บทความทางวิชาการ ความเป็นนักบริหารมืออาชีพ กับผู้บริหารการศึกษา


ความเป็นนักบริหารมืออาชีพ

กับผู้บริหารการศึกษา

ความนำ

  คำว่า นักบริหารการศึกษามืออาชีพ มีความหมายที่แตกต่างไปจากมืออาชีพในอาชีพอื่น  ในแง่ของวัฒนธรรมความเป็นมาของการเข้าสู่งานบริหารการศึกษา แต่คำว่ามืออาชีพก็นำมาจาก วงการกีฬา  คำว่า มือโปร(Professional)แปลว่า เป็นผู้เชี่ยวชาญ จนสามารถดำรงชีพด้วยอาชีพนั้น    ผู้บริหารการศึกษาเป็นผู้ที่ได้รับการคัดเลือกมาจากนักการศึกษาหรือนักวิชาการ   นักบริหารการศึกษาในที่นี้ หมายรวมถึง  ผู้บริหารสถานศึกษา  ผู้บริหารการศึกษา และบุคลากรทางการศึกษาผู้ทำหน้าที่บริหารการศึกษาในหน่วยงานการศึกษาต่างๆ  นักบริหารการศึกษามืออาชีพหมายถึงผู้บริหารที่พยายามทำให้ องค์การประสบความสำเร็จ ตามเป้าหมายหรือนโยบาย ขององค์การด้วยเหตุผล และหลักการซึ่งเป็นที่ยอมรับ โดยประยุกต์ทฤษฎีหรือแนวทางต่างๆ  อย่างผสมกลมกลืนกันแล้วนำไปสู่ปฏิบัติ  ต้องยอมรับว่าทิศทางการศึกษาไทย  ส่วนหนึ่งขึ้นอยู่กับผู้บริหารการศึกษา ซึ่งจะต้องตระหนักรู้และขับเคลื่อนการศึกษาไทยให้มีคุณภาพทัดเทียมกับ อารยประเทศ  การเป็นนักบริหารการศึกษามืออาชีพนั้นผู้บริหารจะต้องแสดงพฤติกรรมของผู้บริหารที่สามารถบริหารงานให้บรรลุเป้าหมายและได้ผลลัพธ์ของงานที่ยอดเยี่ยม ได้ผลลัพธ์ที่เป็นผลผลิตที่มีคุณภาพ   บทความนี้ขอนำเสนอ หลักการ แนวคิด การบริหารแบบมุ่งผลสัมฤทธิ์  การบริหารโดยใช้โรงเรียนเป็นฐาน  การบริหารแบบมุ่งคุณภาพทั้งองค์การซึ่งจะนำมาสู่การประกันคุณภาพการศึกษา  และการใช้กลยุทธ์ทางการบริหารต่างๆ รวมถึงคุณสมบัติต่างๆ ของนักบริหารมืออาชีพ เพื่อให้ผู้บริหารรุ่นใหม่ก้าวสู่การเป็นนักบริหารการศึกษามืออาชีพ ต่อไป   

 

หลักการ  แนวคิด

   นักการศึกษาได้ให้ความหมายของนักบริหารการศึกษามืออาชีพ  ไว้หลายความหมายที่คล้ายคลึงกัน ดังนี้   จำลอง  นักฟ้อน (2548)  นักบริหารการศึกษามืออาชีพ มีความหมายกว้าง ลึกซึ้งและมีความสมบูรณ์ในตัวมันเอง  แต่พอสรุปได้ว่า  นักบริหารการศึกษามืออาชีพนั้นจะต้องเป็นผู้มีความรู้ความสามารถในการบริหารการศึกษาได้อย่างเยี่ยมยอด สามารถทำให้เป้าหมายหรืออุดมการณ์ทางการณ์ศึกษาขององค์กรที่กำหนดไว้บรรลุผลได้อย่างมีประสิทธิภาพ ต้องเป็นผู้ที่มีทั้ง “ศาสตร์”และ “ศิลป์”  ในการปฏิบัติงานอย่างสูงสุดจนเป็นแบบอย่างและเป็นตัวแบบที่ดีแก่ผู้บริหารสถานศึกษาอื่น ๆ และองค์กรอื่น ๆ ต่อไปได้   วูด (Wood, 2001)  ได้รวบรวมแนวคิดของนักบริหารที่กล่าวถึงการเป็นนักบริหารที่ดี   เช่น ทอม ปีเตอร์ส (Tom Peters)  เน้นว่า นักบริหารที่ดี คือ นักปฏิบัติที่เป็นนักจัดการและเป็นผู้วางเงื่อนไขข้อตกลง (doers and do deal)  ไมเคิล พอร์เตอร์ (Michael Porter)  เน้นว่า นักบริหารที่ดีต้องเป็นนักคิด (Thinkers)   เซลสนิกค์ (Zalesnick) และเบนนิส (Bennis)  เชื่อว่า นักบริหารที่ดี คือ ผู้นำ (Leaders)  ฟาโยล์ (Fayol) และเออร์วิค (Urwick)  แสดงความเห็นว่า  นักบริหารที่ดีคือ  ผู้ควบคุม (Controllers)   นักบริหารเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในองค์การ  นักบริหารมืออาชีพจึงต้องเป็นผู้ที่มีทั้งความรอบรู้ในงานบริหาร  เป็นนักคิด นักวางแผน  นำแผนไปสู่การปฏิบัติ  คุณสมบัติของผู้บริหารก็มีส่วนสำคัญที่ส่งเสริมให้ก้าวสู่  การเป็นนักบริหารการศึกษามืออาชีพ   เช่น คุณสมบัติด้านมาตรฐานความรู้และประสบการณ์วิชาชีพ   ตามพระราชบัญญัติสภาครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. 2546  มาตรา 43  ได้กำหนดให้ “วิชาชีพครู  ผู้บริหารสถานศึกษา และผู้บริหารการศึกษา เป็นวิชาชีพควบคุม”  และ “ห้ามมิให้ผู้ใดประกอบวิชาชีพควบคุม  โดยไม่ได้รับใบอนุญาตตามพระราชบัญญัตินี้....”  ด้วยเหตุผลดังกล่าว  ผู้บริหารทางการศึกษาทุกคนจึงต้องมีใบประกอบวิชาชีพผู้บริหารการศึกษา และต้องมีมาตรฐานความรู้และประสบการณ์วิชาชีพ ตามข้อบังคับคุรุสภาว่าด้วยมาตรฐานวิชาชีพและจรรยาบรรณวิชาชีพ พ.ศ. 2548  (สำนักมาตรฐานวิชาชีพ  สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา, 2548)  ดังต่อไปนี้

    (1)  มาตรฐานความรู้และประสบการณ์วิชาชีพผู้บริหารสถานศึกษา  ประกอบด้วย

    1.1 มาตรฐานความรู้  ได้แก่

  1.1.1 มีคุณวุฒิไม่ต่ำกว่าปริญญาตรีทางการบริหารการศึกษาหรือเทียบเท่า หรือคุณวุฒิอื่นที่คุรุสภารับรอง โดยมีความรู้เกี่ยวกับ :

หลักและกระบวนการบริหารการศึกษา  นโยบาย และการวางแผนการศึกษา  การบริหารด้าน  วิชาการ  การบริหารด้านธุรการ  การเงิน  พัสดุและอาคารสถานที่  การบริหารงานบุคคล  การบริหารกิจการนักเรียน  การประกันคุณภาพการศึกษา  การบริหารจัดการเทคโนโลยีสารสนเทศ  การบริหารการประชาสัมพันธ์ และความสัมพันธ์ชุมชน  คุณธรรมและจริยธรรมสำหรับ  ผู้บริหารสถานศึกษา 

1.1.2 ผ่านการฝึกอบรมหลักสูตรการบริหารสถานศึกษาที่คณะกรรมการคุรุสภารับรอง  

1.2 มาตรฐานประสบการณ์วิชาชีพ ได้แก่

1.2.1 มีประสบการณ์ด้านการปฏิบัติการสอนมาแล้วไม่น้อยกว่า5 ปี  หรือ

  1.2.2 มีประสบการณ์ด้านการปฏิบัติการสอน  และต้องมีประสบการณ์ในตำแหน่ง หัวหน้าหมวด/หัวหน้าสาย/หัวหน้างาน/ตำแหน่งบริหารอื่นๆ ในสถานศึกษามาแล้วไม่น้อยกว่า 2 ปี

  (2)  มาตรฐานความรู้และประสบการณ์วิชาชีพผู้บริหารการศึกษา  ประกอบด้วย

  2.1  มาตรฐานความรู้  ได้แก่

2.1.1 มีคุณวุฒิไม่ต่ำกว่าปริญญาตรีทางการบริหารการศึกษาหรือเทียบเท่าหรือ คุณวุฒิอื่นที่คุรุสภารับรอง โดยมีความรู้เกี่ยวกับ :

หลักและกระบวนการบริหารการศึกษา  นโยบายและการวางแผนการศึกษา 

การบริหารจัดการการศึกษา  การบริหารทรัพยากร  การประกันคุณภาพ การศึกษา  การนิเทศการศึกษา  การพัฒนาหลักสูตร  การบริหารจัดการเทคโนโลยีสารสนเทศ  การวิจัยทางการศึกษา  คุณธรรมและจริยธรรมสำหรับผู้บริหารสถานศึกษา 

2.1.2 ผ่านการฝึกอบรมหลักสูตรการบริหารการศึกษาที่คณะกรรมการคุรุสภา รับรอง

2.2  มาตรฐานประสบการณ์วิชาชีพ  ได้แก่

  2.2.1 มีประสบการณ์ด้านปฏิบัติการสอนมาแล้วไม่น้อยกว่า 8 ปี  หรือ

  2.2.2 มีประสบการณ์ในตำแหน่งผู้บริหารสถานศึกษามาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี  หรือ

  2.2.3 มีประสบการณ์ในตำแหน่งผู้บริหารนอกสถานศึกษาที่ไม่ต่ำกว่าระดับกอง หรือเทียบเท่ากองมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี  หรือ

  2.2.4 มีประสบการณ์ในตำแหน่งบุคลากรทางการศึกษาอื่นที่ปฏิบัติงานเกี่ยวเนื่องกับการจัดกระบวนการเรียนการสอน  การนิเทศ  และการบริหารการศึกษามาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี  หรือ

       2.2.5 มีประสบการณ์ด้านปฏิบัติการสอนและมีประสบการณ์ในตำแหน่งผู้บริหาร สถานศึกษา หรือ  ผู้บริหารการศึกษา  หรือ  บุคลากรทางการศึกษาอื่นที่ ปฏิบัติงานเกี่ยวเนื่องกับการจัดกระบวนการเรียนการสอน การนิเทศ และ  การบริหารการศึกษา  รวมกันมาแล้วไม่น้อยกว่า 10  ปี

    (3)  มาตรฐานความรู้และประสบการณ์วิชาชีพของศึกษานิเทศก์  ประกอบด้วย 

    3.1 มาตรฐานความรู้  ได้แก่

        3.1.1 มีคุณวุฒิไม่ต่ำกว่าปริญญาตรีทางการบริหารการศึกษาหรือเทียบเท่าหรือคุณวุฒิอื่นที่คุรุสภารับรอง โดยมีความรู้เกี่ยวกับ : 

   การนิเทศการศึกษา  นโยบายและการวางแผนการศึกษา  การพัฒนาหลักสูตรและการสอน  การประกันคุณภาพการศึกษา  การบริหารจัดการ  การศึกษา  การวิจัยทางการศึกษา  กลวิธีการถ่ายทอดความรู้แนวคิดทฤษฎีและผลงานทางวิชาการ  การบริหารจัดการเทคโนโลยีสานสนเทศคุณธรรมและจริยธรรมสำหรับศึกษานิเทศก์     

    3.1.2 ผ่านการฝึกอบรมหลักสูตรการนิเทศการศึกษาที่คณะกรรมการคุรุสภารับรอง

3.2  มาตรฐานประสบการณ์วิชาชีพ  ได้แก่

      3.2.1 มีประสบการณ์ด้านการปฏิบัติการสอนมาแล้วไม่น้อยกว่า 10 ปี  หรือ  มีประสบการณ์ด้านการปฏิบัติการสอนและมีประสบการณ์ในตำแหน่ง  ผู้บริหารสถานศึกษา และหรือผู้บริหารการศึกษารวมกันมาแล้ว ไม่น้อยกว่า 10 ปี

3.2.2 มีผลงานทางวิชาการที่มีคุณภาพและมีการเผยแพร่

3.2.3  คุณสมบัติด้านมาตรฐานการปฏิบัติงาน  ผู้บริหาร

สถานศึกษา ผู้บริหารการศึกษาและศึกษานิเทศก์  จะต้องปฏิบัติตามมาตรฐานการปฏิบัติงานตามที่คุรุสภาได้ประกาศเป็นข้อบังคับว่าด้วยมาตรฐานวิชาชีพและจรรยาบรรณของวิชาชีพ พ.ศ. 2548  (สำนักมาตรฐานวิชาชีพ สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา, 2548)  ซึ่งมีอยู่ 12 มาตรฐาน  ดังนี้

(1) มาตรฐานการปฏิบัติงานของผู้บริหารสถานศึกษาและผู้บริหารการศึกษา 

มาตรฐานที่ 1  ปฏิบัติกิจกรรมทางวิชาการเกี่ยวกับการพัฒนาวิชาชีพการบริหารการศึกษา 

คุณสมบัติเบื้องต้นที่สำคัญประการหนึ่งของผู้บริหารมืออาชีพ คือ การเข้าร่วมเป็นสมาชิกที่ดีขององค์กรวิชาชีพ  ด้วยการมีส่วนร่วมในกิจกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาวิชาชีพ ได้แก่ การเป็นผู้ริเริ่ม  ผู้ร่วมงาน  ผู้ร่วมจัดงานหรือกิจกรรม  รวมทั้งการเป็นผู้เสนอผลงาน  และเผยแพร่ผลงานขององค์กร เพื่อให้สมาชิกยอมรับและเห็นคุณประโยชน์ของผู้บริหารที่มีต่อการพัฒนาองค์กร  ตลอดจนการนำองค์กรให้เป็นที่ยอมรับของสังคมโดยส่วนรวม

  มาตรฐานที่ 2  ตัดสินใจปฏิบัติกิจกรรมต่างๆ  โดยคำนึงถึงผลที่จะเกิดขึ้นกับการพัฒนาของบุคลากร  ผู้เรียน  และชุมชน

ผู้บริหารมืออาชีพแสดงความรัก  ความเมตตา และความปรารถนาดีต่อองค์กร ผู้ร่วมงาน  ผู้เรียน  และชุมชน  ด้วยการตัดสินใจในการทำงานต่างๆ เพื่อผลการพัฒนาที่จะเกิดขึ้นกับทุกฝ่าย  การตัดสินใจของผู้บริหารต้องผ่านกระบวนการวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างการกระทำกับผลของการกระทำ  เนื่องจากการตัดสินใจของผู้บริหารมีผลต่อองค์กรโดยส่วนรวม  ผู้บริหารจึงต้องเลือกแต่กิจกรรมที่จะนำไปสู่ผลดี  ผลทางบวก  ผลต่อการพัฒนาของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง  และระมัดระวังไม่ให้เกิดผลทางลบโดยมิได้ตั้งใจ  ทั้งนี้เพื่อนำไปสู่ความไว้วางใจ  ความศรัทธาและความรู้สึกเป็นที่พึ่งได้ของบุคคลทั้งปวง

  มาตรฐานที่ 3  มุ่งมั่นพัฒนาผู้ร่วมงานให้สามารถปฏิบัติงานได้เต็มศักยภาพ

ความสำเร็จของการบริหารอยู่ที่การดำเนินงาน เพื่อให้บุคลากรในองค์กรหรือผู้ร่วมงานได้มีการพัฒนาตนเองอย่างเต็มศักยภาพและความปรารถนาดีต่อองค์กร ผู้ร่วมงาน  ผู้เรียน  และชุมชน  ด้วยการตัดสินใจในการทำงานต่างๆ เพื่อผลการพัฒนาที่จะเกิดขึ้นกับทุกฝ่าย  การตัดสินใจของผู้บริหารต้องผ่านกระบวนการวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างการกระทำกับผลของการกระทำ  เนื่องจากการตัดสินใจของผู้บริหารมีผลต่อองค์กรโดยส่วนรวม  ผู้บริหารจึงต้องเลือกแต่กิจกรรมที่จะนำไปสู่ผลดี  ผลทางบวก  ผลต่อการพัฒนาของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง  และระมัดระวังไม่ให้เกิดผลทางลบโดยที่มิได้ตั้งใจ  ทั้งนี้เพื่อนำไปสู่ความไว้วางใจ  ความศรัทธาและความรู้สึกเป็นที่พึ่งได้ของบุคคลทั้งปวง

มาตรฐานที่ 4  พัฒนาแผนงานขององค์กรให้สามารถปฏิบัติได้เกิดผลจริง

ผู้บริหารมืออาชีพวางแผนงานขององค์กรได้อย่างมียุทธศาสตร์ เหมาะสมกับเงื่อนไขข้อจำกัดของผู้เรียน ครู ผู้ร่วมงาน ชุมชน ทรัพยากร และสิ่งแวดล้อม  สอดคล้องกับนโยบาย แนวทาง  และเป้าหมายของการพัฒนา เมื่อนำไปปฏิบัติจะเกิดผลต่อการพัฒนาอย่างแท้จริง  แผนงานต้องมีกิจกรรมสำคัญที่นำไปสู่ผลของการพัฒนา  ความสอดคล้องของเป้าหมาย กิจกรรม  และผลงาน ถือเป็นคุณภาพสำคัญที่นำไปสู่การปฏิบัติงานที่มีประสิทธิภาพสูง  มีความคุ้มค่าและเกิดผลอย่างแท้จริง

มาตรฐานที่ 5 พัฒนาและใช้นวัตกรรมการบริหารจนเกิดผลงานที่มีคุณภาพสูงขึ้นเป็นลำดับ

นวัตกรรมการบริหารเป็นเครื่องมือสำคัญของผู้บริหารในการนำไปสู่ผลงาน ที่มี คุณภาพ และประสิทธิภาพสูงขึ้นเป็นลำดับ  ผู้บริหารมืออาชีพต้องมีความรู้ในการบริหารแนวใหม่ๆ  เลือกและปรับปรุงใช้นวัตกรรมได้หลากหลาย  ตรงกับ  สภาพการณ์  เงื่อนไข  ข้อจำกัดของงานและองค์กรจนนำไปสู่ผลได้จริง  เพื่อให้องค์กรก้าวหน้าพัฒนาอย่างไม่หยุดยั้ง  ผู้ร่วมงานทุกคนได้ใช้ศักยภาพอย่างเต็มที่  มีความภาคภูมิใจในผลงานร่วมกัน

  มาตรฐานที่ 6  ปฏิบัติงานขององค์กรโดยเน้นผลถาวร

ผู้บริหารมืออาชีพเลือกและใช้กิจกรรมการบริหารที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น ของบุคลากรและองค์การ จนบุคลากรมีนิสัยในการพัฒนาตนเองอยู่เสมอ  ผู้บริหารต้องมีความเพียรพยายาม  กระตุ้น  ยั่วยุ  ท้าทาย  ให้บุคลากรมีความรู้สึกเป็นเจ้าของ และชื่นชมผลสำเร็จเป็นระยะๆ  จึงควรเริ่มจากการริเริ่ม  การร่วมพัฒนา  การสนับสนุนข้อมูล  และให้กำลังใจให้บุคลากรศึกษา ค้นคว้า  ปฏิบัติ  และปรับปรุงงานต่างๆ ด้วยตนเอง  จนเกิดเป็นค่านิยมในการพัฒนางานตามภาวะปกติ  อันเป็นบุคลิกภาพที่พึงปรารถนาของบุคลากรและองค์กร  รวมทั้งบุคลากรทุกคนชื่นชมและศรัทธาในความสามารถของตน

มาตรฐานที่  7  รายงานผลการพัฒนาคุณภาพการศึกษาได้อย่างเป็นระบบ

ผู้บริหารมืออาชีพสามารถนำเสนอผลงานที่ได้ทำสำเร็จแล้ว ด้วยการรายงานผลที่แสดงถึงการวิเคราะห์งานอย่างรอบคอบ  ครอบคลุมการกำหนดงานที่จะนำไปสู่ผลแห่งการพัฒนา  การลงมือปฏิบัติจริง  และผลที่ปรากฏมีหลักฐานยืนยันชัดเจน  การนำเสนอรายงานเป็นโอกาสที่ผู้บริหารจะได้คิดทบทวนถึงงานที่ได้ทำไปแล้วว่ามีข้อจำกัด ผลดี ผลเสีย และผลกระทบที่มิได้ระวังไว้อย่างไร  ถ้าผลงานเป็นผลดี จะชื่นชม ภาคภูมิใจได้ในส่วนใด  นำเสนอให้เป็นประโยชน์ต่อผู้อื่นได้อย่างไร  ถ้าผลงานยังไม่สมบูรณ์จะปรับปรุงเพิ่มเติมได้อย่างไร  และจะนำประสบการณ์ที่ได้พบไปใช้ประโยชน์ในการทำงานต่อไปได้อย่างไร  คุณประโยชน์อีกประการหนึ่งของรายงานที่ดี  คือ การนำผลการประเมินไปใช้ในการประเมินตนเอง  รวมทั้งการทำให้เกิดความรู้สึกชื่นชมของผู้ร่วมปฏิบัติงานทุกคน  การที่ผู้ปฏิบัติงานได้เรียนรู้เกี่ยวกับความสามารถและศักยภาพของตน  เป็นขั้นตอนสำคัญอย่างหนึ่งที่จะนำไปสู่การรู้คุณค่าแห่งตน

มาตรฐานที่ 8  ปฏิบัติตนเป็นแบบอย่างที่ดี

ผู้บริหารมีหน้าที่แนะนำ ตักเตือน  ควบคุม  กำกับดูแล บุคลากรในองค์กร  การที่จะปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวให้ได้ผลดี  ผู้บริหารต้องประพฤติเป็นแบบอย่างที่ดี มิฉะนั้นคำแนะนำตักเตือน หรือการกำกับดูแลของผู้บริหารจะขาดความสำคัญ  ไม่เป็นที่ยอมรับของบุคลากรในองค์กร  ผู้บริหารที่ปฏิบัติตนเป็นแบบอย่างในทุกๆ ด้าน เช่น ด้านคุณธรรม จริยธรรม ความยุติธรรม และบุคลิกภาพ  จะมีผลสูงต่อการยอมรับของบุคลากร  ทำให้เกิดความเชื่อถือศรัทธาต่อการบริหารงาน  จนสามารถปฏิบัติตามได้ด้วยความพึงพอใจ

มาตรฐานที่ 9  ร่วมมือกับชุมชนและหน่วยงานอื่นอย่างสร้างสรรค์

หน่วยงานการศึกษาเป็นองค์กรหนึ่งที่อยู่ในชุมชน  และเป็นส่วนหนึ่งของระบบสังคมซึ่งมีองค์กรอื่นๆ เป็นองค์ประกอบ  ทุกหน่วยงานมีหน้าที่ร่วมมือกันพัฒนาสังคมตามบทบาทหน้าที่  ผู้บริหารการศึกษาเป็นบุคลากรสำคัญของสังคมหรือชุมชนที่จะชี้นำแนวทางการพัฒนาสังคมให้เจริญก้าวหน้าในทิศทางที่ต้องการ  ผู้บริหารมืออาชีพต้องร่วมมือกับชุมชนและหน่วยงานอื่นในการเสนอแนวทางปฏิบัติ  แนะนำ  ปรับปรุงการปฏิบัติ  และแก้ปัญหาของชุมชนหรือหน่วยงานอื่น  เพื่อให้เกิดผลดีต่อสังคมส่วนรวม  ในลักษณะร่วมคิดร่วมวางแผน  และร่วมปฏิบัติด้วยความเต็มใจ  เต็มความสามารถ  พร้อมทั้งยอมรับความสามารถ รับฟังความคิดเห็นและเปิดโอกาสให้ผู้อื่นได้ใช้ความสามารถของตนอย่างเต็มศักยภาพ เพื่อเสริมสร้างบรรยากาศประชาธิปไตยและการร่วมมือกันในสังคม นำไปสู่การยอมรับและศรัทธาอย่างภาคภูมิใจ

มาตรฐานที่ 10  แสวงหาและใช้ข้อมูลข่าวสารในการพัฒนา

  ความประทับใจของผู้ร่วมงานที่มีต่อผู้บริหารองค์กรอย่างหนึ่ง คือ ความเป็นผู้รอบรู้

ทันสมัย ทันโลก  รู้อย่างกว้างขวางและมองไกล  ผู้บริหารมืออาชีพจึงต้องติดตามการเปลี่ยน แปลงที่เกิดขึ้นในโลกทุกๆ ด้าน  จนสามารถสนทนากับผู้อื่นด้วยข้อมูลข่าวสารที่ทันสมัยและนำข้อมูลข่าวสารต่างๆ ที่ได้รับมาใช้ในการพัฒนางานและผู้ร่วมงาน การตื่นตัว การรับรู้ และ การมีข้อมูลข่าวสารสนเทศเหล่านี้ นอกจากจะเป็นประโยชน์ต่องานพัฒนาแล้ว  ยังนำมาซึ่งการยอมรับและความรู้สึกเชื่อถือของผู้ร่วมงาน อันเป็นเงื่อนไขเบื้องต้นที่จะนำไปสู่การพัฒนาที่ลึกซึ้งต่อเนื่องต่อไป

มาตรฐานที่ 11  เป็นผู้นำและสร้างผู้นำ

  ผู้บริหารมืออาชีพสร้างวัฒนธรรมขององค์กรด้วยการพูดนำ ปฏิบัตินำ และจัดระบบงานให้สอดคล้องกับวัฒนธรรม  โดยการให้รางวัลแก่ผู้ที่ทำงานได้สำเร็จแล้ว  จนนำไปสู่การพัฒนาตนเอง  คิดได้เอง  ตัดสินใจได้เอง  พัฒนาได้เอง ของผู้ร่วมงานทุกคน  ผู้บริหารมืออาชีพจึงต้องแสดงออกอย่างชัดเจน และสม่ำเสมอเกี่ยวกับวัฒนธรรมขององค์กร  เพื่อให้ผู้ร่วมงานมีความมั่นใจในการปฏิบัติ  จนสามารถเลือกการกระทำที่สอดคล้องกับวัฒนธรรม แสดงออกและชื่นชมได้ด้วยตนเอง  ผู้บริหารจึงต้องสร้างความรู้สึกประสบความสำเร็จให้แก่บุคลากรแต่ละคนและทุกคน  จนเกิดภาพความเป็นผู้นำในทุกระดับ นำไปสู่องค์กรการเรียนรู้อย่างแท้จริง

มาตรฐานที่ 12 สร้างโอกาสในการพัฒนาได้ทุกสถานการณ์

  การพัฒนาองค์กรให้ก้าวหน้าอย่างยั่งยืน  สอดคล้องกับความก้าวหน้าของโลกที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างไม่หยุดยั้ง  ผู้บริหารจำเป็นต้องรู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลง  สามารถปรับงานให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลง  และสามารถจัดการกับการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ได้สอดคล้อง สมดุล และเสริมสร้างซึ่งกันและกัน  ผู้บริหารมืออาชีพจึงต้องตื่นตัวอยู่เสมอ  มองเห็นการเปลี่ยนแปลงอย่างรอบด้าน  รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงในอนาคต  และกล้าที่จะตัดสินใจดำเนินการเพื่อผลในอนาคต  อย่างไรก็ตาม การรู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงนี้ย่อมเป็นสิ่งประกันได้ว่า การเสี่ยงในอนาคตจะมีโอกาสผิดพลาดน้อยลง  การที่องค์กรปรับได้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงนี้ย่อมเป็นผลให้องค์กรพัฒนาอย่างยั่งยืน  สอดคล้องกับความก้าวหน้าของโลกตลอดไป 

    องค์ประกอบของการเป็นมืออาชีพโดยทั่วไปสำหรับองค์การมีหลายประการ และมีความหลากหลายตามบริบท และความเชื่อซึ่งเกิดจากผลการทดลองเชิงวิจัยและการวิเคราะห์ความเป็นไปได้  ชมพูนุช  อัครเศรณี  (2547) เสนอแนะความเก่งกล้าในการเป็นมืออาชีพซึ่งสามารถมองเห็นได้จากพฤติกรรมของผู้บริหาร ไว้ 10 ประการ ดังนี้

ประการแรก ความเก่งกล้าในการรู้จักบทบาทและหน้าที่ของตนเองผู้อื่น

ผู้บริหารมืออาชีพจะไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับงานที่เป็นความรับผิดชอบของผู้อื่น  ถ้าไม่ได้รับมอบหมายจากผู้มีอำนาจสั่งการ หรือได้รับการร้องขอให้ช่วยเหลือ  การให้ความเห็นใจเข้าไปช่วยเหลืออาจนำผลเสียมาสู่องค์กรได้ และอาจกลายเป็นการก้าวก่ายการทำงานของผู้อื่นได้

ประการที่สอง  ความเก่งกล้าในการคิดเองทำเองได้

เมื่อมีงานที่ต้องบริหารจัดการให้ประสบความสำเร็จ มืออาชีพจะสามารถแสวงหาแนวทางในการดำเนินงานนั้นได้จนบรรลุเป้าหมาย  โดยไม่ต้องให้มีการสั่งการเป็นคำสั่งในแต่ละขั้นตอน การคิดเองได้ คิดแก้ปัญหาได้  คือ ความสามารถของผู้บริหารที่มองเห็นลู่ทางในการทำงานให้ประสบผลสำเร็จ

ประการที่สาม ความเก่งกล้าในการรับผิดและรับชอบในสิ่งที่กระทำและผลที่จะได้รับ

ยอมรับและจัดการกับผลงานนั้นทั้งโดยทางตรงและทางอ้อม ยอมรับความดีและความผิดพลาดและพร้อมที่จะพัฒนาสู่ความเป็นเลิศ ไม่โยนความผิดหรือคิดหาทางถ่ายเทปัญหาไปให้ผู้อื่น ผู้นักบริหารที่ไม่ใช่มืออาชีพมักจงใจผลักดันปัญหาไปให้ผู้ใต้บังคับบัญชาคือคนอื่น มืออาชีพจะไม่ขยายความผิดพลาดให้แก่ผู้อื่นหรือทำให้เป็นเรื่องใหญ่โตขึ้น และจะไม่ปิดบังหรือกลบเกลื่อนความผิดของตนเองด้วยการให้ร้ายผู้อื่น จะไม่พูดแก้ตัวแต่จะขอโทษและขอโอกาสในการปรับปรุงแก้ไขให้ดีขึ้น

ประการที่สี่ ความเก่งกล้าในการตัดสินใจ

ในการบริหารงานนั้นผู้บริหารต้องตัดสินใจซึ่งในบางครั้งจำเป็นต้องมีการตัดสินใจในระยะเวลาที่จำกัดในการหาข้อมูลเพียงพอเพื่อสนับสนุนการตัดสินใจ  แต่เมื่อจำเป็นเร่งด่วนนักบริหารมืออาชีพจะสามารถพิจารณาเลือกและไม่ลังเลที่จะตัดสินใจได้ในทันทีแม้ว่าจะมีความหนักใจเมื่อเปรียบเทียบกับทางเลือกอื่นอยู่บ้าง มืออาชีพต้องไม่คิดว่าสิ่งเหล่านี้คืออุปสรรคในการบริหารจัดการเพราะการลังเลในการตัดสินใจอาจทำให้ช้าจนเกินการ นอกจากนี้นักบริหารมืออาชีพควรสามารถตัดสินใจได้ด้วยตนเองในขอบเขตที่ตนได้รับมอบหมายและไม่พยายามที่จะโอนอำนาจการตัดสินใจไปให้ผู้อื่นทำแทนตนนักบริหารมืออาชีพต้องมีความมั่นใจว่าการตัดสินใจนั้นจะสร้างความสำเร็จในงานที่ทำและปัญหาคือสิ่งที่จะต้องระวังแก้ไขให้ผลงานบรรลุเป้าหมายให้ได้ แต่สิ่งที่สำคัญคือการตั้งมั่นในหลักการและมีความคิดในเชิงบวกกับการงานและผู้เกี่ยวข้อง

ประการที่ห้า ความเก่งกล้าในการให้เกียรติผู้อื่น

นักบริหารต้องคำนึงถึงการปฏิบัติตนตามมารยาททางธุรกิจและสังคม  การเป็นมืออาชีพคือการนับถือตนเองและนับถือผู้อื่น แม้ว่าบุคคลเหล่านั้นจะเป็นแค่เพื่อนร่วมงานและผู้ใต้บังคับบัญชา ให้พึงระลึกว่าทุกคนมีทัศนคติที่เป็นความคิดของตนเอง ทุกคนอาจมีความเลื่อมล้ากันในหน้าที่การงาน ฐานะทางเศรษฐกิจ ความสามารถในการทำงาน และความรู้ในเชิงวิชาการ แต่ทุกคนมีมีความเสมอภาคกันในด้านศักดิ์ศรีและเกียรติยศในความเป็นคน

ประการที่หก ความเก่งกล้าในการรักษาเกียรติของตนเอง

 ในโลกของการทำงานนั้นผู้นำมืออาชีพต้องไม่ทำสิ่งที่ทำให้ตนเองมัวหมองและเสื่อมเสียเกียรติยศ แม้ในยามที่พ่ายแพ้ก็ยังรักษาเกียรติยศของตนไว้ได้อย่างสง่างามด้วยตัวของตนเอง มีน้ำใจเป็นนักกีฬาซึ่งทำให้ไม่คิดอาฆาตมาดร้ายต่อผู้ชนะ นักบริหารมืออาชีพจะไม่โทษตนเองและผู้อื่น แสดงวุฒิภาวะทางอารมณ์ด้วยการไม่ด่าทอ อาละวาดหรือ แสดงกิริยาวาจาที่ก้าวร้าง เสียดสี การแสดงความผิดหวังอย่างรุนแรงต่อหน้าผู้อื่น เพราะรู้สึกเสียหน้า ทำให้เสียผลประโยชน์เท่ากับว่าไม่สามารถรักษาเกียรติของตนไว้ได้ ผู้บริหารมืออาชีพจึงต้องมีทักษะในการพาจิตของตนเองออกจากสถานการณ์หรือวางเฉยเท่าที่จะทำได้อย่างดีที่สุด นักบริหารมืออาชีพต้องทำความเข้าใจว่าไม่มีสิ่งใดที่แน่นอน ความพ่ายแพ้ในวันนี้เป็นเพียงการไม่มีโอกาสแต่ความมุ่งมั่นไม่ท้อถอยอาจทำให้โอกาสหวนกลับมาอีกได้ในวันหนึ่ง การหยุดพักและสงบนิ่งในช่วงหนึ่งจึงไม่ใช่เป็นการเสียเวลาแต่เป็นเวลาที่ดีในการเติมพลังเพื่อก้าวเดินต่อไป

ประการที่เจ็ด ความเก่งกล้าในการยอมรับการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดี

นักบริหารมืออาชีพต้องเข้าว่าการเปลี่ยนแปลงเป็นสิ่งที่จำเป็น เมื่อโลกและสังคมเปลี่ยนไปการปรับตัวกับระบบการทำงานในรูปแบบที่คิดค้นขึ้นมาเพื่อรองรับเป็นสิ่งที่จำเป็น ผู้บริหารที่สามารถปรับตัวให้ยอมรับการเปลี่ยนแปลงได้รวดเร็วเท่าใดก็จะสามารถปรับระบบการทำงานให้สอดคล้องกับบริบทของการบริหารงานได้เร็วเท่านั้น  การต่อต้านการเปลี่ยนในขณะที่ยังไม่ได้ยอมรับหรือลงมือปฏิบัตินำความเสียหายมาสู่องค์การอย่างแน่นอนในฐานะนักบริหารองค์การ นักบริหารมืออาชีพต้องสร้างความเข้าในความจำเป็นของการเปลี่ยนแปลงและพยายามมองข้อดีของการเปลี่ยนแปลง โดยไม่วิเคราะห์วิจารณ์ในขณะที่ยังอยู่ในขั้นตอนของการเปลี่ยนแปลง แต่จะช่วยดูแลและประเมินผลเพื่อการพัฒนาและให้คำปรึกษาหารือ ผู้บริหารมืออาชีพจึงมักตระหนักถึงคุณค่าในการพัฒนาตนเองเพื่อเสริมสร้างศักยภาพและเติมเต็มในความสามารถของตนเพื่อให้ก้าวทันกับเหตุการณ์ และยอมรับการเปลี่ยนแปลงเป็นพื้นฐานนำไปสู่ การพัฒนาตนเองเพื่อให้มีความรู้เท่าทันกับโลกทั้งภายในและภายนอกองค์การ รู้ทันข้อมูลสารสนเทศและสามารถนำมาใช้ให้เป็นประโยชน์แก่องค์การ มนุษย์มีความสามารถในการพัฒนาตนเองได้อย่างไม่หยุดนิ่ง การพัฒนาตนเองจะทำให้เกิดเจตคติที่ดีต่อการทำงาน

ประการที่แปด ความเก่งกล้าในความยืดหยุ่น

ความยืดหยุ่นของนักบริหารมืออาชีพคือการไม่ยืดติดกับสิ่งที่เป็นกฎเกณฑ์มากจนเกินความจำเป็น เพราะต้องเข้าใจว่าไม่มีสิ่งใดที่ถูกต้องและผิดเสมอไปในทุกโอกาส ความยืดหยุ่นไม่ใช่ความลังเลหรือความไม่แน่นอนในหลักการ แต่เป็นการเลื่อนไหลที่ทำให้การทำงานมีความสะดวกและคล่องตัวมากขึ้น ในด้านความคิดที่ยืดหยุ่นจะทำให้นักบริหารมืออาชีพไม่ปิดกั้นตนเองเนื่องจากมีความเชื่อว่าทุกอย่างมีความเป็นไปได้ และความเป็นไปได้เป็นโอกาสที่ดีเสมอ การปฏิบัติงานที่ตายตัวไม่ได้ทำให้งานสำเร็จรวดเร็วและมีประสิทธิภาพเสมอไป

ประการที่เก้า ความเก่งกล้าในการบริหารเสน่ห์

ซึ่งเป็นคุณลักษณะพิเศษของนักบริหารมืออาชีพด้วยการเป็นผู้ที่ได้รับความเชื่อถือและความไว้วางใจจากองค์การให้บริหารงาน การทำให้ทุกคนที่ทำงานสามารถทำงานได้อย่างสะดวกสบายและมีความสุขในการทำงานคือการบริหารเสน่ห์ นักบริหารมืออาชีพจะไม่กังวลและไม่เสียเวลาและสมองที่จะทุ่มเทให้แก่การทำงานมาบริหารเสน่ห์ตนเองเพียงเพื่อเอาใจผู้อื่นให้ชอบพอตนเอง และหวังผลประโยชน์จากเสน่ห์ของตนเอง การมุ่งมั่นในงานโดยไม่หวังผลตอบแทนส่วนตนเป็นเสน่ห์ที่อย่างหนึ่งที่ทำให้ทุกคนเข้ามาร่วมมือร่วมใจกันทำงาน แต่อย่างไรก็ตามมักบริหารมืออาชีพตระหนักดีว่า ผู้ซึ่งต้องดูแลให้งานสำเร็จเรียบร้อยทันตามกำหนดตามเป้าหมายและงบประมาณย่อมไม่สามารถทำตามใจทุกคนได้ การถูกวิพากษ์วิจารณ์จึงเป็นเรื่องธรรมดาทั่วไปของการทำงาน

ประการที่สิบ ความเก่งกล้าในเรื่องมนุษยธรรมกับการทำงาน

 โลกของธุรกิจทุกประเภทต้องสร้างผลกำไร ธุรกิจการศึกษาก็เช่นกัน แต่กำไรที่พึงได้จากธุรกิจการศึกษาไม่เช่นเป็นแค่เงินตรา แต่ต้องเป็นประสิทธิภาพของผลผลิตที่เป็นผู้เรียนซึ่งเป็นคน  มนุษยธรรมในการถ่ายทอดวิชาความรู้การอบรมสั่งสอนและการมีความเมตตา สงสารและให้ความช่วยเหลือเพื่อให้สามารถพัฒนาองค์ความรู้ตามจุดประสงค์ของการศึกษาส่วนหนึ่งและความเป็นธรรมในการบริหารจัดการด้านการเรียนการสอนอีกส่วนหนึ่ง ต่างต้องการความเป็นธรรมในการดำเนินกิจกรรมด้วย

คุณลักษณะ ของผู้บริหารที่ส่งผลสำเร็จ ต่อการบริหารการศึกษาอย่างมืออาชีพ สามารถจำแนกได้เป็น 10 ประการ ได้แก่ ( สุรศักดิ์ ปาเฮ . 2543 : 72 – 73)

  1. มีความพร้อมทางด้านข้อมูลข่าวสาร สารสนเทศ (Command of Basic Facts) ต้องรู้ความเคลื่อนไหว ที่เกิดขึ้นทั้งภายในและนอกองค์กร โดยมีข้อมูลและสารสนเทศ ช่วยในการดำเนินการและบริหารงานให้บังเกิดประสิทธิภาพสูงสุด
    2. มีความรู้ทางวิชาชีพ (Relevant Professional Knowledge)  เป็นความรู้  ที่รวมถึงความรู้ทางเทคนิค เช่น เทคโนโลยีสารสนเทศ กฎหมายที่เกี่ยวข้อง  มีความรู้ทางการบริหาร  เช่น หลักการทฤษฎีการบริหาร การวางแผน การจัดองค์กร หลักสูตร การสอน การวัดผลประเมินผล เหล่านี้เป็นต้น   
    3. มีความรู้เท่าทันในสถานการณ์ (Continuing Sensitivity to Events)  สามารถปรับตัวและสนอง ได้ฉับไวและต่อเนื่องกับสถานการณ์รอบด้าน และดำเนินบทบาทได้อย่าง เหมาะสม รวดเร็ว และเข้าใจความรู้สึกของคนรอบข้าง
   4. มีทักษะในการเข้าสังคม (Social Skills and Abilities) โดยการพัฒนาทักษะด้านต่างๆ  เช่น การสื่อสาร การกระจายอำนาจ การเจรจาต่อรอง การมอบหมายงาน การสมาคม การสร้างความสัมพันธ์ที่ดี ให้เกิดขึ้นทั้งภายในและภายนอกองค์กร
     5. มีทักษะในการวิเคราะห์ปัญหา แก้ปัญหา และการตัดสินใจ (Analytical , Problem Solving , Decision Making Skills) อาศัยหลักตรรกศาสตร์ การใช้เหตุผลและ วิจารณญาณเข้าช่วย

คำสำคัญ (Tags): #education
หมายเลขบันทึก: 518280เขียนเมื่อ 3 กุมภาพันธ์ 2013 01:06 น. ()แก้ไขเมื่อ 3 กุมภาพันธ์ 2013 01:06 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท