KM ในงานวิจัยชุมชน : ไปทำอะไรกับ GSEI ที่บ้านเปร็ดใน จ.ตราด (๑)


กระบวนการนี้เป็นการถอดบทเรียน โดยใช้กระบวนการกลุ่มเข้ามาเกี่ยวข้อง เพื่อให้ชุมชนได้เกิดการเรียนรู้ตัวเองในมิติที่สำคัญ ดังนั้นการสรุป สังเคราะห์จากเวทีจะเป็นข้อมูลส่วนหนึ่งสำหรับโครงการวิจัยฯ จากนั้นอาจมีการเติมเติมข้อมูลโดยการค้นหาข้อมูลในรูปแบบอื่นๆต่อไป โดยทีมนักวิจัยในพื้นที่

KM ในงานวิจัยชุมชน : ไปทำอะไรกับ GSEI ที่บ้านเปร็ดใน จ.ตราด (๑)

 

ที่ตึก SM Tower กลางเมืองหลวง ผมมีโอกาสได้พูดคุยกับทีมงานวิจัยของ GSEI  หรือ สถาบันธรรมรัฐเพื่อการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม ในประเด็นที่เป็นโครงการวิจัย ที่ได้รับการสนับสนุนจาก สสส.  มีชื่อโครงการวิจัยที่น่าสนใจเป็นอย่างมาก “การพัฒนาศูนย์การเรียนรู้ชุมชนที่เปร็ดใน จ.ตราด เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็ง และประยุกต์ใช้ความรู้ชุมชน ร่วมกับความรู้ทางวิทยาศาสตร์ ต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ”

ที่ว่าน่าสนใจคือ มีคีย์เวิร์ดหลักๆ ที่ผมสนใจเช่น ศูนย์การเรียนรู้ (ที่กำลังฮิตฮอต)  การประยุกต์ใช้ความรู้ (หากมองในรูปศัพท์ ก็คือ KM โดยแท้)  และความรู้ชุมชนกับความรู้ทางวิทยาศาสตร์ที่จะมาผสานกัน ตรงนี้ยิ่งทำให้น่าสนใจว่า ความรู้ที่เป็นองค์ความรู้ของชุมชน จะมาผสานกับองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ได้อย่างไร หากสามารถจัดการความรู้ประเด็นแบบนี้ได้ – น่าจะเป็นเรื่องที่ดี ต่อการพัฒนาชุมชนที่อยู่ภายใต้ปัญหาซับซ้อน และปัญหาเร่งด่วน เช่นกรณี ภัยพิบัติใหม่ๆ ที่มีต่อมนุษย์ แม้ว่าพื้นที่การทำงานจะเป็นพื้นที่เล็กๆ ในจังหวัดตราดก็ตาม

ว่าเรื่องของพื้นที่ ผมได้ยินชื่อเสียงพื้นที่วิจัยมานานแล้ว เกี่ยวข้องกับ กลุ่มสัจจะสะสมทรัพย์ บ้านเปร็ดใน จ.ตราด  โดยเริ่มจาก “ปัญหาของชาวบ้าน ให้รู้จักคิดเป็น ทำเป็น แก้ปัญหาเป็น” ผู้ที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จดังกล่าวคือ พระอาจารย์สุบิน ท่านเป็นพระนักพัฒนาที่ใช้หลักธรรมะเชื่อมร้อย เป็นธรรมะในเชิงเศรษฐกิจ ให้ความสำคัญกับการพึ่งตนเอง วิธีคิดในการแก้ไขปัญหาร่วมกัน การบริหารจัดการอย่างมีส่วนร่วม จนถึงการจัดการโครงสร้างโดย “วัด” เป็นจุดศูนย์กลาง ล่าสุดมีรุ่นพี่ปริญญาเอกท่านหนึ่งได้ศึกษาประเด็นกองทุนชุมชนดังกล่าวอยู่ด้วย

ย้อนมาที่ตัวโครงการวิจัยของ GSEI  เท่าที่ผมอ่านจากข้อเสนอโครงการ ที่ต่อยอดความเข้มแข็งของชุมชน ถือว่าเป็นความท้าทายอย่างยิ่งของชุมชนเปร็ดใน ที่จะสร้างความรู้ใหม่ ผสานกับความรู้ของภูมิปัญญาท้องถิ่นเดิม กับความรู้ทางวิทยาศาสตร์ เพื่อบริหารจัดการตนเองและชุมชน รองรับการเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะความเสี่ยงที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ  โดยโครงการมีแนวคิดว่า หากทำได้สำเร็จในชุมชนเปร็ดในแล้ว น่าจะเป็นต้นแบบขยายฐานในการต่อยอดความรู้ ไปยังชุมชนชายฝั่งทะเลตะวันออก ทั้งในจังหวัดตราดและอื่นๆ

ผมตื่นเต้นกับรูปแบบการวิจัยในครั้งนี้พอสมควร เพราะว่ามีทีมนักวิจัยที่แบ่งสาขาตามความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน แล้วมีแนวคิดการใช้ “การจัดการความรู้” เป็นเครื่องมือสำคัญตลอดทั้งโครงการ ดังนั้นการจัดการความรู้จะมีบทบาทเป็นเครื่องมือเชื่อมทั้งผู้คน องค์ความรู้ และเป็นผลลัพธ์สำคัญต่อการคิดรูปแบบ “ศูนย์การเรียนรู้ชุมชน” ในช่วงต่อไป

สำหรับประเด็นศูนย์การเรียนรู้ชุมชน นั้นอาจไม่เน้นอาคาร สถานที่ หรือโครงสร้างอื่นใด แต่ทว่ามุ่งเน้นการจัดการความรู้ ให้กับคนในชุมชนเป็นพื้นฐานก่อนให้เข้มแข็ง ส่วนการถ่ายทอดสู่สาธารณะผ่านรูปแบบใดๆนั้น น่าจะเป็นผลปลายทาง ซึ่งผมมองว่าไม่น่าจะยากนัก

ความท้าทายอยู่ที่ว่า ผมอยู่ในส่วนของผู้ที่จะมาช่วยดำเนินการด้านการจัดการความรู้  และการจัดการความรู้นั้นต้องดำเนินการอย่างเป็นระบบ เป็นธรรมชาติ เนียนไปกับกระบวนการศึกษา วิจัย โดยพื้นฐานเท่าที่ผมเห็นข้อมูล และศึกษาผ่านการไปยังพื้นที่บ้านเปร็ดใน เรามีการจัดการความรู้อยู่แล้ว เพียงแต่ต้องมาจัดระบบกันอีกครั้ง และ ช่วยหันหมุนวงล้อของการจัดการความรู้ให้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น

ผมได้ตกลงกับ ดร. บัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ กับทีมงานทั้งหมด ว่าจะเดินทางลงพื้นที่พร้อมทีมงานที่เป็นนักวิจัยชุดใหญ่ เพื่อลงไปดูพื้นที่ พูดคุย เตรียมเพื่อจะออกแบบเวทีในช่วงต่อไป

ทีมวิจัยที่เดินทางไปในวันดังกล่าวมี ๔ ทีมจากกรุงเทพ

  • ทีมวิจัยโครงการพลังงานเพื่อการพึ่งพาตนเองและลดโลกร้อน โดย ดร.บุญรอด สัจจกุลนุกิจ  บัณฑิตวิทยาลัยร่วมด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
  • ทีมวิจัยโครงการฟื้นฟูสภาพพื้นที่ป่าชายเลน โดย ผศ.ดร.ลดาวัลย์ พวงจิตร และทีม  คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
  • ทีมงานโครงการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะพื้นที่บริเวณชายฝั่ง โดย ผศ.ดร.ปราโมทย์ โศจิศุภร  และทีมสถาบันวิจัยทรัพยากรทางน้ำ
  • ทีมวิจัยทางด้านการจัดการความรู้ โดย รศ.ดร.นิรมล สุธรรมกิจ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และทีมงาน

และมีอีก ๑ ทีมในพื้นที่ คือ ทีมวิจัยในพื้นที่ศึกษา

ดังนั้นการเดินทางไปพื้นที่ครั้งนี้ ได้พบเจอกันทุกทีม นอกจากได้ศึกษาสภาพจริงของพื้นที่แล้ว ยังได้ประชุมพูดคุยภาพรวมของโครงการไปด้วย ในด้านการจัดการความรู้ในส่วนที่ผมได้ไปเรียนรู้ด้วย ก็ได้ออกแบบกระบวนการไว้ก่อนล่วงหน้า โดยการทบทวน แนวคิดหลักของโครงการ ที่เน้น “การบูรณาการองค์ความรู้” หาแนวทางที่เหมาะสม ในกิจกรรมการพัฒนา จะใช้รูปแบบ “การจัดการความรู้” ทั้งในรูปแบบและวิธีการ มีผลลัพธ์ในการสร้างองค์ความรู้ใหม่ และศูนย์การเรียนรู้ ผ่านการพัฒนาแบบมีส่วนร่วมของชุมชน

การผสานองค์ความรู้ ภูมิปัญญาท้องถิ่น กับ องค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ ได้กำหนดออกมาเป็น 3 ประเด็น (ตามบริบทของท้องถิ่นที่ผ่านการวิเคราะห์ข้อมูลในระดับหนึ่งแล้ว และระดมผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านในส่วนขององค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์) โดยมีการวิเคราะห์องค์ความรู้ของชุมชนบ้านเปร็ดใน.ช่องว่างขององค์ความรู้, โจทย์องค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ และเป้าหมายของศูนย์และกระบวนการจัดการความรู้ ในแต่ละประเด็น ดังนี้

  • การใช้พลังงาน
  • การกัดเซาะชายฝั่ง และการฟื้นฟูทรัพยากรชายฝั่ง
  • การฟื้นฟูสภาพพื้นที่ป่าชายเลน และทรัพยากรชายฝั่ง

สิ่งที่ขาดไปก็คือ ประเด็นที่ ๔  “ชุดความรู้เดิม” ของชุมชน และเจาะลงเฉพาะ ๓ ประเด็นดังกล่าวลงเชิงลึก 

ผมมองว่า กลุ่มความรู้ชุดที่ ๔ นี่หละสำคัญมากที่เป็น “ต้นทุน” เริ่มต้นของโครงการฯ  ส่วน กระบวนการจัดการความรู้ ก็จะถูกออกแบบผ่านเวทีวิเคราะห์สถานการณ์ชุมชน โดยคนในชุมชนเองมาร่วมกันแลกเปลี่ยน สรุป วิเคราะห์ และ สังเคราะห์ ชุดความรู้นี้ร่วมกัน

ยากและท้าทายสำหรับผมก็คือ “กระบวนการ” ที่ต้องทำให้เกิดการแลกเปลี่ยน เรียนรู้ และ สรุป สังเคราะห์โดยชุมชนเอง ในขั้นตอนที่สำคัญนี้ผู้นำกระบวนการ(Facilitator) ก็ต้องมีประสบการณ์มากพอสมควรในงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น มีประสบการณ์การเป็น Facilitators รวมไปถึงทักษะการถอดบทเรียนที่เป็นส่วนหนึ่งของการจัดการความรู้ด้วย

ตอนนี้ผมได้ออกแบบเวทีวิเคราะห์ชุมชนแบบมีส่วนร่วม (ภาพรวมชุมชน) ไว้ในใจบ้างแล้ว

เวทีวิเคราะห์ชุมชนแบบมีส่วนร่วม (ภาพรวมชุมชน) 

กระบวนการ และ กลยุทธ์ 

การวิเคราะห์ชุมชนแบบมีส่วนร่วมเพื่อพัฒนาและเตรียมความพร้อมในการยกระดับศูนย์เรียนรู้ตามโครงการ

วัตถุประสงค์ของการวิเคราะห์ชุมชน 

  •  เพื่อให้ชุมชนและผู้เกี่ยวข้องเกิดความรู้ ความเข้าใจแนวคิดหลักการและกระบวนการการทำงานของโครงการวิจัย
  • เพื่อให้ชุมชนและผู้เกี่ยวข้องได้ทบทวนองค์ประกอบหลักของ ประเด็นการวิจัย รวมถึงบริบทชุมชน
  • เพื่อให้มีฐานข้อมูลในการพัฒนา และยกระดับองค์ความรู้  เป็นต้นทุนในการเรียนรู้ ต่อยอดองค์ความรู้เดิม

กระบวนการ และกรอบเนื้อหาหลักสูตร 

เป็นกระบวนการที่ทำงานที่เน้นการมีส่วนร่วม และการทำงานเชิงบูรณาการร่วมกัน 3 ฝ่าย ได้แก่ ชุมชนเป้าหมาย หน่วยงานราชการ ที่เกี่ยวข้อง และส่วนวิชาการ/ กระบวนการ ที่คาดว่าจะสามารถพัฒนายกระดับการทำงานร่วมกัน โดยชุมชนเป้าหมายได้รับประโยชน์สูงสุด และสามารถดำเนินการต่อเนื่องได้เมื่อสิ้นสุดโครงการ ทั้งนี้จะให้ความสำคัญกับกระบวนการ “วิเคราะห์ชุมชนแบบมีส่วนร่วม” ซึ่งถือว่าเป็นเวทีในระยะแรกที่สำคัญอย่างยิ่งต่อการทำงานวิจัยและการเสริมพลังชุมชน (Empowerment) ในระยะต่อๆไป

กระบวนการการจัดเวทีวิเคราะห์ชุมชนแบบมีส่วนร่วม (ภาพรวม เวที 1)

  • วิเคราะห์ผู้มีส่วนได้ ส่วนเสีย ในชุมชน ตลอดจนคัดเลือกเป้าหมาย (Key person) ที่เกี่ยวข้อง
  • ทีมงานวิทยากรศึกษาข้อมูลมือสอง เพื่อเตรียมพร้อมออกแบบ กระบวนการเวทีวิเคราะห์ข้อมูล
  • เวทีวิเคราะห์ข้อมูลภาพรวม (ในพื้นที่) : แบ่งกลุ่มออกเป็น 4 กลุ่มย่อย เพื่อทบทวนสถานการณ์ขององค์ประกอบหลักตามโครงการวิจัย ได้แก่  รู้จักตนเอง (ระบบชุมชน)  เป็นบริบทของชุมชนทุกมิติรู้จักทรัพยากร (การจัดการดิน,น้ำ,ป่า) เน้น ทรัพยากรทางทะเลตามบริบทชุมชน รู้จักระบบการผลิต (พืช.สัตว์) รู้จักโลก (ระบบการบริโภค)ในชุมชน ระบบนี้เป็นระบบใหญ่ที่ต้องใช้เวลา สมาธิ และผู้ชำนาญพิเศษ เป็นวิทยากรดังนั้นในการวิเคราะห์ ดังนั้นจะปรับเป็น “ระบบบริโภคในชุมชน” เพื่อให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศที่ส่งผลต่อวิถีการผลิตและบริโภค
  • นำเสนอข้อมูลจากการระดมความคิดในกลุ่มใหญ่ จากนั้นนักวิจัยในพื้นที่และนักวิจัยหลักทำการสรุปข้อมูล วิเคราะห์ข้อมูล

กระบวนการนี้เป็นการถอดบทเรียน ชุมชนโดยใช้กระบวนการกลุ่มเข้ามาเกี่ยวข้อง เพื่อให้ชุมชนได้เกิดการเรียนรู้ตัวเองในมิติที่สำคัญ

ดังนั้นการสรุป สังเคราะห์จากเวทีจะเป็นข้อมูลส่วนหนึ่งสำหรับโครงการวิจัยฯ  จากนั้นอาจมีการเติมเติมข้อมูลโดยการค้นหาข้อมูลในรูปแบบอื่นๆต่อไป โดยทีมนักวิจัยในพื้นที่

ทั้งหมดผมร่างรูปแบบในใจคร่าวๆไว้ก่อน และคาดหมายว่าจะลงพื้นที่บ้านเปร็ดใน ในเร็ววันนี้ครับ


รูปภาพสวยๆจากเปร็ดใน > Click

หมายเลขบันทึก: 455866เขียนเมื่อ 24 สิงหาคม 2011 14:53 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 16:19 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)
  • สวัสดีครับน้องเอก
  • แวะมาเยี่ยมเยียนและเรียนรู้
  • ทุกภาพสวยงามมาก
  • ขอบคุณครับ

สวัสดีครับน้อง เอก

จะได้เข้ามาติดตามเรียนรู้ วิจัยชุมชน

(ตราด บรรยากาศคล้ายปักษ์ใต้บ้านเรา)

สวัสดีครับ พี่วีระยุทธ : พื้นที่จริงของเปร็ดใน สวยเเละน่าอยู่มากครับ ที่นี่มีเรื่องราวดีๆเยอะเเยะเลย ผมวางแผนลงไปเก็บข้อมูลอีกครั้งในเวทีเเรก

สวัสดีครับบัง : ผมมีโอกาสนั่งเรือลัดเลาะ ป่าโกงกาง มีความสุขเเละตื่นเต้น ที่สำคัญชุมชนที่นี่มีประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจ ผมจะไปเปิดเวทีเเรกที่นี่เร็วๆนี้ครับ

ขอชื่นชม คุณ สิงห์ ป่าสัก ชอบในสิ่งที่คุณทำ แต่ไม่มีโอกาสได้สัมผัสเลยสักครั้ง

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท