ชีวิตที่พอเพียง  4729. การไต่บันไดทางสังคม โดยอาศัยการศึกษาเป็นบันได


 

วันที่ ๒๒ เมษายน ๒๕๖๗ ในการประชุมคณะกรรมการที่ปรึกษา พัฒนาระบบ ววน. ของ สอวช.     มีวาระเรื่อง “กลไกการขับเคลื่อน Social Mobility : ด้านการศึกษาสำหรับกลุ่มเด็กและเยาวชน”    ที่ชักจูงให้ผมสะท้อนคิด เขียนบันทึกนี้    ด้วยคำถามว่า การศึกษาไทยเป็นบันไดที่ดีหรือไม่    หรือเป็นบันไดผุๆ 

ผมตอบว่า การศึกษาไทยในรูปแบบปัจจุบัน ไม่ยุให้เด็กไต่บันได   

หมายความว่า เด็กเข้าโรงเรียนแล้วไม่เกิดแรงบันดาลใจ    ไม่เกิดการพัฒนาตัวตน (identity - อัตลักษณ์) ที่นำสู่การพัฒนาเป้าหมายชีวิต (purpose)  และสู่ความมั่นคงในคุณธรรม (integrity) ในที่สุด  ตามแนวทางของ Chickering’s Seven Vectors of Identity Development 

การไต่บันได เด็กหรือเยาวชนต้องเป็นผู้ไต่เอง    การศึกษาช่วยเป็นบันได ผ่านการเอื้อให้เด็กและเยาวชนเกิดการพัฒนาอัตลักษณ์ตามแนวทางของ Chickering’s Seven Vectors of Identity Development 

การไต่บันไดทางสังคมของเด็กและเยาวชนไทย   ในสายตาของผม (ไม่ทราบว่าผมตาถั่วหรือเปล่า)   มีความท้าทายหลักๆ ๒ ด้านคือ  (๑) สังคมรอบตัวเด็กเป็นตัวอุปสรรค  (๒) ระบบการศึกษาอ่อนแอ   

จึงต้องมีวิธีส่งเสริมการไต่บันได    ด้วยกุศโลบาย “นักไต่บันได  เป็นผู้ขยายจำนวนนักไต่บันได”   คือเน้นให้เด็กและเยาวชนเป็นผู้กระทำทางสังคม    นอกจากตัวเองได้ไต่สำเร็จแล้ว ยังทำหน้าที่ยุยงให้เกิดนักไต่เพิ่มขึ้น   และให้กลไกอื่นๆ ในสังคมมองเห็นโอกาสเข้าไปสนับสนุนอย่างได้ผล   

นี่คือกลยุทธ demand-side as major actor   ซึ่งตรงกันข้ามกับกลยุทธ supply-side as major actor ที่ทำกันมาแล้วอย่างได้ผลน้อย   

ผมลองถาม Google Gemini ว่า What is social mobility? What are driving forces? Is education one of the driving forces? How can education function as driving force? Can weak education be obstacle?   ได้คำตอบที่สรุปได้ว่า การศึกษาเป็นได้ทั้งลมส่ง  และแรงต้าน

ในการประชุม มีความเห็นตรงกันว่า ต้องนิยาม “การศึกษา” ใหม่    ให้เป็นการหนุนให้เด็กพัฒนาอย่างเป็นองค์รวม   และต้องให้เด็กยากจนที่เรียนระดับมัธยมได้เรียนด้านวิชาชีพควบคู่ไปด้วย   

การศึกษาเพียงด้านเดียวช่วยการไต่บันไดทางสังคมแก่เด็กจากครอบครัวยากจนได้ไม่มาก    ต้องการมาตรการทางสังคมด้วย    และผมเชื่อว่า การสร้างแรงบันดาลใจให้แก่เด็ก   โดยให้เด็กยากจนที่ไต่บันไดสำเร็จได้ด้วยตนเอง   ได้สื่อสารสังคมในรูปแบบที่ไปถึงเด็กยากจนเหล่านี้    คือใช้กลยุทธ “นักไต่บันไดสำเร็จ  เป็นผู้ขยายจำนวนนักไต่บันได”      

วิจารณ์ พานิช

๒๒ เม.ย. ๖๗                

 

หมายเลขบันทึก: 718285เขียนเมื่อ 21 พฤษภาคม 2024 17:37 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 พฤษภาคม 2024 17:37 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท