อาลัยอาจารย์เกียรติ


อาลัยอาจารย์เกียรติ

 

เมื่อสิบสี่ปีที่แล้ว หลังกลับจากการศึกษาที่ประเทศอินเดีย ได้รู้จักกับพระหนุ่มที่หน้าตาคมขำ สายตามุ่งมั่น ท่าทีกระตือรือร้น ทะมัดทะแมง นามว่าพระเกียรติศักดิ์ กิตฺติภทฺโท (ม่วงมิตร) ซึ่งเป็นช่วงเวลาแห่งความตื่นหวังและความตื่นเต้น ในกระแสแห่งการปฏิรูปทางการเมืองภายใต้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.๒๕๔๐ ได้มีกระบวนการภาคประชาชนได้ออกมาชุมนุมเคลื่อนไหวเรียกร้องสิทธิ์ตามรัฐธรรมนูญมากมายกลายกลุ่ม กระจายอยู่ทั่วประเทศ ในพื้นที่ภาคเหนือก็มีกลุ่มประชาชนได้ชุมนุมเคลื่อนไหวปักหลักอยู่หน้าศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ พระเกียรติศักดิ์ กิตฺติภทฺโท ได้เป็นผู้ประสานพระสงฆ์เพื่อหารือร่วมกันในการหาทางช่วยเหลือกิจกรรมของกลุ่มประชาชนตามสมควร ซึ่งเป็นที่กำเนิด “เครือข่ายพระสงฆ์เพื่อคนจน” ขึ้น เริ่มกิจกรรมด้วยการให้สติผู้ที่มาร่วมชุมนุมให้ใช้แนวทางสันติอหิงสา ประกอบพิธีกรรมทางศาสนามีการทำบุญตักบาตรเป็นต้น และให้การช่วยเหลือสนับสนุนปัจจัยสี่แก่ผู้ร่วมชุมนุมเท่าที่จะหาได้ ในขณะเดียวกันก็ออกแถลงการณ์เรียกร้องรัฐบาลไม่ให้ใช้ความรุนแรงในการปราบปรามผู้ชุมนุม แต่ให้ใช้วิธีการในการรับฟังความคิดเห็น เจรจาพูดคุย ซึ่งเป็นเหตุปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งที่ช่วยให้สถานการณ์การชุมนุมก็ผ่านไปด้วยดี

 

หลังจากนั้นจึงได้มีการประสานผู้แทนพระสงฆ์ในเครือข่ายต่าง ๆ โดยมีกลุ่มสังฆพัฒนาชุมชนล้านนา ภายใต้มูลนิธิเพื่อการศึกษาพัฒนาชนบท เข้าร่วมประชุมสัมมนา ในวันที่ ๒๕-๒๖ กรกฎาคม ๒๕๔๒ ณ วัดพระธาตุดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ ที่ประชุมได้ข้อสรุปให้มีการจัดตั้ง “เครือข่ายพระนักพัฒนาชุมชนภาคเหนือ (คพชน)” ขึ้น โดยเริ่มจากกลุ่มพระสงฆ์ใน ๔ เครือข่าย ได้แก่ กลุ่มสังฆพัฒนาชุมชนล้านนา , เครือข่ายพระธรรมจาริก, เครือข่ายพระนิสิตฯ มจร วิทยาเขตเชียงใหม่ และเครือข่ายพระสงฆ์อำเภอดอยสะเก็ด พร้อมแต่งตั้งคณะทำงานเครือข่ายฯ โดยคณะทำงานชุดนี้มีภารกิจในการจัดกระบวนการเรียนรู้เสริมศักยภาพทั้งด้านแนวคิดและทักษะในการทำงาน ส่งเสริมให้พระสงฆ์ทำหน้าที่ประสานเครือข่าย องค์กรชุมชน ทั้งในระดับตำบลและระดับอำเภอ รวมทั้งมีส่วนร่วมในการติดตามและผลักดันให้มีการปฏิรูปองค์กรสงฆ์ และกำหนดวัตถุประสงค์เครือข่าย ดังนี้ ๑) พัฒนาศักยภาพพระสงฆ์นักพัฒนาชุมชนภาคเหนือและพระสงฆ์ที่ทำงานพัฒนาสังคมรุ่นใหม่ ๒) ส่งเสริม สนับสนุนกิจกรรมพัฒนาสังคมของพระสงฆ์/เครือข่ายพระสงฆ์ กลุ่ม/องค์กรชุมชน และเครือข่ายองค์กรชุมชน ๓) สร้างความเข้าใจบทบาทการทำงานพัฒนาสังคมของพระสงฆ์แก่พระสังฆาธิการ องค์กรหน่วยงานและสาธารณชน ๔) นำเสนอแนวทางและรูปแบบการพัฒนาสังคมตามหลักพุทธธรรม

 

ต่อมาได้พัฒนาให้มีรูปแบบองค์กรเป็นคณะกรรมการเครือข่ายพระนักพัฒนาชุมชนภาคเหนือ (คพชน.) ประกอบด้วย พระมหา ดร.บุญช่วย สิรินฺธโร พระครูขันติวชิรธรรม พระมหานิคม ชาครเมธี พระพงษ์เทพ ธมฺมครุโก พระครูสมุห์วิเชียร คุณธมฺโม พระอธิการธนวรรษ เตชปญฺโญ พระเกียรติศักดิ์ กิตฺติภทฺโท พระชยสร สมปญฺโญ พระมหาอินสอน คุณวุฑฺโฒ พระมหาพีรพงษ์ พลวีโร โดยมีพระมหาเถระนักพัฒนาเป็นที่ปรึกษา เช่น พระพุทธพจนวราภรณ์ พระโพธิรังษี พระครูพิทักษ์นันทคุณ พระโสภณพัฒโนดม เป็นต้น โดยมีการจัดตั้ง “สถาบันโพธิยาลัย” ขึ้นเพื่อทำหน้าที่เป็นกองงานเลขานุการเครือข่ายฯ

 

จากนั้นเครือข่ายพระนักพัฒนาชุมชนภาคเหนือ จึงได้เริ่มต้นและพัฒนาภารกิจมาอย่างต่อเนื่องภายใต้การทุ่มเทกำลังกายกำลังใจของพระเกียรติศักดิ์ กิตฺติภทฺโท ที่แทบจะใช้เวลาส่วนใหญ่ประสานงานอยู่ในสำนักงานตลอดเวลา โดยประสานงานพระสงฆ์นักพัฒนา แหล่งทุนสนับสนุนกิจกรรมของเครือข่ายพระสงฆ์ ในฐานะผู้มีประสบการณ์ร่วมงานกับกองทุน SIF ไม่ว่าจะเป็นสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว) สำนักงานกองทุนสร้างเสริมสุขภาพ (สสส) สำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ปปส) และแหล่งอื่นๆ ทำให้งานตามพันธกิจเครือข่ายพระนักพัฒนาชุมชนภาคเหนือพัฒนาก้าวหน้าไปตามลำดับ

 

ในฐานะที่เป็นลูกหลานชาติพันธุ์ลาหู่ ที่จังหวัดตาก พระเกียรติศักดิ์ ได้พยายามผลักดันให้เกิดการพัฒนาโครงการพระธรรมจาริก ซึ่งเป็นองค์กรพระพุทธศาสนาที่มีภารกิจหลักในการทำงานพัฒนาบนพื้นที่สูง ผ่านกิจกรรมการพัฒนาศักยภาพพระธรรมจาริก โดยเครือข่ายพระนักพัฒนาชุมชนภาคเหนือ การเดินทางติดตามสนับสนุนงานพระธรรมจาริกบนพื้นที่สูงถือเป็นงานปกติของพระเกียรติศักดิ์ ด้วยการไปจัดเวทีพระสงฆ์ในพื้นที่ สนับสนุนพระสงฆ์ในพื้นที่สูงให้จัดเวทีชุมชน โดยมีข้อค้นพบสำคัญจากการทำงานคือการใช้ “หลักอริยสัจจ์สี่” เป็นเครื่องมือในการวิเคราะห์สภาพ ปัญหา สาเหตุ เป้าหมาย และวิธีการในการทำงานเพื่อแก้ไขปัญหาของชุมชน ตลอดจนการปรับประยุกต์พุทธธรรมในการทำงานและใช้ในชีวิตประจำวันของชาวบ้านด้วย

 

พระเกียรติศักดิ์ ได้ลาสิกขามาถือเพศคฤหัสถ์ด้วยเหตุที่จะมีความคล่องตัวในการติดต่อประสานงานกว่าเพศบรรพชิต ซึ่งมีความจำเป็นต้องทำมาหาเลี้ยงชีพตามวิถีคฤหัสถ์ แต่อาจารย์เกียรติก็ยังคงทำหน้าที่ประสานเครือข่ายพระนักพัฒนาชุมชนภาคเหนือ ในการทำโครงการที่มีสองเป้าหมายหลักคือ การพัฒนาศักยภาพพระสงฆ์ผ่านกระบวนการเรียนรู้แนวพุทธ มีการปรึกษาผู้รู้ รับฟังคำชี้แนะ นำมาคิดวิเคราะห์อย่างแยบคาย แล้วทดลองปฏิบัติงานจริงด้วยตนเอง และการพัฒนาชุมชนให้อยู่ดีมีสุข ทำให้อาจารย์เกียรติกลายเป็นบุคคลต้นแบบ (IDOL) ของพระสงฆ์ในเครือข่ายหลายๆ รูป นอกจากนี้ อาจารย์เกียรติยังใช้คำว่า "หนาน" เป็นคำนำหน้าชื่อของตนเองด้วยความภาคภูมิใจ และพึงพอใจที่จะให้ทุกคนเรียกชื่อตนเองว่า "หนานเกียรติ" เพราะคำว่า "หนาน" ได้ถูกสื่อโทรทัศน์ไทยโดยเฉพาะละครทีวีนำไปใช้ในทางที่ดำถูกเหยียดหยามมาตลอดเวลา แต่หนานเกียรติได้ทำให้พวกเราทุกคนเห็นว่า "หนาน" เป็นบัณฑิตทางพระพุทธศาสนาที่มีศักยภาพเป็นอย่างมาก กว่าที่ละครทีวีไทยพยายามจะทำให้ด้อยค่าอย่างทุกวันนี้

 

อาจารย์เกียรติ มีความคิดก้าวหน้าหลายประการ กล่าวเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาพระพุทธศาสนาหรือองค์กรสงฆ์ เช่น แนวคิดในการพัฒนาสามเณรในฐานะศาสนทายาท แนวคิดในการปฏิรูปการศึกษาสงฆ์ แนวคิดในการปฏิรูปองค์กรสงฆ์จากฐานราก แนวคิดในการปรับปรุงโครงการพระธรรมจาริก และอื่นๆ ซึ่งไม่ว่าจะในฐานะพระเกียรติศักดิ์หรืออาจารย์เกียรติ ก็ไม่อาจจะผลักดันให้สำเร็จได้ตามลำพัง คงต้องอาศัยชาวพุทธที่มองเห็นอ่อนแอและวิกฤติของพระพุทธศาสนาหรือองค์กรสงฆ์ ได้ร่วมมือกันจึงจะสำเร็จได้

 

อาจารย์เกียรติมีความสนใจใฝ่รู้ใฝ่เรียน ทั้งจากผู้รู้และภูมิปัญญาท้องถิ่น มีความคิดแจ่มชัด มีทักษะการเป็นวิทยากรกระบวนการ มีทักษะการเขียน มีทักษะการประสานงานเป็นเยี่ยม มีความห่วงใยคนใกล้ชิดและความเสื่อมโทรมของสังคม มีความมุ่งมั่นทุ่มเทในการทำงาน มีความโอบอ้อมอารี และอื่นๆอีกมากมาย เป็นเหตุให้อาจารย์เกียรติเป็นที่รักของคนจำนวนมาก รวมทั้งในเครือข่ายพระนักพัฒนาชุมชนภาคเหนือที่มักจะถามถึงด้วยความห่วงใยอยู่เสมอ

 

การจากไปอย่างกะทันหันของอาจารย์เกียรติ จากอุบัติเหตุทางรถยนต์ในครั้งนี้ แง่หนึ่งย่อมเป็นบทเรียนสำหรับทุกคนที่จำต้องหมั่นทบทวนว่าความตายอยู่ใกล้เราเหลือเกิน พระพุทธองค์ตรัสสอนให้หมั่นระลึกถึงความตายอยู่เนืองๆ โดยใช้สติปัญญาพิจารณาให้เห็นถึงความตายที่เกิดขึ้นว่าชีวิตทุกชีวิตต้องพบเจอความตาย ไม่อาจหลีกหนีไปได้ ไม่มีนิมิตหมาย ปรากฏอยู่เบื้องหน้า พร้อมมุ่งมั่นสั่งสมความดีให้มากขึ้นเรื่อยๆ อีกแง่ก็เป็นเรื่องน่าติดตามสาเหตุที่แท้จริงของการเกิดอุบัติเหตุ ว่ามีเบื้องหน้าเบื้องหลังหรือไม่อย่างไร เพราะนักพัฒนาจำนวนไม่น้อย ไม่เว้นแม้พระภิกษุที่อาจเป็นเหยื่อของผู้สูญเสียผลประโยชน์จากการทำงานของนักพัฒนาทั้งหลาย ทั้งนี้เพราะพื้นที่ทำงานในจังหวัดตากของอาจารย์เกียรติ ไม่ว่าจะเป็นตลาดชุมชน หรือดอยมูเซอ ก็ทราบว่ามีเงามืดดำปกคลุมอยู่ไม่น้อย ดูไม่ค่อยจะน่าไว้วางใจและเป็นที่ปลอดภัยนักสำหรับนักพัฒนาที่ยังคงมุ่งมั่นทำงานอยู่ในปัจจุบัน

 

หวังเป็นอย่างยิ่งว่าจิตที่คิดดีและกรรมดีที่อาจารย์เกียรติได้บำเพ็ญมาตลอดชีวิต จะนำพาดวงวิญญาณของอาจารย์เกียรติสู่สุคติสัมปรายภพ โดยปราศจากสิ่งขัดข้อง และแม้อาจารย์เกียรติจะจากไปอย่างไม่มีวันกลับ แต่เชื่อว่าอาจารย์เกียรติ จะยังคงประทับอยู่ในจิตใจของพวกเราตลอดไป

 

หลับให้สบายเถอะนะอาจารย์เกียรติ พี่น้องเราจะร่วมสืบสานเจตนารมณ์ของท่านอาจารย์ต่อไป

หมายเลขบันทึก: 450174เขียนเมื่อ 21 กรกฎาคม 2011 10:37 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:49 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (9)

ขอมาร่วมรำลึกถึงความดีของ คุณหนานเกียรติ เช่นกัน..เขียนบันทึกข้างล่างไปด้วยใจที่แอบมีความหวังว่า เธอจะเข้ามาอ่านด้วยญาณวิถีใดๆ..

http://www.gotoknow.org/blog/nongnarts/449923

เรื่องเล่าของพระอาจารย์ ทำให้เรามองเห็นภาพและคุณงามความดีของท่าน "หนานเกียรติ" ได้ชัดเจนมากขึ้นครับ

ขอบพระคุณครับ ...

ขอบคุณบันทึกนี้ค่ะพระอาจารย์

ชื่นชมในคุณงามความดีของคุณหนานเกียรติจริงๆค่ะ

คนดี..ที่ควรจดจำนานเท่านาน

จะพยายามหาเวลาบันทึกเรื่องราวของท่านอาจารย์เกียรติเรื่อยๆ

กราบนมัสการครับพระอาจารย์มหา ดร.บุญช่วย สิรินฺธโร

...การไปจัดเวทีพระสงฆ์ในพื้นที่ สนับสนุนพระสงฆ์ในพื้นที่สูงให้จัดเวทีชุมชน โดยมีข้อค้นพบสำคัญจากการทำงานคือการใช้ “หลักอริยสัจจ์สี่” เป็นเครื่องมือในการวิเคราะห์สภาพ ปัญหา สาเหตุ เป้าหมาย และวิธีการในการทำงานเพื่อแก้ไขปัญหาของชุมชน ตลอดจนการปรับประยุกต์พุทธธรรมในการทำงานและใช้ในชีวิตประจำวัน.."

ผมยังเคยได้เข้าร่วมเวทีพระสงฆ์ในการเขียนโครงการที่วัดสวนดอก "อาจารย์เกียรติ" แนะวิธีว่า การเขียนโครงการที่จะให้ดีมากนั้น สิ่งสำคัญที่ขาดไม่ได้คือ "ตัวชี้วัด" โครงการถ้าหากขาดตัวชี้วัด โครงการนั้นก็ไม่น่าสนใจหรือชวนให้ได้รับการพิจารณา ยังจำได้อยู่เลยครับ

และการประยุกต์ใช้หลักพุทธธรรม โดยเฉพาะ "หลักอริยสัจจ์ ๔" เบื้องต้น มาวิเคราะห์และแก้ไขปัญหาเมื่อทำงานบนพื้นที่สูง

ต้องขอขอบคุณและร่วมระลึกถึงคุณ "อาจารย์หนานเกียรติ" กับพระอาจารย์และทุกท่านผู้มีอุปการคุณไว้ ณ ที่นี้ด้วยนะครับ.

"พรพจน์ (พี่หนาน) เรียงประพัฒน์"

อดีตพระบัณฑิตอาสาพัฒนาชาวเขาแม่แจ่มและขุนยวม.

ส่วนใหญ่ นักพัฒนาและนักวิชาการทั่วไปมักจะให้ความสำคัญแก่แนวคิด ทฤษฎี และเทคนิควิธีการแบบที่ไปลอกเลียนมาจากตะวันตก ทั้งๆ ที่เรามีของดีคือแนวคิด ทฤษฎี และเทคนิควิธีการทางพระพุทธศาสนา ที่เป็นมรดกสืบทอดมาจากบรรพบุรุษสู่รุ่นเราในปัจจุบัน แต่ถูกมองข้ามไปอย่างน่าเสียดาย

อาจารย์เกียรติ และเครือข่ายพระสงฆ์ได้มีส่วนที่สำคัญที่ทำให้เนวคิด ทฤษฎี และเทคนิควิธีการทางพระพุทธศาสนาประจักษ์แจ้งในทางปฏิบัติมากยิ่งขึ้น ตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา

ส่วนเรื่องสำคัญคือ ตัวชี้วัด ที่่พูดถึงนั้นมีความจำเป็นจริงๆ และจะตัองเป็นตัวชี้วัดที่วัดได้เป็นรูปธรรม เพราะสำหรับพวกเราชาววัด มักมองอะไรเป็นนามธรรมไปเสียหมด เช่น มีคุณธรรมมากขึ้น คืออย่างไร? มีศีลธรรมมากขึ้น คืออย่างไร? เป็นต้น

ตัวชี้วัด ก็ดี เทคนิค SWOT ก็ดี หรือ ฺBalance Score Card ก็ดี ก็สมควรที่พวกเราชาววัดจะต้องเรียนรู้ เพื่อเสริมให้แนวคิด ทฤษฎี และเทคนิควิธีการทางพระพุทธศาสนามีความโดดเด่น และงดงาม ในการปรับใช้ในงานพัฒนาชุมชนมากยิ่งขึ้น

ขอบพระคุณพระอาจารย์ ที่ได้เขียนบันทึกนี้

ได้ร่วมรำลักถึง "หนานเกียรติ"  ในวันที่หนานเกีรติ ได้เดินทางไปสู่ดินอดนอันเป็นนิรันดร์ คะ

 

พระครูสมุห์วิเชียร คุณธมฺโม

ได้ความรู้ประสบการณ์ในการทำงานมากมาย จากกิจกรรม/โครงการต่าง ๆ ที่พี่หนานเกียรติทำไว้ โดยเฉพาะ คพชน./โพธิยาลัย การใช้หลักศาสนธรรมเป็นบรรทัดฐานในการทำงาน ถือได้ว่าเป็นผลของพี่หนานเกียรติฝากไว้ ความดีต่าง ๆ เหล่านี้ จะมีชื่อพี่หนานเกียรติคู่ขนานกับ คพชน. โพธิยาลัย พุทธธรรมนำปัญญาพัฒนาท้องถิ่น ฝั่งลึกไว้ในความทรงจำตลอดไป อยู่ก็สบายใจ จากไปก็คิดถึง พระครูสมุห์วิเชียร วัดเจดีย์แม่ครัว เชียงใหม่

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท