เศรษฐกิจพอเพียงระดับชุมชน: ความฝันที่เป็นจริง


สาเหตุที่สำคัญที่ทำให้เกิดการพัฒนาอย่างเป็นจริงและรวดเร็วได้ข้อสรุปว่า ท่านกำนันพิกุลเป็นผู้ใหญ่บ้านต้นแบบที่ดี มีภาวะผู้นำ กล้าคิด กล้าทำ กล้านำ กล้าเปลี่ยน เปลี่ยนทั้งตนเองและชุมชน กล้ากำหนดกฎระเบียบเพื่อการปฏิบัติให้มีความสุขทั้งระดับครัวเรือนและชุมชน โดยการร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมวางแผน และร่วมรับผลประโยชน์ ดำเนินแผนงานตามเป้าหมายเศรษฐกิจพอเพียงใน 6 ประเด็น
  • จากการทำงานด้านเศรษฐกิจพอเพียงของผมในระยะหลายปีที่ผ่านมากับเครือข่ายปราชญ์อีสาน ผมได้พยายามทำงานร่วมกับเครือข่ายเกษตรอินทรีย์ เครือข่ายปราชญ์ ทั้งในระดับแปลงและระดับครัวเรือน แต่ยังมิเคยกล้าคิดที่จะทำ หรือกล้าที่จะวางแผนการทำงานในระดับชุมชน เพราะแค่ระดับครัวเรือนก็ยากสาหัสอยู่แล้ว บางทีระดับแปลงก็ยังไม่ค่อยประสบผลสำเร็จเท่าไหร่ เพราะมีปัจจัยแวดล้อมที่จะต้องแก้ไขมากมาย ทั้งในระดับแต่ละกิจกรรม และระดับรวมของแปลงเอง และเมื่อมองภาพเศรษฐกิจพอเพียงในระดับแปลง เช่นเกษตรประณีต ๑ ไร่ ก็ยังมีขีดจำกัดของปัจจัยแวดล้อมของแปลง ทรัพยากรและการจัดการที่จะนำไปสู่เศรษฐกิจพอเพียงได้               
  • เมื่อประมาณต้นเดือนตุลาคม 2549 ที่ผ่านมา ผมได้รับแผ่นวีซีดีเกี่ยวกับหมู่บ้านสาธิตการจัดการทรัพยากรในระดับชุมชนเพื่อเศรษฐกิจพอเพียง ที่มีทั้งกิจกรรมการจัดการทรัพยากรดิน ทรัพยากรน้ำ พืช การเลี้ยงสัตว์ การประมง ธุรกิจชุมชน และอีกหลาย ๆ เรื่องที่เชื่อมโยงกัน ผมฟังแล้วก็ไม่ตื่นเต้นอะไรนัก เขาขอให้ผมดูวีดิโอก็ดูจนจบแต่ก็ไม่รู้สึกอะไรเหมือนเดิม อันเนื่องมาจากคำว่า เศรษฐกิจพอเพียง นั้น มีใช้กันจนเกร่อ ใคร ๆ ก็พูดกันจนแทบจะไม่มีความหมายอะไรแล้ว
  • จนกระทั่งเมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2549 ผมได้ไปประชุมเครือข่ายพัฒนานโยบายยน้ำเพื่อเศรษฐกิจพอเพียงที่อำเภอจตุรพักตรพิมาน จังหวัดร้อยเอ็ด และก็ได้รับการร้องขอแกมบังคับจากสมาชิกเครือข่าย ให้ไปดูแปลงเศรษฐกิจพอเพียงของเครือข่ายที่อำเภอวาปีปทุม จังหวัดมหาสารคาม กว่าจะไปถึงที่นั่นก็ใกล้มืดแทบมองอะไรไม่เห็นแล้ว แต่ก็ยังพอเห็นเค้าของงการปฏิบัติตัว การประกอบอาชีพ การทำสวนครัว การเลี้ยงสัตว์ การจัดการดิน การจัดการน้ำ การทำวิสาหกิจชุมชน และโครงสร้างของศูนย์เรียนรู้เพื่อเศรษฐกิจพอเพียงที่อยู่ที่บ้านนาฝาย ต.หัวเรือ อ.วาปีปทุม
  • แค่เห็นโครงสร้างเบื้องต้นในสภาวะขมุกขมัวก็ยังเห็นประเด็นสำคัญของเศรษฐกิจพอเพียงตั้งแต่สวนครัวที่ปลูกผักกันทุกครัวเรือน มีรั้วกินได้ มีการเลี้ยงสัตว์จำนวนมาก มีการเลี้ยงหมูหลุมเป็นวิสาหกิจชุมชน มีการจัดการทรัพยากรน้ำแบบหลากหลายวัตถุประสงค์ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าชุมชนนี้น่าจะมีระบบเศรษฐกิจพอเพียงจริง ๆ ผมจึงเริ่มไปแอบดูร้านค้าที่อยู่ในชุมชนว่าเขาขายอะไรได้บ้าง ก็พบว่าแทบไม่มีอะไรขายเลยและเป็นร้านเล็ก ๆ ร้านเดียวที่อยู่ในหมู่บ้าน จากการสอบถามก็ได้ความว่าชาวบ้านส่วนใหญ่จะไม่ค่อยซื้อของจากร้านค้าเอกชนแต่จะซื้อจากร้านค้าชุมชนที่มีอยู่ถึง 3 ร้านในหมู่บ้าน สิ่งนี้เป็นปัจจัยชี้วัดที่สำคัญที่สะท้อนถึงความพอเพียงระดับครัวเรือนและชุมชน
  • ผมก็เลยเริ่มตั้งใจสัมภาษณ์ผู้นำชุมชน คือ ท่านกำนันพิกุล ขันทัพไทย ซึ่งเคยเป็นผู้ใหญ่บ้านตั้งแต่ปี 2537 จนปัจจุบันได้เป็นกำนันของ ต.หัวเรือจากการสัมภาษณ์แบบรีบ ๆ ประมาณสองชั่วโมงกว่าๆ ได้ความว่า หมู่บ้านนี้มีการพัฒนาเศรษฐกิจพอเพียงมาตั้งแต่ปี 2541 จนมาได้รับรางวัลหมู่บ้านตัวอย่างดีเด่นจากกระทรวงมหาดไทย ในปี 2549 สาเหตุที่สำคัญที่ทำให้เกิดการพัฒนาอย่างเป็นจริงและรวดเร็วได้ข้อสรุปว่า ท่านกำนันพิกุลเป็นผู้ใหญ่บ้านต้นแบบที่ดี มีภาวะผู้นำ กล้าคิด กล้าทำ กล้านำ กล้าเปลี่ยน เปลี่ยนทั้งตนเองและชุมชน กล้ากำหนดกฎระเบียบเพื่อการปฏิบัติให้มีความสุขทั้งระดับครัวเรือนและชุมชน โดยการร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมวางแผน และร่วมรับผลประโยชน์ ดำเนินแผนงานตามเป้าหมายเศรษฐกิจพอเพียงใน 6 ประเด็นด้วยกันคือ การลดรายจ่าย การเพิ่มรายได้ การออมทรัพย์ การปรับวิถีดำรงชีวิตแบบไม่ให้ฟุ้งเฟ้อ อยู่กับทรัพยากรที่ตนเองมี พัฒนาทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม และเอื้ออาทรซึ่งกันและกัน โดยอาศัยหลักการพึ่งตนเองก่อน แล้วจึงจะมีคนอื่นมาช่วยทีหลัง มีงบประมาณเท่าไหร่ก็ทำไปก่อน บูรณาการด้านการเงินทุกด้าน ทั้งงบหมู่บ้าน งบอบต. และงบจากภายนอกอื่นๆ ค่อยทำค่อยไปพัฒนาไปเรื่อย ๆ พยายามชักจูงคนที่ต่อต้านให้หันมาเป็นแนวร่วมโดยการให้ก่อนในเบื้องต้น และทำให้ดูเป็นตัวอย่าง ไม่ให้ขอเกิน 3 ครั้ง ต่อไปต้องทำเอง สร้างความรู้และภูมิปัญญาในการจัดการทรัพยากรเพื่อการดำรงชีวิตและประกอบอาชีพ ลดการใช้ปุ๋ยเคมีและสารพิษ ไม่ใช้ยาปราบศัตรูพืช แต่เน้นการใช้น้ำหมักไล่แมลงและกำจัดโรค สร้างกฏระเบียบเพื่อการอยู่ร่วม ลงโทษผู้ที่ทำผิดกฏอย่างรุนแรง เช่น คนที่เมาเหล้าไปอาละวาดในงานพิธีต่าง ๆ จะถูกปรับให้จ่ายค่าใช้จ่ายของการจัดงานแทน มีการงดเหล้าบุหรี่วันเสาร์ อาทิตย์ และวันพระ ทุกงานพิธีจะไม่มีเหล้าเลี้ยง ใครเอาเหล้ามาขายให้ยึดไว้ก่อนคืนให้วันหลัง ซึ่งเป็นกฎระเบียบที่เข้มแข็งและควบคุมโดยตำรวจอาสาชุมชน มีการพัฒนาร่วมกันระหว่างบ้าน วัด โรงเรียน ขยายเครือข่ายในพื้นที่ จ.มหาสารคาม โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัด นายชวน ศิรินันทพร ให้การสนับสนุนร่วมกับหน่วยงานของจังหวัดอื่น ๆ โดยเฉพาะในระยะหลังๆ มานี้
  • โดยรวมของกิจกรรมในชุมชนก็มีการออมทรัพย์ซึ่งเก็บกันเป็นรายเดือน เดือนละ 500 บาทต่อครัวเรือน ในปัจจุบันมีเงินออมเกือบล้านบาท เก็บออมได้เดือนละ 31,500 บาท ให้กู้ในอัตรา 1.5% ต่อเดือน ปันผลคืน 50% ของกำไร มีโรงสีข้าวชุมชน มีกิจกรรมการทอผ้าฝ้ายและผ้าไหม เพาะเห็ดนางฟ้า ทำน้ำยาใช้ในบ้านเอนกประสงค์ ผลิตปุ๋ยชีวภาพ เลี้ยงโค กระบือ ใช้ควายไถนา เลี้ยงหมูหลุมชีวภาพ ธนาคารข้าว เลี้ยงกบ เลี้ยงปลาดุกบ่อซีเมนต์ เลี้ยงเป็ดไก่ เด็กนักเรียนทุกคนต้องช่วยพ่อแม่เลี้ยงปลาก่อนไปและหลังกลับจากโรงเรียน ซึ่งเป็นกติกากำหนดโดยโรงเรียนทำให้มีพลังการทำงานเชื่อมโยงกัน  จึงทำให้เป็นหมู่บ้านอยู่ดีมีสุขและพัฒนามาเป็นหมู่บ้านสวรรค์บนดิน โดยมีตัวชี้วัดที่ทุกคนยิ้มแย้มแจ่มใส มีภูมิทัศน์หมู่บ้านที่สวยงาม รักษาสิ่งแวดล้อม มีระบบเศรษฐกิจพอเพียง มีอยู่มีกิน มีพืชผักสวนครัว ทอผ้าใช้เอง เงินไม่รั่วไหล ครอบครัวไม่แตกแยก ไม่มีการอพยพออกนอกหมู่บ้าน ส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม แก้ไขปัญหาความขัดแย้งในชุมชนได้ ประนีประนอมยอมกัน และมีทุนสวัสดิการให้ผู้เถ้าผู้แก่ ซึ่งสมควรได้รับการยกย่องเป็นสวรรค์บนดินดังกล่าวแล้ว
  • ประเด็นสำคัญที่อาจจำเป็นต้องได้รับการช่วยเหลือจากนักวิชาการก็คือ การแจกแจงประเด็นเชิงวิชาการที่จะทำให้หมู่บ้านมีการอธิบายกระบวนการและผลการทำงานที่ผู้อื่นเข้าใจได้ง่าย ทั้งในเชิงการนำเสนอเป็นโปสเตอร์ที่ศูนย์เรียนรู้ และการทำเป็นวิดีโอ ซึ่งจะทำให้ผลการทำงานของหมู่บ้านนี้สารถเผยแพร่ได้ชัดเจนและกว้างขวางขึ้น และเป็นประโยชน์กับชุมชนอื่น ๆ ทั้งในระดับจังหวัด ระดับภาค ระดับประเทศ และระดับโลก ได้อย่างเป็นจริง และเพื่อเป็นการลดภาระของผู้นำชุมชนที่จะต้องมาทำสิ่งที่ตนไม่ถนัดจึงควรมีการจัดการข้อมูลทางวิชาการในมุมมองสาขาต่าง ๆ ซึ่งจะทำให้ผู้นำชุมชนมีเวลาเหลือพอที่จะพัฒนาและขยายงานตนเองให้มั่นคงและยั่งยืนต่อไป
  • ผมเพิ่งกลับมา และตื่นเต้นกับข้อมูลมาก รีบเล่าให้ครูบาสุทธินันท์ กับพ่อวิจิตร บุญสูง ฟังแต่เช้า และทั้งสองท่านก็เชื่อครึ่งไม่เชื่อครึ่งครับ สมกับเป็นปราชญ์ที่ฟังหูไว้หูเลยครับ  แล้วผมก็รีบมาเขียนนี่แหละครับ ความฝันของประเทศ มีตัวอย่างจริงให้ดูแล้วครับ โชคดีของประเทศไทย สมกับคำที่กล่าวว่า กรุงศรีอยุธยาไม่สิ้นคนดีครับ
  • ขอบคุณครับ
หมายเลขบันทึก: 62320เขียนเมื่อ 23 พฤศจิกายน 2006 11:50 น. ()แก้ไขเมื่อ 4 มิถุนายน 2012 18:08 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

เรียนท่านอาจารย์ ดร.แสวง

 Thank Youได้เรียนรู้เรื่องภาวะผู้นำที่ดีครับ กล้าคิด กล้าทำ กล้านำ กล้าเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะที่ตัวเจ้าของก่อนครับ

 จันทร์ที่ ๒๗ พ.ย พวกเราจะไปเรียนรู้ที่ศูนย์คำคูณ และ หมู่บ้านคำปลาหลาย ใกล้ๆนี้ครับ





  • เมื่ออ่านจบแล้วก็ย้อนกลับมาบอกและย้ำกับตัวเองอีกนะครับว่าต้องลงมือปฏิบัติและเรียนรู้เหมือนที่อาจารย์เล่ามาถึงจะรู้จริง
  • เสนอแนะให้อาจารย์ย่อหน้าด้วยครับ จะได้อ่านง่ายขึ้น 
  • หากเนื้อหายาว จำเป็นต้องแบ่งเป็นสองบันทึกก็จะดูง่ายกว่าเดิม

คุณหมอจิตเจริญ

ได้ข่าวว่าคณะพยาบาลไปฝึกงานที่นาฝายอยู่แล้ว เรามีจุดเชื่อมแล้วครับ

งานเครือข่ายของนาฝายกำลังมาแรงมาก จะขยายไปอีกหลายสิบหมู่บ้าน การทำงานระดับชุมชน น่าจะแซงการทำงานกลุ่มของเครือข่ายปราชญ์อีสานและเขาทำได้อย่างเป็นจริงซะด้วยครับ ผมกำลังจะเก็บข้อมูลระดับครัวเรือน เทียบกับที่ผมมีอยู่แล้วกว่า ๑๐๐ ครัวเรือนครับ

 

คุณ ออด

ผมย่อหน้าแล้ว แต่พอส่งเข้า ก็กองอย่างที่เป็น ไม่ทราบจะแก้ตรงไหน หรือจะใช้หัวข้อดี

 

จะลองดูนะครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท