หว่านข้าวรอบใหม่ไถนาน้ำตม


นำพันธุ์ข้าวหอมมะลิไปแช่น้ำ ๑ คืน

หว่านข้าวรอบใหม่ ไถนาน้ำตม

     งานวันแม่ผ่านพ้นไป มีฝนตกลงมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้มีน้ำขังบริเวณแปลงนาเดิมที่เคยทำ ส่วนที่นาแปลงใหม่ พื้นดินชุ่มฉ่ำ ต้นหญ้าขึ้นงามแทนที่ต้นข้าว พันธุ์ขาวมะลิที่หว่านไว้ เมื่อ ๓ สัปดาห์ ที่เห็นขึ้นอยู่เพียง ๒ - ๓ ต้น

     ตัดสินใจว่า จะต้องหว่านข้าวรอบใหม่ แต่ต้องถามลุงกร่าง ผู้เชี่ยวชาญด้านการทำนา บางทีอาจใช้การหยอดข้าว เพราะเวลามีน้อย ผมเข้าไปในหมู่บ้าน ไปหาผู้นำชุมชน ที่มีอาชีพทำนาจำนวนหลายสิบไร่ ออกปากขอความอนุเคราะห์ท่าน เรื่องพันธุ์ข้าวคุณภาพดี ท่านก็ใจดี ให้พันธุ์ข้าวใหม่ คัดพิเศษ   หอมมะลิอย่างดี  จำนวน ๕ กิโลกรัม

    ลุงกร่างเข้ามาดูแปลงนาแล้วบอกว่า ไม่ต้องหยอดข้าว  ให้ทำเหมือนเดิม โดยให้หว่านแบบนาน้ำตม น้ำไปต้องวิดออก ให้แข่ไว้อย่างนั้น ส่วนนาที่ดอน จะไถซ้ำไปซ้ำมาหลายรอบ จากนั้นจึงค่อยหว่าน แล้วไถคราดและเก็บหญ้าออกให้หมด

     ผมถามลุงกร่าง ให้นักเรียนได้ฟังด้วยว่า ทำไม หว่านข้าวครั้งแรกจึงไม่ได้ผล ลุงกร่างตอบทันทีว่า พันธุ์ข้าวเก่า(เก็บ)เกินไป ออกอาการตายนึ่ง และมากระทบแล้งหลายวันก็เลยไปกันใหญ่ นักเรียน ป.๖ พยายามบอกว่าเห็นไก่ชาวบ้านมาคุ้ยเขี่ยกินหมด แต่ลุงกร่างปฏิเสธว่าเป็นไปไม่ได้  ซึ่งผมก็เห็นด้วย

     ก่อนลงมือไถนาอีกครั้ง ผมบอกนักเรียนเพื่อสร้างความมั่นใจ ว่าหว่านข้าวเที่ยวนี้ พวกเราต้องตั้งอกตั้งใจ ทำให้ดี เพราะเป็นการทำนาแบบแก้ตัวใหม่ แก้ไขจุดบกพร่อง(ซ่อม) เพราะเราจะไม่มีเวลาได้แก้ตัวแล้ว เนื่องจากมีเวลาจำกัดและฝนอาจไม่ตกมากเหมือนเดิม

    ลุงกร่างให้นักเรียน นำพันธุ์ข้าวหอมมะลิซึ่งมีลักษณะเมล็ดใหญ่ น้ำหนักดี จำนวน ๕ กิโลกรัม ไปแช่น้ำ ๑ คืน มีนักเรียนหญิงสงสัย เคยแช่แต่เมล็ดผักบุ้ง  แล้วทำไมต้องแข่ด้วย ไม่กลัวเมล็ดข้าวเน่าหรือ ลุงกร่างตอบข้อสงสัย ที่ต้องแช่ก็เพื่อให้เมล็ดมีน้ำหนักมากขึ้น จมลงไปในดินได้ดี ในแปลงที่มีน้ำ ข้าวจะได้ไม่ลอยตัว ที่สำคัญ จะช่วยให้งอกเร็วขึ้นด้วย                                

        วันรุ่งขึ้น ลงมือไถนา พอไถนาไปได้รอบหนึ่ง พบว่า เนื้อดินในแปลงนาค่อนข้าวร่วนซุย มีสีดำ จับตัวไม่แน่นมากนัก คงเนื่องจากถูกไถมาแล้วครั้งหนึ่ง นักเรียนยังคงตื่นตาตื่นใจเหมือนเดิม แม้ว่าจะเป็นเรื่องที่พบเห็นในชีวิตประจำวันอยู่แล้ว  ก่อนลงมือหว่านลุงกร่างกับนักเรียนจัดระเบียบแปลงนา เก็บหญ้าเล็กน้อย พบต้นหญ้าและต้นข้าว ๒ ต้น อยู่ใกล้กัน ลุงกร่างแยกแยะให้ฟัง วิธีสังเกตก็คือ ต้นหญ้าจะมีโคนสีแดง ส่วนต้นข้าวจะมีโคนออกสีขาวๆ ซึ่งผมเองก็เพิ่งทราบเหมือนกัน

   นักเรียนช่วยกันหว่านข้าว ที่ผ่านการแช่น้ำมาแล้ว หว่านอย่างพิถีพิถัน เป็นระเบียบเรียบร้อย ในแปลงที่มีน้ำ ต้องย่ำโคลนเกือบครึ่งหน้าแข้ง ต้องออกแรงพอสมควร ใช้เวลาไม่นาน ก็ถึงเวลาไถคราด กลบเมล็ดข้าวลงไปในดิน จากนั้น นักเรียนช่วยกันเก็บเศษหญ้าอีกครั้ง แปลงนาจึงดูโล่งเตียน สวยงาม

   ผมถามนักเรียนอย่างเคยว่า เราต้องช่วยกันสังเกตด้วย กี่วันถึงจะออกเป็นต้นข้าว  ขณะที่นักเรียนกำลังคิดคำนวณ ประมาณการ ลุงกร่างรีบตอบก่อนว่า แบบนี้สามวันก็งอกแล้ว นักเรียนได้แต่ยิ้มเหมือนจะไม่เชื่อว่ามันจะงอกได้จริงๆ แต่ที่แน่ๆพอข้าวงอกแล้ว ๑๕ วันต้องเอาน้ำออก ส่วนที่ไม่มีน้ำขัง คงต้องให้แช่น้ำและใส่ปุ๋ยชีวภาพบ้าง ซึ่งผมกับนักเรียนต้องค่อยๆเรียนรู้วิธีการกันต่อไป

   ไถนาหว่านข้าวเสร็จสรรพ ไม่พบไก่ชาวบ้านเลยสักตัว ซึ่งเคยมีมากกว่าสิบตัวมารบกวนวันละหลายรอบ ก็รู้สึกแปลกใจ เด็กๆบอกว่า ไม่ต้องห่วงแล้ว ครับ ไก่มันไปเที่ยวสารทจีนหลายวันแล้ว รับรองไม่กลับมาแน่ ...

   

หมายเลขบันทึก: 454846เขียนเมื่อ 19 สิงหาคม 2011 11:52 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 กันยายน 2013 21:26 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

อยากเห็นนักเรียนทำนาบ้างครับ

  • และตอนนี้ข้าวงอกหรือยังคะ  
  • ชอบ พวกเราต้องตั้งอกตั้งใจ ทำให้ดี เพราะเป็นการทำนาแบบแก้ตัวใหม่ แก้ไขจุดบกพร่อง(ซ่อม) เพราะเราจะไม่มีเวลาได้แก้ตัวแล้ว
  • เป็นกำลังใจให้นะคะทั้งนักเรียนและคุณครูค่ะ
  • ผอ.ครับ
  • ขำตอนไก่ไปเที่ยวสารทจีน
  • 555
  • ได้เรียนรู้เรื่องการทำนาไปพร้อมกับนักเรียนเลยครับ
  • ลืมถามไปว่าน้ำท่วมไหมครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท