ทำไมลูกหลานของท่านถึงเรียนไม่จบ? จากมุมมองของอาจารย์ที่ปรึกษา


ข้อมูลตรงจากประสบการณ์ของตัวผมเองที่ได้รับมอบหมายให้เป็นอาจารย์ที่ปรึกษาของนักศึกษาใหม่ระดับชั้นปีที่ 1 สาขาวิชาการจัดการ-การจัดการโลจิสติกส์ คณะบริหารธุรกิจ มทร.สุวรรณภูมิ มาแล้ว 3 ปีการศึกษา ช่วง 7 ปี ตั้งแต่ 2560-2567 พบว่าจำนวนนักศึกษาชั้นปีที่ 1 ที่ไม่จบการศึกษาภายในระยะเวลา 4 ปี ตามปกติ (ลาออก,หายไปโดยไม่แจ้ง) ของการเรียนระดับปริญญาตรี มีจำนวนที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ 

เมื่อได้สอบถามข้อมูลปัจจัยที่ส่งผลต่อการไม่จบการศึกษา ได้แก่

  1. นักศึกษาไม่ได้อยากเรียนในสาขาวิชานี้มาตั้งแต่แรก อยากเข้าศึกษาในสาขาวิชาอื่นแต่ทางบ้านอยากให้เรียนในสาขาวิชานี้เพราะรับข้อมูลมาว่าเรียนจบสาขาการจัดการโลจิสติกส์แล้วจะมีงานรอบรับมากกว่าสาขาอื่น
  2. นักศึกษามาเรียนแบบตัวคนเดียว คือ ไม่มีเพื่อนจากสถาบันเดิมมาเรียนด้วยกันเลยทำให้ยากที่จะทำการปรับตัวเข้ากับเพื่อนกลุ่มใหม่ เมื่อปรับตัวไม่ได้ทำให้ไม่อยากมาเรียน ส่งผลต่อการขาดเรียนบ่อยและการได้คะแนนการสอบที่น้อย จนส่งผลให้ไม่อยากพยายามต่อไปเพื่อให้จบการศึกษา
  3. นักศึกษาติดเที่ยวกลางคืน เป็นนักศึกษากลุ่มที่ทั้งมาจากต่างจังหวัด มาอยู่หอพักคนเดียวและนักศึกษาในจังหวัดเดิมที่มาเรียนพร้อมกลุ่มเพื่อนเดิมจากโรงเรียนมัธยม เมื่อได้ใช้ชีวิตนักศึกษาที่ไม่ต้องพักอาศัยกับพ่อแม่จึงเริ่มดื่มเหล้าเบียร์กันตามร้านหรือบ้านพักของเพื่อนในกลุ่ม ในวันที่มีการดื่มหนักหรือเที่ยวดึกส่งผลให้ขาดเรียนหรือไม่ได้ส่งงานในรายวิชาต่างๆ นำมาซึ่งการได้คะแนนสอบและเกรดในรายวิชาที่น้อย
  4. นักศึกษาติดแฟน โดยมากจะเกิดกับนักศึกษาหญิงที่เดิมเคยเป็นเด็กเรียนดี มีความประพฤติดี เพื่อเริ่มคบหากับเพื่อนชายต่างเพศจึงมีพฤติกรรมเที่ยวเตร่ในกลางคืน ปลีกตัวจากเพื่อนในห้องเรียนเดียวกัน ทำให้เกิดระยะห่างกับเพื่อนร่วมมชั้น ความสัมพันธ์ส่วนบุคคลเหล่านี้ส่งผลต่อการมีเวลาเรียนที่ลดลง ความรับผิดชอบในการทำงานกลุ่มที่ลดลง จนนำมาสู่การทะเลาะกับเพื่อนในชั้นเรียนเพราะการไม่รับผิดชอบในงานกลุ่มที่อาจารย์มอบหมายให้ทำร่วมกันแต่มีไม่กี่คนที่ลงมือทำงานจริง
  5. การติดสารเสพติดของนักศึกษาใหม่ ผลจากการออกกฎหมายให้กัญชาและกระท่อมไม่เป็นสารเสพติดที่ผิดกฎหมาย นักศึกษาที่อยากรู้อยากลองตามความคะนองของวัยก็เสพสิ่งเหล่านี้เข้าไปตามกลุ่มเพื่อนที่ร่วมกันมั่วสุม เมื่อติดสารเสพติดเหล่านี้จะส่งผลต่อร่างกายและการเรียนในห้องเรียนโดยตรง บางคนถึงขนาดเกิดภาพหลอนในห้องเรียน สุดท้ายสาขาวิชาต้องให้พักการเรียนเพื่อไปรักษาให้หายจากการติดสิ่งเสพติด

ขอให้ท่านผู้ปกครองได้กวดขัดเข้มงวด ดูแลลูกหลายของท่านสม่ำเสมอ  ถามลูกท่านบ้างว่าวันนี้เรียนหรือมีการบ้านเป็นอย่างไร หมั่นตรวจสอบสังคมและพฤติกรรมเพื่อนที่ลูกของท่านคบหา และจะเป็นการดีมาก หากท่านได้มีการติดต่อกับอาจารย์ที่ปรึกษาชั้นเรียนอย่างสม่ำเสมอ อย่ามองแค่ว่าลูกหลายโตแล้วปล่อยให้ดำเนินชีวิตเอง โลกไม่ได้ใจร้ายกับทุกคน แต่ใจร้ายกับผู้ประมาทครับ

 

ด้วยความปรารถนาดีอย่างจริงใจ

อาจารย์พิทยุตม์ คงพ่วง

คณะบริหารธุรกิจฯ มทร.สุวรรณภูมิ

https://bait.rmutsb.ac.th/

หมายเลขบันทึก: 718279เขียนเมื่อ 20 พฤษภาคม 2024 16:33 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 พฤษภาคม 2024 08:53 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท