แนะนำแหล่งข้อมูล : นักษัตร & ราศี


นักษัตร (อ่านว่า นัก-สัด) มี 2 ความหมาย ได้แก่ (1) ดาว, ดาวฤกษ์ ทั้ง 27 กลุ่ม (2) ชื่อรอบเวลา กำหนด 12 ปี เป็น 1 รอบ เรียกว่า 12 นักษัตร

จากเรื่อง ดวงอาทิตย์ย่างเข้าสู่ราศีเมษ หมายความว่าอย่างไร? ที่ผมบันทึกไว้ก่อนหน้านี่ ปรากฏว่ามีเพื่อนๆ ชาว GotoKnow หลายท่านแสดงความสนใจเกี่ยวกับ ราศี & นักษัตร

ผมจึงขอบันทึกแหล่งข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับทั้ง 2 เรื่องนี้เอาไว้...เพื่อให้ไปสืบค้นต่อกันเองได้ตามอัธยาศัย (จริงๆ แล้วขี้เกียจบ้นทึกตอนนี้...ต่างหาก ;-) ) 

แต่ก่อนอื่น ต้องรู้ไว้ว่า นักษัตร (อ่านว่า นัก-สัด) มี 2 ความหมาย ตามที่ระบุไว้ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 (หน้า 569-570) ดังสรุปโดยย่อดังนี้

         (1) น. ดาว, ดาวฤกษ์, มี 27 หมู่ คือ  1. อัศวินี, อัสสนี  2. ภรณี  3. กฤติกา, กฤตติกา, กัตติกา  4. โรหิณี  5. มฤคศิร, มฤคเศียร, มิคสิระ  6. อารทรา, อทระ  7. ปุนัพสุ, ปุนัพพสู  8. บุษยะ, บุษย์, ปุษยะ, ปุสสะ  9. อาศเลษา, อสิเลสะ  10. มฆ, มฆา, มาฆะ  11. บุรพผลคุนี, ปุรพผลคุนี, ปุพพผลคุนี  12. อุตรผลคุนี, อุตตรผลคุนี  13. หัสต, หัสตะ, หัฏฐะ  14. จิตระ, จิตรา  15. สวาดิ, สวาตี, สวัสติ   16. วิสาขา, วิสาขะ  17. อนุราช, อนุราธะ, อนุราธา  18. เชษฐะ, เชษฐา  19. มูล, มูละ, มูลา  20. ปุรพษาฒ, บุรพอาษาฒ, บุพพาสาฬหะ  21. อุตราษาฒ, อุตตรอาษาฒ, อุตตราสาฬหะ  22. ศรวณะ, ศรวณะ, สาวนะ  23. ธนิษฐะ, ธนิษฐา  24. ศตภิษัช, สตภิสชะ  25. บุรพภัทรบท, ปุพพภัททะ  26. อุตรภัทรบท, อุตตรภัทรบท  27. เรวดี

หมายเหตุ :

  • นักษัตร ตามความหมาย (1) นี้ หมายถึง กลุ่มของดาวฤกษ์ที่ดวงจันทร์โคจรผ่าน
  • แต่ละนักษัตรจะมีชื่อไทยด้วย เช่น กฤติกา (นักษัตรที่ 3) ก็คือ ดาวลูกไก่ เป็นต้น

         (2) น. ชื่อรอบเวลา กำหนด 12 ปี เป็น 1 รอบ เรียกว่า 12 นักษัตร โดยกำหนดให้สัตว์เป็นเครื่องหมายในปีนั้นๆ คือ ชวด-หนู ฉลู-วัว ขาล-เสือ เถาะ-กระต่าย มะโรง-งูใหญ่ มะเส็ง-งูเล็ก มะเมีย-ม้า มะแม-แพะ วอก-ลิง ระกา-ไก่ จอ-หมา กุน-หมู

 


เมื่อรู้ดังนี้แล้ว จึงขอแนะนำแหล่งข้อมูลต่อไปนี้...

 

หนังสือ ไทบ้านดูดาว เขียนโดย นักเขียนในดวงใจของผมเอง คือ คุณนิพัทธ์พร เพ็งแก้ว 

ที่ผมบอกว่าเธอเป็นนักเขียนในดวงใจ ก็เพราะเคยอ่านงานของเธอหลายเล่มแล้ว เช่น รุกถอยหลัง ถึงอย่างไรก็อยู่กันมาได้ เล่าเรื่องเมืองเวียด ฯลฯ แต่ละเล่มไม่เพียงแต่สนุกเพราะลีลาการเล่า แต่ยังเต็มไปด้วยข้อมูลปฐมภูมิที่คุณนิพัทธ์พรไปเสาะแสวงหามาจากการสอบถามคนเฒ่าคนแก่บ้าง เขียนจากประสบการณ์ตรงของตนเองบ้าง

  

เล่มซ้ายเป็นฉบับพิมพ์ครั้งที่สอง (สำนักพิมพ์ศยาม, ISBN 974-7236-61-3) ซึ่งมีข้อมูลเกี่ยวกับ นักษัตร (ตามความหมายที่ (1)) อย่างเต็มอิ่มในบท กลุ่มดาว 27 นักษัตรที่พระจันทร์โคจรผ่าน ในหน้า 177-211

เล่มขวาเป็นฉบับพิมพ์ครั้งแรก (สำนักพิมพ์ศยาม, ISBN 974-7235-18-8) ซึ่งแม้จะไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับนักษัตรโดยตรง แต่เป็นหนังสือดี (ดีมาก..ถึงดีที่สุด) ที่คนไทยที่รักและหวงแหนในภูมิปัญญาของคนท้องถิ่นควรได้อ่าน 


หนังสือ ดาวประจำเมืองนคร เขียนโดย อาจารย์ล้อม เพ็งแก้ว ปราชญ์ทางภาษาไทย ผู้มีส่วนสำคัญในการให้กำเนิดพจนานุกรมฉบับมติชน

  

เล่มนี้หนักไปทางโหราศาสตร์ แต่มีข้อมูลเกี่ยวกับ นักษัตรในความหมาย (1) ในบท ฤกษ์ และชื่อเดือนทางจันทรคติ ในหน้า 23-28

ลองดูตัวอย่างความเชื่อที่หนังสือเล่มนี้กล่าวถึง

"จันทร์โคจรผ่านดาวฤกษ์กลุ่มที่ 2, 11, 20 เรียกว่า มหัทธโนฤกษ์ (เศรษฐีหรือคนมีทรัพย์มาก) เป็นฤกษ์ที่ใช้ประกอบพิธีมงคลทุกอย่าง"

"จันทร์โคจรผ่านดาวฤกษ์กลุ่มที่ 3, 12, 21 เรียกว่า โจโรฤกษ์ (โจร) ใช้ในการเข้าปล้นค่ายตีทัพ"


หนังสือ ดาราศาสตร์สำหรับลูกเสือและเนตรนารี เขียนโดยอาจารย์กนก จันทร์ขจร

หนังสือเล่มนี้อาจจะหายากแล้ว (ไม่มีวางขาย) แต่ขอบันทึกเอาไว้ เผื่อพบในห้องสมุด หรือเผื่อสำนักพิมพ์ไหนเห็นคุณค่า อาจนำมาตีพิมพ์ซ้ำใหม่ จะเป็นบุญกุศลอันยิ่งใหญ่ที่ทำให้สังคมไทย

ข้อมูลเกี่ยวกับนักษัตร ตามความหมายที่ (1) อยู่ในหน้า 213-214 ส่วนข้อมูลเกี่ยวกับ 12 ราศี (หรือนักษัตรตามความหมายที่ (2)) รวมทั้งเรื่องเกี่ยวกับวันสงกรานต์อยู่ในหน้า 172-180

ขอยกตัวอย่างน่าสนใจเกี่ยวกับหนังสือเล่มนี้สักเล็กน้อย (หน้า 172)

             The Ram, the Bull, the Heavenly Twins,

             And next the Crab, the Lion shines,

             The Virgin and the Scales,

             The Scorpion, Archer, and the Goat,

             The man who holds the watering pot

             And Fish with glittering tails.

             ราศีแกะ       ราศีวัว                และคนคู่

            อีกทั้งปู        สิงห์ นางงาม      อร่ามสม

            ตาชั่ง           แมงป่อง ธนู       ดูน่าชม

            มกราคม       โถจารี                มีปลาเอย

            


สำหรับนักษัตรตามความหมายที่ (2) ผมมีแหล่งข้อมูลดังนี้ 

ซ้าย - หนังสือ สิบสองนักษัตร เขียนโดยอาจารย์ ส. พลายน้อย พิมพ์ครั้งที่ 3 จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ศิลปวัฒนธรรม (ISBN 974-323-377-6)

เล่มนี้แม้ผมจะยังไม่ได้อ่าน แต่เห็นชื่อผู้เขียน คือ ส. พลายน้อย ซึ่งเป็นนักอ่าน-นักเขียนระดับปูชนียบุคคลแล้ว ก็มั่นใจ 100% เต็มว่าดีแน่

     

ขวา - ภาพยนตร์เรื่อง กำเนิด 12 ราศี  หนังเรื่องนี้ผมยังไม่ได้ดู จึงไม่รับประกันความมันส์ แต่ขอบันทึกไว้ ณ ที่นี้เพื่อความสมบูรณ์ของข้อมูล


คำสำคัญ (Tags): #นักษัตร#ราศี
หมายเลขบันทึก: 90306เขียนเมื่อ 14 เมษายน 2007 11:33 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 17:56 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

กลอนนี่ถอดเองหรือเปล่าครับพี่ชิว ยอดเลยครับ เข้าใจง่ายและจำง่ายขึ้นมากเลยครับ

  แต่ผมสงสัยเสมอครับเกี่ยวกับ ราศีในตำราฝรั่ง และของไทยหรือจีน มักคลาดเคลื่อนไม่ตรงกันในวันที่ แล้วจะดูดวงที่ไหนถึงจะแม่นครับเนี่ย อิอิ แต่ผมแนะนำดวงในหนังสือ คู่....คู่.....  แม่นดีครับ อิอิ (ไม่บอกชื่อครับ เด๋วไปโคสะนาให้เค้าฟรีๆ)

Hello เดอ : แหม! อัจฉริยะค้างคืน (เกือบเหม็นหืน)อย่างเรารึจะต้องลงมือเขียนกลอนเอง...ลอกจากหนังสือเขามาทั้งนั้นละครับ ;-)

        เจ้าหนังสือ คู่..คู่... นี่ คู่สร้างคู่สม ใช่ปะ? (อ้าว! ดันโฆษณาให้เขาไปซะแหล่ว)

คุณ k-jira : ด้วยความยินดีครับ โดยเฉพาะเล่ม ไทบ้านดูดาว นี่ ห้ามพลาดเชียว เป็นสุดยอดหนังสือครับ :-)

พี่ชิวครับ ไปเฉลยซะแล้ว เดี๋ยวยอดขาย คู่สร้างคู่สม ก็พุ่งกระฉูดหรอกครับ อ้าว เผลอไปโฆษณาให้เค้าอีกคนแล้ว อิอิ

  ว่าแต่ตอนนี้ผมชักอืดจริงๆแล้วครับพี่ชิว เพราะทานเยอะมาก หลังๆมานี่น้ำหนักขึ้นทีละ 5 กิโล แวกๆๆ แย่แล้วครับ สงสัยจะเป็น อัฉริยะขึ้นอึด แทนแล้วครับ

ขอบคุณค่ะอาจารย์ที่แนะนำแหล่งข้อมูล : นักษัตร & ราศี

สนใจหนังสือ ดาราศาสตร์สำหรับลูกเสือและเนตรนารี มากเลยค่ะ โดยเฉพาะตรงที่เป็นบทกลอนทั้งอังกฤษและไทย จะลองไปหาที่ห้องสมุดประชาชนดู เผื่อเจอ เพราะต้องใช้สอนเด็กด้วยค่ะ

ขอบพระคุณอีกครั้งค่ะ

 

สวัสดีครับ อาจารย์ lioness

        

         จริงๆ แล้ว หนังสือ ดาราศาสตร์สำหรับลูกเสือและเนตรนา มีบทร้อยกรองแปลไม่มากนักครับ อีกบทหนึ่ง คือ กลอนที่อาจารย์เจริญ บุญญวัฒน์ แปลไว้ดังนี้ครับ 

         Twinkle, twinkle little star

         How I wonder what you are!

         Up above the world so high,

         Like a diamond in the sky.

             แวววับ แวววาว ดาวน้อย

             ตัวข้อย คิดยัง กังขา

             ช่างสูง สุดล้ำ โลกา

             ดั่งเพชร ผ่องอา ฟ้างาม

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท