KM3 : ห้อง W-5 "คุณกิจ" กับการออกแบบกระบวนการเรียนรู้ (ตอนที่ ๑)


สิ่งที่เราคาดหวังก็คือทุกคนที่เข้ามาสัมผัสกับโรงเรียนเพลินพัฒนา จะต้องเกี่ยวข้องกับการเรียนรู้ และเมื่อเด็กๆ ได้เติบโตมาในสังคมที่ทุกคนรักการเรียนรู้แบบนี้ ก็ต้องมีใจที่จะแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และมีส่วนที่จะสร้างสังคมอุดมปัญญา ไม่ว่าเขาจะไปทำอะไรในอนาคตก็ตาม

KM Workshop : W-5

“คุณกิจ” กับการออกแบบกระบวนการเรียนรู้

โดย โรงเรียนเพลินพัฒนา และ โรงเรียนอนุราชประสิทธิ์

ห้อง MR 215 (W-5)

วันที่ ๒ ธันวาคม ๒๕๔๙

ครูวิมลศรี ศุษิลวรณ์ - ครูใหม่ จากโรงเรียนเพลินพัฒนา  ได้กล่าวต้อนรับผู้สนใจว่ากิจกรรมของห้องนี้ตั้งใจจะแสดงวิธีการออกแบบการเรียนรู้เพื่อให้ผู้เรียนสร้างความรู้ขึ้นมาได้เอง

โดยจะแนะนำการทำกิจกรรมที่จะ Constructive ความรู้ให้ผู้เรียนผลิตความรู้เอง ผ่านกิจกรรม ดังนี้

·      โรงเรียนอนุราชประสิทธิ์ จะมาแนะนำผ่านการใช้โปรแกรม Micro Worlds

·      โรงเรียนเพลินพัฒนา จะใช้กิจกรรมแสดง Active Learning ๕ แบบ

และหวังว่าสมาชิกทุกท่านในห้องนี้ หลังจากงานนี้เราคงได้มีโอกาสมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ผ่าน Blog จนกว่าจะได้มาพบกันอีกในปีหน้าจะได้มีอะไรดีๆ มาแลกกันอีก” 

จากนั้น คุณครูอิ่ม - ครูสุภารัตน์  โนโชติ หัวหน้าศูนย์ ICT ของโรงเรียนอนุราชประสิทธิ์ ได้นำเสนอความเป็นมาและการเรียนการสอนของโรงเรียน ว่า โรงเรียนตั้งอยู่แถวสนามบินน้ำ ตรงข้ามกับพระตำหนักนนทบุรีเดิม เป็นโรงเรียนต้นแบบในการใช้ ICT เพื่อพัฒนาการเรียนรู้  เมื่อย้อนไป ๔ ปี กระทรวงมีการจัดตั้งโรงเรียนรูปแบบใหม่ ๑ ใน ๕ รูปแบบใหม่ คือ

·      โรงเรียนในสังกัดของรัฐ

·      โรงเรียนวิถีพุทธ

·      โรงเรียนสำหรับเด็กมีความสามารถพิเศษ

·      โรงเรียนสองภาษา

·      โรงเรียนต้นแบบการพัฒนา ICT เพื่อการเรียนรู้

แต่เดิมมีพี่เลี้ยงเป็น โรงเรียนต้นแบบ ๒ โรงเรียน กับ มหาวิทยาลัย ๕ แห่ง ดูแลช่วยเหลือกัน และเมื่อเดือนพฤศจิกายน ๒๕๔๗ ไม่นานมานี้เอง ได้เพิ่มเป็น ๑๔ โรงเรียน กับ ๗ มหาวิทยาลัย คือ

·      เกษตรศาสตร์

·      ศิลปากร

·      ธรรมศาสตร์

·      แม่ฟ้าหลวง

·      จุฬา

·      พระจอมเกล้าธนบุรี

·      พระจอมเกล้าพระนครเหนือ

โรงเรียนเรามีพี่เลี้ยงคือมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และมีโรงเรียนพี่โรงเรียนน้องอีก ๔ โรงเรียน ซึ่งแต่ละโรงเรียนก็จะมีรูปแบบเฉพาะแตกต่างกันออกไป มีบริบทเฉพาะที่แตกต่างกัน โรงเรียนอนุราชประสิทธิ์ มีนักเรียน ๓,๙๐๐ คน ซึ่งขณะนี้มีตั้งแต่ชั้นอนุบาลถึงมัธยมศึกษาปีที่ ๓ และจะเลื่อนขึ้นไปเป็นมัธยมศึกษาปีที่ ๔ ในปีการศึกษา ๒๕๕๐ นี้ และจะเปิดถึงมัธยมศึกษาปีที่ ๖

ความที่เป็นโรงเรียนขนาดใหญ่ ทำให้การขับเคลื่อนเป็นไปได้ยากพอสมควร เพราะเป็นนาวาลำใหญ่ แต่ก็จะพยายามขับเคลื่อนไปพร้อมๆ กัน

รูปแบบของการพัฒนาโรงเรียนให้เป็นโรงเรียน ICT  เราเริ่มที่การพัฒนาบุคลากร ซึ่งในการจัดให้บุคลากรมานั่งเป็นตุ๊กตาแล้วให้พัฒนานั้นคงยาก สิ่งสำคัญมากคือต้องเริ่มด้วยการปรับกระบวนทัศน์ Thinking about Learning   เรามีบุคลากรในโรงเรียนที่แตกต่างกันทั้งอายุ เชื้อชาติ เรามีทั้งครูไทย ฟิลิปินส์ ยุโรป สิงคโปร์ และทักษะทางการใช้ ICT อาจารย์บางท่านยังบังคับเมาส์ไม่ได้ เรียกกันว่าเมาส์ตกโต๊ะ ทุกวันนี้อาจารย์ท่านนี้ ทุกคนไม่ต้องเก่งเท่ากัน แต่จะแลกเปลี่ยนกัน สอนกัน ปรับให้เข้าใจว่า ICT ไม่ใช่แค่คอมพิวเตอร์ แต่มีกล้องและอื่นๆ เอามาใช้ได้นะ แนะให้ว่าเอามาใช้ได้อย่างไร  การมีบุคลากรหลากหลาย เราจะไม่เน้นที่ใครเก่งกว่าใคร แต่เน้นที่การกระตุ้นและส่งเสริมให้มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ไปด้วยกัน

ต่อมาก็พัฒนานักเรียน  ไม่ขออะไรมาก  ขอสองอย่าง  คือนักเรียนต้องใช้ ICT ในการเรียนรู้ได้ และ ขั้นต่อไปก็ต้องมาแลกเปลี่ยนกัน โดยการทำเหมือนเดิมคือ กระตุ้น ส่งเสริม ซึ่งจะมีการจัดการเรียนรู้อย่างไรนั้น ขอกล่าวถึงในช่วงต่อไป

ครูใหม่......ส่วนของโรงเรียนเพลินพัฒนา เคยพบครูอิ่มในเวที KM มาสองสามครั้ง สิ่งที่โรงเรียนอนุราชประสิทธ์เป็นผู้ให้ก็คือ ความแข็งแกร่งทางด้าน ICT และโรงเรียนเพลินพัฒนาก็เป็นผู้ใฝ่รับ เพราะฉะนั้นเราก็จะติดต่อสื่อสารกันตลอด จุดร่วมที่ดีก็คือ เราทั้งสองต่างก็เชื่อมั่นในแนวทางเรียนรู้ที่ผู้เรียนเป็นผู้สร้างการเรียนรู้ขึ้นเอง เพียงแต่ของครูอิ่มใช้ ICT ส่วนของเพลินพัฒนาจะใช้วิธีจากคนสู่คน รุ่นสู่รุ่น มาใช้ในการเรียนการสอน

โรงเรียนเพลินพัฒนา เป็นชุมชนแห่งการเรียนรู้ผ่านกระบวนการทางวัฒนธรรม ก็คือ จากคนสู่คน จะเห็นว่าโลโกของโรงเรียนอ่านได้ว่า "ก้าว...พอ...ดี" ถ้าดูดีๆ จะเห็นเลข ๙ ดูอีกทีจะเห็น พ.พาน และดูอีกก็จะเห็น ด.เด็ก สระ -ี คือ ดี อันนี้เป็นยุทธศาสตร์ของโรงเรียนว่าเราจะไม่โอนเอียงไปทางใดทางหนึ่ง แต่ว่าเราเห็นความสำคัญของทุกอย่าง เนื่องจากเราเกิดมาทีหลังเราจึงมีหน้าที่ต้องเรียนรู้ว่าใครทำอะไรที่ดีๆ มาแล้ว เช่น โรงเรียนที่เราเรียกกันว่าแนวเร่งเรียน มีข้อดีคือเด็กแม่นวิชาการ โรงเรียนอีกแนวทางที่เน้นกิจกรรมก็เพื่อกระตุ้นให้เด็กใฝ่รู้ใฝ่เรียน เราจะต้องนำข้อดีทั้งสองแนวมาออกแบบการเรียนรู้ใหม่ ว่าจะทำอย่างไรให้เด็กมีวิชา และให้เด็กได้เรียนรู้จริงปฏิบัติจริง ผสมผสานให้สองแนวทางนี้ไปด้วยกันให้ได้

ในฐานะที่เป็นสถานศึกษา หน้าที่ของเราก็คือจัดการเรียนรู้อยู่แล้ว ทีนี้เมื่อมารู้จักกับ KM ก็เลยเห็นเลยว่าความเป็นโรงเรียนก็สอดคล้องกับการจัดความรู้ และสิ่งที่ทำไปก็เป็น Three in One คือการบรรลุเป้าหมายในงาน บรรลุเป้าหมายในการพัฒนาคน และ บรรลุเป้าหมายในการพัฒนาองค์กรด้วย เพื่อเราจะได้มุ่งสู่การเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ ในความหมายของสถานศึกษาอย่างเต็มภาคภูมิ

เรามีชั้นโตสุดเท่ากับโรงเรียนอนุราชประสิทธิ์ คือ ชั้น ม. ๓ ซึ่งเราเรียกว่าชั้น ๙ ตาม พรบ.ก็คือ ชั้น ๙ แล้วก็ ๑๐ ๑๑ และ ๑๒ เราก็จะเริ่ม ม.๔ ในปีหน้าไปพร้อมกับครูอิ่ม จะมีการแบ่งเป็นช่วงชั้น ตอนนี้ช่วงชั้นสูงสุดคือช่วงชั้นที่ ๓ ปีหน้ามัธยมปลายก็จะเปิดช่วงชั้นที่ ๔

ในด้านการจัดการบริหาร เราเห็นว่าการแบ่งเป็นหน่วยย่อยน่าจะทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ได้ดีกว่า โรงเรียนใหญ่ทั้งโรงอยู่ในระบบบริหารจัดการโดยตรง เพราะฉะนั้น เราก็พยายามที่จะสร้างลักษณะทางกายภาพให้เอื้อต่อการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และการบริหารความรู้ ซึ่งเราถือเป็นยุทธศาสตร์อีกอันหนึ่งที่เรียกว่า "โรงเรียนเล็กในโรงเรียนใหญ่" คือ แต่ละช่วงชั้น จะอยู่เป็นอาคารเดียว ในแต่ละอาคารก็จะมีวัฒนธรรมของตัวเอง ที่แตกต่างกันก็เพราะวัยของเด็ก การดูแลจัดการก็ต้องดูวัยและพัฒนาการของเด็กเป็นสำคัญ

ถ้าเราอยากเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ เราจึงพยายามให้การทำงานทุกงานของทุกคนเป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ไม่ว่าจะเป็นการคิดแผนการสอน หรือการประชุมตกลงกัน เราก็จะใช้หลักการตัวนี้เป็นสำคัญ

สิ่งที่ได้จากการประชุมกัน คือ บันทึกการประชุม ที่จะปรากฏเป็นหลักฐาน แม้จะเป็นไปเรื่อยๆ ไม่ได้มุ่งเน้นการบริหารจัดการอะไรมาก แต่ก็เป็น Tacit ชนิดหนึ่ง ที่พอเปลี่ยนปีไปคนที่เข้ามาทำงานนี้ แม้จะเปลี่ยนคน และเปลี่ยนความคิดอันนั้นๆ ไปแล้ว แต่ ก็จะยังอยู่ในบันทึก ระบบการบันทึกภายในให้คนในช่วงชั้นเห็น แต่ก็จะมีรายงานการประชุมแบบที่ส่งให้ช่วงชั้นอื่น เป็นการแลกเปลี่ยนกันว่า ช่วงชั้นอื่นๆ เขามีระบบจัดการภายในช่วงชั้น วิธีการการดูแลเด็ก และการจัดการกับเรื่องต่างๆ ที่เข้ามาในช่วงชั้นกันอย่างไร 

ผลผลิตของการประชุมอีกอย่างหนึ่ง เรายังได้เป็นเอกสารใบงาน (สำหรับนักเรียน)  ที่มาจากการประชุมตกลงกัน ออกแบบและช่วยกันสร้าง โดยคณะครูในแต่ละหน่วย ซึ่งเหมาะกับการจัดการเรียนการสอนของเรา มากกว่าที่มีวางขายสำเร็จรูป และสื่อการสอนหลายๆแบบมันตอบโจทย์เราไม่หมด เกิดเป็นแบบฝึก สื่อการสอน ฯ เช่น คณิตศาสตร์ ชิ้นที่เห็นเป็นวงสีขาวนี้เป็นสื่อการสอนที่คณะครูออกแบบขึ้นมาเอง ให้เด็กรู้จักหลักหน่วย หลักสิบ หลักร้อย จริงๆ นอกเหนือจากบนกระดาษ ได้เห็นวงรอบของการเปลี่ยนหลักว่ามันเป็นอย่างไรบ้าง ซึ่งทุกๆ ครั้งของการประชุมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ก็จะเกิดผลิตผล หรือ เกิดความคิด ความเห็นพ้องอย่างใดอย่างหนึ่งเสมอ

หลักการจัดการเรียนการสอนของโรงเรียนเพลินพัฒนาอย่างแรกคือ การเน้นพัฒนาการตามวัย และต้องมองด้วยว่าการเจริญเติบโตของสมองเด็กเป็นอย่างไร ผลงานที่นำมาแสดงนี้ทำให้เห็นว่าเรา จะพัฒนาสมองให้เติบโตไปอย่างบูรณาการทั้งซีกซ้าย และซีกขวาไปพร้อมๆ กันได้อย่างไร (รูปสมุดงานของนักเรียน ที่ใช้สมุดหน้าซ้ายไม่มีเส้น สำหรับให้เด็กวาดรูป และหน้าขวามีเส้นสำหรับให้เขียนบรรยาย)

อีกหลักหนึ่งที่เราใช้เป็นหลักการในการจัดการเรียนการสอน ก็คือ หลักของพหุปัญญา ที่ว่าคนๆ หนึ่งมีความฉลาดไม่เหมือนกันในแต่ละด้าน เราจะอย่างไรที่จะทำให้เขาได้สำรวจตัวเอง เห็นส่วนดีของเขา ครูจะต้องพัฒนาให้เหมาะสมกับเด็กแต่ละคน ให้เป็นตัวตนของเขา ทางเดียวที่จะทำได้ก็คือการจัดกิจกรรมที่หลากหลาย เพียงพอที่จะทำให้เด็กเติบโตเป็นทางของตัวเอง โจทย์ปลายเปิดก็สำคัญสำหรับการเรียนรู้ความเป็นตัวของเขาได้ และแน่นอนว่าวัตถุประสงค์ในการเรียนรู้ก็จะต้องไม่หลุด เรามีวัตถุประสงค์ในการเรียนรู้หลักอยู่  และที่สำคัญผู้ปกครองก็ต้องมีความเห็นพ้องไปกับการเรียนการสอนแบบนี้ด้วย  เหมือนการตบมือข้างเดียวไม่ดัง

โรงเรียนเพลินพัฒนาแบ่งการเรียนการสอนออกเป็น ๔ ภาค คือ

·      ฉันทะ

·      วิริยะ

·      จิตตะ

·      วิมังสา  

เพราะว่าอิทธิบาทสี่ เป็นเครื่องมือสำคัญในการทำงานใดๆ ให้สำเร็จ

ปกติแล้วคาบเรียนในปีการศึกษาหนึ่งจะมี ๔๐ สัปดาห์  จะแบ่งออกเป็นภาคต้นกับภาคปลาย  แต่ของโรงเรียนเพลินพัฒนาแบ่งภาคเรียนใหญ่ปกตินี้ออกเป็น ๒ ส่วน ก็จะได้ ๔ ภาคเรียน  ภาคละ ๑๐ สัปดาห์ ซึ่ง ๘ สัปดาห์แรกก็จะ เรียนเนื้อหา  ทำให้เด็กเข้าสู่ตัววิชาด้วยกิจกรรม Active Learning  

หลังจากนั้นใน ๒  สัปดาห์สุดท้าย เราจะเก็บไว้ให้เด็กได้ทำกิจกรรมที่จะบูรณาการความรู้ที่เรียนมาทั้งภาคให้เป็นกลุ่มเป็นก้อน  และสามารถนำเสนอออกมาได้  เรียกว่าโครงงาน ชื่นใจ...ได้เรียนรู้  ซึ่งทำทุกระดับ คือตั้งแต่ระดับอนุบาลไปจนถึงมัธยม  จะมีลำดับความยากง่าย ความซับซ้อน ต่างกัน  เด็กเล็กครูอาจช่วยจัดการมากหน่อย  โตขึ้นมาระดับประถม ครูก็จะให้เด็กทำเองมากขึ้น  ๕๐ : ๕๐  พอมาระดับมัธยมก็จะเหลือ ๒๐ : ๘๐  โดยครูเป็นเพียงผู้แนะนำ ตรวจทานเรื่องวิชาการให้ครบถ้วน  การที่เด็กได้ทำกิจกรรมแบบนี้ ได้สำรวจตัวเอง ได้จัดการความรู้ของเขา นำความรู้มาทำงานผ่านกระบวนการทำงานกลุ่ม  ทำให้ความรู้เป็นของผู้เรียน  และการทำกิจกรรมอย่างเดียวคงไม่พอ  ต้องมีกระบวนการคิด  ส่วนใหญ่แล้วเราจะอาศัย "ผังมโนทัศน์" เป็นเครื่องมือให้เด็กรวบรวมความคิดของเขาให้ออกมาเป็นระบบ  เด็กจะอธิบายว่าทั้งเทอมได้เรียนอะไรมาบ้าง  ซึ่งจะทำไม่ได้ถ้าครูไม่คิดเอาไว้ก่อน ว่าจะประกอบไปด้วยบทอะไรบ้าง แต่ละบทที่เรียนจะมีความเชื่อมโยงกันอย่างไร  ครูต้องเตรียมการตั้งแต่การวางแผนการสอน  และเมื่อเด็กเรียนตามแผนไปจนจบเทอม ก็จะรู้ว่าเขารู้อะไรเข้าไปในตัวเองและเชื่อมโยงกันได้ 

ผ้งความคิดของเด็กจะเติบโตขึ้นตามวัย  เขาจะผสมผสานจินตนาการและวิชาการเข้าด้วยกัน  และเมื่อโตขึ้นก็จะเป็นระบบ ซับซ้อนมากขึ้น  การใช้ผังความคิดมาเป็นเครื่องมือนี้ทำให้เห็นทั้งความเหมือน จุดร่วม จุดเชื่อม และหัวเรื่องต่างๆ ได้ในเวลาเดียวกัน  ทำให้สิ่งที่เรียนไม่แตกเป็นชิ้น  และสามารถนำไปแตกรายละเอียดต่อไปได้  เอาความคิดเรื่องต่างๆ เข้ามารวมกันได้

ลักษณะของโรงเรียน

(ต่อจากส่วนของบันทึก) 

ในโรงเรียนก็จะมีกิจกรรมที่จะให้ผู้ปกครองเข้าใจการเรียนการสอน  เพราะว่าจะต้องค่อยๆทำความเข้าใจไปด้วยกัน  ผ่านงานหลายรูปแบบ เช่น งานบอกเล่า...ก้าวพอดี  ที่จะทำความเข้าใจว่าลูกๆ จะเรียนอะไร อย่างไรในภาคเรียนหนึ่งๆ  การจัด Workshop เพลินวิชาการ  เพื่อให้เข้าใจอย่างลึกซึ้งว่าลูกเรียนอย่างไร  ถ้าผู้ปกครองได้มาเรียนด้วยกระบวนการอย่างนั้นก็จะเข้าใจว่าเกิดอะไรขึ้นกับตัวเองได้บ้าง  เป็นการย่นย่อกระบวนการให้ผู้ปกครองเข้าใจว่าลูกเรียนแบบนี้ 

การสื่อสารระหว่างโรงเรียนกับผู้ปกครองก็จะมีจดหมายข่าว  วารสารเพลินใจ  นอกจากนั้นผู้ปกครองยังร่วมกับโรงเรียนในการทำห้องสมุดเพลินพัฒนา  โดยการนำหนังสือที่อ่านแล้ว จากบ้านจำนวน ๕ เล่ม มาสมัครเป็นสมาชิก  เมื่อครบปีแล้วหากประสงค์จะยกให้ห้องสมุดของโรงเรียนก็ได้  หรือจะนำกลับคืนไปก็ได้  เป็นการทำให้โรงเรียนมีห้องสมุดหลายแห่ง  ทั้งห้องสมุดอนุบาล  ห้องสมุดของพี่โต และห้องสมุดของครอบครัว

ห้องเรียนพ่อ แม่ ก็เป็นห้องเรียนที่ผู้ปกครองสร้างกันขึ้นมาเอง  เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในการเลี้ยงดูลูก 

ถอดเทปช่วงเช้า  ตอนที่    1   2   3   4   5      สรุปช่วงบ่าย

หมายเลขบันทึก: 67642เขียนเมื่อ 16 ธันวาคม 2006 15:49 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 มิถุนายน 2012 22:46 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
เนื่องจากครูส้มประสบปัญหาในการนำ ตอนที่ ๑ ขึ้น  โดยข้อความส่วนท้ายหายไป  จึงขอนำมาต่อที่ส่วนของความคิดเห็นนี้ค่ะ
..................................

ลักษณะของโรงเรียน

(ต่อจากส่วนของบันทึก) 

ในโรงเรียนก็จะมีกิจกรรมที่จะให้ผู้ปกครองเข้าใจการเรียนการสอน  เพราะว่าจะต้องค่อยๆทำความเข้าใจไปด้วยกัน  ผ่านงานหลายรูปแบบ เช่น งานบอกเล่า...ก้าวพอดี  ที่จะทำความเข้าใจว่าลูกๆ จะเรียนอะไร อย่างไรในภาคเรียนหนึ่งๆ  การจัด Workshop เพลินวิชาการ  เพื่อให้เข้าใจอย่างลึกซึ้งว่าลูกเรียนอย่างไร  ถ้าผู้ปกครองได้มาเรียนด้วยกระบวนการอย่างนั้นก็จะเข้าใจว่าเกิดอะไรขึ้นกับตัวเองได้บ้าง  เป็นการย่นย่อกระบวนการให้ผู้ปกครองเข้าใจว่าลูกเรียนแบบนี้ 

การสื่อสารระหว่างโรงเรียนกับผู้ปกครองก็จะมีจดหมายข่าว  วารสารเพลินใจ  นอกจากนั้นผู้ปกครองยังร่วมกับโรงเรียนในการทำห้องสมุดเพลินพัฒนา  โดยการนำหนังสือที่อ่านแล้ว จากบ้านจำนวน ๕ เล่ม มาสมัครเป็นสมาชิก  เมื่อครบปีแล้วหากประสงค์จะยกให้ห้องสมุดของโรงเรียนก็ได้  หรือจะนำกลับคืนไปก็ได้  เป็นการทำให้โรงเรียนมีห้องสมุดหลายแห่ง  ทั้งห้องสมุดอนุบาล  ห้องสมุดของพี่โต และห้องสมุดของครอบครัว

 

ห้องเรียนพ่อ แม่ ก็เป็นห้องเรียนที่ผู้ปกครองสร้างกันขึ้นมาเอง  เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในการเลี้ยงดูลูก  และทางวิชาการ  ตัวพ่อแม่เองก็จัดกิจกรรมในช่วงปิดเทอมกันเองที่สอดคล้องกับแนวทางของโรงเรียน  เช่น การจัดค่ายเด็กรักป่า  ซึ่งถ้าไม่มีการจัดสรรให้เกิดขึ้น  เด็กก็จะไม่มีโอกาสไปพบกับชีวิตที่เขาเองเป็นเด็กเมือง อยู่แต่ในเมือง  โลกทัศน์ต่างๆ ก็จะแคบ  เราต้องเปิดโอกาสให้เด็กได้เรียนรู้นอกตัวเองออกไป  ทั้งการจัดการที่เรียกว่าภาคสนามของโรงเรียน และจากกิจกรรมของห้องเรียนพ่อแม่  ที่จะช่วยกันสอนค่านิยม และวิถีปฏิบัติอันพึงประสงค์ให้เกิดขึ้น

ที่พูดถึงผู้ปกครองมากหน่อยก็เพราะส่วนหนึ่งความสำเร็จจากการจัดการเรียนการสอนแนวใหม่นี้  ขึ้นอยู่ก้บความร่วมมือและความเห็นพ้องของผู้ปกครองเป็นสำคัญ 

 

อีกสิ่งที่เกิดขึ้นแล้วก็คือ  องค์กรครอบครัวเพลินพัฒนา  ซึ่งมีสภาครอบครัวฯ ที่มาจากตัวแทนระดับชั้นละ ๓ ท่าน  ได้สร้างกิจกรรมหลายอย่างที่โรงเรียนเพียงรับทราบ ไม่ได้เป็นแรงสำคัญ  เช่น มีการจัดตั้งเพลินรักบี้คลับ  เพลินเทเบิ้ลเทนนิสคลับ ด้วยความคิดว่าสอนลูกคนเดียวไม่สนุก  น่าจะสอนเพื่อนๆ ของลูกด้วย  สอนกีฬา และสอนมิตรภาพ สอนชีวิต เป็น Active Learning ชนิดหนึ่ง  ต้องขอขอบคุณที่ผู้ปกครองไว้วางใจเต็มที่กับโรงเรียน  และได้ช่วยสร้างเครือข่ายให้เด็กได้รู้จักเพื่อนนอกโรงเรียนด้วย

 

เรายังมีโรงเรียนที่เป็นเครือข่าย คือ โรงเรียนลำปลายมาศ ที่บุรีรัมย์ ซึ่งเป็นโรงเรียนที่ได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิของคุณเจมส์ คลากส์ และ ความดูแลของคุณมีชัย วีระไวทยะ  ได้ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับโรงเรียนเพลินพัฒนากันมาแล้วหลายครั้ง

 

และบนพื้นที่ใกล้โรงเรียนเราก็มีคุณลุงชวน ซึ่งเป็นเจ้าของสวนเจียมตน ที่ยึดแนวทางการทำเกษตรผสมผสาน  อยู่ห่างจากโรงเรียนไปไม่ไกล  เพียงแค่ไม่ถึงสิบนาทีโดยรถยนต์  คุณลุงเห็นพื้นที่ตรงนี้มาตั้งแต่ยังไม่มีถนน  เป็นเรือกสวนไร่นา  ต้องพายเรือเข้ามา 

 

สิ่งที่เราคาดหวังก็คือทุกคนที่เข้ามาสัมผัสกับโรงเรียนเพลินพัฒนา  จะต้องเกี่ยวข้องกับการเรียนรู้  และเมื่อเด็กๆ ได้เติบโตมาในสังคมที่ทุกคนรักการเรียนรู้แบบนี้  ก็ต้องมีใจที่จะแลกเปลี่ยนเรียนรู้  และมีส่วนที่จะสร้างสังคมอุดมปัญญา  ไม่ว่าเขาจะไปทำอะไรในอนาคตก็ตาม

 

หลังจากที่ได้รู้จักกับบริบทของโรงเรียนทั้งสองโรงเรียนนี้แล้ว  ต่อไป  จะเริ่มนำ เข้าสู่กระบวนการเรียนรู้ที่ทั้งสองโรงเรียนได้สร้างขึ้น  ขอเชิญครูอิ่มค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท