียนมรรค ในปี ๓ และปี ๔ อาจมีฝึกงานที่ทำให้เจอทุกข์และสมุทัยบ้างนิดหน่อย พอจบ “ปริญญา” จึงจะเข้าไปเรียนรู้ทุกข์ และสมุทัย ในการทำงานตามที่ต่างๆ โดยอาศัยนิโรธ และมรรคที่เรียนมา

 ดังนั้นนอกจากจะย้อนศรแล้วยังขาดตอน ตามหลัก อริยสัจสี่ อีกต่างหาก

ทำให้ผู้เรียนเกิดความสับสนในกระบวนการเรียนรู้ ลืมง่าย ปะติดปะต่อเรื่องราวได้ยาก ต้องใช้ความจำมาก โดยเฉพาะทฤษฎีและวิชาต่างๆที่เกิดขึ้นมามากมาย ทำให้มีเรื่องต้องรู้ต้องจำมากมาย และการได้มาของความรู้ก็ไม่เป็นขั้นตอน จัดระบบไม่ถูก (เหมือน computer ที่ไม่เคย defrag ยังไงยังงั้น) ทำให้การทำงานมีปัญหา คิดไม่ทันกับปัญหา แม้จะมีความรู้ท่วมหัวก็อาจเอาตัวไม่รอด

ฉะนั้น ผมจึงขอเสนอให้มีการปรับทั้งหลักสูตร และวิธีการสอนที่ไม่ต้องทำให้ผู้เรียนไม่สับสน ทำตามขั้นตอนของธรรมชาติของการเรียนรู้ คามหลักอริยสัจสี่

โดยเน้นการวางหลักสูตร และการสอนที่ทำให้ผู้เรียนเข้าใจ “ทุกข์” เสียก่อน แล้วจึงดำเนินไปหา “สมุทัย” “นิโรธ” และ “มรรค” ตามลำดับ

 เมื่อจบ “มรรค” ในระดับปริญญาตรีแล้ว ก็เป็นการค้นหา “มรรค” ในระดับ ปริญญาโท และเอก ได้เลย หรือใครจะย้อนกลับมาลงลึกในเชิง ทุกข์ สมุทัย นิโรธ และมรรค ในระดับ ปริญญาโท และ เอก ก็ไม่มีปัญหาอะไร เพราะมีฐานพอที่จะเดินหน้าต่อได้แล้ว

การย้อนศรในระบบการศึกษานี้เป็นผลทำให้ เรามองข้ามทุกข์ สมุทัย ไปเกือบจะสิ้นเชิง ทำให้เกิดผลเสียมากมาย เช่น

  •  ความรู้ที่เรียนกันอยู่ ไม่ค่อยมีบริบทจริงทางสังคมและชุมชน •
  • ไม่เชื่อมกับความเป็นจริงของสังคม •
  • ชุมชนใช้ความรู้คนละชุดกับนักวิชาการ •
  • ทำงานแบบมีส่วนร่วมได้ยาก •
  • เกิดการพัฒนาแบบแยกส่วน ไม่บูรณาการ •
  • ทำงานซ้ำซ้อน และไม่ครอบคลุมปัญหา

ฉะนั้น ถ้าเรามาทำตามขั้นตอนที่ถูกต้องตามหลักธรรมะ ผมเชื่อว่าจะทำให้การเรียนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นแน่นอน

แต่อาจจะลำบากในขั้นตอนการปรับเปลี่ยนบ้างเป็นธรรมดา

บางส่วนเช่นทาง กศน. อาจจะปรับตัวได้ง่าย แต่ระบบอื่นๆอาจจะทำได้ยากกว่า

แต่ ถ้าจะทำจริงไม่มีอะไรยากเกินไปหรอกครับ ผมฝากแนวคิดไว้แค่นี้ก่อนนะครับ

ใครพอจะเห็นแนวทางเอาไปปรับใช้ได้บ้างครับ หรือใครมีความเห็นต่างอย่างไรก็เชิญเสนอได้เลยนะครับ

หมายเลขบันทึก: 68523เขียนเมื่อ 21 ธันวาคม 2006 08:53 น. ()แก้ไขเมื่อ 1 เมษายน 2012 13:38 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

  มาเป็นคนแรกครับอาจารย์

    อ่านช้าๆ  พยายามหาความเห็นต่างเพื่อจะโต้แย้งให้เกิดความหลากหลายแต่ยังหาไม่เจอครับ  สรุปคือผมเห็นจริงตามที่ท่านเห็น  ได้พูดและพยายามทำทุกอย่างเพื่อหนีจากสภาวะย้อนศร ในเรื่องการเรียนการสอน หรือการเรียนรู้ของผู้คนอยู่เสมอมาครับ
   แท้จริงที่เรียกกันว่า Problem Based และตื่นเต้นกันนั้น เรามีมากว่า 2500 ปีแล้ว ... หลักอริยสัจ ๔ คือสุดยอดของ Problem Based  ที่สามารถนำมาพลิกแพลง  ประยุกต์ใช้ได้ตลอดกาล  เป็น อะกาลิโก
    ผมมักหาคำพูดมากระตุ้นอย่างท้าทาย  ให้ทั้งคนสอน คนเรียน ได้ทบทวนและระมัดระวังพิษภัยของการ "ย้อนศร" บ่อยๆ ด้วยคำพูดเช่น ..

  • มัวนั่งจดนั่งท่องโดยไม่รู้ว่าจะเอาใช้ทำอะไร ยิ่งเรียนก็จะยิ่งโง่นะ ... เจอปัญหาอะไรเข้าก็ได้แต่ยืนงง  ไม่รู้จะแก้อย่างไร  เพราะ ไม่เคยทำ  มัวแต่ท่อง
  • อย่าสอนเขามากนักเลย  ให้เขาเรียน บ้างเถอะครับ
  • ถ้ารอเรียนรู้แบบให้ ครูบอกจด เธอก็ไม่ต่างอะไร กับขอทาน ที่ถือกะลารอคอยว่าเมื่อไรจะมีคนหยิบยื่นเศษเงิน หรืออาหารให้
  • อันว่า ความง่าย กับ ความมักง่าย นั้น อยู่ใกล้กันจนน่ากลัว  วิ่งหาของง่ายบ่อยๆ  ระวังให้ดีจะกลายเป็นคนมักง่ายในที่สุด
  • ฯลฯ

         โดยสรุป ผมไม่เห็นด้วยกับการเรียนรู้ที่ปราศจากความเข้าใจอย่างถ่องแท้ จนเกิดศรัทธาในสิ่งที่จะเรียน และยังตอบไม่ได้ชัดว่าจะเรียนไปทำไม เมื่อ ฉันทะ ไม่ได้เกิดจากภายในใจของผู้เรียน วิริยะ  จิตตะ และ วิมังสา ก็ตามมายากมากครับ .. มันไม่มีพลัง  และผมเชื่อว่า พลังยิ่งใหญ่ที่จะนำคนสู่การเรียนรู้ก็คือการได้เห็นทุกข์  เห็นปัญหาที่มีอยู่จริงๆ  และเกิดความปรารถนาแรงกล้าที่จะคลี่คลาย หรือแก้ปัญหาให้ได้เพื่อความพ้นทุกข์ ทั้งส่วนตน และของ เพื่อนร่วมทุกข์ เกิด แก่ เจ็บ ตาย ครับ.

อาจารย์พินิจครับ

ปัญหาคือคนที่ย้อนศรเขานึกว่าเขาทำถูกครับ และคนเดินตามลูกศรคือผิดปกติครับ

เหมือนกับคนไปประชุมแล้วไม่กินกาแฟ แต่ขอน้ำเปล่า หรือโอวัลติน ก็ผิดปกติของเขาเหมือนกัน

ผมจะตีเรื่องนี้ ทุกวัน วันละเรื่อง

คอยดูว่าใครจะได้ยินบ้าง

คงมีคนหูไม่หนวกอยู่บ้างนะครับ

นักเรียนประถมในชนบทอ่านเขียนยังไม่คล่องเลย เคยพูดคุยกับครู ครูก็บอกว่าเดี๋ยวนี้มีงานมาก  มากกว่างานสอนนักเรียน  แหล่งค้นคว้าหรือห้องสมุดตามโรงเรียนในชนบทยังขาดหนังสืออีกมากมาย  Internet ไม่ต้องพูดถึง   เมื่อเปรียบเทียบกับเด็กที่อยู่ในเมืองแล้ว ทั้งที่อยู่ในจังหวัดเดียวกันยังถือว่าห่างไกลกันมาก การปฏิรูปการศึกษาที่ผ่านมาสร้างความก้าวหน้าหรือล้าหลังให้กับระบบการศึกษา???????

 คุณสายลมที่หวังดี ครับ

เราไม่ได้ปฏิรูป ปฏิวัติ หรือปฏิสังขรณ์ใดๆ ทั้งสิ้น มีแต่การเปลี่ยนแปลง เปลี่ยนแปลง และเปลี่ยนแปลง ครับ

เราจะคาดหวังอะไรจากการเปลี่ยนแปลงได้ครับ คงเป็นไปตามสายลมนั่นล่ะครับ ถึงแม้จะหวังดี ก็อาจได้ผลไม่ดีก็ได้ครับ เพราะขึ้นอยู่กับความรู้ความสามารถของผู้ทำด้วยครับ

ตอนนี้ ผมยังไม่กล้าฝากความหวังไว้กับใครทั้งสิ้น เพราะผมยังไม่เห็นแววว่าใครจะช่วยเราได้ คนที่เป็นคณะกรรมการระดับชาติบางคนก็เคยทำการศึกษาเละมาแล้วครับ ผมไม่เชื่อครับว่าเขาจะแก้ไขได้ ถ้าแก้ไขได้คงทำไปนานแล้วครับ

ขอโทษครับ ผมไม่รู้ว่าจะมองโลกในแง่ดีกว่านี้ได้อย่างไร

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท